Skip to main content
sharethis

8 พ.ย.2563 ผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 เริ่มรวมตัวกันและปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเขียนจดหมายส่งถึงในหลวงหวังให้เกิดการปฏิรูปสถาบันฯ ส่วนทางด้านม็อบเสื้อเหลือง กลุ่ม ศปปส. ชุมนุมสังเกตการณ์ แต่ประกาศแยกย้ายแล้วและจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบพรุ่งนี้

สหภาพ ขสมก.ร้อง บช.น.หยุดใช้รถเมล์ขวางเส้นทางการชุมนุม, 8 พ.ย. 63

'กลุ่มแรงงานตะวันออกฯ' เอาด้วย ชุมนุมคู่ขนาน กทม. ร่วมขับไล่รัฐบาลประยุทธ์, 8 พ.ย. 63

ตร.ประกาศจัดซื้ออุปกรณ์ควบคุมฝูงชน งบฯ ปี 64 กว่า 300 ล้านบาท, 8 พ.ย. 63

เวลา 20.50 น. ตัวแทนผู้ชุมนุมอ่าน “ราษฎรสาส์น” จากราษฎรผู้มิมีมลทินมัวหมอง ถึงกษัตริย์วชิราลงกรณ์ โดยระบุว่า ราชอาณาจักรแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมด้วยความรัก มิใช่จะหาญหักฟาดฟันกันด้วยอำนาจอาญาและกำลังเสนาอันหยาบช้า ย้ำว่า 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนคือการประนีประนอมที่สุดแล้ว

โดยมีรายละเอียดดังนี้

จากนั้นเชิญชวนให้ผู้ที่เตรียมจดหมายนำจดหมายใส่ตู้ที่เตรียมไว้และประกาศสลายการชุมนุม

หลังเหตุฉีดน้ำแรงดันสูงของเจ้าหน้าที่ใส่ผู้ชุมุนมเมื่อเวลา 18.28 น. ที่ผ่านมา iLaw รายงานว่า เมื่อเวลา 19.23 น. พ.ต.ต.เมธี รักษ์พันธ์ ประกาศว่า จำเป็นต้องตั้งแนวกั้นไม่ให้มวลชนฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม ที่ห้ามชุมนุมในระยะ 150 ม. จากเขตพระบรมมหาราชวังและเหตุที่ต้องฉีดน้ำเพราะมีการรื้อแนวรั้วกั้น ซึ่งตนรู้สึกเสียใจแต่อยากให้เข้าใจเจ้าหน้าที่และขอให้เจรจากันนอกแนวกั้น

ผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่สอบถามพยาบาลอาสา เกี่ยวกับผู้บาดเจ็บ ทราบเบื้องต้นว่า มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ฉีดน้ำอย่างน้อย 5 คน เป็นผู้มาร่วมชุมนุมทั้งหมด ไม่ใช่การ์ด ยังไม่ได้เจ็บหนักถึงขนาดพาออกไปโรงพยาบาล

วาสนา นาน่วม โพสต์ด้วยว่า มีทหารสวมเสื้อเหลืองบาดเจ็บ 1 นายเป็นจ่าสิบเอก จาก กองพันทหารราบ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดง (พัน.ร.นรด.) หน้าผากแตก ไปเย็บ 3 เข็ม ที่ รพ.กลาง

19.53 น. ผู้ชุมนุมเคลื่อนรถ ขสมก. ที่จอดขวางอยู่ออกหนึ่งคันและรื้อแนวรั้วเหล็กของตำรวจที่ถูกคล้องโซ่รวมกันไว้ออก

ฝั้งเจ้าหน้าที่ ด้านสนามหลวง หลังแนวตำรวจยังมีเจ้าหน้าที่สวมเสื้อเหลืองอยู่อีกชั้น

19.57 น. ผู้ชุมนุมนำกล่องจดหมายมาที่แนวหน้าส่วนทางด้านตำรวจเดินถอยหลังออกไปโดยที่ยังมีแนวรถตำรวจ จอดขวางอยู่

18.43 น. ตำรวจประกาศว่าจะมีการเจรจา และจะไม่มีการฉีดน้ำอีกต่อไป มีตำรวจประกาศผ่านโทรโข่งขอโทษที่ฉีดน้ำ "ขอโทษครับ เมื่อสักครู่นี้พลาด" ทำให้ผู้ชุมนุมโห่ร้อง

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวมีข้อสังเกตว่าการฉีดน้ำเมื่อสักครู่มีการฉีดซ้ำหลายครั้ง โดยหลังการฉีดน้ำของตำรวจทำให้ทั้งผู้ชุมนุม และผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งเปียก

บีบีซีไทย รายงานคำพูดของ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงต่อผู้ชุมนุมชี้แจงเหตุการณ์ที่มีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมว่า เป็นการสั่งการของ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 ในฐานะผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์

"เจตนาของท่าน ท่านไม่อยากให้เหตุการณ์ลุกลาม ก็เกรงว่าพี่น้องจะมีกระทบกระทั่งกันและเกิดอันตราย ผมในฐานะผู้บังคับบัญชา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พี่น้องเข้าใจผิดและเกิดเหตุรุนแรง ก็ขอโทษด้วยนะครับ" ผบช.น. กล่าว

ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ อธิบายความหมายของ "ธงแครอทธรรมจักร" ชู 3 นิ้ว หมายถึง ไตรลักษณ์ ไตรสิกขา และ ไตรสรณคมน์ นิ้วกดลงไว้ 2 นิ้ว หมายถึง หิริ และ โอตตัปปะ

แครอท 8 หัว หมายถึง โลกธรรม 8 ประการ

หมุดดุม 37 หมุด หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรค 8

คมกงจักร 24 คม หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท สายเกิด 12 และสายดับ 12

เหล่าบรรดาแครอทเป็นกงล้อค้ำยันและขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา

มีผู้นำป้าย อยากให้พี่ดาเห็นภาพนี้ สำหรับ ดา ตอร์ปิโด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง(Palliative Care)จากโรคมะเร็งระยะสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอายุ 58 ปี

18.35 น. ตำรวจประกาศจะไม่มีการฉีดน้ำ ขอประชาชนถอย 20 เมตร แล้วจะเจรจา

18.28 น. ตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำจากหลังแนวรถ ขสมก. แล้วโดยทางผู้สื่อข่าวรายงานว่าไม่มีการประกาศก่อนฉีด และทำให้ผู้ชุมนุมโกรธเข้าไปผลักดันตำรวจที่อยู่ด้านในสนามหลวง แต่การ์ดผู้ชุมนุมพยายามคุมสถานการณ์โดยกันผู้ชุมนุมออกจากแนวตำรวจ 

18.20 น. ตำรวจแจ้งข้อกฎหมายตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และขอความร่วมมือผู้ชุมนุมขอให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ว่า ถ้ามีตัวแทนหรือบุคคลใด มาเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือว่าจะมีข้อยุติอย่างไร

18.05 น. บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ใกล้แยกผ่านภพลีลา ตำรวจควบคุมฝูงชน สวมผ้าพันคอสี เขียววางแนวรั้วกั้นตลอดถนนช่วงก่อนถึงสนามหลวง ขณะที่การ์ดของม็อบยืนกั้นเป็นชั้นที่สอง ทำให้ขบวนไม่สามารถเดินต่อไปได้

จากนั้นผู้ชุมนุมดันแนวรั้วตำรวจออกไปจนสามารถผ่านไปได้แล้วเดินเข้าถนนราชดำเนินด้านหน้าศาลฎีกา

17.30 น. เทเลแกรมของเยาวชนปลดแอกประกาศว่าการชุมนุมจะเดินขบวนไปที่สำนักพระราชวังที่พระบรมมหาราชวัง ส่วนทางด้านสี่แยกคอกวัวผู้ชุมนุมเตรียมรถซาเล้งเครื่องเสียงและตั้งขบวนบริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ

ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวน #ราษฎรสาส์น มุ่งหน้าสำนักพระราชวัง

17.20 น ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า หน้าพระบรมมหาราชวัง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวรถเมล์ มีชุดควบคุมฝูงชนราว 400 คน รถฉีดน้ำแรงดันสูง 2 คัน รถเติมน้ำ 1 คัน

16.30 น. บริเวณใกล้สี่แยกคอกวัว จัดพื้นที่สำหรับให้ประชาชนผู้สนใจเขียนจดหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ 'มายด์' กล่าวว่าการเขียนจดหมายในครั้งนี้ เพื่ออยากให้ผู้มีอำนาจรับฟังเสียงประชาชนมากขึ้น หลังจากนี้จะมีการเดินขบวนเพื่อไปยื่นจดหมาย แต่จะไปที่ไหน อย่างไร ขอเก็บเป็นเซอร์ไพรสก่อน

มายด์ระบุว่า อยากให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนออกมาพูดถึงปัญหาของตนเอง เพราะเธอเชื่อว่าปัญหาปัจจุบันมีมากมายเกินกว่าที่ใครจะพูดแทนกันได้ เชื่อว่าทุกกิจกรรมต่อจากนี้เป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงความตื่นตัวทางการเมือง เราในฐานะประชาชน มีอำนาจมากพอจะพูดว่าปัญหามีอะไรบ้าง และจะแก้อย่างไร

"ณ ตอนนี้ประชาชนไม่ต้องการคนกลางไกล่เกลี่ย เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาคนกลางมักตัดปัญหาที่ล่อแหลมออกเสมอ แต่ยืนยันว่าทุกข้อเรียกร้องนั้นต้องได้รับการพูดคุย ส่วนตัวเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นแค่การซื้อเวลาและทำให้ดูดี แต่ถ้าเขาจะฟังเขาฟังเราตั้งแต่แรกแล้ว" มายด์ระบุ

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ 'มายด์'

ภาพกิจกรรมส่งจดหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

16.05 ขณะที่มวลชน ศปปส กำลังถอนตัวหลังประกาศยุติการชุมนุมโดยกล่าวกับมวลชนว่า มาเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์เพื่อไม่ให้มีการจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์และทำสำเร็จแล้ว ตอนนี้พี่น้องของเรากำลังมาจากต่างจังหวัดเพื่อมารวมตัวกันยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (9พ.ย.)

มวลชนกลุ่มคณะราษฎรที่อยู่ตามรายทางอีกฝั่งแสดงออกด้วยการปรบมือ บ้างโห่ไล่ บ้างชูสามนิ้ว ทางการ์ดอาชีวะคอยกันให้มวลชนอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนกระจายกำลัง ตั้งแนวป้องกันการปะทะเอาไว้ ตอนนี้การ์ดอาชีวะพยายามนำมวลชนข้ามฝั่งไป

15.30 การ์ดกลุ่มพิราบขาวยืนโบกรถ และบอกทางมวลชนอยู่ที่ ถนนราชดำเนิน เพื่อให้มวลชนคณะราษฎรไม่ไปข้ามถนนตรงทางม้าลายที่กลุ่มมวลชนกลุ่มปก้ป้องสถาบันฯ ปักหลักอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ เรื่องจากมีเหตุปะทะคารมไปก่อนหน้า โดยกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ก็มีการโบกให้ผู้ชุมนุมอีกฝั่งข้ามถนนไป ไม่ให้เดินผ่านกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามกลุ่มการ์ดอาสาพบว่า วันนี้มีการ์ดชุมนุมอยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่ การ์ดอาชีวะ (ปลอกแขนแดง ผ้าปิดปากสีแดง) การ์ดพิราบขาว(ปลอกแขนฟ้า) การ์ดมวลชน (ผ้าพันคอชมพู) การ์ดอาสา (ปลอดแขนสีขาวกระพริบ) และการ์ดWe Volunteer (ปลอกแขนเขียว)

15.20 น. รถแห่ของม็อบปกป้องสถาบันขับผ่านถนนราชดำเนินฝั่งของคณะราษฎร มวลชนแสดงความไม่พอใจ โห่ไล่ และชูสามนิ้ว บางส่วนตะโกนว่า "ขี้ข้าเผด็จการ" และกล่าวว่าตำรวจไม่ควรปล่อยให้รถจากม็อบอีกฝั่งวิ่งเข้ามา เพราะถือเป็นการยั่วยุ หากเกิดการปะทะขึ้นก็คณะราษฎรก็อาจจะถูกกล่าวหาได้

15.08 มีการเหตุปะทะคารมเล็กน้อยระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝั่ง ผู้ชุมนุมคณะราษฎรที่เดินทางผ่านมามีการชูสามนิ้ว และผู้ชุมนุมฝั่ง ศปปส. มีการโห่ร้อง ตะโกนด่า โดยมวลชนฝั่งเสื้อเหลืองมีการห้ามปรามกัน คชโยธี เฉียบแหลม เป็นหนึ่งในผู้ชักชวนให้มวลชนใจเย็นลง

คชโยธี เฉียบแหลม

กฤติย์ เยี่ยมเมธากร

ส่วนทางด้าน กฤติย์ เยี่ยมเมธากร เลขาธิการกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ปราศรัยว่าวันจันทร์ที่จะถึงนี้ เวลา 09.00 จะเดินทางไปยื่นจดหมายให้นายกฯ เพื่อให้กำลังใจและยื่นเสนอแนะในฐานะประชาชน เมื่อยื่นแล้วจะเดินไปที่ บก.ทบ. ยื่นจดหมายถึง ผบ.ทบ. แล้วจะแถลงข้อสรุปกลุ่มเครือข่ายที่มีทั้งประเทศ 9,000 กว่าคน ที่มาร่วมกัน ว่าประชาชนทั้งประเทศมีข้อเสนอทางออกอย่างไรโดยไม่มองไปที่นักการเมืองและคณะกรรมการปฏิรูป  กรรมการสมานฉันท์ต่างๆ แต่จะเสนอแนวทางให้รัฐบาลและกองทัพบกแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อคนในชาติแตกความสามัคคี

กฤติย์กล่าวว่า สมัยรัฐบาลทักษิณ ยิ่งลักษณ์ เป็นความขัดแย้งอยู่ในระดับระหว่างเพิ่อน สังคม ชุมชน แต่ในยุคปิยบุตร ธนาธร เกิดความขัดแย้งถึงระดับครัวเรือน ผู้เป็นพ่อแม่หลายครอบครัวจึงต้องกระจายข้อมูลที่ถูกต้องไปทั่วประเทศ ทางกลุ่มจะกระจายข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องออกไป

ต้องสื่อสารลงไปในระดับครัวเรือน ชุมชน ประสานไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จะผลักดันให้มีการสอนศาสตร์พระราชา เหมือนที่ภูฏาณ สวาซิแลนด์ โมซัมบิก ลาว นำศาสตร์พระราชาไปใช้ ทำไมเรื่องนี้นักการเมืองไม่คิด ลอกความรู้ศาสตร์พระราชาจากองคมนตรีที่มีอยู่ และผู้ทรงความรู้อย่างสุเมธ ตันติเวชกุล และปราโมทย์ ไม้กลัด

กฤติย์กล่าวว่า เครือข่ายที่เขาทำงานอยู่มีสมาชิกอยู่ 9 พันกว่าคนในกลุ่มปิดของเฟสบุ๊ค เจากำลังทำระบบเครือข่ายให้มีลักษณะเหมือนพรรคการเมือง โดยตอนนี้มีเครือข่ายสาขาอยู่ที่ จังหวัดภูเก็ต ตรัง พัทลุง สุราษธานี นครศรีธรรมราชและระนอง และกำลังที่จังหวัดจัดตั้งกาญจนบุรี ลำพูน กาฬสินธุ์

8 พ.ย.2563 เวลา 14.40 น.  ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร 2563 เริ่มปักหลักปราศรัยหน้าแมคโดนัลด์ ในขณะที่กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ศปปส. มีการประกาศว่าจะสังเกตการณ์การชุมนุมจากหน้าร้านเมธาวลัย ศรแดง ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ว่าจะมีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจได้ประกาศให้พื้นที่เกาะกลางถนนราชดำเนินที่กั้นระหว่างผู้ชุมนุมสองฝั่งเป็นพื้นที่สงวน ไม่ให้สื่อและประชาชนเก็บภาพ และปฏิเสธในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนบริเวณเกาะกลางถนนระหว่างม็อบสองฝั่ง

เสียงเรียกร้องของประชาชน

'ลุงหุ่น' คือนามแฝงของชายวัย 55 ปี จากพิษณุโลก เขาเล่าว่ามาร่วมม็อบทุกครั้งที่มีโอกาส และแต่งตัวทาหน้าทาตาเพื่อส่งเสียงสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร วันนี้บนใบหน้าเขาเขียนว่า "ไม่ลดเพดาน 3 ข้อ"

ลุงหุ่นกล่าวว่า ตนดูสถานการณ์การเมืองมาตลอด และเห็นความสองมาตรฐานของการใช้กฎหมายในรัฐบาลชุดนี้ เช่น กรณีถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ศาลตัดสินว่าไม่ผิดหลังคืนที่ดิน ขณะที่ชาวบ้านกลับโดนความผิดในข้อหาเดียวกัน และเขาเห็นว่าหลายครั้งคนรวยทำผิดกลับไม่โดนตั้งข้อหา ขณะที่คนจนกลับโดนจับ

'ลุงหุ่น' ชายวัย 55 ปี จากพิษณุโลก

"ตอนนี้เหมือนบ้านเราพัง ถ้าเราไม่ซ่อมเราก็อยู่ไม่ได้ ที่เด็กออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยก็เหมือนกับเขาอยากซ่อมบ้าน"

ลุงหุ่นยังกล่าวว่า การออกมาชุมนุมของม็อบทั้งสองฝั่ง ขณะที่ม็อบสนับสนุนสถาบันแทบไม่โดนข้อหาใดเลย แต่ม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยกลับโดนข้อหานับไม่ถ้วน

"วันนี้เพื่อมาไล่ประยุทธ์ออก และยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และยังกล่าวว่าเห็นเด็กๆ เขาออกมา ถ้าเราไม่ออกมา เราก็อายเด็ก"

"6 ปีที่คุณบริหารมา เด็กไม่รู้สึกว่ามีอนาคตเลย เพราะเขาจบออกมาเขาไม่มีงานทำ เขาก็ออกมาต่อสู้ดีกว่า เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีไปไกลแล้ว เด็กๆค้นคว้าเอง ไม่มีใครมายุแยงอะไรทั้งนั้น ต้องรักษาสิทธิและความคิดของเขาด้วย เพราะเด็กก็คือกระจกเงาของรัฐบาล สะท้อนสิ่งที่รัฐบาลทำผิด รัฐบาลต้องฟังเขาด้วย"

นอกเหนือจากแนวรั้วเหล็กและเจ้าหน้าที่ ตชด. ผ้าพันคอสีม่วง บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้ว รั้วชั้นที่สองที่เกิดขึ้นตอนนี้คือบรรดารถขายอาหาร ขนม น้ำ หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า 'รถ CIA' ก็จอดเรียงรายตลอดแนว

ร้าน 'ข้าวเหนียว-ไก่ทอด อากง' คืออีกหนึ่งร้านรถเข็น เราสะดุดตากับเสื้อหมุดคณะราษฎรที่คนขายใส่จึงเขาไปคุยกับเขาสั้นๆ

"ผมไปเกือบทุกม็อบครับ พลาดไปแค่ 4 ครั้ง เพราะโดนแกง" ก็อต เด็กหนุ่มวัย 19 ปี ตอบเราพลางทอดไก่ไปด้วย

ก็อตเล่าว่า 6 ปีที่ผ่านมาครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ขายของได้น้อยลง

"แต่มาม็อบขายหมดทุกรอบ ขายดีมากครับ" เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม

"ผมสนับสนุนม็อบนี้ครับ เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเรียกร้องกัน เราเห็นว่ารัฐบาลเขามีปัญหา เขาอยู่มานานแล้ว ก็แก้ปัญหาไม่ได้"

อยากฝากอะไรถึงคนมาม็อบไหม เราถามเขา

"ฝากไก่ทอดอากงครับ เป็นสูตรของครอบครัวสูตรของอากง ใครหิวก็แวะมาได้ครับ ไก่ทอด CIA" ก็อตยิ้มอีกครั้งแล้วขะมักเขม้นกับการทอดไก่ เราจึงจบการรบกวนเขาแต่เพียงเท่านี้

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์หนึ่งในการ์ดอาชีวะ รัชพล ขุนนคร เรียนจบจากก่อสร้างดุสิต วันนี้มาเป็นการ์ดอาชีวะด้วย เขาเล่าว่ากลุ่มการ์ดนี้ก่อตั้งและสานต่อมาตั้งแต่ปี 2553 สมัย นปช. รอบนี้รวมกลุ่มกันมาจากทุกโรงเรียนอาชีวะใน กทม. ก็เชิญชวนกันมาทางโซเชียลมีเดีย โดยวันนี้มีอาชีวะมาเป็นการ์ดราวหนึ่งร้อยกว่าคน

เขาเล่าอีกว่า ในสถานศึกษาที่เขาจบมาจะมีรุ่นพี่จากกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มเดียวกับที่จัดตั้งเมื่อสมัย 6 ตุลาฯ มาว้าก กดดันไม่ให้น้องๆ ไปร่วมเป็นการ์ด และพยายามพูดถึงอุดมการณ์อีกแบบ ซึ่งก็มีคนที่ทำตามอยู่จำนวนหนึ่ง

สมัยชุมนุมพันธมิตร รัชพลเองก็เคยถูกรุ่นพี่พาไปไปเป็นการ์ดในที่ชุมนุม แต่นักเรียนอาชีวะสมัยนี้รับข่าวสารจากช่องทางอื่นแล้วจึงมีความเห็นที่แตกต่าง ก็มีการเถียงกันในวงประชุม มีอันเฟรนด์เฟซบุ๊กกันอยู่

"ผมมาช่วยปกป้องน้องนะ มันเป็นห่วงเด็ก แล้วเด็กๆ มัธยมก็ถูกทำร้ายตลอด แต่จะให้ไปนำเขาก็ไม่ได้ เพราะเราอารมณ์ร้อน เลยต้องอยู่แนวสอง"

รัชพลเล่าอีกว่า การ์ดอาชีวะจะเป็นแถวสอง โดยการ์ดที่เป็นนักศึกษาจะเป็นกลุ่มที่ออกแนวทางปฏิบัติ จากนั้นอาชีวะก็จะดำเนินการเสริมตาม เขาขอให้มวลชนฟังกัน อย่าผลีผลาม เพราะอีกฝั่งก็พยายามยั่วยุ พยายามล่อให้เราชน แต่เราต้องไม่หลงตาม

เมื่อถามถึงทัศนคติเรื่องเด็กอาชีวะกับความรุนแรง เขาตอบว่า ตอนนี้ที่มาก็เกือบทุกสถาบันในกรุงเทพฯ ที่ทะเลาะกันก็ไม่มีมาทะเลาะกันในนี้ ตอนนี้คือเพื่อนกันหมด ไม่มีใครพูดเรื่องตีกัน นับถือเป็นพี่เป็นน้องอย่างเดียว

ประชาไทสัมภาษณ์อังคณา นีละไพจิตร สั้นๆ สำหรับการร่วมม็อบวันนี้เขียนจดหมายถึงรัชกาลที่ 10 อย่างไรเธอตอบว่า

"ถ้าเราเขียนคงเขียนว่า ขอให้พระเจ้าอยู่หัวรับฟังเสียงของประชาชนทุกกลุ่ม ขอให้ข้อเรียกร้องที่ประชาชนเสนอได้รับการตอบสนอง อย่างน้อยควรจะมีการหารือ เพราะในฐานะประมุข เสียงทุกเสียงของประชาชนควรถูกรับฟังและพิจารณานำไปสู่การปฏิบัติ ประเทศประกอบด้วยความหลากหลาย การจะอยู่ด้วยกันควรต้องรับฟัง ยืดหยุ่น ปรับปรุงแนวทางที่จะทำให้คนอยู่ด้วยกันได้"

อังคณามองว่าประเด็นที่ฝั่งปกป้องสถาบันบอกว่าการปฏิรูปเท่ากับการล้มล้างนั้นพวกเขาไม่ควรจะระแวงจนเกินไป เวลาพูดถึงการปฏิรูปมันไม่เท่ากับการล้มล้าง ขณะเดียวกันผู้เรียกร้องก็ควรมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่าการปฏิรูปคืออะไรบ้าง อย่างไร เพื่อให้คนเข้าใจกระจ่าง ชัดเจน ไม่ให้คนคาดเดาไปเอง อย่าง 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันที่ออกมา ต่อมาเขาเขียนว่าเป็นความฝัน แล้วก็มาเป็นข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปอีกครั้ง จึงควรมีรายละเอียด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามอังคณาว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมจะเป็นไปได้หรือไม่เธอเห็นว่า

"ข้อเรียกร้องเรื่องการจับกุม นายกฯ บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ให้ฟ้อง ม.112 ก็มีกฎหมาย ม.116 ซึ่งร้ายแรงไม่ต่างกัน ใครก็สามารถถูกฟ้องได้ มั่วไปหมด ซึ่งตรงนี้เป็นการกลั่นแกล้งกัน คงต้องมาคุยในรายละเอียด ต้องยอมรับว่าข้อเรียกร้องทั้งหมด ทั้งสองฝ่ายคงไม่มีใครได้หมด แต่ต้องมาดูว่าจะทำยังไงให้เราอยู่ด้วยกันได้ อันนี้สำคัญ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net