Skip to main content
sharethis

หลังจากผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่ "โจ ไบเดน" จากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่งผลให้ กมลา แฮร์ริส อดีตวุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนียเชื้อสายอินเดีย-จาไมกา จะได้เป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ

กมลา แฮร์ริส เมื่อครั้งเป็นวุฒิสมาชิกในเวทีอภิปรายที่รัฐไอโอวา ภาพถ่ายเมื่อ 10 ส.ค. 2019 (ที่มา: Gage Skidmore/Flickr)

กมลา เทวี แฮร์ริส เกิดที่โอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี ค.ศ. 2507 เธอมีเชื้อสายทมิฬ อินเดียใต้ จากแม่ และมีพ่อเป็นชาวจาไมกา เธอเป็นผู้หญิงคนผิวสีที่ขึ้นสู่ตำแหน่งในสหรัฐฯ สูงสุดเท่าที่เคยมีมา ตั้งแต่เธอยังเล็ก แฮร์ริสได้รับการสอนว่าเส้นทางสู่ความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวนั้นยาวนาน และในการหาเสียงของแฮร์ริส เธอก็มักจะพูดถึงคนที่แผ้วถางแนวทางความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวมาก่อนเธอ พ่อแม่ของเธอเอง และผู้อพยพที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ

ในตอนที่เธอหาเสียงในรัฐเท็กซัสช่วงก่อนวันเลือกตั้งไม่นานนัก เธอกล่าวปราศรัยต่อหน้าผู้ฟังส่วนใหญ่ที่เป็นคนดำโดยเน้นย้ำให้ทั้งตัวเธอเองที่เป็นลูกครึ่งผิวสีและพวกเขารับรู้ว่าเมื่อได้ร่วมมือกันแล้วพวกเขาจะไม่โดดเดี่ยว

ในตอนนี้ชัยชนะของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต ส่งผลให้แฮร์ริสกลายเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นับเป็นหลักหมายสำคัญของประเทศในช่วงที่มีความเสียหายจากความไม่เป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวเกิดขึ้น และท่ามกลางการเลือกตั้งที่ทำให้ความคิดเห็นของผู้คนแบ่งขั้วกันอีกครั้ง นิวยอร์กไทม์มองว่าแฮร์ริสเปรียบเสมือนตัวแทนอนาคตของสหรัฐฯ ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสีผิวมากขึ้นเรื่อยๆ

สุนทรพจน์หลังได้รับชัยชนะของแฮร์ริสเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมาเธอได้พูดถึงแม่ของเธอและผู้หญิงจากทุกเชื้อชาติสีผิวรุ่นก่อนหน้านี้ที่แผ้วถางแนวทางเพื่อให้เธอมีวันนี้ เธอบอกอีกว่าเธออาจจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งในระดับนี้ แต่เธอจะไม่ใช่ผู้หญิงคนสุดท้าย "เพราะเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ทุกคนที่ดูอยู่ในคืนนี้มองเห็นแล้วว่าประเทศนี้มีความเป็นไปได้"

ก่อนหน้าที่จะเป็นผู้หญิงคนผิวสีที่ได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ แฮร์ริสเคยอัยการสูงสุดของแคลิฟอร์เนียมาก่อน ต่อมาในปี 2559 เธอก็ได้รับเลือกเป็น ส.ว. กลายเป็นคนดำคนที่สองที่เข้าสู่ตำแหน่งนี้ นิวยอร์กไทม์ระบุว่าเธอมีลีลาการอภิปรายในที่ประชุม ส.ว. แบบจอมอัยการที่ซักฟอกศัตรูในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประเด็นอภิปราย

แฮร์ริสได้สัมผัสกับบรรยากาศของการประท้วงเรียกร้องประเด็นความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวตั้งแต่เด็กโดยระบุในชีวประวัติของเธอ รวมถึงรู้สึกถึงความทรงพลังของ เชอร์ลีย์ คริสโฮล์ม นักกิจกรรมคนดำที่รณรงค์หาเสียงทางการเมืองในช่วงปี 2514 เมื่อโตขึ้นเธอก็เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสำหรับคนดำและทำงานเป็นอัยการที่ติดตามเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและการกดขี่เด็ก

ในช่วงที่แฮร์ริสหาเสียงในการเลือกตั้งรอบแรกนั้นเธอแสดงความนับถือต่อคริสโฮล์มด้วยการปราศรัยที่โอคแลนด์โดยดึงดูดคนมาฟังได้มากกว่า 20,000 คน แต่เธอก็ไม่สามารถได้รับการสนับสนุนแบบท่วมท้น ทำให้ถอนตัวออกจากการเลือกตั้งรอบแรกก่อนที่จะมีการลงคะแนน

สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับตัวแฮร์ริสเองคือการที่เธอไม่มีวาระทางนโยบายที่หนักแน่นพอ ทำให้เธอหาเสียงออกไปในหลายทิศทางและไม่มีอุดมการณ์หลักๆ แต่การที่เธอไม่มีอุดมการณ์แบบตายตัวนี่เองที่ทำให้เธอเหมาะสมกับตำแหน่งรองประธานาธิบดีเพราะเป็นตำแหน่งที่พร้อมจะปรับมุมมองส่วนตัวให้เข้ากับแนวทางของประธานาธิบดี ซึ่งแฮร์ริสก็ดูเหมือนพร้อมที่จะสนับสนุนไบเดนถึงแม้ว่าอุดมการณ์ของเธอจะแตกต่างกันเมื่อพิจารณาจากช่วงการเลือกตัวแทนพรรค

ในขณะที่การเลือกแฮร์ริสเป็นรันนิงเมทนั้น สามารถมองได้ว่า ไบเดนพยายามดึงดูดกลุ่มผู้หญิงคนผิวสีทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขามีตัวแทนในการเมืองระดับประเทศ แต่ในขณะเดียวกันพวกอนุรักษ์นิยมก็โจมตีเธอในแบบเหยียดเพศและเหยียดเชื้อชาติสีผิว เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกันไม่ยอมเรียกชื่อเธอให้ถูกและหลังจากการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครรองประธานาธิบดีทรัมป์ก็เหยียดเธอว่าเป็น "สัตว์ประหลาด"

ขณะเดียวกันการถูกเหยียดเชื้อชาติสีผิวนี้เองก็ทำให้ผู้ที่สนับสนุนแฮร์ริสรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องพบเจอในชีวิตประจำวันและรู้สึกเกี่ยวพันกับสิ่งเหล่านี้

ถึงแม้นักการเมืองบางส่วนจะแสดงความไม่พอใจการเหยียดเชื้อชาติสีผิวที่เกิดขึ้น แต่แฮร์ริสก็ดูจะสงวนท่าทีในเรื่องนี้ ซึ่ง คอรี บุคเกอร์ ส.ว. ที่เป็นเพื่อนกับแฮร์ริสบอกว่ามันเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่เธอจะสงวนท่าที มันเป็นเสมือนกลไกการป้องกันตัวเองของคนที่รู้ดีว่าคนในโลกเราบางกลุ่มยังไม่ยอมรับที่จะให้หญิงคนดำฝ่าเพดานทางการเมืองขึ้นมามีตำแหน่ง มันเป็นสิ่งที่แฮร์ริสฝ่าฟันมาก่อนหน้านี้

กระนั้นเองการที่แฮร์ริส เป็นผู้หญิงที่ยังต้องดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้นำในขณะที่ไบเดนชายคนขาวสูงวัยเป็นผู้นำนั้น ก็ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตบางส่วนรู้สึกเฉลิมฉลองได้ไม่เต็มที่ ทำให้พวกเขารู้สึกว่า "เพดานแก้วระดับสูงสุด" ที่กั้นผู้หญิงไว้กับตำแหน่งทางการเมืองนั้นยังคงอยู่ ทำให้มีผู้สมัครหญิงจำนวนมากที่ถึงแม้จะชนะแต่ก็ยังต้องเคลื่อนไหวตามหลังไบเดน ผู้ที่พรรคมองว่าเป็น "คนที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะสามารถชนะทรัมป์ได้"

ผู้สนับสนุนมองว่าแฮร์ริสเข้าใจถึงตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์ของตัวเองในฐานะคนที่เชื่อมโยงกับทั้งผู้นำการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมืองในอดีตและคนรุ่นต่อไปที่เธอหวังว่าจะสามารถส่งพลังถึงพวกเขาได้ หนึ่งในผู้แทนที่เป็นฝ่ายซ้ายของพรรคเดโมแครตคือ ปรามิลา จายาพัล ยินดีที่เธอมีความเกี่ยวข้องกับแฮร์ริส ทั้งที่แฮร์ริสมีเชื้อสายกับสำเนียงพูดแบบเอเชียใต้ พื้นเพของครอบครัวจากอินเดียใต้ที่เหมือนกัน รวมถึงการที่เธอต่างก็เข้าว่าการเป็นลูกหลานของผู้อพยพที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวเป็นอย่างไร

แฮร์ริสยังเคยมีประวัติการทำงานในประเด็นเชื้อชาติสีผิวอย่างการลดการเสียชีวิตของผู้ตั้งครรภ์คนดำ และการออกกฎหมายต่อต้านการรุมประชาทัณฑ์ซึ่งเป็นสิ่งที่คนขาวเคยกระทำกับคนดำในสหรัฐฯ นอกจากนี้เธอยังเป็นคนผลักดันในประเด็นอื่นๆ อย่างการต่อต้านโทษประหารชีวิต การคุ้มครองผู้บริโภค ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนจากบรรษัทไอที และการคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศในสหรัฐฯ ที่กลายเป็นปัญหาทำให้คนข้ามเพศถูกสังหาร

คิมเบอร์ลี เครนชอว์ นักวิชาการสตรีนิยมคนดำสายก้าวหน้าผู้ให้กำเนิดคำว่า "อำนาจทับซ้อนทางอัตลักษณ์" (Intersectionality) ก็พูดถึงการที่แฮร์ริสได้เป็นรองประธานาธิบดีไว้ในแง่บวกแต่ก็เตือนว่า อย่าให้เรื่องชัยชนะครั้งนี้ทำให้ฝ่ายก้าวหน้าหยุดยั้งตัวเองในการผลักดันวาระต่อไป เพราะรัฐบาลนี้ก็ยังถือว่าเป็นรัฐบาลไบเดน

ขณะที่หนึ่งในนักกิจกรรมด้านสิทธิพลเมือง โอปอล ลี จากรัฐเท็กซัส ก็บอกว่าเธออยากไปเห็นพิธีการเช้ารับตำแหน่งของแฮร์ริส เพราะ "ฉันอยากจะสามารถบอกกับโหลนของฉันได้ว่า รู้สึกอย่างไรที่ได้มีผู้หญิงเป็นรองประธานาธิบดี"

เรียบเรียงจาก

Kamala Harris Makes History as First Woman and Woman of Color as Vice President, New York Times, 07-11-2020

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Kamala_Harris

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net