Skip to main content
sharethis

ผู้บริหารยืนยันซีพีไม่ปลดพนักงานโลตัส

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า หลังจากที่กลุ่มซีพีได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในการซื้อกิจการเทสโก้ สหราชอาณาจักรกลับคืนมานั้น ซีพีไม่มีนโยบายปลดพนักงานอย่างแน่นอน จึงอยากให้คลายกังวลได้

ทั้งนี้ คณะ กขค.กำหนดเงื่อนไขสำคัญคือซีพีต้องพัฒนาเอสเอ็มอี 10% ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นไปตามเจตจำนงของบริษัท ที่มองว่าคู่ค้าคือคู่ชีวิต หากคู่ค้าอยู่ไม่ได้ ซีพีจะดำเนินธุรกิจได้อย่างไร โดยในหลักการที่แท้จริง ความอยู่รอดของธุรกิจ มีลูกค้าเป็นผู้กำหนด ลูกค้าต้องการของดี มีคุณภาพ ผู้ประกอบการทุกรายจึงต้องพัฒนาร่วมกัน เช่น ในกรณีของแม็คโคร (ห้างค้าส่ง-ค้าปลีกในเครือซีพี)

โดย น.ส.รุจิกร วสุโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เอส.ฟู้ด โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์ PS Food ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้จำหน่ายเนื้อสุกรแช่เย็น/แช่แข็ง หมูสไลด์ หมูนุ่ม เปิดเผยว่า แบรนด์ PS Food เติบโตจากการเป็นคู่ค้ากับแม็คโคร มายาวนานกว่า 29 ปี โดยเริ่มทำธุรกิจเป็นคู่ค้าจำหน่ายเนื้อสุกรแช่เย็น/แช่แข็งกับทางแม็คโคร ผ่านการขอนำสินค้าไปเสนอกับฝ่ายจัดซื้อพิจารณา แต่ขณะนั้นแม็คโครมีเพียงสองสาขาคือที่ลาดพร้าวและแจ้งวัฒนะ แต่ต้องรอจนกระทั่งแม็คโครเปิดสาขาที่สาม จึงถูกเรียกเข้าไปร่วมเป็นซัพพลายเออร์และได้เป็นคู่ค้ากับแม็คโครมาอย่างยาวนานถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันสินค้าของ PS Food ได้วางจำหน่ายในทุกสาขาของแม็คโคร

“ปัจจุบัน PS Food เป็นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีไซส์ L หรือเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ ที่เติบโตเคียงคู่มากับแม็คโครอย่างแท้จริง ซึ่งได้เริ่มจากการจำหน่ายสินค้าในฐานะบุคคลธรรมดาทั่วไป จากนั้นได้เข้ามาเป็นคู่ค้ากับแม็คโคร จนมองเห็นว่าธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโต จึงปรับรูปแบบธุรกิจจัดตั้งจดทะเบียนบริษัทในปี 2535 และทำยอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ทุกปี”

ส่วนกรณีที่ซีพีเข้าซื้อกิจการกับเทสโก้ โลตัสนั้น ไม่มีผลกระทบกับธุรกิจ เนื่องจาก PS Food มีวางจำหน่ายที่เทสโก้ โลตัส อีกช่องทางหนึ่งอยู่แล้ว และมองว่าแม้ซีพีจะซื้อกิจการ ก็ไม่มีผลกระทบเพราะเป็นช่องทางการขยายตลาดของสินค้าได้มากขึ้น ประกอบกับได้เป็นคู่ค้ากับซีพีมาโดยตลอด

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 14/11/2563

ก.แรงงาน ผนึก แคทบัซซ์ จัด Free WiFi ความเร็วสูง ให้บริการแรงงาน

12 พ.ย. 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับบริษัท แคทบัซซ์ ทีวี จำกัด โดยมี นายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางดรุณี นิธิทวีกุล ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ นายณัฐฐินันท์ สุขสมพงษ์ ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แคทบัซซ์ ทีวี จำกัด ร่วมแถลง ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยแถลงว่า ปัจจุบัน WiFi หรืออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมที่ช่วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายผ่านอุปกรณ์พกพาต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และการพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยให้บุคลากรวัยทำงานทุกสาขาจะต้องมีความรู้และทักษะดิจิทัล ทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้เกิดการจ้างงานในธุรกิจใหม่ และเป็นการกระตุ้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาให้บริการ

ศาสตราจารย์นฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ บ. แคทบัซซ์ จะร่วมมือกันในการพัฒนาการให้บริการ Digital Service ผ่านเครือข่าย Free WiFi ความเร็วสูง ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นการให้บริการ Digital Service ผ่านเครือข่าย Free WiFi ความเร็วสูง โดยติดตั้งระบบ Free WiFi นำร่องที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นแห่งแรก เพื่อสร้างช่องทางในการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการให้บริการประชาชนผ่าน Line Official Account รวมถึงสื่อสารกับประชาชนหรือผู้ใช้แรงงาน ให้เข้าถึงการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น ทั้งด้านการเชื่อมโยงข้อมูลการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตำแหน่งงานว่าง และความต้องการจ้างงานของนายจ้าง โดยมีระบบการจัดเก็บข้อมูลเฉพาะบุคคลที่เข้ามาใช้บริการด้านต่างๆ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผ่านระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการจัดหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะฝีมือสอดคล้องกับตำแหน่งงาน เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นชุมชนเข็มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีภารกิจหลักในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และพัฒนาแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามแนวทางประชารัฐ เป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาล จึงร่วมมือกับบริษัท แคทบัซซ์ ทีวี จำกัด ดำเนินการติดตั้งระบบ Free WiFi เพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน และในอนาคตจะได้หารือขยายพื้นที่การให้บริการต่อไป

นายณัฐฐินันท์ สุขสมพงษ์ ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แคทบัซซ์ ทีวี จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท แคทบัซซ์ ทีวี จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านวางระบบโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมพร้อมให้บริการ และได้รับเลือกจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้เป็นพันธมิตรในการให้บริการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และบริการ Digital Service สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านระบบเครือข่าย Free WiFi โดยบริษัทฯ จะจัดฝึกอบรมการใช้งานแก่เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้มีความรู้ในการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว และอบรมให้ความรู้การสร้าง Contents เพื่อรองรับการให้บริการข้อมูลข่าวสารผ่าน Line Official Account ของหน่วยงาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ภารกิจกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้มีการเชื่อมโยงหลักสูตรการฝึกอบรมด้าน Networking และ Smart city กับ Platform ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย

"ความร่วมมือระหว่าง กพร. และ แคทบัซซ์ ในครั้งนี้ จะช่วยให้การบริการแก่ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง สามารถติดต่อสื่อสารและใช้บริการจากภาครัฐได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น" รมช.แรงงาน กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 13/11/2563

เผยบริษัท โยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัด จ่ายโบนัสพนักงานประจำปี 5.2 เดือน บวกเงินอีก 48,000 บาท

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ขณะเดียวกัน ยังมีหลายบริษัทที่มอบผลตอบแทนหรือโบนัสประจำปีไม่น้อยเลย

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ บริษัท โยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัด และ คณะกรรมการสหภาพแรงงาน เจรจาผลตอบแทนปลายปีสิ้นสุด เพจเฟซบุ๊ก "หนุ่มสาวโรงงาน" โพสต์ข้อความแจ้งข่าวดีแก่พนักงานของบริษัทดังกล่าว โดยระบุว่า "บ.โยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัด โบนัสประจำปี 5.2เดือน+48,000บาท นิคมอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง ซอย3"

สำหรับ บริษัท โยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัด YOROZU (THAILAND) CO.,LTD. เป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ ผู้ถือหุ้นบริษัท โยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัด YOROZU 90% และ Y-TEC: 10%

บริษัท โยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 1996 โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 67,200 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

ขณะที่ พนักงานได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมายทั้งขอบคุณคณะกรรมการสหภาพแรงงานที่เจรจากับทางบริษัทสำเร็จจนได้รับผลตอบแทนก้อนใหญ่

ที่มา: TNN, 12/11/2563

ยธ.เดินหน้าจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์

12 พ.ย. 2563 ที่ห้องประชุม หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิทยา สุริยะวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายโฆสิต สุวินิจจิต ประธานอนุกรรมการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เข้าหารือแนวทางในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์กับ นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร นายอภิวัฒน์ วังวิวัฒน์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร พร้อมทั้งกรรมการสภา และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง

นายโฆสิต กล่าวว่า แนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ มาจากความคิดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่ต้องการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และจากสถิติผู้ที่พ้นโทษไปแล้ว 35 เปอร์เซ็นต์ จะกลับมาทำความผิดซ้ำอีก เพราะเมื่อออกไปเขาไม่มีงานทำ หางานทำได้ยาก เพราะส่วนใหญ่สังคมยังไม่ยอมรับผู้ที่เคยติดคุก รวมถึง พ.ร.บ.วิชาชีพ 25 ฉบับ มีข้อกำหนดห้ามรับคนที่เคยต้องโทษติดคุกเข้าทำงาน ซึ่งตรงนี้กระทรวงยุติธรรมจึงแนวความคิดในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา เพื่อรองรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษ และนักโทษชั้นดีเข้าทำงาน โดยจะแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนเรือนจำสำหรับนักโทษชั้นดี และโซนธรรมดาสำหรับผู้พ้นโทษทั้งใหม่และเก่า โดยนอกจากจะลดความแออัดในเรือนจำแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และเป็นการติดตามดูแล ป้องกันไม่ให้คนที่เคยทำผิดกลับเข้าสู่วงจรเดิม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง คืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน

นายธนวัชร ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการหารือว่า ในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดทางกฎหมายในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยการที่เราเลือกพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นหนึ่งในตัวเลือกในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นั้น เพราะที่นี่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย และยังมีการทำการประมงขนาดใหญ่ มีตลาดที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวเมียนมา เมื่อเขาทำงานได้เงินมาก็ส่งกลับบ้าน ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ ประกอบกับช่วงนี้เป็นวิกฤตโควิด ทำให้แรงงานต่างชาติเข้ามาไม่ได้ เกิดการขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นเมื่อกรมราชทัณฑ์ มีผู้ต้องขังจำนวนมากที่ได้รับการฝึกอาชีพ มีความชำนาญ จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ในการสร้างงานให้กับพวกเขา มีงาน มีเงิน จะได้ไม่ต้องกลับไปทำความผิดซ้ำอีก

"โครงนี้หากทำสำเร็จ จะเป็นการสร้างงาน สร้างเงินให้กับผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ ทำให้พวกเขาไม่กลับไปทำความผิดซ้ำ ลดคนที่จะต้องโทษถูกจับกลับไปติดคุก ถือเป็นการตอบโจทย์ในนโยบาย ลดความแออัดในเรือนจำ และการคืนคนดีสู่สังคมได้ และยังช่วยให้ผู้ประกอบการต่างๆมีแรงงานที่คุณภาพ ที่ผ่านมาราชทัณฑ์เป็นแหล่งแรงงานฝีมือคุณภาพดี เพราะมีการฝึกวิชาชีพหลายอย่าง แต่เมื่อพวกเขาออกมามักไม่ได้รับโอกาส ดังนั้นนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์จึงเป็นที่ทำให้พวกเขาได้โชว์ฝีมือ แต่ทั้งนี้ข้อมูลในการหารือทั้งหมด และข้อเสนอแนะต่างๆเราจะนำกลับไปหารือกันที่กระทรวงเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง"นายธนวัชร กล่าว

ที่มา: NewTV18, 12/11/2563

206 แรงงานไทย เดินทางไปทำงานภาคเกษตร "อิสราเอล"

12 พ.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยมุ่งประโยชน์และคำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นสำคัญ มีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสตั้งแต่การรับสมัคร การสัมภาษณ์ การทำสัญญาจ้าง และการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอล ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2555 ซึ่งในแต่ละปี ประเทศไทยได้รับโควตาจัดส่งปีละ 5,000 คน และข้อมูลการจัดส่งจนถึงเดือน ก.ย.2563 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลแล้ว 40,082 คน สร้างรายได้ให้ประเทศทั้งสิ้น 54,580 ล้านบาท

สำหรับการเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน เป็นการดำเนินการหลังจากที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี ทำให้รัฐบาลอิสราเอลแจ้งความต้องการให้แรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร 2,000 คน โดยกรมการจัดหางานได้เริ่มจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2563 มีแรงงานเดินทางไปแล้ว 386 คน

ส่วนในวันนี้จะมีแรงงานเดินทางไปอิสราเอลอีก 206 คน ซึ่งตามแผนการจัดส่งที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถจัดส่งแรงงานไทยได้ครบ 2,000 คน ภายในเดือน ม.ค.2564 โดยคนหางานจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษี เดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 48,073 บาทต่อเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น

ทั้งนี้ การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศหลังจากที่ควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ กระทรวงแรงงานจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศแล้ว 16,466 คน โดยประเทศที่จัดส่งไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน 5,032 คน สวีเดน 3,189 คน ฟินแลนด์ 2,319 คน ญี่ปุ่น 2,107 คน และเวียดนาม 473 คน

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า แรงงานไทยทั้งหมดที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศจะได้รับการอบรมก่อนเดินทางกับกรมการจัดหางาน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเดินทางไปทำงานอย่างปลอดภัย ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย พร้อมสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และทุกคน ต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยส่วนบุคคลคุ้มครองการติดเชื้อ COVID-19 ในราคาเริ่มต้น 199 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอล กรมการจัดหางาน จะรับสมัครและคัดเลือกคนหางานเพื่อไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 23-27 พ.ย.2563

ที่มา: Thai PBS, 12/11/2563

เปิดพอร์ตประกันสังคมสิ้นไตรมาส 3/2563 ผลตอบแทนวูบ 1.5 หมื่นลบ.

สำนักงานประกันสังคม รายงานสถานะการบริหารเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ณ ไตรมาสที่ 3/2563 สิ้นสุด 30 ก.ย. 2563 มีเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม อยู่ที่ 2,104,508 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1,678,291 ล้านบาท คิดเป็น 80% ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จำนวน 426,217 ล้านบาท คิดเป็น 20% ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสม ตั้งแต่ปี 34-ปัจจุบัน จำนวน 659,827 ล้านบาท

ทั้งนี้พบว่า เงินลงทุนประกันสังคม ณ 30 ก.ย. 2563 ลดลง 10,267 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวน 2,114,775 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนตั้งแต่ปี 34-ปัจจุบัน มีผลตอบแทนลดลง 15,955 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีผลตอบแทนสะสม 675,782 ล้านบาท

หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เงินลงทุนกองทุนประกันสังคม เพิ่มขึ้น 49,468 ล้านบาท จาก ณ 30 ก.ย. 2562 อยู่ที่ 2,055,044 ล้านบาท โดยผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลตอบแทนการลงทุน 646,220 ล้านบาท

สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วของกองทุนประกันสังคม ตั้งแต่ปี 53 ถึง 30 ก.ย. 2563 มีจำนวน 42,089 ล้านบาท แบ่งเป็นดอกเบี้ยและกำไรจาการขายตราสารหนี้และค่าธรรมเนียมการให้ยืมหลักทรัพย์ จำนวน 31,461 ล้านบาท และเงินปันผลและกำไรจากการขายตราสารทุนและหน่วยลงทุน จำนวน 31,461 ล้านบาท จากสิ้นปี 62 ที่มีผลตอบแทนการลงทุนที่รับรู้แล้ว 85,633 ล้านบาท แบ่งเป็น ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้ 43,978 ล้านบาท และเงินปันผลและกำไรจากการขายตราสารทุนและหน่วยลงทุน41,655 ล้านบาท

สัดส่วนการลงทุน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 ประกอบด้วย

1.ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 1, 423,932 ล้านบาท คิดเป็น 67.66%

2. ลงทุนตราสารทุนไทย จำนวน 242,135 ล้านบาท คิดเป็น 11.51%

3. ลงทุนหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จำนวน 147,979 ล้านบาท คิดเป็น 7.03%

4.หน่วยลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ จำนวน 96,209 ล้านบาท คิดเป็น 4.57%

5. หุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จำนวน 89,271 ล้านบาท คิดเป็น 4.24%

6. หน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และทองคำ จำนวน 77,515 ล้านบาท คิดเป็น 3.69%

7.ลงทุนเงินฝาก จำนวน 17,109 ล้านบาท คิดเป็น 0.81%

8. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่คลังไม่ค้ำประกัน จำนวน 10,358 ล้านบาท คิดเป็น 0.49%

ที่มา: efinanceThai.com, 11/11/2563

ครม.เห็นชอบ ให้คนต่างด้าว MoU ครบ 4 ปี อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปอีก 2 ปี ไม่ต้องกลับประเทศ

11 พ.ย.2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แจ้ง นายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาตาม MoU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563- 31 ธ.ค. 2564 สามารถดำเนินการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้อีก 2 ปี โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ได้แล้วตั้งแต่ บัดนี้ – 31 ธ.ค. 2564

นายสุชาติฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ แนวทางการดำเนินการให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 - 31 ธ.ค. 2564 ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไป เนื่องด้วยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประเทศต้นทางที่สำคัญในการจัดส่งแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ ตลอดจนคุ้มครองสิทธิของคนต่างด้าวที่จะได้ทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงขั้นตอนดำเนินการว่า คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MoU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 – 31 ธ.ค. 2564 ที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต่อไป ให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.คนต่างด้าวตรวจสุขภาพ เพื่อนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นขออนุญาตทำงาน และขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป 2.คนต่างด้าวยื่นขออนุญาตทำงาน โดยกรมการจัดหางานเป็นผู้ออกใบอนุญาตทำงานให้ ตามระยะเวลาที่ผู้ขออนุญาตร้องขอแต่ไม่เกิน 2 ปี 3.คนต่างด้าวยื่นขอรับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (Visa) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ค่าธรรมเนียมคำขอ 1,900 บาท โดยยกเว้นการเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดแก่คนต่างด้าวที่ระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย. 2563 4.การจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร แนะนำวิธีการทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ที่มา: คมชัดลึก, 11/11/2563

รมว.แรงงาน เป็นประธาน MOU ระหว่าง สปส.-บจธ. ส่งเสริมผู้ประกันตนที่ว่างงานกลับภูมิลำเนาทำเกษตรกรรม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างสำนักงานประกันสังคม กับสถาบันบริหารจัดการ ธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานที่ประสบปัญหาการว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมกับ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมด้วยนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกร ในเรื่องที่ดินทำกินโดยให้มีการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และใช้ประโยชน์จากที่ดินในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน กระทรวงแรงงานจึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานที่ประสบปัญหาว่างงาน จากสถานการณ์โควิด-19 และกลับภูมิลำเนา ให้ได้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการที่ดิน ในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน เช่น การกระจายการถือครองที่ดิน การตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การป้องกันการสูญเสียสิทธิ รวมถึงการสร้างกลไกในการบริหารจัดการที่ดิน ให้กับผู้ที่สนใจประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการต้นกล้าคืนถิ่นวิถีใหม่ (New normal)

สำหรับผู้ที่กลับสู่ภูมิลำเนาและต้องการทำการเกษตร โดยให้การสนับสนุนในการจัดหาที่ดินและเงินทุนเพื่อทำการเกษตรสมัยใหม่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก โดยข้อมูลผู้ว่างงาน ที่มาลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมมีราว1แสนต่อเดือนสนง.ประกันสังคมมีฐานข้อมูลของผู้ว่างงานที่เข้ามาใช้สิทธิ์ กองทุน ว่างงานเหล่านี้ โดยจะเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหาให้มีที่ดินทำกิน อย่างยั่งยืนต่อไป

“เป็นโอกาสดีที่เกิดความร่วมมือในวันนี้ผู้ประกันตนประสบปัญหาว่างงาน และกลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะได้รับโอกาสจาก บจธ.ซึ่งจะจัดสรร จัดหาและช่วยป้องกันมิให้มีการสูญเสียที่ดิน เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานที่ว่างงานและกลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้อย่างยั่งยืน” นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 10/11/2563

แรงงานหยุดงานชั่วคราว ก.ค.-ส.ค. 2563 ยังสูง

ช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดแรงงานได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ มาตรการล็อกดาวน์ และการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิต ทำให้หลายกิจการมีพนักงานถูกเลิกจ้าง รวมถึงคนทำงานอิสระจำนวนมากไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ ส่งผลให้จำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.5 ล้านคน ซึ่งกว่า 82.4% ระบุว่า ไม่ได้รับค่าจ้าง

หลังจากผ่อนคลายล็อกดาวน์หลายกิจการได้กลับมาดำเนินการตามปกติ ส่งผลให้จำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว ลดลงมาอยู่ที่ 7.5 แสนคน ในเดือน ก.ค.2563 และ 4.4 แสนคนในเดือนส.ค.2563

โดยจำนวนผู้ที่มีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราวในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2563 จะลดลงต่อเนื่องหลังคลายล็อกดาวน์ แต่ยังถือเป็นระดับที่สูงหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวนเพียง 1-1.5 แสนคน โดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า สาเหตุส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการที่หลายกิจการยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้เท่าศักยภาพในอดีต จึงยังไม่สามารถดูดซับแรงงานที่ต้องหยุดงานในช่วงล็อกดาวน์ได้หมด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/11/2563

ผู้ขับรถแท็กซี่ บุก ทส.เรียกร้องขยายอายุใช้รถจาก 9 ปี เป็น 12 ปี

กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ ประมาณ 120 คน ได้นำรถแท็กซี่ มากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี ตามที่เคยรับปากช่วยเหลือผู้ประกอบการไว้

แต่ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งร่วมกับกรมขนส่งทางบก ในการออกเกณฑ์ตรวจสอบรถแท็กซี่ ทั้งด้านโครงสร้างรถ ระบบความปลอดภัยและมลพิษ โดยจะต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จะส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการตรวจสอบรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ โดยไม่ต้องเป็นภาระแก่เจ้าของรถแท็กซี่ที่ต้องมารับผิดชอบในส่วนนี้

เบื้องต้นนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นตัวแทนเจรจากับสหกรณ์แท็กซี่ มาที่ขอพบนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.โดยต้องการให้ขยายอายุแท็กซี่ทั้งหมดจนถึง 12 ปี แต่เบื้องมีการพูดคุยว่าจะขยายบางส่วนห้วงเวลา 3 ปี เพราะต้องคำนึงถึงปัญหามลพิษทางอากาศ และผล กระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 และต้องมีการตรวจสภาพตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน เพราะมีการศึกษาแล้วว่ารถเก่าจะยิ่งมีมลพิษสูง

ล่าสุด กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ยังยืนยันว่าจะพบนายวราวุธ ต่อไป โดยแกนนำผู้ชุมนุมระบุว่า ต้องการให้มีการขยายอายุการใช้งานรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี ตลอดไป เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการ ไม่ใช่กำหนดให้ขยายเพียง 3 ปีเท่านั้น เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และต้องการให้ทั้งรถเก่า และรถใหม่ อยู่ในระบบเยียวยาทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้ชุมนุม ระบุว่า จะปักหลักอยู่ด้านหน้ากระทรวงฯ จนกว่า นายวราวุธ จะออกมาพบกับผู้ชุมนุม

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 9/11/2563

"กรุงไทย" แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย "พนักงาน" พ้นสถานะรัฐวิสาหกิจ

9 พ.ย. 2563 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่อง แจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อสถานภาพของธนาคารกรุงไทย

โดยระบุว่า ธนาคารกรุงไทย ขอแจ้งให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 ธนาคารได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุน) ซึ่งแจ้งให้ธนาคารทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบข้อหารือของกองทุนฯ ที่ขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯและธนาคารกรุงไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณาว่า ธนาคารกรุงไทย ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561

การเปลี่ยนสถานภาพของธนาคารตามความเห็นข้างต้น อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร และต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบในด้านต่างๆ หากได้ความชัดเจนแล้ว ธนาคารจะได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ศึกษาผลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร จนได้ข้อยุติว่าโดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 ส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคารไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 สำหรับผลกระทบด้านกฎหมายฉบับอื่นๆธนาคารจะเรียนแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปเช่นกัน

ที่มา: TNN, 9/11/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net