Skip to main content
sharethis

กรุงเทพโพลเผยผลสำรวจ พบคนไทย 41.4% ระบุว่าภาพรวมทางการเงินในปีนี้ มีรายได้แบบเดือนชนเดือน ไม่พอเก็บออม 28.3% ระบุว่ามีรายได้ไม่เพียงพอต้องหยิบยืม/กู้เงิน 61.3% ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้มีเงินออมลดลง/ไม่พอเก็บออม/รายได้ไม่เพียงพอ มาจากข้าวของเครื่องใช้ประจำวันมีราคาแพงขึ้น

14 พ.ย. 2563 กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “สภาวการณ์ทางการเงินของคนไทย ในปี 2563” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,221 คน พบว่าภาพรวมทางการเงินของคนไทยในปีนี้ ร้อยละ 41.4 ระบุว่า มีรายได้แบบเดือนชนเดือน ไม่พอเก็บออม รองลงมาร้อยละ 28.3 ระบุว่า มีรายได้ไม่เพียงพอต้องหยิบยืม/กู้เงิน และร้อยละ 17.6 ระบุว่า มีรายได้เพียงพอ แต่มีเงินออมลดลง 

ส่วนปัจจัยที่ทำให้มีเงินออมลดลง/ไม่พอเก็บออม/รายได้ไม่เพียงพอในปัจจุบัน นั้นส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.3 ระบุว่าข้าวของเครื่องใช้ประจำวันมีราคาแพงขึ้น รองลงมาร้อยละ 36.8 ระบุว่าต้องผ่อนรถ/ผ่อนบ้าน และร้อยละ 29.3 ระบุว่ามีลูกค้าน้อยลง ธุรกิจแย่/ค้าขายไม่ดี 

สำหรับวิธีจัดการ/ปรับวิธีใช้จ่ายเงินเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการใช้จ่ายท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน นั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 81.7 ระบุว่า ใช้จ่ายให้ประหยัดขึ้น และคิดก่อนซื้อ รองลงมา ร้อยละ 55.7 ระบุว่า ใช้วิธีลดการทานอาหารนอกบ้าน ลดปริมาณการท่องเที่ยว และร้อยละ 22.7 ระบุว่าใช้วิธีหารายได้พิเศษ เช่น ขายของออนไลน์ ขายของตลาดนัด ขับรถส่งสินค้า ฯลฯ

ทั้งนี้เมื่อถามว่า “ในสภาวการณ์แบบนี้หากต้องคงไว้ซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ท่านจะคงหมวดใดไว้มากที่สุด”  โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 80.8 ระบุว่าหมวดค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ รองลงมาร้อยละ 73.3 ระบุว่าหมวดค่าอาหาร เครื่องใช้ต่างๆ และร้อยละ 43.8 ระบุว่าหมวดค่าการศึกษาของตนเองและ บุตรหลาน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net