Skip to main content
sharethis

วงเสวนา “รัฐธรรมนูญประชาราษฎร์ ความฝันอันสูงสุด” แลกเปลี่ยนปัญหารัฐธรรมนูญ 60 ที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการรวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีการละเมิดสิทธิประชาชน และยังมีการแลกเปลี่ยนแนวทางการเลือกตั้ง สสร. หวังสะท้อนความต้องการ อุดมการณ์และความหลากหลายของประชาชนในประเทศ และชวนติดตามการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอังคาร 17 พ.ย.นี้

12 พ.ย.2563 เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance-CALL) และเครือข่าย People GO ร่วมกันจัดเสวนา “รัฐธรรมนูญประชาราษฎร์ ความฝันอันสูงสุด” เพื่อแลกเปลี่ยนถึงความต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนและสะท้อนวิกฤติสังคมการเมืองไทยที่มีผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นและทำให้สิทธิของประชาชนที่มีอยู่แต่เดิมกลายเป็นเพียงหน้าที่ของรัฐ 

ในการเสวนาช่วงแรกเป็นการสะท้อนปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ดิน การศึกษา สวัสดิการ ความเท่าเทียมทางเพศ การเลือกตั้ง รวมถึงปัญหาระบบยุติธรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการขาดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม จากนั้นในช่วงที่สองจะเป็นการเสนอประเด็นที่จะต้องมีในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อสร้างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน

ประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาใหญ่ 3 ประเด็น คือเป็นรัฐธรรมนูญที่วางโครงสร้างเพื่อใช้ควบคุมทางเศรษฐกิจและทรัพยากร เห็นได้จากการทำยุทธศาสตร์ชาติ และเรื่องที่สองคือกลไกที่สร้างองค์กรต่างๆ มารองรับการใช้อำนาจเพื่อยึดกุมเศรษฐกิจและทรัพยากร สาม คือเพื่อสืบทอดอำนาจ เช่น สมาชิกวุฒิสภา ใน 3 โครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญเมื่อนำมาปฏิบัติแล้วทำให้เกิดวิกฤติสังคม เศรษฐกิจและทรัพยากรอย่างหนัก ซึ่งเป็นความจงใจที่จะยึดกุมประเทศนี้และสืบทอดอำนาจต่อ เพราะทรัพยากรเป็นที่มาของเงินและความมั่งคั่ง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างสูงตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา

ประสิทธิชัยเสนอทางออกว่า จะต้องทำให้กลไกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในมือของประชาชนก่อน ถ้าอยู่ในมือของกลุ่มอำนาจกลุ่มเดิมเราจะคาดหวังเนื้อหาของรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย แล้วเนื้อหาทั้งหมดต้องมาจากประชาชนโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเอาเนื้อหาที่ประชาชนเสนอมาไปใส่ในร่างรัฐธรรมนูญและ สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ทำให้เนื้อหามีความยึดโยงกับประชาชนโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญจะเป็นของประชาชนได้จริงต้องรองรับความหลากหลายของประชาชนได้มากพอ สสร.จะมีหน้าที่บางประการในการรับเนื้อหาจากประชาชนไป

สมนึก จงมีวศิน(ซ้าย) และ ประสิทธิชัย หนูนวล(ขวา)

สมนึก จงมีวศิน เครือข่ายประชาชน รัฐธรรมนูญนี้ทำให้คำสั่ง คสช. ยังมีผลอยู่ต่อไป เพราะมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาเพราะเรื่องแรกที่ คสช. เข้ามาทำคือการปรับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมีการประกาศเขตทั้งหมด 10 จังหวัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมกว่า 3.89 ล้านไร่ แต่ประชาชนสู้จนทำให้รัฐได้ไปแค่ 24,000 ไร่ แล้วตอนนั้น คสช.ก็ออกคำสั่งมายกเว้นกฎหมาย เช่น ที่ดินและอื่นๆ รวม 19 ฉบับและส่งผลทำให้เกิดการปั่นราคาที่ดินซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาได้จริง แต่เมื่อทำไม่สำเร็จก็มีการเปลี่ยนคนดูแลเป็น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น EEC หรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจพัฒนาพิเศษตะวันออก ทั้งหมด 8.29 ล้านไร่ รวมกับ 3.89 ล้านไร่

“แทนที่จะเป็นการช่วยกระจายทรัพยากรให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แล้วก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำมันขาดออกไปเรื่อยๆ” สมนึกกล่าว นอกจากนั้นยังมีการให้สิทธิพิเศษกับชาวต่างชาติให้ถือครองที่ดินในไทยได้ถึง 99 ปี และยังมีการยกเว้นภาษีต่างๆ รวมถึงการให้เอาต่างชาติเข้ามาทำงานได้ เรื่องแรงงานที่เรามีปัญหาล้นระบบอยู่แล้วก็ยังให้ชาวต่างชาติเข้ามาแย่งไปอีก นอกจากนั้นยังมีกฎหมายต่างๆ ที่ยกเว้นได้ เช่น พ.ร.บ.เวนคืนฯ 

สมนึกกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้อำนาจพวกนี้เดินหน้าต่อไปได้อีก และกลายเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติไปแล้วไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมาก็ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาตินี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญในหมวดมาตรานี้จะต้องแก้ ถ้าไม่แก้เราก็ทำอะไรกับประเทศนี้ไม่ได้เลย การเดินจะผิดทิศผิดทางไปแบบนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญจะต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น

“สิ่งสำคัญ 3 สิ่ง คือ ศักยภาพ อำนาจ แล้วก็งบประมาณ ถ้าเรากระจายลงไปในพื้นที่ได้จริง การพัฒนาจะเกิดขึ้นเองไม่ต้องพึ่ง SEZ หรือ EEC” สมนึกกล่าวปิดท้าย

นัฐาพันธ์ แสงทับ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่าประเด็นเรื่องการรักษาสิทธิในที่ดินจะละทิ้งสิทธิการเมืองไม่ได้เพราะเชื่อมโยงกับสิทธิทางเศรษฐกิจและยังเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่กำลังเจอปัญหาอยู่ระหว่างรัฐกับทุนในการร่วมกันจัดการที่ดินและกุมปัจจัยการผลิต ถ้าประชาชนไม่มีสิทธิในการพูดและแสดงออกเพื่อผลักดันทางนโยบายในการบริหารจัดการที่ดิน สุดท้ายเราก็จะไม่สามารถบริหารจัดการที่ดินได้เพราะรัฐและทุนรวมกันมาลิดรอนสิทธิของพวกเรา ซึ่งนี่เป็นอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาจาก คสช.ซึ่งพวกเราไม่ได้ยอมรับการเข้ามาบริหารประเทศ

นัฐาพันธ์ระบุว่า ทาง สกต.มีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อคือ ไม่เอา สว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน และ สว.ก็มาจาก คสช.ด้วย สอง ไม่เอาองค์กรอิสระที่ผ่านกระบวนการคัดสรรมาจาก คสช. และสามต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องร่างใหม่ทุกหมวดทุกมาตรา ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทุกระดับ ผู้นำประเทศก็ต้องให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้นำประเทศของเขาเอง

นัฐาพันธ์ แสงทับ (ตรงกลาง) และ ศศิประภา ไร่สงวน (ขวา)

ศศิประภา ไร่สงวน จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวว่าสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ไทยประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเยอะมากแต่แก้ไขไม่ได้เพราะโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำไม่ฟังเสียงประชาชน ประชาชนไม่ไ่ด้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อโครงการที่เข้ามาทำในพื้นที่ มีแค่รับฟังความเห็น แม้ว่าประชาชนจะแสดงความเห็นคัดค้านแต่ราชการก็ยังให้เอกชนเดินหน้าโครงการต่อ  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายหรือระเบียบของรัฐละเมิดสิทธิที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนไป ไม่ฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เลย 

ศศิประภากล่าวว่า ข้อเสนอของ EnLaw คือต้องแก้และรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชนทั้งในทางเนื้อหาและกระบวนการเพื่อให้เราเข้าใกล้สิ่งแวดล้อมที่ดีมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่ากฎหมายจะแย่แค่ไหนแต่ก็ยังมีรัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้อยู่ จะไม่เห็นการฟ้องปิดปากหรือการแกล้งฟ้องน้อยลงเมื่อออกมาปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพราะรัฐธรรมนูญจะปกป้องพวกเขาจากการคุกคามทั้งทางกฎหมายและกายภาพ และหากเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รัฐจะปกป้องประชาชนมากกว่าเอกชนและรัฐจะต้องเอาคนที่ปล่อยมลพิษมารับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำให้เกิดขึ้น จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน

พรรณอุมา สีหะจันทร์ เครือข่ายประชานเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐแทบไม่มีมาตรการใดมารองรับประชาชนอย่างถ้วนหน้าเลย รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาและฉบับปัจจุบันให้สิทธิแบบแบ่งแยกคนหรือเน้นการให้แบบสงเคราะห์ มีเกณฑ์การแบ่งกลุ่มคนว่าต้องเป็นผู้ยากไร้ถึงจะได้สิทธิในการรับการสงเคราะห์จากรัฐทำให้เกิดชนชั้นในสังคม เกิดการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการศึกษาที่รัฐให้ก็เป็นความช่วยเหลือแบบกู้ยืม กยศ. นักศึกษาที่เรียนจบออกมาชีวิตก็เริ่มแบบติดลบเพราะมีหนี้กองทุนติดมาด้วย หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่มีการปรับตามค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 

พรรณอุมาระบุว่า สิ่งที่เครือข่ายเรียกร้องคือการทำให้สวัสดิการเหล่านี้เป็นสิทธิพื้นฐานเพราะการมีสวัสดิการที่ดีก็จะเป็นหลักประกันชีวิตที่ดีของประชาชนที่รัฐมีหน้าที่โอบอุ้มคนเหล่านี้ไม่ให้มีชีวิตที่ตกต่ำลงไปกว่านี้ เหมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้คนใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกัน 

ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ จากกลุ่มคณะจุฬาฯ กล่าวถึงปัญหาด้านการศึกษาในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ไ่ด้ทำให้การศึกษาเป็นสิทธิที่มีตั้งแต่ต้นเมื่อมีสภาพบุคคล แต่ให้เป็นเรื่องหน้าที่ของรัฐที่จะให้เรียนฟรี ส่งผลทำให้คนที่ต้องการศึกษาต้องเข้าสู่ระบบกองทุน เป็นการผลักภาระให้กับครอบครัว ครูและนักเรียน ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องว่าง เพิ่มความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาให้ได้มาตรฐาน นอกจากนั้นในการศึกษาไทยยังผูกขาดความเป็นชาติ แต่กลับไม่ได้มีการส่งเสริมให้ยึดมั่นในประชาธิปไตย

ศุกรียาเสนอให้มีการเขียนเรื่องการศึกษาเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิและโอกาสของผู้เรียนทุกคนเข้าสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ การกระจายอำนาจเข้าสู่หน่วยงานท้องถิ่นร่วมจัดการศึกษา รวมถึงการประกันสิทธิสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียนทุกวัย

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ กลุ่ม Allism กล่าวว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ให้รัฐต้องให้การศึกษากับเยาวชนเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่ได้มีการระบุกลุ่มประชากรที่ชัดเจนแบบรัฐธรรมนูญ 2550 และยังผลักให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ควรต้องร่างใหม่เลยโดยระบุกลุ่มประชากรลงไปให้ชัดเจน และแม้ว่าตอนนี้จะมีกฎหมายที่บังคับให้สถานศึกษาต้องทำสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคนพิการ แต่ก็ไม่ได้มีผลบังคับย้อนหลังให้บังคับใช้กับสถานศึกษาที่ตั้งมาก่อนมีกฎหมายออกมา นอกจากนั้นสถานที่สาธารณะอย่างทางเท้าเองก็ไม่ได้ทำมาให้คนพิการใช้ สภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ อย่างเพื่อนของเขาเมื่อต้องออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านก็ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุบนถนน 

อรรถพลกล่าวสรุปว่า สวัสดิการที่ดีควรส่งเสริมให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์หรือการเวทนา

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ (ซ้าย) ชัญญา รัตนธาดา (กลาง) กรกนก คำตา (ขวา)

ชัญญา รัตนธาดา รัฐธรรมนูญ 2560 มีมิติทางเพศที่ยังเป็นแบบชายหญิงอยู่โดยไม่ไ่ด้คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ การระบุในรัฐธรรมนูญว่าชายหญิงเท่าเทียมนั้นเป็นความเท่าเทียมของเพศกระแสหลักซึ่งกระทบต่อสวัสดิการด้านสาธารณสุข การไม่มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย เช่น การทำแท้งก็ยังผิดกฎหมาย หรือกลุ่มคนที่มีเพศกำกวม (Intersex) ที่ไม่สามารถกำหนดเพศให้ตัวเองได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญควรให้เสียงกับพวกเขามากกว่านี้ 

นอกจากนั้น ชัญญายังได้กล่าวถึงประเด็นการให้มีโควต้าด้านเพศสภาพในการลงสมัครแข่งขันทางการเมืองเพราะจะเห็นได้ว่าในการออกนโยบายอะไรมาโดยไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนทางเพศเลยก็อาจมองได้ว่าคนที่เข้ามามีอำนาจนั้นยังอยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่

กรกนก คำตา จากผู้หญิงปลดแอก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญู 2560 มีปัญหากับผู้หญิงหลายด้านตั้งแต่เรื่องที่มาที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนซึ่งก็เท่ากับไม่ได้มีเสียงผู้หญิงด้วย ยังอยู่ในกรอบคิดแบบชายหญิงผัวเมียแบบเดิมๆ และมองว่าผู้หญิงต้องได้รับการสงเคราะห์แบบเดียวกับเด็ก คนพิการไม่ได้มีความเสมอภาคทางเพศ ต้องแก้ไม่ใช่ให้เป็นการสงเคราะห์แต่ต้องทำให้เสมอภาคทางเพศของทุกเพศ ซึ่งสะท้อนอยู่ในกฎหมายแพ่งเรื่องการมีชู้ที่ก็ยังไม่เหมือนกันแล้วระหว่างชายหญิง หรือการให้อำนาจกับผู้หญิงในการกำหนดเนื้อตัวร่างกายของตนเอง เช่น การที่ไม่สามารถทำแท้งได้โดยถูกกฎหมาย โดยมีการใช้กรอบศีลธรรม

กรกนกเห็นว่าการที่ระบุในรัฐธรรมนูญว่าหญิงชายเท่าเทียมยังไม่พอแต่ต้องเปลี่ยนเป็นทุกเพศเท่าเทียมกันและรัฐต้องกำหนดงบประมาณเพื่อทำให้ทุกเพศเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐสภามีผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปเป็นผู้แทนได้แค่ 15% เท่านั้นซึ่งจะส่งผลต่อการออกกฎหมาย ดังนั้นเรื่องความเป็นธรรมทางเพศต้องปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมาจากประชาชน

ปุณยนุช ตวงชัยปิติ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ผ่านมาสะท้อนปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สิทธิต่างๆ ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหายไป เช่น สิทธิในการมีทนายความและสิทธิในระหว่างถูกควบคุมตัว โดยสิทธิเหล่านี้ไปอยู่ภายใต้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้เกิดการยกเว้นสิทธิเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อสิทธิเหล่านี้หายไปทำให้เกิดความเสี่ยงในการที่ผู้ต้องหาจะถูกทำให้หายไปหรือถูกซ้อมทรมาน

ปุณยนุช ตวงชัยปิติ

ปุณยนุชกล่าาวต่อว่าเมื่อสิทธิบางอย่างที่เคยเป็นของประชาชนยังถูกย้ายไปเป็นแนวนโยบายของรัฐ ซึ่งทำให้สิทธิของประชาชนที่ควรจะได้มาเลยต้องไปรอให้รัฐจัดหาให้โดยไม่มีกรอบที่ชัดเจนว่ารัฐจะจัดหาให้ในระดับไหน อย่างไร  แต่ถ้าเป็นสิทธิของประชาชน รัฐจะมีหน้าที่ต้องจัดหามาให้เลย สิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรัฐยังเลือกที่จะให้แก่ผู้มีฐานะยากไร้เท่านั้น ซึ่งประชาชนควรจะได้อย่างเสมอหน้ากัน

ปุณยนุชมีข้อเสนอว่าอยากให้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ก็ตาม เพราะไม่ควรมีสิทธิใดที่ถูกยกเว้นไว้ ซึ่งจะเป็นหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

ตัวแทนจากสลัมสี่ภาค ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ผูกอยู่กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีปัญหาเรื่องเมื่อมีการจำกัดสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัย ทำให้คนจนเมืองถูกขับไล่ เมื่อมีโครงการใหญ่ของรัฐไม่เคยถามเลยว่าคนในพื้นที่จะอยู่อย่างไร จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างไร แล้วถ้าเขาอยากจะอยู่เขาจะอยู่แบบไหน แต่รัฐก็เอื้อให้นายทุนตลอดโดยไม่ได้เลือกวิธีแบ่งปันให้คนจนอยู่ในที่อาศัย เช่น กรณีที่ดินของการรถไฟที่ขับไล่คนออกไปทั้งที่เขาเสียภาษีและช่วยในการพัฒนาเมือง 

เธอเสนอว่าเรื่องโฉนดชุมชนที่เคยมีการออกแบบร่วมกันกับประชาชนที่รัฐเคยทำก็หายไปในรัฐบาลนี้ หรือถ้าเป็นที่ดินเอกชนที่รกร้างควรจะเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อให้เกิดการกระจายตัวในการถือครองที่ดินเพื่อให้คนจนเขาถึงที่ดินเหล่านั้นได้ ซึ่งยังเกี่ยวพันไปถึงเรื่องคุณภาพชีวิตต่างๆ ด้วย 

เธอเสนอสิ่งที่อยากเห็นในรัฐธรรมนูญใหม่คือ อยากเห็นประชาธิปไตยที่กินได้ ควรจะมีเรื่องของคนจนในรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่คิดตั้งแต่พื้นฐานว่าคนจนเขาจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรบ้างแล้วจะพัฒนาให้มีชีวิตที่ดีได้อย่างไร และต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมจากประชาชนเพราะถ้าไม่ได้มาจากเสียงคนส่วนใหญ่มันก็จะมีความขัดแย้งตลอดเวลา

เรืองฤทธิ์ โพธิพรม จาก We Watch กล่าวว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เกิดวิกฤติประชาธิปไตย เพราะทำให้เกิดการรบกวนองค์ประกอบขั้นพื้นฐานประชาธิปไตย 2 อย่าง คือ การจำกัดสิทธิและตัดสิทธิ และทำให้การเลือกตั้งที่ไม่มีความหมายเป็นเพียงเครื่องมือธรรมดา 

เรืองฤทธิ์อธิบายเรื่องการจำกัดและตัดสิทธิว่า รัฐธรรมนูญทำให้เกิดการเลือกตั้งแต่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เมื่อก่อนเราจะรู้กันโดยพฤตินัยว่าเลือกพรรคใดเข้าไปเราก็จะได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรค นอกจากนั้นปัญหาการคำนวณ ส.ส.ตอนนี้ก็ทำให้เราไม่รู้ได้ว่า ส.ส.คนไหนบ้างในบัญชีรายชื่อจะเข้าสู่สภาเพราะขนาด ส.ส.ที่คะแนนไม่ถึงก็ยังถูกนับเข้ามาในสภาโดยทำผ่านบัตรเลือกตั้งใบเดียว และยังมีการตัดสิทธิ 3 แบบคือ ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตัดสิทธิทางการเมืองและตัดสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะตัดสิทธิเลือกตั้งอันนี้รับไม่ได้เลยเพราะมันไม่มีสิทธิในการไปห้ามคนไปเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบมันทำให้ประชาธิปไตยมันไปต่อไม่ได้

เรืองฤทธิ์อธิบายขยายความการเลือกตั้งที่เป็นอะไรก็ได้คือ การเลือกตั้งไม่มีความโปร่งใส เช่นกรณีหีบเลือกตั้งจากต่างประเทศมันส่งมาไม่ทันเราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร และการทำงานของ กกต.ก็มีปัญหาอย่างในหน่วยเลือกตั้งที่มีการทำผิดระเบียบที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของ กกต.เอง หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นเอง ก็มีให้เลือกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือให้เป็นมติของสภาก็ได้ซึ่งทำให้การเลือกตั้งไม่มีความหมาย

เรืองฤทธิ์กล่าวถึงข้อเสนอว่ารัฐธรรมนูญควรมีบทบัญญัติที่ส่งเสริมให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งตรวจสอบได้ ส่งเสริมให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความเข้มแข็งและรับผิดชอบต่อประชาชน มีระบบเลือกตั้งที่สะท้อนเสียงประชาชน สถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. วุฒิสภามีอำนาจเฉพาะเรื่องที่ชัดเจนและมีที่มาจากประชาชน ส่งเสริมการรักษาและการขยายสิทธิเลือกตั้งของประชาชน  ทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วมทำให้องค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ทำงานเพื่อให้ กกต.ทำงานอย่างเป็นอิสระและโปร่งใส 

ณัชปกร นามเมือง ไอลอว์ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า คาดว่าน่าจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 5 ฉบับ พรรคร่วมรัฐบาล 1 ฉบับ และภาคประชาชน 1 ฉบับ ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 17 พ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นวาระแรกในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 

ณัชปกรนำผู้เข้าร่วมเสวนาอภิปรายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ผู้เข้าร่วมเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง ได้แก่ นายกรัฐมนตรีคนนอก ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แก้ไขระบบเลือกตั้ง รื้อองค์กรอิสระต่างๆ ให้มีการเลือกคณะกรรมการในองค์กรใหม่ การถอด ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และการตั้ง สสร.

ทั้งนี้ในการอภิปรายในเวทีการเลือก สสร. ณัชปกรเสนอว่าควรให้มีการเลือกตั้ง สสร.ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบุคคลก็ได้หรือแบบกลุ่มคนก็ได้ โดยให้ใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเนื่องจากเห็นว่าประชาชนจะสามารถเลือกตัวแทนที่ตนเห็นว่าจะเป็นตัวแทนเข้าไปได้มากกว่าการจำกัดกรอบเป็นจังหวัดที่บางคนอาจจะเห็นว่าไม่มีผู้สมัครที่เป็นตัวแทนให้กับตนในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ ซึ่งการกำหนดแบบประเทศก็จะทำให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนที่เป็นกลุ่มอุดมการณ์หรือตัวแทนผลประโยชน์หรือกลุ่มอาชีพของตัวเองได้มากกว่า 

ณัชปกรตอบคำถามในประเด็นที่ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญเช่นนักกฎหมายไว้เพราะเห็นว่าตัวแทนที่มาร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นคนที่เป็นตัวแทนของความฝันและอุดมการณ์มากกว่าการจำกัดอยู่ที่วิธีทางกฎหมายและเมื่อได้ สสร. แล้วก็ยังตั้งคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เพื่อช่วยร่างรัฐธรรมนูญโดยร่างบนพื้นฐานความต้องการของ สสร.ที่เป็นตัวแทนความคิดความฝันและอุดมการณ์ของคนที่เลือก สสร.เข้ามา ซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็ยังสามารถลงสมัครเป็น สสร.เพื่อมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญได้อีกเช่นกัน แต่ที่ร่างแก้รัฐธรรมนูญของประชาชนยังไม่ลงรายละเอียดเพราะต้องการให้มีการเข้าไปถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการของรัฐสภาว่า สสร.จะมีหน้าที่อะไรบ้าง แต่เบื้องต้นต้องการให้มีการรับหลักการก่อน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการอภิปรายเสนอประเด็นการกำหนดโควต้าขั้นต่ำของกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มความหลากหลายทางเพศซึ่งมีทรัพยากรน้อยกว่าในการแข่งขันเลือกตั้ง สสร.ด้วย เพราะเห็นว่าจากการที่ในรัฐสภาขณะนี้มีกลุ่มดังกล่าวเพียง 15% เท่านั้น ซึ่งมีความกังวลว่าหากใน สสร.มีสภาพเดียวกันก็อาจทำให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศและยังคงมีกรอบแบบชายหญิงอยู่เหมือนเดิม

ทั้งนี้อาจต้องมีการสร้างกระบวนการก่อนที่จะมีการเลือกตั้งโดยการส่งเสริมโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ สามารถรวมกันได้เพื่อกระตุ้นให้คนสามารถเข้ามาเป็น สสร.ที่หลากหลายมากขึ้น  อีกทั้งยังมีความกังวลว่าการที่แบ่งเขตเลือกตั้งเป็นประเทศ ก็อาจจะทำให้กลายเป็นว่ากลุ่มคนในเมืองที่มีทรัพยากรมากกว่าสามารถรณรงค์หาเสียงได้มากกว่าก็ได้ ดังนั้นกระบวนการส่งเสริมกลุ่มคนต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง สสร.จึงอาจจะมีความสำคัญ 

ณัชปกรกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การที่ให้เลือกตั้งแบบเขตประเทศจะมีผลกระทบเชิงบวก 2 ประเด็น คือ คนสามารถรวมกลุ่มกันเองได้ เช่นกลุ่มผู้หญิงส่งตัวแทนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้ผู้หญิงทั่วประเทศเลือกเข้ามา ประเด็นที่สองคือจะทำให้กลุ่มที่มีประเด็นเฉพาะของตัวเองถูกกลุ่มที่มีขนาดใหญ่กว่าต้องหยิบนโยบายของกลุ่มเล็กเข้าไปรวมด้วยเพื่อให้ตัวเองมีคะแนนเสียงมากที่สุดโดยเขายกกรณี พรรคกรีนของเยอรมันที่ทำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วมีประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้พรรคการเมืองที่ใหญ่กว่าเอานโยบายไปทำ ซึ่งส่งผลให้มาตรฐานทางนโยบายสูงขึ้นไปเอง

หลังการอภิปราย ณัชปกรอธิบายถึงขั้นตอนตามวาระการประชุมพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 พ.ย.นี้ว่า มีทั้งหมด 3 แนวทางที่อาจเกิดขึ้นได้ แนวทางแรก หากในที่ประชุมมีมติคว่ำร่างแก้ไขทั้งหมดเลย ก็จะเสนอใหม่ได้อีกทีคือ 6 เดือนหน้า ยกเว้นว่าประธานรัฐสภาจะดึงกลับมาพิจารณาอีกทีซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชวน หลีกภัยที่เป็นประธานในขณะนี้ 

แนวทางที่สองถ้าไม่คว่ำหมด ซึ่งตอนนี้จะเห็นว่าพรรครัฐบาลและ สว.ต้องการให้ร่างของตัวเองผ่าน ร่างที่ไม่เอาการยกเลิกองคาพยพของ คสช.และไม่เอา สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เอา สสร.ที่มาจากการแต่งตั้งผสมเลือกตั้งซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะผ่าน ซึ่งณัชปกรกังวลว่า ถ้าฉบับนี้ผ่านคือการปิดประตูการแก้รัฐธรรมนูญแล้วเพราะระบบเลือกตั้งที่เสนอในร่างนี้เป็นระบบที่พรรคการเมืองที่มีเจ้าพ่อท้องถิ่นเยอะได้เปรียบซึ่งไม่เกินพลังประชารัฐและยังมีโควต้า 50 คนซึ่งถ้าร่างนี้ผ่านก็คือไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเพราะก็จะได้คนกลุ่มเดิมมาร่าง

ณัชปกรกล่าวถึงแนวทางที่สามคือสภามีมติผ่านทั้งหมดเลย จะเป็นเรื่องที่ดีเพราะว่าตอนนี้ยังเป็นชั้นรับหลักการ การให้ผ่านทั้งหมดแล้วไปพิจารณาว่าจะเอาประเด็นไหนในชั้นกรรมาธิการแล้วมาโหวตอีกครั้งในวาระสาม จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ตอนนี้ที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น หากต้องการประนีประนอมจริงๆ ก็ควรเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายในการเขียนกติกาของตัวเอง 

ณัชปกรให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเรื่องกระบวนการกำหนดขั้นตอนการหาและสัดส่วน สสร.ว่ารัฐสภาจะเป็นคนออกแบบว่า สสร.จะเป็นอย่างไร เราก็ต้องออกแบบ สสร.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่แต่ละพรรคเสนอไปแล้วพรรคการเมืองในสภาต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะเอาหลักเกณฑ์การได้มาของ สสร.แบบไหน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ตอนนี้พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลมีพิมพ์เขียวของตัวเองแล้ว แต่ว่าการได้มาซึ่ง สสร.เป็นโจทย์ใหญ่ที่ยังไม่มีคำตอบตายตัว คิดว่ามันอาจจะช้าหน่อยในกระบวนการได้มาซึ่ง สสร. กว่าจะมีมติวาระสาม อาจจะใช้เวลา เราต้องคิดให้ละเอียดต้องไม่รีบเกินไป

ณัชปกรกล่าวว่าเรื่องที่เร่งด่วนตอนนี้คือการรีบนำกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. ออกไปก่อน เพื่อเปิดทางให้ สสร.ถกเถียงกันได้ต่อ

หลังการเสวนามีการอ่านแถลงการณ์โดยจีรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนกลุ่ม CALL โดยมีข้อเรียกร้องให้ สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สสร.ต้องมีอำนาจในการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวดมาตรา และสสร.ต้องคำนึงถึงประชาชนทุกภาคและตรวจสอบได้

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ประชาชนได้ออกมาแสดงพลังบนท้องถนนเพื่อสะท้อนความไม่พอใจต่อระบบระเบียบทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นโดยบรรดาขุนศึกศักดินาที่พยายามจะดำรงรักษาอำนาจไว้ผ่านกลไกในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จนนำไปสู่ข้อเรียกร้องสำคัญประการหนึ่งคือ การผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับผ่านการมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็น “ฉันทามติ” หรือ ข้อตกลงร่วมในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา สังคมไทยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 นำมาซึ่งวิกฤติทางการเมืองหลายครั้งหลายครา ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลผสมจากพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยที่ไร้ประสิทธิภาพและเสถียรภาพ จนไม่อาจรับมือกับวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างทันท่วงที รวมไปถึงวิกฤติจากระบบตรวจสอบที่ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติที่อ่อนแอ และองค์กรอิสระที่ถูกแทรกแซงโดยคณะรัฐประหารจนไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ภายใต้การนำของรัฐบาลขุนศึกศักดินาที่มาจากการสืบทอดอำนาจยังมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขว้าง ทั้งเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้ง ยังมีการลดทอนและละเลยสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิทางสาธารณสุข สิทธิทางการศึกษา สิทธิในความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิของชุมชนจากการพัฒนาแบบบีบบังคับจากรัฐ

เพื่อยุติความขัดแย้งและนำพาสังคมไทยไปข้างหน้า เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ หรือ Constitution Advocacy Alliance-CALL และ เครือข่าย People GO จึงมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมี “รัฐธรรมนูญประชาราษฎร์” หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมีหลักประกันว่าผู้ใช้อำนาจรัฐจะทำงานตอบสนองและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และความผาสุกของประชาชน

และเนื่องด้วยในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่ประชุมรัฐสภามีนัดพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ภาคประชาชนจึงเห็นว่า รัฐสภาต้องมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจด้วยการรื้อถอนองคาพยพทั้งหมดของ คสช. เช่น ช่องทางนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง วุฒิสภาที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยคสช. หรือองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับคสช. รวมถึงยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่คสช. เป็นผู้กำหนด

นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้กลไก สสร. เป็นเพียงพิธีกรรมรักษาอำนาจของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ภาคประชาชนจึงมีข้อเรียกร้องว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีหลักการดังนี้

1) สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 

2) สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีอำนาจในการร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวดทุกมาตราให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย 

3) สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงและมีช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ รวมถึงต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net