Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน สหรัฐฯ และนักวิชาการชาวจีนร่วมมองเกมการเมืองสหรัฐฯ - จีนหลัง โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป คาด ความสัมพันธ์ไม่กลับไปดีเหมือนก่อนยุคทรัมป์ สหรัฐฯ จะใช้การทูตกดดันมากขึ้นหลังแก้ปัญหาภายใน มองจีนผ่าน 3 จุดแข็ง 3 จุดอ่อน และโอกาสของไทย-อาเซียน เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติจีนฉบับ 14 มุ่งประเทศสังคมนิยมทันสมัย

ท่าทีหนึ่งที่ประชาคมโลกจับตามองการเมืองสหรัฐฯ หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็คือด้านนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะการแข่งขันทางอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการเมืองกับจีน ศัตรูในสงครามการค้าที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ การโรมรันพันตูของสองมหาอำนาจย่อมส่งผลถึงหญ้าแพรกลู่ลมอย่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน คำถามก็คือ การแข่งขันจะมาในแบบไหน อะไรที่ไทยและอาเซียนต้องเตรียมตัว

ซ้ายไปขวา: อาร์ม ตั้งนิรันดร ณัฏฐา โกมลวาทิน ประพีร์ อภิชาติสกล ผศ.หลี่เหรินเหลียง

เมื่อ 11 พ.ย. 2563 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานเวทีสาธารณะหัวข้อ “สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ สงครามตัวแทน? ผลกระทบต่อไทยและโลก” โดยมี อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประพีร์ อภิชาตสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ผศ.หลี่เหรินเหลียง คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นแขกร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยณัฏฐา โกมลวาทิน

สัมพันธ์สหรัฐฯ - จีน มีทั้งรักทั้งชัง แต่คงไม่ดีไปกว่าเก่า

ประพีร์กล่าวว่า สหรัฐฯ มีบทบาทในการเมืองโลกมากขึ้นหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับสหรัฐฯ จีนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่ง เป็นทั้งมิตรและเป็นศัตรู มีความไม่ไว้วางใจกันอยู่ซึ่งมีมาจากความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง ระบอบการปกครองและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มีที่ชะงักงันไปบ้าง ร่วมมือกันบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น ปี 1950-1960 สหรัฐฯ ที่มีนโยบายกักกันชาติคอมมิวนิสต์ก็มองจีนเป็นศัตรู และยังไปผูกมิตรกับประเทศรอบๆ จีนเพื่อกักกันจีน แต่พอจีนบาดหมางกับสหภาพโซเวียตในปี 1964 ก็หันมาผูกมิตรกับสหรัฐฯ ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันถึงกับไปเยือนจีนและมีการยอมรับหลักการจีนเดียวในแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน สหรัฐฯ ก็หันกลับมาโจมตีจีนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเริ่มหาพันธมิตรในสหภาพยุโรป (EU) ร่วมไปถึงใช้อิทธิพลในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไปคว่ำบาตรจีนอีกด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - จีน มีที่ท่าเปลี่ยนไปอีกครั้งในรัฐบาลบิล คลินตัน ที่หันไปให้ความช่วยเหลือจีนผ่านการให้สถานะเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ต่อมาในสมัยรัฐบาลบารัก โอบาม่า ก็หันไปขยายอิทธิพลทางการเมืองแข่งขันกับจีนอีก และรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ใช้กำแพงภาษีกีดกันจีนผ่านสงครามการค้า และพยายามแผ่อิทธิพลทางการเมืองผ่านข้อตกลงอินโด-แปซิฟิก แต่อย่างหลังคิดว่าคงทำอะไรไม่ได้มาก

ประพีร์เชื่อว่าโจ ไบเดนคงไม่สามารถนำความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - จีน กลับไปเป็นเหมือนเดิมก่อนที่ทรัมป์จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ สงครามการค้าคงจะมีต่อไป การสร้างอิทธิพลผ่านข้อตกลงอินโด-แปซิฟิกคงจะมีแต่ลุ่มลึกไปกว่าทรัมป์ คงจะมีการเอาค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชมาผูกโยงกับการทำการค้าซึ่งก็อาจจะกระทบกับไทยในส่วนนี้ นอกจากนี้ สหรัฐฯ คงจะยังใช้ประเด็นการคุกคามฮ่องกงและไต้หวันมาโจมตีจีนต่อไป ในตอนที่การเมืองสหรัฐฯ ยังคงคลุกฝุ่น ไทยควรเตรียมรับมือไว้ก่อน สิ่งที่ต้องมีพร้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชนหรือสิ่งแวดล้อมก็ต้องจัดการเตรียมตัวให้พร้อมไว้ก่อน 

จีน 2 ทศวรรษ เปลี่ยนจากคนจนแห่งโลก สู่ภัยคุกคามสหรัฐฯ

อาร์มกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของจีนในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาต้องเรียกว่าเป็นไปอย่างใหญ่หลวง สืบเนื่องจากการสานสัมพันธ์ของคลินตันในปี 2001 ที่ทำให้เศรษฐกิจจีน ที่ขณะนั้นถือว่ายากจนมาก เชื่อมต่อเข้ากับตลาดโลกผ่านองค์การการค้าโลกและการลงทุนจากสหรัฐฯ ที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกในจีน สมัยนั้น คนภายในก็มีการวิจารณ์คลินตันที่มีนโยบายเช่นนั้น แต่คลินตันมีเหตุผลสามประการสนับสนุนการช่วยเหลือจีน

หนึ่ง ตอนนั้นจีนจนมากจนไม่มีภาวะการเป็นภัยคุกคาม ดังนั้นจึงต้องช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่า สอง ตามตำราเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นระบุว่า เมื่อประเทศมีชนชั้นกลาง ก็จะเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย การช่วยจีน สุดท้ายก็จะทำให้จีนเหมือนสหรัฐฯ และสาม การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นไปกับการเมือง ทุนนิยมก็ไปกับประชาธฺปไตย ไม่เช่นนั้นก็เดินต่อไปไม่ได้ การช่วยจีนอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่ แต่ 20 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าจีนรวยขึ้น ไม่มีทีท่าจะเป็นประชาธิปไตย และก็ไม่เจ๊ง ตอนนี้กำลังซื้อมีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว คู่ค้าส่วนใหญ่ของประเทศในเอเชียก็คือจีน

โจ ไบเดน นั่งร่วมโต๊ะสังสรรค์กับสีจิ้นผิงเมื่อทั้งสองดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปี 2554 (ที่มา: obamawhitehousearchive.org)

อาร์มกล่าวว่าเคยมีคนสงสัยว่าการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดผลเสียทางการค้าทั้งคู่นั้นดูไม่สมเหตุสมผลในทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ มีปัจจัยที่ต้องวิเคราะห์ในประเด็นนี้อยู่ 2 ปัจจัย 

หนึ่ง การเมืองภายในของสหรัฐฯ เนื่องจากตั้งแต่มีโลกาภิวัฒน์ คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดมีอยู่สองจำพวก ได้แก่คนที่จนที่สุดในโลกอย่างจีนขณะนั้นที่ผลัดเปลี่ยนหมวดทางเศรษฐกิจจากท้องนามาอยู่โรงงาน และคนรวยในสหรัฐฯ ที่ไปใช้ประโยชน์จากแรงงานที่จีน ส่วนชนชั้นกลางในสหรัฐฯ ไม่ได้อะไร ทำให้เกิดผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่เห็นด้วยกับโลกาภิวัฒน์เช่นโดนัลด์ ทรัมป์ เบอร์นี แซนเดอร์ส และฮิลลารี คลินตัน 

สอง ประเด็นเรื่องสงครามเทคโนโลยี จีนพยายามถึบตัวเองจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตออกมาเป็นผู้ทำผลิตภัณฑ์เอง จึงเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯ ตัวอย่างที่เห็นในเรื่องนี้คือการมาของเสียวหมี่ (Xiaomi) และหัวเหว่ย (Huawei)  ซึ่งทำให้เกิดสงครามเทคโนโลยีที่แต่ละประเทศไม่ไว้ใจเทคโนโลยีของกันและกัน เนื่องจากกลัวการถูกเจาะฐานข้อมูลส่วนบุคคล และปัญหาความปลอดภัย 

วิเคราะห์สหรัฐฯ หลังเลือกตั้ง 3 ระยะ เทียบ 3 จุดแข็ง 3 จุดอ่อนจีน

อาร์มมองว่าการที่สีจิ้นผิงยังไม่แสดงความยินดีกับไบเดนคือท่าทีที่ต้องการสื่อให้คนในประเทศตนเองเห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงไม่สงบแม้จะมีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้การดูท่าทีของสหรัฐฯ ต้องมองเป็นระยะสั้น กลางและยาว 

โดยระยะสั้น การเลือกตั้งที่ไม่มีผลแพ้-ชนะขาดลอย ทรัมป์ได้คะแนนเสียงมากกว่าเดิม 10 ล้านเสียง แปลว่าไบเดนจะบริหารประเทศยาก เพราะคนในประเทศจำนวนมากยังโอเคกับทรัมป์และพรรคเดโมแครตก็ยังคุมสภาคองเกรสไม่ได้ และทรัมป์จะอยู่ในตำแหน่งถึง 20 ม.ค. ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะวางยาอะไรทิ้งไว้

ระยะกลาง ในเว็บไซต์ที่ทีมงานไบเดนทำเอาไว้เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และนโยบาย จะพบว่าเรื่องหลัก 4 ประการแรกนั้นเป็นเรื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคุมโควิด-19 แก้ไขปัญหาวิกฤติภูมิอากาศและเรื่องการเหยียดผิว ไม่มีนโยบายต่างประเทศอยู่เลย เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาในประเทศก่อน

ระยะยาว สงครามการค้าที่จะกลายสภาพเป็นสงครามเทคโนโลยี ไบเดนคงไม่ใช้กำแพงภาษีแบบทรัมป์ แต่คงมาสู้เรื่องการแสวงหาหุ้นส่วนด้านการค้าและเทคโนโลยีเพิ่มกับชาติพันธมิตรต่างๆ และจะใช้คุณค่าด้านประชาธิปไตยปิดกั้นจีน

สำหรับไทย อาร์มเสนอว่าในโลกที่ตอนนี้ภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิทัศน์เทคโนโลยีกำลังถูกเขย่า ห่วงโซ่เศรษฐกิจกำลังแยกออกจากกัน ไทยต้องเลือกเข้าช่องทางที่มีอยู่หลากหลาย รักษาสมดุลเชิงรุก คือเดินหน้าต่อรองกับ 2 ชาติมหาอำนาจ อาเซียนเองก็ควรมียุทธศาสตร์ในการต่อรองกับมหาอำนาจร่วมกัน 

อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ยังกล่าวอีกว่า จีนมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างละ 3 ด้าน สำหรับจุดแข็งนั้นได้แก่ หนึ่ง อำนาจต่อรอง เนื่องจากผนวดกกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก สอง ความเข้มแข็งของเทคโนโลยีไฮเทค สาม มีขนาดตลาดใหญ่โตจากจำนวนประชากรที่มาก ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูล

ส่วนจุดอ่อนได้แก่ หนึ่ง การเมืองภายในยังมีเรื่องที่อ่อนไหว เช่นประเด็นในฮ่องกง หรือสถานการณ์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง สอง หากเกิดวิกฤตการเงิน ก็จะนำไปสู่วงจรเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และสาม แม้จะมีความสามารถในเรื่องการต่อยอดจากซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐาน แต่จีนยังมีคำถามเรื่องศักยภาพการวิจัยและผลิตซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐาน 

เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติจีนฉบับที่ 14 มุ่งประเทศสังคมนิยมทันสมัย

หลี่เหรินเหลียงกล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-2020) ที่ผ่านมาได้ผ่านการประเมินของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ผู้นำสูงสุดของจีน สีจิ้นผิง ได้กล่าวรายงานและเริ่มดำเนินการต่อในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ต่อ เมื่อสิ้นสุดแผนที่ 13 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) มีขนาด 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นร้อยละ 70 ของสหรัฐฯ มีการคาดการณ์ว่าปี 2025-2030 จะแซงหน้าสหรัฐฯ มีคนจีนราว 53.75 ล้านคนหลุดพ้นจากเส้นความยากจน นำคน 1.3 พันล้านคนเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพพื้นฐานและการศึกษา แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ยังต้องแก้ไขกันอยู่

ในแผนที่ 14 นั้น จีนมุ่งที่จะเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย โดยจะบูรณาการการพัฒนาไปกับความมั่นคง ผ่านแนวคิด รูปแบบ และช่วงเวลาการพัฒนาแบบใหม่ในศตวรรษที่ 2 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน จากที่ศตวรรษแรกมุ่งมั่นให้ประชาชนอิ่มอุ่น มีใช้และสมบูรณ์พูนสุข ไปสู่การเป็นประเทศที่เข้มแข็ง มีอารยธรรมและสวยงาม 

หลี่กล่าวอีกว่า จีนมีความมั่นใจในเส้นทางที่ผ่านมา ตอนนี้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเจ้าของที่กระทำมาตั้งแต่ปี 2000 มีการส่งเสริมการลงทุน ให้รัฐวิสาหกิจก้าวไปข้างนอกประเทศมากขึ้น เน้นเป็นภาคีในเวทีโลก และเน้นให้ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาเป็นฐานการพัฒนา ฐานทรัพยากร สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้ไม่ใช่ความแตกต่างในเชิงระบอบ แต่เป็นเรื่องความคิดที่แตกต่างเรื่องโลกาภิวัฒน์ ซึ่งจีนก็เตรียมตัวกับสงครามการค้าพอสมควร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net