Skip to main content
sharethis

‘ธีรัจชัย’ กมธ.ป.ป.ช. พรรคก้าวไกล ซัก ผบ.เรือนจำกรุงเทพ กรณี อายัดตัว ‘ไมค์-รุ้ง-เพนกวิน’ ขอมติเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ด้าน ผบ.ตร.และ ผบช.น. แค่ส่งตัวแทนแจง

 

12 พ.ย.2563 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วันนี้ (12 พ.ย.63) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เชิญผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เข้าชี้แจงกรณีที่ตำรวจใช้อำนาจกฎหมายอาญามาตรา 116 จับกุมตัวแกนนำคณะราษฎร 2563 รวมทั้งกรณีที่มีการใช้กำลังอายัดตัว ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น ในวันที่ 30 ต.ค.2563 อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไม่ได้มาชี้แจงด้วยตัวเองแต่ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.พัฒนา เพศยนาวิน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 และผู้กำกับการสถานีตำรวจประชาชื่น มาชี้แจงแทน แต่ทางคณะกรรมาธิการฯไม่ได้ซักถามประเด็นใด โดยระบุว่าการแก้ไขปัญหาต้องทำในระดับนโยบาย รวมทั้งการแสวงหาความจริง จำเป็นต้องเสาะหาข้อมูลในหลายพื้นที่ เพราะการชุมนุมและการออกหมายจับไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเขตพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 เท่านั้น ดังนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจนครบาลควรมาตอบด้วยตนเอง

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และกรรมาธิการฯ สอบถามต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า อำนาจหน้าที่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและหลักการอายัดตัวที่เกิดขึ้นมีระเบียบอะไรรองรับหรือไม่ หรือเป็นดุลยพินิจ ทางเจ้าหน้าตำรวจมีหนังสือมาขออายัดตัวหรือไม่ มีการเซ็นรับและส่งตัวให้ใคร และจากภาพข่าวปรากฎว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบได้ทำร้ายทั้งสองคน ทางเรือนจำปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีการกักขัง หน่วงเหนี่ยวหรือไม่ อีกทั้งมีข้อเท็จจริงหลายส่วนและมีข้อโต้แย้งจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า หมายจับที่เอามาจับนั้น ผู้ที่ถูกหมายเรียกได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้วจึงไม่ควรต้องมีการออกเป็นหมายจับอีก จึงอยากทราบว่าทางเรือนจำได้มีการตรวจสอบหรือไม่ ถึงความชอบธรรมของหมายจับ

กฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีอำนาจควบคุมตัวเมื่อคดีถึงที่สุดได้ไม่เกิน 15 ปี โดยในประเด็นเรื่องการอายัดตัว ไม่ได้มีระเบียบลงลึกในรายละเอียด ตามปกติจะมีหนังสือแจ้งอายัดตัวมาที่เรือนจำพร้อมทั้งจะมีการส่งสำเนาหมายจับแนบมาด้วย หากไม่มีหมายจับ ทางเรือนจำจะสอบถามและขอให้แนบหมายจับมาให้ด้วย 

“เรือนจำไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ไปตรวจสอบในรายละเอียด เพียงแค่ดูว่าผู้ขออายัดมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ หากมีการมาอายัดตัว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมารับที่ในเรือนจำช่วงประตู 2 และประตู 3 เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการหลบหนี และต้องมีการขอให้เซ็นรับตัวไป ในกรณีวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางผู้กำกับสถานีตำรวจประชาชื่นได้สวมใส่เครื่องแบบและเดินทางมารับตัวด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ในวันนั้นแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ได้รับรายงานจากเวรประตู จำนวน 2 คนที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น และยืนยันว่าภายในเรือนจำไม่มีการทำร้ายหรือเลือกปฏิบัติ เพราะทางเรือนจำเข้าใจดีถึงสถานการณ์ที่มีการจับตามองจากทุกฝ่าย อีกทั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงมีแนวทางให้จับตาดูอย่างใกล้ชิด รมว.กระทรวงยุติธรรมก็ได้เดินทางมาเยี่ยมผู้ต้องขังด้วยตนเอง ผู้ใต้บังคับบัญชาในฐานะผู้ปฏิบัติจึงมีความระวังมาก” ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าว

กฤช อธิบายเพิ่มเติมว่า ในที่มีการอายัดตัววันที่ 30 ต.ค. พริษฐ์และภาณุพงศ์ ได้พูดคุยเจรจากับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณครึ่งชั่วโมง โดยต่อสู้ในประเด็นว่าหมายจับหมดอายุไม่มีอำนาจอายัดตัว ทั้งนี้ ภาณุพงศ์ มีหมายจับจำนวน 2 หมาย ส่วนพริษฐ์ มีหมายจับจำนวน 4 หมาย และกรณีของปฏิภาณ ลือชา หรือหมอลำแบงค์ ไม่มีหมายจับ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งหนังสือประสานมาเพื่อขออายัดตัว ภาณุพงศ์ คือหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 507/2563 ลงวันที่ 17 ต.ค. 2563 ความผิดตามมาตรา 116 และ สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น มีหนังสือที่ ตช.0015(บก.น.2)(10)/7191 ขออายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ 272/2563 ลงวันที่ 15 ต.ค.2563 ตามมาตรา 116 และในกรณีของพริษฐ์ มีหมายจับจำนวน 4 หมาย คือ 1. สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ที่ ตช.0016.44/6514 ลงวันที่ 22 ต.ค. 2563 ขออายัดตัวตามความผิดมาตรา 116 2.สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี ได้มีหนังสือที่ ตช.0018 (อบ).43/13157 ลงวันที่ 22 ต.ค.2563 ขออายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 234/2563 ลงวันที่ 15 ต.ค.2563 ความผิดตามมาตรา 116 หมายจับนี้ทางตำรวจส่งสำเนาหมายจับแนบมาด้วย 3.สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ได้มีหนังสือที่ ตช.0015 (บก.น.2) 8/14499 ลงวันที่ 26 ต.ค.2563 ขออายัดตัวเพื่อส่งตัวให้แก่พนักงานอัยการ ตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 1355/2563 ความผิดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในคดีนี้ทางตำรวจไม่ได้มีการส่งสำเนาหมายจับแนบมา 4.สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง ได้มีหนังสือที่ ตช.0020(ลป).95/6280 ลงวันที่ 26 ต.ค.2563 ขอให้อายัดตัวเพื่อดำเนินคดีการแพร่เชื่อโรค ในคดีนี้ทางตำรวจไม่ได้ส่งสำเนาหมายจับแนบมา ในส่วนของ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

หลังการชี้แจง ธีรัจชัย  ได้ขอภาพวงจรปิดในวันที่ 30 ต.ค.2563 ที่ตรงประตูเรือนจำ ประตูที่ 1 2 และ 3 เพื่อมาตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงว่ามีการทำร้ายกหรือไม่และเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเช่นไร โดยระบุว่า ภาพกล้องวงจรปิดจะสามารถทำให้ความจริงปรากฎได้ รวมทั้งขอเอกสารเพิ่มเติมคือ บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้น หนังสืออายัดตัว เอกสารหมายจับ และเอกสารหมายปล่อย โดยทางผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับปากที่จะส่งเอกสารหลักฐานมาให้ทางคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ

นอกจากนี้ ธีรัจชัย ยังได้ขอมติจากที่ประชุมขอให้มีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงคือ เจ้าหน้าที่เวรเรือนจำพิเศษกรุงเทพหน้าประตู 2 คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน ภาณุพงศ์, พริษฐ์, ปฏิภาณ ,ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net