Skip to main content
sharethis

หลังข่าวบรรษัทยาสัญชาติอเมริกันไฟเซอร์และบรรษัทยาเยอรมนีไบโอเอ็นเทคทดสอบวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 เป็นผลสำเร็จร้อยละ 90 องค์กรเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงวัคซีนนี้ได้อย่างทั่วถึงโดยไม่มีการกักตุนเพื่อสร้างผลกำไร

11 พ.ย. 2563 โลกของเรามีผู้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 มากกว่า 50 ล้านราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตราว 1.2 ล้านราย เมื่อต้นสัปดาห์นี้บรรษัทยาสัญชาติอเมริกันไฟเซอร์และเยอรมนีไบโอเอ็นเทคประกาศว่าพวกเขาสามารถทดลองวัคซีนประสบผลสำเร้จร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดทำให้มีความหวังว่าโลกของเราจะได้วัคซีนต่อต้านไวรัสตัวนี้ในเร็ววัน

อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่าผู้คนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนนี้ได้ทั่วถึงหรือไม่ ทำให้กลุ่มองค์กรด้านความเป็นธรรมในการเช้าถึงทรัพยากรเรียกร้องให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนนี้ได้อย่างถ้วนหน้า ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มด้านสาธารณสุุขบางกลุ่มที่วิจารณ์ว่าการที่บรรษัทเป็นฝ่ายประกาศผลการทดลองต่อสื่อในแบบที่ยังทดลองไม่เสร็จอาจจะไม่ใช่เรื่องดีนัก

หนึ่งในผู้รณรงค์ในเรื่องนี้คือ ไมเคิล คาโรม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านสาธารณสุขขององค์กรพับลิกซิติเซน ระบุว่าการที่บรรษัทยาแถลงต่อสื่อเกี่ยวกับผลการทดลองเบื้องต้นทั้งที่ยังทดลองไม่เสร็จไม่เป็นผลดีต่อวิทยาศาสตร์และกล่าวเน้นย้ำว่าผลการทดสอบนี้ควรจะได้รับการพิจารณาใคร่ครวญจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ

เฮย์ดี เชา ผู้รณรงค์ด้านยาขององค์กรโกลบอลจัสติสนาวกล่าวว่า "เป็นเรื่องดีที่ไฟเซอร์สามารถค้นพบวัคซีน COVID-19 ที่ได้ผล แต่ในตอนนี้ยังมีผู้เข้าถึงได้เพียวไม่กี่คนเท่านั้น พวกเราต้องการให้รัฐบาลเข้ามาทำให้วัคซีนนี้ทำให้คนเข้าถึงได้จำนวนมาก การทำเช่นนี้ได้รวมถึงการยกเลิกสิทธิบัตรของยาตัวนี้ด้วย"

จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ระบุว่าไฟเซอร์กำลังอยู่ในขั้นตอนการขอรับรองการใช้วัคซีนฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ และ บรูซ แอลเวิร์ด ที่ปรึกษาระดับสูงขององค์การอนามัยโลกก็บอกว่าวัคซีนอาจจะนำมาใช้ได้ภายในเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนทิศทางของวิกฤตการณ์ COVID-19 ได้อย่างจริงจัง โดยจะเริ่มนำมาใช้กับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงก่อน

อย่างไรก็ตามเชากังวลว่าถ้าหากปล่อยให้วัคซีนนี้เป็นไปตามกลไกตลาดไปทุกส่วนก็จะทำให้มีการผลิตวัคซีนนี้ได้ในจำนวนจำกัด จากที่ในตอนนี้ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคมีสมรรถภาพในการผลิตได้ 50 ล้านโดสภายในปี 2563 และ 1,300 ล้านโดสในปี 2564 เมื่อพิจารณาร่วมกับการที่วัคซีนนี้ต้องใช้คนละ 2 โดสแล้วทำให้คนสามารถเข้าถึงวัคซีนนี้ได้ 25 ล้านคนภายในปีนี้ และ 650 ล้านคนภายในปีหน้า จากประชากรโลกทั้งหมดราว 7,800 ล้านคน

เชากล่าวว่าจำนวนที่ให้บรรษัทสองแห่งน้หผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนวัคซีนส่วนใหญ่นี้ถูกกักตุนโดยเขตประเทศร่ำรวยผ่านข้อตกลงการซื้อล่วงหน้าทำให้ประเทศที่จนกว่าเข้าถึงไม่ได้ เชาบอกว่าภาวะความเหลื่อมล้ำในระบบตลาดยาเช่นนี้จะทำให้เป็นการสร้าง "ความขาดแคลนเทียม" สำหรับวัคซีน เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ท่ามกลางการระบาดทั่วโลก

เชาเสนอว่าบรรษัทยาสองแห่งนี้ควรจะแบ่งปันวัคซีนให้กับโลกแทนการกักตุนเพื่อสร้างผลกำไร ด้วยวิธีการส่งไปอยู่ในกองกลางระดับโลกของ WHO และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ รวมถึงปลดล็อกสิทธิบัตรเพื่อให้ผู้ผลิตยาหลายแห่งสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่เชาเรียกร้องให้ WHO เข้าแทรกแซงระงับสิทธิบัตรวัคซีนนี้ตามที่ประเทศแอฟริกาใต้และอินเดียเสนอ 

"เรื่องนี้เป็นการแข่งกับเวลา พวกเราไม่สามารถปล่อยให้การแสวงหาผลกำไรมาเหยียบย่ำความจำเป็นสำหรับมนุษย์ได้" เชากล่าว

นิค เดียร์เดน ผู้อำนวยการของโกลบอลจัสติส เปิดเผยว่าการที่ไฟเซอร์เคยปฏิเสธคำเชิญชวนให้ร่วมมือกับ WHO ในการผลิตวัคซีนโดยไม่ตั้งราคาแบบผูกขาด ทำให้น่ากังวลว่าการผูกขาดของพวกเขาจะทำให้วัคซีนเหล่านี้มาราคาสูงลิ่ว

ก่อนหน้านี้คอสตาริกาและ WHO เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการผลิตวัคซีนในแบบสมัครใจ ซึ่งถูกโต้ตอบจากผู้บริหารบรรษัทยายักษ์ใหญ่หลายแห่ง โดยที่บรรษัทยาเหล่านี้อ้างว่าการปล่อยทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขาออกไป "เป็นเรื่องไร้สาระและ ณ จุดนี้ตอนนี้อาจจะเป็นเรื่องอันตรายด้วย" ผู้บริหารสูงสุดของบรรษัทยาแอสตราบอกว่าการที่เขาจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเช่นนี้เป็น "ส่วนสำคัญของอุตสาหกรรม" ยาของพวกเขาและอ้างว่าถ้าหากไม่มีการจดสิทธิบัตรจะทำให้ "ไม่มีแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรม"

อย่างไรก็ตามโกลบอลจัสติสนาวระบุว้าสิ่งที่ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคทำนั้นต่างจากคู่แข่งอื่นๆ เช่น แอสตราเซนากา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และจีเอสเค คือการที่ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคไม่ได้ให้สัญญาว่าจะไม่หาผลกำไรจากวัคซีนในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ ถึงแม้ว่าไบโอเอ็นเทคจะได้รับทุนจากทั้งรัฐบาลเยอรมนีและสหภาพยุโรปก็ตาม

ในเรื่องนี้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติและสมาชิกของกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเตือนว่าการดำเนินนโยบายสาธารณสุขและการจัดหายาหรือวัคซีนในแบบแยกตัวไม่ให้ความร่วมมือถือว่าขัดกับหลักการสิทธฺมนุษยชนนานาชาติ และย้ำเตือนเกี่ยวกับวิกฤต COVID-19 ว่า "ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย"

แถลงการณ์ร่วมระบุอีกว่าการสร้างข้อพิพาทด้วยการถือครองสิทธิบัตรรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการผลิตแบบเน้นขายแค่คนจำนวนน้อยจะทำให้เกิดปัญหาคนไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติ บรรษัทยาเหล่านี้จึงมีความรับผิดชอบที่ต้องเล็งเห็นสิทธิในการสาธารณสุขและสิทธิในการเข้าถึงยา

แถลงการณ์ระบุอีกว่าการใช้ระบบตลาดแบบเดิมกับวัคซีนนั้นไม่สามารถยับยั้งการระบาดหนักของโรคได้และไม่สามารถคุ้มครองผู้คนนับล้านที่มีความเสี่ยงโรคได้ ดังนั้นแล้วจึงควรเน้นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์นานาชาติมากกว่าจะห่วงเรื่องสิทธิบัตร ทำให้วัคซีนสามารถเข้าถึงได้โดยผู้คนทั่วโลกโดยไม่ถูกกัดกันเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะมาจากประเทศใดก็ตาม


เรียบเรียงจาก:

'We Need a #PeoplesVaccine': After Hopeful Findings From Pfizer, Campaigners Demand Suspension of Patents, Common Dreams, 09-11-2020
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net