Skip to main content
sharethis

กมธ.ที่ดินสภาฯ ลงพื้นที่เหมืองหินดงมะไฟ ศึกษาดูงานการทำเหมืองหินที่อาจส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและชุมชน ขณะที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เข้าชี้แจง10 ข้อเท็จจริงผลกระทบจากการทำเหมือง พร้อมชำแหละหน่วยงานรัฐในพื้นที่มีส่วนเอื้อให้เกิดการให้สัมปทานกับเหมืองหินโดยมิชอบ หวังกมธ. ช่วยสางปัญหาและผลักดัน 3 ข้อเรียกร้องในการปิดเหมืองหิน และโรงโม่ดงมะไฟถาวรให้เป็นจริง ขณะที่กมธ.ที่ดินรับลูกพร้อมตั้งข้อสังเกตุกระบวนการออกใบอนุญาตในส่วนท้องถิ่นทำด้วยความเร่งรีบจนทำให้เกิดข้อผิดพลาด พร้อมเตียมรวบรวมข้อมูลเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง

9 พ.ย. 2563 คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยอภิชาติ ศิริสุนทร ในฐานะประธานกรรมาธิการ สมชาย ฝั่งชลจิตร สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง รองประธานกรรมาธิการ รวมถึงนักวิชาการที่ปรึกษากรรมาธิการอาทิรองศาสตราจารย์เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ลงพื้นที่สัญจรระหว่างวันที่ 9-10 พ.ย.63 ที่จังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดเลยเพื่อศึกษาดูงานการทำเหมืองหินและเหมืองแร่ทองคำ ที่อาจส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งชุมชนโดยรอบเหมือง

โดยในช่วงเช้าที่ห้องประชุมภูพานคํา ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลําภู คณะกรรมาธิการที่ดินฯ ได้เข้าหารือ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับปัญหาการทำเหมืองหิน ในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ

ต่อมาในช่วงบ่ายคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาดูงานการทำเหมืองหินในพื้นที่ภูผาฮวก ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเล่าใหญ่-ผาจันได ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการพร้อมทั้งได้นำเสนอ10 ข้อเท็จจริง กรณีการทำเหมืองหินดงมะไฟให้กับคณะกรรมาธิการได้รับทราบเพื่อร่วมช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

วิลัย อนุเวช ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้เป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดบอกเล่าข้อเท็จจริง 10 ข้อกรณีการทำเหมืองหินดงมะไฟให้กับคณะกรรมาธิการได้รับทราบว่า ในพื้นที่มีการรวมตัวกันของชาวบ้านในนาม ‘กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได’ เพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่หินชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างของบริษัท ธ. ศิลาสิทธิจำกัด ซึ่งเหมืองหินแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ภูผาฮวกจำนวน 175 ไร่ และโรงโม่หิน อีก 50 ไร่ ที่มีการขอต่ออายุในการทำเหมืองแร่มาแล้วหนึ่งครั้ง รวมระยะเวลาที่ได้รับประทานบัตร 20 ปี โดยจะมีการสิ้นสุดอายุการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลางเพื่อทำเหมืองแร่ในวันที่ 3 ก.ย. 2562 และสิ้นสุดอายุประทานบัตรวันที่ 24 ก.ย. 2563 และขณะนี้ใบอนุญาตทั้งสองอยู่ระหว่างการขอต่ออายุ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มได้เคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกการขอต่ออายุการทำเหมืองมาโดยตลอดด้วยเหตุผล 10 ประการที่เราคัดค้านการต่ออายุการทำเหมืองดังนี้

1.เหมืองหินแห่งนี้ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจาก ไม่เคยมีการเปิดโอกาสให้ ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ในการ อนุญาตประทานบัตรใบแรกในปีพ.ศ.2543 ถึง 2553 ปรากฏการทำรายงาน วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่ชาวบ้านไม่เคยร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นแต่อย่างใด มาทราบเมื่อทางบริษัทฯพิพาท ได้รับประทานบัตรไปแล้ว

2. การทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินทับซ้อนกับแหล่งป่าน้ำซับซึม เนื่องจากมีการค้นพบแหล่งน้ำซับซึมในกลุ่มถ้ำรอบ บริเวณพื้นที่การทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน ซึ่งอยู่ภายในถ้ำศรีธน ถ้ำน้ำลอด และถ้ำบาดาล ซึ่งน้ำในส่วนนี้ถือเป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยต่างๆ ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง

3 .กลุ่มถ้ำบนภูเขาหินปูนในพื้นที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของชาวสุวรรณ คูหาและชาวหนองบัวลำภู โดยมีการค้นพบแหล่งโบราณสถานและมีการค้นพบโบราณวัตถุมากมายภายในถ้ำ บริเวณโดยรอบพื้นที่ โดยเฉพาะ การค้นพบภาพเขียนสี สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ด้าน จุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของโครงการขับเคลื่อนสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ ได้กล่าวเพิ่มเติมในส่วนข้อที่ 4. ว่าพื้นที่ประทานบัตรและโรงโม่หินเคยเป็นพื้นที่ป่าชุมชนมาก่อน ซึ่งประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนด พื้นที่แหล่งแร่หินเพื่ออุตสาหกรรม ฉบับที่12 กว่า 500 ไร่ ทับซ้อนกับป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ที่ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันอนุรักษ์บำรุงรักษา ปกป้องมาตลอดตั้งแต่ปี 2536 ก่อนการประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯดังกล่าว

5.พื้นที่มีการร้องเรียนเรื่องการบุกรุกเขตป่าสงวนฯ เนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการใช้พื้นที่ของทางบริษัทพิพาท ว่ามีการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตในการใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ อันเป็นการทำผิดเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตเดิม และเป็นการทำผิด พรบ.ป่าสงวนฯ

6.การสูญเสียนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4 ชีวิต ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินโดยในปี 2538 บุญรอด ด้วงโคตะ และสนั่น สุวรรณ แกนนำคัดค้านเหมืองหินถูกลอบยิงเสียชีวิต และใน ปี2542 กำนันทองม้วน คำแจ่ม และสม หอมพรมมา แกนนำต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่คนสำคัญได้ถูกลอบยิงเสียชีวิตอีกครั้ง ซึ่งทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีได้จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ชาวบ้าน กลุ่มคัดค้านเหมืองหิน จำนวน 12 คน ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านวางเพลิงเผาที่พักคนงาน เหมือง และโรงเก็บอุปกรณ์ซึ่งศาลตัดสินจำคุกชาวบ้าน 2 ราย และยกฟ้องอีก 10 ราย ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือ เป็นการ ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน อย่างร้ายแรง

7.การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรงของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุมัติ/อนุญาต ในการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน ซึ่งประกอบไปด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดหนองบัวลำภู รวมทั้งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี)

8.การรังวัดปักหมุดประกอบการของประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินมิชอบด้วยกฎหมาย และมีการทำเหมืองแร่หินปูนนอกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

9.มีการยื่นขอต่ออายุประทานบัตรนอกเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ 2560 –2564 ได้มีการระบุว่าในการจะประกาศเขตแหล่งแร่เพื่อการ ทำเหมืองต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติแร่ 2560 ก่อน ฉะนั้น พื้นที่แหล่งหินผาจันได จึงไม่สามารถขอต่ออายุประทานบัตรได้จนกว่าจะมีการตรวจสอบ

10.ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ นับแต่มีโครงการทำเหมืองแร่มาในพื้นที่เมื่อปี 2536 ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีการ คัดค้านมาโดยตลอด และเริ่มเกิดความแตกแยกในพื้นที่ตามมาด้วยการคุกคามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้นำของชาวบ้านที่คัดค้าน

“พวกเรากลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันได ได้ปักหลักชุมนุมในพื้นที่ทางเข้าเหมืองแร่ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหา และ ขอให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อมาเป็นเวลาเกือบ3 เดือนคือ ปิดเหมืองหินและโรงโม่หินถาวร ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี และเราอยากจะมีคำถามไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภู อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมป่าไม้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติหรืออนุญาตให้มีการทำเหมือง และที่สำคัญที่สุดคือ อบต. ตำบลดงมะไฟการนำวาระการพิจารณาต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าสงวนฯเข้าสู่วาระการประชุมยังจะเอาเข้าหรือไม่ ทั้งที่ยังมีความขัดแย้งกับชาวบ้านและยังคงมีการคัดค้านอย่างต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งการมาลงพื้นที่ของกมธ.ที่ดินในวันนี้เราหวังว่าจะช่วยตรวจสอบหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้และช่วยสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องให้กับเราได้” จุฑามาศ ระบุ

ด้าน ศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า หลังการประชุมก็จะมีการรายงานไปยังส่วนกลาง เพื่อรายงานสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ประกอบการใช้ดุลพินิจจากส่วนกลาง ที่เป็นไปตามกฎระเบียบกำหนด จากนี้ก็จะรอข้อมูลของกรรมาธิการฯ ที่มีการลงพื้นที่ เพื่อดูแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องของตัวแทนภาคเอกชนในส่วนของเหมืองแร่ ที่ไม่มาให้ข้อมูลกับทางกรรมาธิการฯ ยืนยันวา ทางเราฟังทุกฝ่ายซึ่งต่อไปก็ต้องเชิญมาให้ข้อมูลด้วย ส่วนจะเชิญมาเมื่อไหร่จะแจ้งให้ทราบอีกที เพราะหากเชิญมาในการประชุมในวันนี้ อาจเกิดการโต้เถียงกัน ทะเลาะกันเสียมากกว่า

“ยืนยันว่า ไม่มีความหนักใจในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างมีกฎเกณฑ์ให้เราเดินอยู่ ถ้าทุกคนเดินตามนี้ ด้วยความโปร่งใสจริงใจ ทุกอย่างก็จะไปในแนวทางที่ดี”

ขณะที่อภิชาต ศิริสุนทร ในฐานะประธานกรรมาธิการที่ดินเปิดเผยภายหลังการพูดคุยกับชาวบ้านว่า หลังจากที่ได้รับข้อมูลจากชาวบ้าน กรรมาธิการก็จะเอาข้อมูลไปเสริมต่อ ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ดินในการทำพื้นที่เหมืองหิน เป็นแปลงเดียวกับที่ได้ประทานบัตรหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นที่ดินคนละแปลงกัน ต่อไปจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยจะเชิญ กรมแผนที่ทหารมาให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้

ส่วนในเรื่องขบวนการเห็นชอบในระดับท้องถิ่น ยังมีข้อสงสัยว่า ทำไมต้องรีบร้อนในการทำระเบียบวาระการประชุม จนส่งผลให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งขณะนี้ นายอำเภอสุวรรณคูหาก็ได้ตั้งคณะกรรมากรสอบแล้ว ทราบว่าอยู่ในกรอบภายใน 30 วันจึงทราบผล หากกรอบระยะ 30 วันยังไม่มีความคืบหน้าทางเราก็จะทวงถามอย่างเร่งด่วนทันที

พร้อมกันนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีนโยบายให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและเป็นจริงเป็นจังรวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย

“ยืนยันว่าทางกรรมาธิการไม่ได้นิ่งดูดาย จากการลงพื้นที่รวมทั้งพูดคุยกับชาวบ้าน จะนำข้อสังเกตทั้งหมดนี้ เข้าไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการและจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อมูล ว่าข้อมูลที่ภาคประชาชนเสนอ ตรงกับข้อมูลจากหน่วยงานรัฐหรือไม่ ถ้าสรุปออกมาเป็นประการใด กรรมาธิการจะเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการแก้ไขต่อไป”อภิชาติระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่กรรมาธิการฯ จะพูดคุยกับชาวบ้าน ได้มีการลงพื้นที่ ตรงที่มีการทำเหมือง พร้อมกับชาวบ้านดงมะไฟ พร้อมรับฟังการอธิบายจากชาวบ้าน ทั้งเรื่องการต่อสู่ การฟื้นฟูพื้นที่เหมืองเป็นป่าชุมชน และทำพื้นที่เป็นแหล่งโบราณคดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net