Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงาน ขสมก.ค้านใช้รถเมล์ขวางผู้ชุมนุม ระบุรถเมล์เสียหาย 3 คัน สูญเสียรายได้กว่า 3.6 แสน เล็งฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครอง หวั่นเข้าใจผิด ไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ตามมา ด้าน 'สมานฉันท์แรงงาน' อ้างผู้ชุมนุมจาบจ้วงเกินเลยเจตนาปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ เสนอรัฐบาลปฏิรูปด้านอื่นๆ

12 พ.ย.2563 จากวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมาร้องขอตำรวจหยุดใช้รถเมล์ขวางเส้นทางการชุมนุมนั้น แต่กลับปรากฎยังมีการนำรถเมล์มาใช้ขวางและเกิดความเสียหายบางส่วนนั้น

ไทยพีบีเอส รายงานว่า วันนี้ (12 พ.ย.63) บุญมา ป๋งมา ประธาน สร.ขสมก.แถลงข่าวคัดค้านการนำรถเมล์ของ ขสมก. ไปปิดถนน เพื่อขวางทางไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่ต่าง ๆ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศตามสถานการณ์ในแต่ละครั้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า ขสมก.ร่วมกับฝ่ายการเมือง วางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ตามมา

บุญมา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทุกครั้งสภาพแรงงาน ขสมก.ไม่เห็นด้วย และมีการทำหนังสือถึง ผอ.ขสมก.และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แล้วถึงเจตนาการไม่เห็นด้วย เนื่องจาก ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์ในการรับขนคนโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ดังกล่าว และจะทำให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า ขสมก.เข้าร่วมกับฝ่ายการเมือง วางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาตำรวจได้ขอการสนับสนุนการนำรถเมล์ไปสกัดผู้ชุมนุมทั้งหมด 3 ครั้ง จำนวน 121 คัน แบ่งเป็น วันที่ 14 ต.ค.63 จำนวน 22 คัน, วันที่ 25 ต.ค.63 จำนวน 44 คัน และ วันที่ 8 พ.ย.63 จำนวน 55 คัน

ทั้ง 3 ครั้ง ทำให้รถเมล์ได้รับความเสียหายทั้งหมด 6 คัน แบ่งเป็นวันที่ 14 ต.ค.จำนวน 1 คัน, วันที่ 25 ต.ค.จำนวน 2 คัน และ วันที่ 8 พ.ย.จำนวน 3 คัน โดยได้รับความเสียหาย ทั้งกระจกบังลมหน้าแตกเสียหาย สีถลอก และที่ปัดน้ำฝนชำรุด ส่งผลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซ่อมแซมรถที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก เพราะรถเมล์มีอายุใช้งานมากกว่า 30 ปี อะไหล่ เริ่มหายากและใช้เวลาในการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย รวมทั้งยังทำให้เสียหายอื่น ๆ ตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นตามสัญญาปัจจุบัน ขสมก. ต้องจ่ายค่าเหมาซ่อมในราคา 1,401 บาทต่อคันต่อวัน ค่าจีพีเอส 30 บาทต่อคันต่อวัน ค่า PSO ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในการเดินรถ กม.ละ 38 บาทต่อคัน ค่าจ้างพนักงาน 800 บาทต่อวัน รวมทั้งค่าเสียหายที่จะได้จากค่าโฆษณา

ขณะเดียวกันในช่วงที่นำรถเมล์มาสกัดผู้ชุมนุมยังพบว่า ขสมก. เสียโอกาสในการเดินรถ ทำให้สูญเสียรายได้ รวมทั้งหมด 363,000 บาท แบ่งเป็นวันที่ 14 ต.ค.63 จำนวน 22 คัน มีรายได้ 66,000 บาท หรือเฉลี่ยคันละ 3,000 บาท, วันที่ 25 ต.ค.63 จำนวน 44 คัน มีรายได้ 132,000 บาท และ วันที่ 8 พ.ย.63 จำนวน 55 คัน มีรายได้ 165,000 บาท

สำหรับกรณีที่รถเมล์ได้รับความเสียหายจากการนำไปสกัดผู้ชุมนุมนั้น ยืนยันว่า ตำรวจจะต้องเป็นผู้ที่จ้ายค่าซ่อมรถเมล์ที่ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ว่าถ้าต้องการให้ซ่อม ขสมก.ต้องไปฟ้องผู้ชุมนุมเรียกค่าเสียหายเอง โดยมองว่า ตำรวจเป็นผู้ขอความร่วมมือให้ สนับสนุนรถเมล์ทั้งหมด และหนังสือที่ขอความร่วมมือตำรวจจะต้องดูแลทรัพย์สินขององค์การ เพราะฉะนั้นตำรวจจะเป็นต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหาย

สร.ขสมก. ระบุอีกว่า หากอนาคตตำรวจขอความร่วมมือจาก ขสมก. สนับสนุนรถเมล์เพื่อไปสกัดผู้ชุมนุมอีกจะเดินหน้าไปยื่นศาลปกครอง เพื่อขอให้คุ้มครองไม่ให้นำรถเมล์ไปใช้ในกรณีดังกล่าวอีก ขณะนี้กำลังพิจารณารวบรวมข้อมูลว่าสามารถกระทำได้ตามข้อกฎหมายหรือไม่

'สมานฉันท์แรงงาน' อ้างผู้ชุมนุมจาบจ้วงเกินเลยเจตนาปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ เสนอรัฐบาลปฏิรูปด้านอื่นๆ

ด้าน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกแถลงการณ์เรื่อง จุดยืน และ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาวิกฤต โดยระบุว่ากลุ่มคณะราษฎรออกมายื่นข้อเรียกเรียกร้อง 3 ข้อดังนี้ 1. นายกฯต้องลาออก 2. ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)ใหม่ทั้งฉบับ และ 3. ให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การเรียกร้องในข้อที่ 1 และ 2 ยังถือว่า เป็นเรื่องปกติและประชาชนพอที่จะยอมรับกันได้ ส่วนประเด็นข้อที่ 3 ไม่เคยมีปรากฏว่า มีการเรียกร้องเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต พร้อมระบุว่า คสรท. ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ที่ผ่านมาการแสดงออกของผู้ชุมนุมผ่านหน้าสื่อทุกช่องทางของการสื่อสารทั้งทางตรงและทางอ้อม มีข้อมูลหลักฐานและ ข้อเท็จจริง ที่เป็นการจาบจ้วงเกินเลยเจตนาที่จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตามข้อเรียกร้อง จนยากที่ประชาชนที่มีความจงรักภักดีจะยอมรับกันได้ จึงเป็นที่มาของสมาชิกเรียกร้องให้ คสรท. ออกมาแสดงจุดยืนในเรื่อง ดังกล่าว 

คสรท. จึงขอแถลงการณ์ดังนี้ จะยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาล   

1.หมวดการปฏิรูปด้านการเมือง-การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1.1. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งผ่านกลุ่มอาชีพอย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 1.2. สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งผ่านกลุ่มอาชีพอย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 1.3. ผู้ใช้แรงงานทำงานในเขตเลือกตั้งไหนให้มีสิทธิ์ลงรับสมัครเลือกตั้งและใช้สิทธิ์เลือกตั้งในเขตนั้น 1.4. วิธีการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ต้องใช้บัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต อีกใบ เลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1.5. รัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนจะประกาศใช้ต้องผ่านการลงประชามติของประชาชนผู้มีสิทธิ์ เลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่ง  

2.หมวดการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ 2.1. ลดการพึ่งพารายได้จากนโยบายภาคอุตสาหกรรม นโยบายการส่งออก และส่งเสริมสนับสนุนนโยบายด้าน การเกษตร โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง 2.2. ส่งเสริมสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับกิจการรัฐวิสาหกิจ และยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ 

3. หมวดการปฏิรูปการจ้างงาน 3.1. รัฐต้องจัดหางานให้ประชาชนวัยทำงานมีงานทำอย่างทั่วถึง มีมาตรการให้ผู้ใช้แรงงานทำงานอย่างปลอดภัยฯ จัดหาอาชีพให้กับประชาชนที่ออกจากงาน และ มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ไม่มีงานทำอย่างเพียงพอ และยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงทุกรูปแบบ 3.2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน นิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าต้อง เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและคนครอบครัว อีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และ ต้องเท่ากันทั้งประเทศ กำหนดโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปีไม่น้อยกว่าอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งเร่ง ดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 425 บาท ตามที่ได้ให้สัญญากับประชาชนเอาไว้ 3.3 รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไม่ให้แพงเกินจริง  

4. หมวดการปฏิรูประบบประกันสังคม 4.1 รัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร สำนักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง รวมทั้งปรับสิทธิประโยชน์ ให้เพียงพอตามความจำเป็น 4.2 รัฐต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทนุ ประกันสังคม สัดส่วน 5 % เท่ากันกับลูกจ้าง นายจ้าง และให้รัฐบาลนำเงิน สมทบค้างจ่าย จำนวน 87,737 ล้านบาท มาคืนให้กับประกันสังคมทั้งหมดเป็นกรณีเร่งด่วน 4.3 ให้รัฐบาลจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อให้บริการผู้ประกันตน 4.4 ให้รัฐบาลสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ประกันตน  

5. หมวดรัฐสวัสดิการ 5.1 รัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 5.2 ด้านสาธารณสุขประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 5.3 ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  

6. หมวดสิทธิแรงงานตามหลักสากล และ สิทธิการชุมนุม 6.1 รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ ที่ 87 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา 6.2 แก้ไขปรับปรุงกฎหมายแรงงานทกุฉบับให้สอดคล้องกับหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) 
6.3 สิทธิการชุมนุมโดยสงบสุขและปราศจากอาวุธ ต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามรัฐธรรมนญู และรัฐต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ  

คสรท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิกฤตชาติในครั้งนี้จะต้องมีทางออกที่ เหมาะสมผ่านพ้นไปด้วยดีเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา จึงแถลงการณ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net