Skip to main content
sharethis

มหาเถรสมาคมออกมติด่วนแจ้งวัดทั่วประเทศห้ามพระภิกษุ สามเณร ยุ่งกิจกรรมการเมือง ฝ่าฝืนให้เจ้าคณะปกครองพิจารณาทางพระธรรมวินัยตั้งแต่ตักเตือนจนถึงสึก ชี้หากไม่อยากโกนคิ้วก็แค่ลาสิกขาไป ขณะที่ 'พระนพ' (นามสมมติ) ระบุการไม่ให้พระยุ่งการเมืองก็เป็นการเมืองแบบหนึ่ง


แฟ้มภาพ

11  พ.ย. 2563 วันนี้ สื่อหลายสำนักรายงานว่า ณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีภาพพระภิกษุ และสามเณร ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองจนมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมกันอย่างกว้างขวางนั้น  ที่ผ่านมาทาง พศ.และมหาเถรสมาคม (มส.) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ส่งหนังสือไปยังเจ้าคณะผู้ปกครองแล้วประมาณ2-3 ครั้ง ถึงการดูแลปกครองไม่ให้พระภิกษุสามเณรเข้าร่วมชุมนุม แต่ยังมีพระเณรเข้าร่วมการชุมนุมอยู่

ดังนั้น มส.จึงต้องออกเป็นมติเร่งด่วนที่ชัดเจน 4 ข้อ แจ้งไปยังวัดทั่วประเทศ ห้ามพระภิกษุ สามเณร ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง หากฝ่าฝืนคำสั่งหรือมติ มส.ให้เจ้าคณะปกครองดำเนินการทันที ประกอบด้วย

1.ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองดำเนินการกับพระภิกษุสงฆ์ สามเณรที่เข้าข่ายและฝ่าฝืนคำสั่ง เรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538

2.มีมติมอบถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งเป็นประธานการรมการฝ่ายการปกครองสงฆ์ ให้วางแนวทางการป้องกัน การชุมนุมของพระภิกษุ สามเณร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว

3.มีมติให้นำรายชื่อผู้ฝ่าฝืนของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ส่งให้เจ้าคณะผู้ปกครอง เพื่อพิจารณาทางพระธรรมวินัยต่อไป

4.ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่ทางกฎหมาย ตรวจสอบสถานะพระที่เข้าร่วมชุมนุม ทุกรูป เพื่อป้องกันพระปลอมเข้าร่วมชุมนุมเพราะจะทำให้ศาสนา เกิดความเสียหาย

ณรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนการเอาผิดกับพระภิกษุสามเณร ที่กระทำผิดทางพระธรรมวินัยจะต้องถึงขั้นให้ลาสิกขาหรือไม่ ให้อยู่กับการพิจารณของเจ้าคณะผู้ปกครอง ตั้งแต่ว่ากล่าวการตักเตือน และให้สึก เบื้องต้นจากภาพที่มีพระภิกษุ และสามเณรเข้าร่วมชุมนุมประมาณ 7 รูป พบรายชื่อเป็นพระจริง 1 รูป เณรจริง 1 รูป ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ว่าใช่พระจริงหรือไม่ โดยจะส่งหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากพบเป็นพระปลอม ให้ดำเนินการตามกฏหมายอาญาต่อไป

"สำหรับกรณีพระภิกษุ ชูป้ายในระหว่างการชุมนุม ทวงคืนคิ้ว หรือเอาคิ้วคืนมานั้น พระสงฆ์ที่เข้ามาบวช ไม่ได้มีใครบังคับ เข้ามาด้วยความสมัครใจ และกฏบอกไว้ชัดเจนว่าต้องโกนคิ้ว หากยอมรับระเบียบไม่ได้ ก็แค่ลาสิกขาเพราะการบวชไม่ได้มีใครบังคับ มาบวชด้วยความสมัครใจ" ณรงค์ กล่าว

 

พระไม่ควรยุ่งการเมืองก็เป็นการเมืองแบบหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ประชาไทสัมภาษณ์ 'พระนพ' (นามสมมติ) ที่ออกมาร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร โดยพระนพกล่าวว่า วาทกรรมที่อ้างว่า เป็นพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไปจนถึงกฎต่างๆ ของเถรสมาคมที่ออกมาบอกให้พระสงฆ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง พระนพตอบว่า ประการแรกพระสูตรที่ปรากฎในพระไตรปิฎกซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นคนตรัสเอง ก็ยังพูดถึงการปกครองบ้านเมืองของฝ่ายฆราวาส ดังนั้นเป็นมายาคติมากที่บอกว่าศาสนาพุทธไม่พูดเรื่องการเมืองการปกครองของฝ่ายราชอาณาจักร

ประการที่สอง เมื่อดูบริบทของพระสงฆ์กับการเมืองไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไทยมีการรื้อการปกครองของสงฆ์สองครั้งใหญ่ ครั้งแรกมีการออกพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 และครั้งที่สองคือหลังจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ ก็มีการออกพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 หลังจากปี 2505 ก็มีการแก้อีกถึง 4 ครั้ง สมัย คสช. ซึ่งถือเป็นสภาเผด็จการ ก็มีการแก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งที่ 3 และ 4 ในปี 2560 และ 2561

“ตั้งแต่ปี 2475 เรื่อยมาจนถึงปี 2563 ฝ่ายบ้านเมืองมีการยกร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่รวมกันทั้งหมด 5 ครั้ง ฝ่ายรัฐสภา ซึ่งบางช่วงก็เป็นสภาเผด็จการ มีการเข้ามาปรับ เปลี่ยน รื้อ วิธีการปกครองคณะสงฆ์ไทยตลอดเวลา ผ่านการตราพ.ร.บ. ผ่านการแก้ไขพ.ร.บ.ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าการปกครองคณะสงฆ์ไทยไม่เกี่ยวกับการเมือง” พระนพระบุ

ประการที่สาม ก่อนปี 2475 ในรัชกาลที่ 1 ก็ทรงออกกฎเกี่ยวกับคณะสงฆ์ไว้ 10 ฉบับ และต่อมาในรัชกาลที่ 5 ก็มีการตราพ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 ขึ้นมาเป็นกิจจะลักษณะ

“ดังนั้นจะเห็นว่าฝ่ายปกครองบ้านเมืองเข้ามาควบคุม กำกับดูแล รวมทั้งมาแต่งตั้งว่าพระรูปใดควรเป็นผู้ปกครองสูงสุด พระรูปนี้ควรมีตำแหน่งนี้ อำนาจเท่านี้ ฝ่ายบ้านเมืองเป็นผู้กำหนดทั้งหมดตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว

“มีการออกคำสั่งเถรสมาคมปี 2538 ว่าคณะสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งๆ ที่คำสั่งนั้นก็เป็นคำสั่งทางการเมือง ผู้ที่ออกคำสั่งมหาเถรสมาคมก็คือผู้ใช้อำนาจทางการเมือง และเป็นการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของคณะสงฆ์ แต่เป็นการเมืองระบอบแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจฝ่ายฆราวาส ดังนั้นมันจึงเป็นวาทกรรม เป็นมายาคติทั้งนั้นที่บอกว่าคณะสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือการเมืองไม่ควรอยู่ในคณะสงฆ์” พระนพกล่าว

 

อ้างอิง: คมชัดลึก, วอยซ์ทีวี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net