ผู้นำกองทัพพม่าสัญญาว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้ง หลังแย้งรัฐบาลไม่ใว้ใจจัดเลือกตั้ง

มินอองไลง์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าสัญญาว่าจะเคารพผลการเลือกตั้งพม่าซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมาหลังจากที่เขาไปลงคะแนนเสียง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้นำกองทัพได้สร้างความตึงเครียดกับรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีด้วยการตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้น่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งทำให้คาดเดากันว่าอาจจะเกิดรัฐประหาร

ภาพการเลือกตั้งที่พม่าเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2563 ภาพโดย Radio Free Asia

ในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา มินอองไลง์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าให้สัมภาษณ์ต่อสื่อหลังจากเดินออกมาจากคูหาเลือกตั้ง กล่าวในทำนองว่าเขาจะยอมรับผลการเลือกตั้ง "ผมจะต้องยอมรับความปรารถนาของประชาชนและผลลัพธ์ที่ตามมา ไม่อาจปฏิเสธได้"

มินอองไลง์กล่าวอีกว่า "พวกเราควรจะต้องคำนึงถึงความรู้สึกและความทุกข์ร้อนของประชาชนและมุ่งเน้นที่จะดูแลพวกเขา ... เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับผม"

เมื่อนักข่าวถามว่าเขาลงคะแนนเสียงให้ใคร มินอองไลง์ก็กล่าวว่าเขาลงคะแนนให้กับพรรคที่ "เน้นความสำคัญของชาตินิยม, ศาสนา และการศึกษา อีกทั้งเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญเป็นระดับแรกกับหลักแนวทางของชาติ 3 ประการ"

หลักแนวทางแห่งชาติ 3 ประการของพม่าได้แก่ เอกภาพของสหภาพ (Non-disintegration of the Union) บูรณภาพของชาติ (Non-disintegration of national solidarity) และการธํารงรักษาอธิปไตย (Perpetuation of sovereignty)

สื่อเรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่าในขณะที่ไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่ส่งเสริมอย่างเปิดเผยให้เกิดการแบ่งแยกสหภาพพม่า แต่พรรคการเมืองที่ใกล้เคียงกับฝ่ายทหารมากที่สุดคือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาหรือยูเอสดีพี (USDP) ที่มาจากอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร นอกจากเขาจะให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้แล้ว มินอองไลง์ยังเคยพูดถึงเรื่องนี้ในการประชุมออนไลน์กับเจ้าหน้าที่กองทัพบอกให้กองทัพและครอบครัว "ลงคะแนนตามอิสระ" แต่ควรโหวตให้กับพรรคที่สนับสนุนหลักแนวทางของชาติ 3 ประการ

เรื่องความกังวลเกี่ยวกับการรัฐประหาร ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจากกองทัพเกิดขึ้นหลังจากที่มินอองไลง์เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อไว้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งและรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีไม่ได้ทำอะไรมากพอในการการันตีให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรมและควรจะ "ระมัดระวัง"

คำวิจารณ์ของมินอองไลง์นี้ทำให้กลุ่มด้านสิทธิฯ และรัฐบาลโต้ตอบกลับว่ามินอองไลง์กำลังฝ่าฝืนกฎหมายข้าราชการของพม่าที่ห้ามไม่ให้ข้าราชการแสดงความมีฝักฝ่ายทางการเมือง

เคยมีกรณีแทรกแซงการเลือกตั้งเกิดขึ้นมาก่อนในปี 2533 ที่กองทัพสั่งให้ผลการเลือกตั้งเป็นโฆฆะหลังจากพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้ง เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้อองซานซูจีถูกคุมขังภายในบ้านมาตลอด 15 ปี และพรรคเอ็นแอลดีก็ได้รับการรับรองว่าถูกกฎหมายเมื่อปี 2553

ทั้งนี้ ในวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมาพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีซึ่งนำโดยอองซานซูจีและกลุ่มจับตามองการเลือกตั้งแสดงความไม่พอใจเรื่องการขาดความโปร่งใสของกองทัพที่ไม่ยอมเปิดเผยบัญชีรายชื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งของทหารและครอบครัวของทหาร การปิดบังเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดการลงคะแนนในแบบที่ไว้ใจไม่ได้ เพราะการจัดเลือกตั้งในฐานทัพขาดความโปร่งใส่และจำกัดกระบวนการสอดส่องดูแลและติดตามผลการนับคะแนนจากประชาชน

ฝ่ายกองทัพอ้างว่าพวกเขาไม่สามารถประกาศจำนวนรายชื่อผู้ใช้สิทธิ์ของทหารกับครอบครัวได้ด้วยสาเหตุเรื่องความมั่นคง

 

เรียบเรียงจาก

 

Military chief Min Aung Hlaing vows to accept election results after public spat with government, Myanmar Now, 08-11-2020

Myanmar Military Chief Urges Troops to Vote in Support of Three ‘National Causes’, Radio Free Asia, 05-11-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท