Skip to main content
sharethis

14 พ.ย. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าตามที่จังหวัดระนอง โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระนอง ได้จัดทำโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองกะเปอร์ (ทั้ง 2 ฝั่ง) บ้านฝ่ายท่า หมู่ 4 และบ้านกงษี หมู่ 5 ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ความยาว 1,505 เมตร โดยใช้งบประมาณกว่า 31 ล้านบาทนั้น นับว่าเป็นโครงการที่เข้าข่ายทำลายนิเวศน์ริมคลองอย่างรุนแรง และไม่คุ้มค่าต่อเงินภาษีประชาชนที่นำไปละลายในการทำโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ท้องถิ่นมักจะตั้งงบประมาณมาละลายแม่น้ำเพื่อขุดลอกกันแทบทุกปี ทำให้ตลิ่งพัง โดยเฉพาะฤดูฝน ฝนตกหนักน้ำมามาก พอตลิ่งพังก็เลยถือโอกาสตั้งงบประมาณมาทำเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง หลังจากนี้ก็จะตั้งงบประมาณมาปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง ใช้งบประมาณกันไม่หมดไม่สิ้น แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า หากแต่เป็นการทำลายภูมินิเวศน์ลุ่มน้ำกะเปอร์ไปอย่างถาวร กระทบต่อสัตว์น้ำริมตลิ่งริมคลองที่จะต้องเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะอิฐ หิน ดิน ทราย ที่นำมาถมทำเขื่อนจะถูกน้ำกัดเซาะพัดพาไปกลบฝังในบริเวณคุ้งน้ำ และปลายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากจนสิ้น ทำให้วังปลา ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะและอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กสูญสลายไปหมด

ที่สำคัญ ลำคลองกะเปอร์ ซึ่งมีต้นน้้ำเกิดจากเขายายหม่อนไหลลงสู่อ่าวกะเปอร์ ทะเลอันดามันที่บ้านลำพูความยาวทั้งหมด ประมาณ 32 กิโลเมตร ที่มีความหลากหลายทางนิเวศน์ลุ่มน้ำค่อนข้างสูงนั้น ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ของจังหวัดระนอง ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติและระดับแรมซาร์ตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2552 เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุมน้ำ) ข้อ 10 โดยกำหนดให้ต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) สำหรับโครงการหรือกิจการมีความล่อแหลมและเป็นอันตราย อาจส่งผลกระทบเสียหายต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ

นอกจากนั้น การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองกะเปอร์ จะส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 4 ป่า คือ 1.ป่าสงวนแห่งชาติป่าปากทรง ป่าพะโต๊ะ ป่าปังหวาน 2.ป่าสงวนแห่งชาติป่าละแม 3.ป่าสงวนแห่งชาติป่าละอุ่น ป่าราชกรูด 4.ป่าสงวนแห่งชาติป่ากะเปอร์ และกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ถาวรอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนองอีกด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงขอเรียกร้องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และ ผอ.สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระนอง ขอให้สั่งระงับและรื้อถอนโครงการฯดังกล่าวออกไปเสียโดยพลัน หากยังดื้อแพ่งก่อสร้างโครงการดังกล่าว สมาคมฯจำเป็นที่จะต้องนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำคลองกะเปอร์ต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net