Yi Yi ไต้หวันและชีวิตในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สำหรับเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวัน 2020 โดยเทศกาลจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2563ณ โรงภาพยนตร์ House Samyan, Lido Connect, Untitled for Film (เชียงใหม่), Lorem Ipsum Space (หาดใหญ่), a.e.y. space (สงขลา) และ Bookhemian (ภูเก็ต) และในวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2563 ณ TCDC (ขอนแก่น)

สำหรับปีนี้มีหนังเรื่องสำคัญอย่าง Yi Yi (2000) โดยเอ็ดเวิร์ด หยาง ผู้กำกับชื่อดังของไต้หวัน หนังเรื่องนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 2000 และรางวัลมากมายจากหลายสถาบัน น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้คือหนังเรื่องสุดท้ายของหยาง เขาเสียชีวิตในปี 2007 จากโรคมะเร็งลำไส้ด้วยวัย 59 ปี

Yi Yi คือหนังที่สะท้อนภาพสังคมของไต้หวันในยุคนั้นไว้ได้อย่างครบถ้วน เล่าเรื่องของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ที่ประกอบไปด้วย ยาย แม่ พ่อ ลูกสาวและลูกชาย รวมทั้งครอบครัวน้องชายของแม่ ไปจนถึงเพื่อนข้างห้องที่แต่ละคนต้องเผชิญกับปัญหาในช่วงวัยที่ต่างกันไป

จุดเด่นของหยางคือการเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย แต่ใส่ใจทุกรายละเอียด มองเผินๆ เหมือนฉากที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อมองว่านี่คือหนัง มันจึงต้องอาศัยจังหวะการกำกับ การแสดง ของทั้งผู้กำกับและนักแสดงรวมถึงทีมงานเบื้องหลังที่เนรมิตให้จังหวะลงตัว สอดคล้องได้แบบนี้ 

เรื่องราวของภาพยนตร์เกิดในปี 1999รอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 20 และ 21 ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิกฤติ ‘Y2K’ มันคือช่วงเวลาแห่งความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอน และหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสังคมสมัยเก่าและใหม่ เป็นช่วงระหว่างที่นำไปไต้หวันไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

หนังเปิดเรื่องด้วยฉากแต่งงานของ 'อาตี้' น้องชายแม่ กับหญิงสาวที่กำลังตั้งครรภ์ ฉากต่อมาทำให้รู้ว่าเขาเลิกกับแฟนที่คบกันมานานเป็น 10 ปี เพื่อมาแต่งงานกับหญิงสาวคนนี้ และแม่ของอาตี้หรือคุณยาย ปรากฎตัวโดยการนั่งนิ่งๆ ไม่พูดจาเพียงแค่ 2-3 ฉากแรก หลังจากนั้นเธอประสบอุบัติเหตุและนอนเป็นผักตลอดทั้งเรื่อง การป่วยของคุณยายรูปแบบนี้นำมาซึ่งความสั่นสะเทือนของคนในครอบครัวแตกต่างกันไป

แม่ ตัวละครซึ่งแทบไม่เคยถูกเรียกชื่อ คอยดูแลคุณยายอย่างดี ปรนนิบัติ พลิกตัว และที่สำคัญซึ่งเป็นคำแนะนำของหมอคือการคอยพูดคุยอยู่ข้างๆ เล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันให้คุณยายฟัง ทุกอย่างดูจะเป็นไปอย่างปกติ จนกระทั้ง 'N.J.’ ตัวละครพ่อกลับมาเห็นแม่ร่ำไห้กลางดึก และบอกว่าการที่เธอต้องเล่าเรื่องให้แม่ตัวเองฟังทุกวัน ทำให้เธอตระหนักได้ว่าชีวิตเธอไม่มีอะไรเลย มีแต่กิจวัตรซ้ำเดิม ที่เล่าไม่กี่นาทีก็จบ หลังจากนั้นเธอจึงตัดสินใจไปอยู่ที่วัด และไม่กลับมาอีกเลยจนกระทั่งแม่เธอเสียชีวิต

เราจะเห็นวิกฤติวัยกลางคนของ N.J. พ่อผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวกับสภาวะความไม่แน่นอนของธุรกิจที่อาจล้มละลายได้ทุกเมื่อถ้าก้าวพลาด เราจะเห็นการที่เขาต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการเป็น 'ออริจินัล' แบบญี่ปุ่นแต่มีราคาแพง หรือเป็น ‘ของก็อป’ ราคาถูกจากประเทศตัวเอง ซึ่งอาจเป็นภาพแทนของเศรษฐกิจไต้หวันในยุคนั้น หรือแม้แต่การกลับมาของรักครั้งแรกของ N.J. ซึ่งทำให้เขาต้องเลือกระหว่างความทรงจำหอมหวานครั้งเยาว์วัย หรือการประคับประคองครอบครัวและก้าวต่อไป

'ถิงถิง’ ลูกสาววัยรุ่น ผู้ซื่อใสบริสุทธิ์ ใฝ่ฝันอยากมีความรักอย่างเพื่อนข้างห้องวัยเดียวกัน ท้ายสุดเธอได้เรียนรู้จักทั้งความหอมหวานโรแมนติกของความรัก และด้านกลับอย่างรุนแรงของความรัก จากโศกนาฏกรรมในตอนท้ายของเรื่อง และนั้นเป็น coming of age ที่ทิ้งบาดแผลความทรงจำไว้กับเธอ ขณะเดียวกับที่เธอเองก็คงมีมุมมองต่อโลกนี้ต่างไปจากเดิม

ตัวละครที่ขโมยซีนที่สุดคงไม่พ้น ‘หยางหยาง’ ลูกชายคนเล็กของครอบครัวที่มีความคิดแปลกประหลาดกว่าเด็กวัยเดียวกัน เขาชอบตั้งคำถามในแบบที่ครูประจำชั้นมักจะหัวเสียกับคำถามของเขาจนทำให้เขาเป็นที่หมายหัว พ่อให้กล้องแก่เขามาตัวหนึ่ง และซึ่งที่เขาเลือกจะถ่ายคือยุงเพื่อให้แม่เชื่อว่ามียุงจริงๆ ภาพที่ออกมาจึงเป็นผนัง เพดานที่ว่างเปล่า หรือแผ่นหลังของคุณน้า แต่เขายืนยันว่ามียุงในภาพ นั่นทำให้เขาค้นพบว่าคนเรามองเห็นความจริงได้เพียงด้านเดียว แต่ยังมีอีกหลายด้านที่เรามองไม่เห็น ดังนั้นเขาจึงมีความคิดว่าอยากทำให้ผู้คนได้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับตัวเองในแบบที่พวกเขาไม่รู้มาก่อน เป็นที่มาของภาพถ่ายข้างหลังบุคคล ไม่มีภาพใดเลยที่เห็นหน้า เพราะเขาพบว่าไม่มีใครสามารถเห็นข้างหลังของตัวเองได้

ตัวละครหยางหยางจึงอาจเป็นตัวละครที่สะท้อนสิ่งที่เอ็ดเวิร์ด หยาง ทำในหนังเรื่องนี้ นั้นคือเล่าเรื่องของตัวละครเพื่อสะท้อนความจริงในหลายรูปแบบ สิ่งที่เขาทำจริงไม่ใช่การตัดสินหรือพิพากษาตัวละครตัวใดเลย เพียงแต่ปล่อยให้ตัวละครแต่ละตัวมีชีวิตและโลดแล่นไปตามความทุกข์และสุขในชีวิตของพวกเขาเอง การค้นพบตัวเองในแง่มุมอื่นๆ และก้าวผ่านความเจ็บปวดของตัวเองด้วยตัวเอง จึงเป็นมนต์เสน่ห์ที่หนังถ่ายทอดออกมาได้อย่างซื่อสัตย์และงดงาม

 

ที่มาภาพ: ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Yi Yi http://eastasia.fr/2011/01/09/yi-yi-dedward-yang/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท