Skip to main content
sharethis

สวรส.จัดเวทีระดมความเห็น ชงข้อเสนอสู่นโยบาย “แก้ปัญหาผลกระทบยกเลิกคลินิกชุมชนอบอุ่น” พร้อมพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ กทม. ในอนาคต  

12 พ.ย.2563 หน่วยงานสื่อสาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. รายงานว่า สวรส. นำโดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ จัดเวทีระดมความคิดเห็น “ก้าวต่อไป..หน่วยบริการปฐมภูมิในเขตกรุงเทพมหานคร (Fact & Future)” เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยนำร่องพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) สืบเนื่องจากการยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ให้บริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. ซึ่งจากข้อมูลระบุคลินิกชุมชนอบอุ่นมีจำนวน 230 แห่ง (โดยประมาณ) เหลือเพียง 28 แห่ง โดยมีการประกาศยกเลิกมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 จนถึงล่าสุดเมื่อ 1 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการรับบริการของประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) จำนวน 2 ล้านคน (โดยประมาณ) ที่ไม่มีหน่วยบริการปฐมภูมิรองรับ นับเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหาทางออกเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น โดย สวรส.ในฐานะองค์กรวิชาการ จึงเร่งขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยข้อมูลทางวิชาการ และการระดมผู้เกี่ยวข้องหลักมาร่วมให้ข้อมูลและความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะเป็นทิศทางในการออกแบบการบริหารจัดการและการเพิ่มคุณภาพของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในอนาคต โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม และมีหน่วยงานหลักสำคัญ เช่น กรุงเทพมหานคร, สปสช., คลินิกชุมชนอบอุ่น, ผู้เเทนภาคประชาชน เข้าร่วมระดมความคิดเห็น โดยมี นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. เป็นผู้ดำเนินการแลกเปลี่ยน เมื่อเร็วๆนี้ ณ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

ทั้งนี้หน่วยบริการปฐมภูมิคือ สถานบริการที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายของหน่วยบริการประจำ สามารถจัดบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิได้อย่างเป็นองค์รวม ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยผู้มีสิทธิของหน่วยบริการประจำสามารถใช้บริการสาธารณสุข ณ หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายได้ ซึ่งคลินิกชุมชนอบอุ่นถือเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่ให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและมีคุณภาพ

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ก่อนที่จะวิเคราะห์และสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหา ทุกฝ่ายควรเข้าใจที่มาที่ไป แนวคิด และการบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่ผ่านมาก่อน ซึ่งพบว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. ถ้ามีเพียงสถานบริการของรัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีเครือข่ายบริการที่เป็นภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการด้วย เพื่อให้บริการสุขภาพปฐมภูมิครอบคลุมประชากรทุกพื้นที่ใน กทม. และอีกหลักคิดที่สำคัญของการมีหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นเอกชนคือ คลินิกชุมชนอบอุ่น อยู่ใกล้บ้านใกล้ใจ ทำให้ประชาชนมีแพทย์ในการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด จากปัญหาการยกเลิกคลินิคชุมชนอบอุ่นที่ผ่านมา สวรส. จึงระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านสำหรับการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ และสรุปเพื่อจัดทำข้อเสนอทางเลือกการบริหารจัดการคลินิกชุมชนอบอุ่นในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อเสนอแนวทางการพัฒนาคุณภาพ ในการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนต่อไป

สำหรับข้อมูลสำคัญและข้อเสนอเบื้องต้นจากเวทีดังกล่าว เช่น

1) พื้นที่ กทม. ต้องมีโรงพยาบาลประจำเขต เพื่อให้บริการรับส่งต่อ และควรมีจำนวนเตียงที่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย

2) หน่วยบริการควรนำบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มาช่วยในการเพิ่มคุณภาพของการบริการสุขภาพ ลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนสามารถขยายเวลาในการทำงานของแพทย์ได้

3) หน่วยงานของรัฐควรสนับสนุนคลินิกชุมชนอบอุ่นเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ลดหย่อนภาษี สร้างความมั่นใจในการขยายการดำเนินงาน โดยใช้สัญญาในการควบคุมค่าใช้จ่ายและกำกับคุณภาพบริการ 

4) สปสช. เขต 13 ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัยของ กทม. กระทรวงสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสร้างความมั่นใจ ในการให้บริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพแก่ประชาชน เช่น ได้พบหมอทุกครั้งที่รับบริการ มีเครื่องมือในการดูแลรักษาพร้อม การได้รับยาที่มีคุณภาพ และมอบประสบการณ์ที่ดีในการไปใช้บริการ 

5) คลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นเหมือนที่พึ่งด้านสุขภาพ อยู่ใกล้บ้านใกล้ใจ (first to call) ของประชาชน ซึ่งเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพ อาจไม่จำเป็นต้องไปที่หน่วยบริการ ถ้าประชาชนหรือผู้ป่วยรู้ว่าจะคุยกับใคร ซึ่งการนำเทคโนโลยี Telemedicine เข้ามาช่วย ต้องมีช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงได้และยอมรับช่องทางนั้น

6) คลินิกชุมชนอบอุ่นต้องมีการให้บริการที่มีคุณภาพ เช่น บริการที่มีประสิทธิผล โดยให้การบริการตามแนวทาง (Guideline) ที่กำหนด  บริการที่มีความต่อเนื่องและปลอดภัย โดยมีการติดตามเพื่อป้องกันการตกหล่นของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยบางรายควรได้รับการส่งต่อ แต่ระบบมิได้มีการติดตามผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลส่งผลต่อความปลอดภัยของสุขภาพผู้ป่วยที่จะไม่ได้รับการรักษาโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง

7) หน่วยงานของรัฐควรพิจารณาให้ความสำคัญกับงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ เพราะคลินิกชุมชนอบอุ่นสามารถให้บริการนอกเวลาราชการ ซึ่งสนับสนุนเรื่องการดูแลประชากรในพื้นที่ กทม. ได้เป็นอย่างดี 

8) คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ถูกยกเลิก หลายแห่งมีความเสี่ยงมากขึ้น จากการไม่มีเงินก้อนประจำในการบริหารค่าใช้จ่ายที่เป็น Fix cost เช่น เงินเดือนบุคลากร ซึ่งต้องมีแนวทางบริหารจัดการต่อไป

9) สปสช. ควรปรับปรุงระบบการตรวจสอบเครือข่ายบริการปฐมภูมิของคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้อีกในอนาคต ควรวางแผนการตรวจสอบ และสร้างความเข้าใจกับคลินิกชุมชนอบอุ่นในการเบิกจ่ายเพื่อป้องกันการเบิกค่าใช้จ่ายที่ไม่ตรงความเป็นจริง รวมถึงตระหนักว่าความเสี่ยงเหล่านี้เป็นความเสี่ยงร่วมกันระหว่างสปสช. และคลินิกชุมชนอบอุ่น

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงและพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในเขต 13 อาจพิจารณาเรื่องการเปิดโอกาสให้คลินิกที่มีความพร้อม และสามารถบริหารจัดการได้ภายใต้กรอบของ สปสช. เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ระบบบริการปฐมภูมิทั้งรัฐและเอกชนมีการแข่งขันและพัฒนามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การสังเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จ และส่งมอบต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ภายใน 2 เดือนหลังจากนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net