'กลุ่มแรงงานตะวันออกฯ' เอาด้วย ชุมนุมคู่ขนาน กทม. ร่วมขับไล่รัฐบาลประยุทธ์

'กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก' เอาด้วย ชุมนุมคู่ขนาน กทม. ร่วมขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ ร้องรัฐควรคุ้มครองแรงงานมากกว่านี้

8 พ.ย. 2563 เวลา 17.30 น. กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก จัดกิจกรรมชุมนุม ‘ออกโอที มาไล่ทรราช’ ที่บริเวณสี่แยกปากร่วมบ่อวิน จ.ชลบุรี โดยมีประชาชนทะยอยเข้าร่วมกิจกรรมบริเวณดังกล่าว

ช่วงหนึ่งของการปราศรัย ตัวแทนผู้ชุมนุม ได้เรียกร้องข้อเสนอต่อรัฐบาลต่อไปหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ดังนี้ 1.ต้องจ้างลูกจ้างในอัตราเงินเดือนขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดที่รัฐบาลระบุไว้ 2.บังคับให้นายจ้างทำประกันชีวิตให้กับพนักงานขับรถทุกคน มีผลคุ้มครองทันที และ 3.ให้นายจ้างทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกคน


 

ต่อมาเวลา 18.30 ที่สี่แยกปากร่วมบ่อวิน จ.ชลบุรี ฟรอยด์ กฤษณะ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาชน กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องมีแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศ จึงมีการเขียนข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิแรงงานและสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ 4 ประเด็นดังนี้ 1. ส่งเสริมให้มีงานทำ 2.การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน 3.การให้ค่าแรงและสวัสดิการ และ 4. สิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง ตามมาตรา 74 ข้อ 4 หมวด 3

โดยมาตรา 74 ในรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับให้รัฐต้องทำให้เกิดสิทธิแรงงานดังนี้ 1.ส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ ซึ่งในปัจจุบันมีการปิดตัวของโรงงานมากมาย มีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม แต่รัฐก็ไม่ได้เข้ามาดูแลในส่วนนี้ ส่วนใหญ่จะทำกันเองในนามสหภาพแรงงาน และมักจะถูกคุกคามจากรัฐ และเจ้าของบริษัทเอง และสหภาพแรงงานส่วนใหญ่มักจะถูกเลิกจ้าง และแรงงานเหล่านี้มักไม่สามารถสมัครงานต่อได้ เพราะเครือข่ายของ HR จะมีข้อมูลประวัติการเคลื่อนไหวด้านสหภาพเรื่องงาน เพราะฉะนั้นใครที่เป็นตัวแรงๆ ในการเคลื่อนไหวสหภาพแรงงาน มักจะไม่สามารถหางานต่อได้เมื่อถูกเลิกจ้าง

2.รัฐต้องคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยในการทำงาน ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่บังคับตามรัฐธรรมนูญ โดยโรงงานส่วนใหญ่มักจะขาดเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่นอาหารกลางวันควรจะมี แต่ปัจจุบันแรงงานต้องหอบข้าวไปกินเอง หรือซื้อกินเองในโรงอาหาร

3.รัฐต้องจัดให้ผู้ใช้แรงงานได้รับรายได้ สวัสดิการ ประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่น ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพ ฟรอยด์กล่าวต่อว่าประเด็นที่ 3 นี้รัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้คำว่ารัฐจะต้องจัดให้มีการจ้างค่าจ้างโดยเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเคยมีนักกฎหมายแรงงานออกมาบอกว่าบางท้องที่อาจจะไม่ต้องมีค่าแรงขั้นต่ำที่เท่ากัน ฟรอยด์มองว่าความเป็นจริง ในปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำควรจะได้เสมอเท่ากัน เพื่อที่จะไม่ต้องย้ายไปยังจังหวัดที่มีค่าแรงสูง

และประเด็นที่ 4. เรื่องการรวมตัวกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 42 บัญญัติให้ประชาชนมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น แต่ในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดเพิ่มเติมให้มีองค์การพัฒนาเอกชน หรือ NGO ซึ่งในปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหาว่า เมื่อกลุ่มแรงงานมารวมตัวกัน การที่ไม่มีกลุ่มพัฒนาองค์กรเอกชนตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนหรือไม่

“จริง ๆ แล้วฐานรากของประเทศนี้คือผู้ใช้แรงงาน แต่พวกเราถูกละเลยโดยรัฐเอง”

“ทั้งหมดนี้จึงมีความจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้รัฐธรรมนูญนี้มาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาจากคณะรัฐประหาร แต่งตั้งโดยใครก็ไม่รู้”

“เรามีสิทธิมีเสียงเท่ากัน ไม่มีใครมีสิทธิมากกว่าเรา ในเมื่อประเทศนี้บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เราทุกคนล้วนเป็นเจ้าของประเทศ แต่มักถูกลิดรอนสิทธิโดยชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ รวมถึงกลุ่มทุนผูกขาด กลุ่มทุนบางกลุ่มรวยขึ้น แต่ประชาชนกลับจนลง แถมยังมีการพิสูจน์ความจนประชาชน แทนที่จะมีรัฐสวัสดิการถ้วน” “เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงรวมกันเพื่อจะบอกรัฐบาลว่า มึงต้องฟังเสียงประชาชนได้แล้วต้องฟังเสียงแรงงานที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศได้แล้ว” ฟรอยด์ กฤษณะ กล่าวบนเวทีปราศรัย ที่สี่แยกปากร่วมบ่อวิน จ.ชลบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท