Skip to main content
sharethis

รัฐบาลเยอรมนี ระบุ ไม่มีหลักฐานว่ากษัตริย์ไทยทรงกระทำการใดที่ผิดกฎหมายในเยอรมนี ประเทศที่พระองค์ทรงประทับอยู่เกือบตลอดปี ด้าน ส.ส.พรรคกรีนส์ยังไม่เชื่อ เหตุมีหลักฐานว่ามีการใช้พระราชอำนาจระหว่างประทับ

13 พ.ย.2563 จากกรณีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ส.ส.พรรคกรีน ประเทศเยอรมนี ตั้งกระทู้ถามกลางสภา ถึงการใช้อำนาจสั่งการทางการเมืองโดยตรงจากประเทศเยอรมนีของกษัตริย์ไทยระหว่างประทับที่นั่นซึ่งขัดต่อกฏหมายของประมุขต่างประเทศนั้น อีกทั้งเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะราษฎร 2563 เดินขบวนไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เพื่อยื่นจดหมายถึงรัฐบาลเยอรมนีให้ความชัดเจนเกี่ยวกับกรณีนี้ รวมทั้งข้อกำหนดเรื่องการเสียภาษีมรดก และข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยข้าราชบริพารของพระองค์นั้น

วานนี้ (12 พ.ย.63) บีบีซีไทย รายงานความคืบหน้า โดยอ้างถึงสำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนีที่รายงานว่า

รัฐบาลเยอรมนี ระบุว่า ไม่มีหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระทำการใดที่ผิดกฎหมายในเยอรมนี ประเทศที่พระองค์ทรงประทับอยู่เกือบตลอดปีนี้

กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีได้ตอบคำถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคกรีนส์ เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ทางกระทรวงคาดว่า พระมหากษัตริย์ของไทยไม่ได้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่ "เป็นการแทรกแซงระบบกฎหมายของเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศ หรือ หลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองระหว่างประเทศ" ขณะทรงประทับอยู่บนแผ่นดินเยอรมนี

เอกสารชี้แจงระบุอีกว่า "รัฐบาลเยอรมนีไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือว่า พระมหากษัตริย์ของไทยทรงตัดสินพระราชหฤทัยในการใด ๆ ระหว่างทรงประทับในเยอรมนี"

มิเกล แบร์เกอร์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า "จากข้อมูลที่ได้มาจากรัฐบาลไทย การประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนีเป็นเรื่องส่วนพระองค์"

ทั้งนี้ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Pipob Udomittipong" ระบุว่า Margarete Bause ส.ส. โฆษกด้านสิทธิมนุษยชนของ พรรคกรีน ที่ตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาเยอรมนี หลังคณะราษฎร ส่งจำหมายทวงถามที่สถานทูตเมื่อหลายวันก่อน กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีอ้างว่า ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการทำผิดกฎหมาย แต่ ร.10 ประทับที่นั่นด้วยวีซ่าเอกชน ไม่ใช่ state visas

บาวเซจึงไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะมีหลักฐานว่ามีการใช้พระราชอำนาจระหว่างประทับที่นั่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net