Skip to main content
sharethis

สมาคมนักเขียนสากล PEN เรียกร้องให้รัฐไทยหยุดการกล่าวหาดำเนินคดีเนื่องจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ขณะที่ กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นักเรียนไทยในยุโรป 13 ประเทศ ออก จม.เปิดผนึกถึงสหภาพยุโรป เรียกร้องให้จับตาความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทย และร่วมต่อต้านไม่ให้เกิดการก่อรัฐประหาร

7 พ.ย.2563 กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นักเรียนไทยในยุโรป ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นอเวย์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก อังกฤษ สก็อตแลนด์ อิตาลี ออสเตรีย และฮังการี ที่สนับสนุนระบอบเสรีประชาธิปไตย และเป็นกลุ่มพันธมิตรกับ Association for Thai Democracy, USA คณะราษฎรอินเตอร์เนชั่นแนล (Khana Ratsadon International) Taiwan Alliance for Thai Democracy และกลุ่มอื่น ๆ ในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มดังกล่าวออกจดหมายเปิดผนึกถึงสหภาพยุโรป เรียกร้องให้จับตาความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทย และร่วมต่อต้านไม่ให้เกิดการก่อรัฐประหาร โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังต่อไปนี้

ในการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการใช้กำลังตำรวจและทหารเข้าคุกคามนักกิจกรรมทางการเมือง และมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงได้มีการรวมตัวกันบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและขับไล่รัฐบาลเผด็จการ และมีการลงชื่อเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่าหนึ่งแสนรายชื่อ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ ได้แก่ 1) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภาและทำการเลือกตั้งใหม่ 2) เรียกร้องให้รัฐหยุดคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างการทางเมือง และ 3) เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ตอบโต้ข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉกเฉินฯ และใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ต.ค.63 อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรฐานสากลและหลักความได้สัดส่วนที่ปรากฏตาม Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement, 2020 และมิได้แสดงท่าทีหรือความตั้งใจที่จะประณีประนอมหรือพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังคงยืนยันที่จะไม่ลาออกจากตำแหน่งและกล่าวโดยนัยย์ถึงความเป็นไปได้ในการก่อ “รัฐประหาร"

กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นักเรียนไทยในยุโรป และคณะ จึงขอเรียกร้องให้สหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และประชาคมโลก จับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองของรัฐบาลไทย และร่วมต่อต้านไม่ให้เกิดการก่อรัฐประหาร อันเป็นการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งในด้านความมั่นคง สังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยดำรงไว้ได้ซึ่งหลัก "เสรีประชาธิปไตย" อันเป็นหลักสากลที่รับรองว่ามนุษย์เป็นประธานแห่งสิทธิ มีศักดิ์ศรีและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และเป็นประเทศที่จะวิวัฒน์ไปข้างหน้า จนสามารถทัดเทียมนานาชาติได้อย่างภาคภูมิสืบไป

 

สำหรับกลุ่มเสรีประชาธิปไตย นักเรียนไทยในยุโรป และกลุ่มประเทศสมาชิก 13 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มเสรีประชาธิปไตยในออสเตรีย กังหันไทย ไล่เผด็จการ คณะราษฎรฝรั่งเศส คณะราษฎรเบลเยียม คณะราษฎรสก็อตแลนด์ คณะราษฎรฮังการี คน "ไท" ในฟินแลนด์ ภาคีนักเรียนไทยในอังกฤษเพื่อประชาธิปไตย เสรีไทยในอิตาลี เสรีไทยในนอร์เวย์ เสรีไทยในเดนมาร์ก เสรีไทยในสวีเดน และเยอรมันนีขยี้เผด็จการ

 

 

สมาคมนักเขียนสากล PEN เรียกร้องให้รัฐไทยหยุดการกล่าวหาดำเนินคดีเนื่องจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ

เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาคมนักเขียนสากล (PEN) ออกแถลงการณ์กรณีการกล่าวหาดำเนินคดีต่อนักเขียนและผู้อื่นๆที่แสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองและชุมนุมอย่างสันติที่ประเทศไทยช่วงนี้  เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการกล่าวหาดำเนินคดีเนื่องจากการแสดงออกทางการเมืองและแสดงความห่วงใหญ่ต่อสถานการณ์การปราบปราบและข่มขู่ผู้ชุมนุมที่ประเทศไทย

โดยสมาคมนักเขียนสากล (PEN) ชี้ว่าครั้งนี้มีคนที่ถูกการกล่าวหาและดำเนินคดีที่เป็นนักเขียน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายขององค์การ ประกอบด้วยทนายอานนท์ นำภา ที่เป็นกวีที่เขียนและอ่านบทกวีในที่สาธารณะที่เรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน เดชาธร บํารุงเมือง ที่เป็นแร็ปเปอร์เจ้าของเพลง ประเทศกูมี และอีกสองคนที่สมาคมเคยเรียกร้องให้ปล่อยก่อนครั้งนี้ด้วย แบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ที่เป็นหมอลำและอดีตนักโทษการเมือง (คดีเจ้าสาวหมาป่า) และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่เป็นนักเขียน อดีตบก.วารสาร และอดีตนักโทษการเมือง (คดีวารสาร Voice of Taksin)

สมาคมนักเขียนสากล (PEN) เพิ่มวิเคาระห์วิจารณ์ว่าในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 การที่ตำรวจไปบุกสำนักงานสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ค้นสำนักงานและยึดหนังสือของธงชัย วินิจจะกูล และญัฐพล   ใจจริง และพาบก.สำนักพิมพ์ ธนาพล อิ๋วสกลุล ไปสอบสวนที่สน. เป็นการคุกคามที่สะท้อนถึงความเสี่ยงอันตรายต่อสภาพเสรีภาพในการแสดงออกในประทศไทยในปัจจุบันนี้

ศาลีล ตรีพาที (Salil Tripathi) ประธานคณะกรรมการนักเขียนที่ถูกจำคุก (Writers in Prison Committee) ของ สมาคมนักเขียนสากล (PEN) ระบุว่า “กฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศไทยเป็นการดูถูกประชาธิปไตย แม้ว่าเป้าหมายคือการปกป้องความศักดิ์ศรีของราชวงศ์ กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือปิดกั้นวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งการเสียดสีและการวิจารณ์อย่างชอบธรรมของการกระทำและการปฏิบัติของราชวงศ์ ประชาชนคนไทยเคารพสถาบันกษัตริย์อยู่แล้ว ไม่ต้องมีกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อคุกคามผู้ที่คิดต่างหรือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นเพื่อรักษาชื่อเสียงของสถาบัน รัฐบาลไทยควรยกฟ้องคดีทั้งหมดและยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ด้วย”

ทั้งนี้ PEN ยังมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย

  1. ปล่อยคนที่ชุมนุมอย่างสันติที่ถูกกักขังโดยไม่มีเงื่อนไข
  2. หยุดการคุกคามนักเขียน ผู้พิมพ์โฆษณา และนักวิชาการ
  3. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพะมาตรา 112 เพื่อทำให้สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี

ที่มา: Thailand: End government crackdown and drop all charges against peaceful demonstrators https://pen-international.org/news/thailand-government-crackdown-and-drop-all-charges-against-peaceful-demonstrators

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net