Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยพิธีกรและผู้จัดชุมนุมที่อุบลฯ ถูกฟ้อง ม.116 เหตุ 'เพนกวิน-โตโต้' ปราศรัย 'ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์' - 2 นักกิจกรรม #คณะอุบลปลดแอก ยืนยันขอต่อสู้คดี ม.116 คดีแรก หลัง #เยาวชนปลดแอก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 วิศรุต สวัสดิ์วร นักกิจกรรม #คณะอุบลปลดแอก มีนัดหมายเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนเพื่อส่งตัวให้อัยการ หลังเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา วิศรุตได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายเรียกในข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 กรณีเป็นพิธีกรในการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าพนักงานสอบสวนได้โทรศัพท์นัดหมายให้วิศรุตไปพบที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี แต่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดชัดเจน เมื่อวิศรุตเดินทางถึงศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวไปควบคุมที่ห้องขังใต้ถุนศาล ต่อมาพนักงานอัยการมาแจ้งวิศรุตว่า วันนี้จะต้องยื่นประกันตัว  วิศรุตจึงได้ติดต่อทนายความ ซึ่งเดินทางไปศาลในคดีอื่นอยู่ที่ต่างจังหวัด ให้ช่วยดำเนินการเรื่องการประกันตัว ก่อนที่จะถูกตำรวจที่เฝ้าห้องขังเก็บโทรศัพท์ไป

ช่วงบ่าย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอประกันตัววิศรุต โดยใช้เงินสดจากกองทุนช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมืองยื่นเป็นหลักประกันจำนวน 120,000 บาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยนัดสอบคำให้การในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ย. 2563) ก่อนวิศรุตได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 14.30 น.

วิศรุตเปิดเผยหลังจากได้รับการปล่อยตัวว่า “ผมได้มารายงานตัวตามหมายนัดวันที่ 6 พ.ย. ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา เข้าใจว่าเป็นการรายงานตัวธรรมดาเพราะได้สอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วว่าจะต้องมีทนายไปด้วยหรือไม่ จะต้องเตรียมหลักทรัพย์ในกรณีต้องยื่นขอประกันตัวหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แจ้งว่าไม่มีอะไร แต่ปรากฏว่าเมื่อมาถึงศาลจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พาตัวไปลงบันทึกขอฝากขัง บอกว่าเพื่อรอฟังคำฟ้องของอัยการซึ่งเป็นการดำเนินคดีเพิ่มเติมหลังจากที่อัยการได้สรุปสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนแล้ว”

กระบวนการที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือ พนักงานสอบสวนส่งตัววิศรุตให้อัยการ และอัยการส่งฟ้องต่อศาลในทันที หลังการแจ้งข้อกล่าวหาเพียง 6 วัน

โดยปกติเมื่ออัยการรับตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวน จะต้องนัดหมายให้ผู้ต้องหามาฟังผลการพิจารณาสำนวนคดีอีกครั้งว่า จะสั่งฟ้องหรือไม่ หากยังพิจารณาสำนวนการสอบสวนไม่เสร็จก็จะเลื่อนไป หรือหากพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าจะสั่งฟ้อง อัยการหรือเจ้าหน้าที่ในสำนักงานอัยการจะแจ้งให้ผู้ต้องหาหรือทนายความเตรียมหลักทรัพย์มาประกันตัว เพราะเมื่ออัยการส่งฟ้อง ศาลจะออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งจำเลยจะต้องยื่นประกันตัว แต่กรณีนี้อัยการเร่งรัดขั้นตอน โดยไม่มีการแจ้งก่อนล่วงหน้า ทำให้วิศรุตและทนายความไม่ได้เตรียมหลักทรัพย์สำหรับประกันตัวในชั้นศาล   

วิศรุตกล่าวว่า “รู้สึกเสียใจและผิดหวังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความจริงใจ เพราะไม่ได้แจ้งรายละเอียดให้ผมทราบอย่างชัดเจน เมื่อมาถึงศาลก็ถูกนำตัวไปขัง โดยไม่มีโอกาสได้พบทนายความ ไม่รู้ว่าคดีจะดำเนินไปยังไงต่อ หากต้องประกันตัวจะทำอย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้เตรียมตัวมาล่วงหน้า”

เป็นที่น่าสังเกตถึงกระบวนการยื่นฟ้องคดีโดยเร่งรัดที่เกิดขึ้นในวันนี้ นอกจากยื่นฟ้องในทันทีที่ได้รับตัวผู้ต้องหาจากพนักงานสอบสวนแล้ว อัยการยังยื่นฟ้องฉัตรชัย แก้วคำปอด และวิศรุต ซึ่งมีพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดการชุมนุมและพิธีกร เป็นจำเลย ในข้อหายุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียง 2 คน ทั้งที่บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของวิศรุตระบุว่า คดีนี้มีผู้ต้องหา 4 คน โดยอัยการจังหวัดอุบลฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 พ.ย. 2563 ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาวิศรุตเป็นผู้ต้องหาที่ 4 ซึ่งตำรวจและอัยการไม่รอติดตามตัวอีก 2 คน คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปิยรัฐ จงเทพ ซึ่งมีพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปราศรัย มาฟ้องพร้อมกัน 

คำฟ้องที่ นายรุ่งโรจน์ เที่ยงนิล พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ ยื่นฟ้องต่อศาลวันนี้มีเนื้อหาโดยสรุปว่า 

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 จำเลยทั้งสองกับพวก คือนายพริษฐ์หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ และนายปิยรัฐหรือโตโต้ จงเทพ ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เพื่อการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต และจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวยังได้ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ด้วยการร่วมกันประกาศแก่ประชาชนทั่วไป โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์โพสต์ส่งข้อมูลในเฟซบุ๊กเพจ คณะอุบลปลดแอก สื่อความหมายว่า จะมีการชุมนุมสาธารณะขึ้นที่บริเวณลานศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวที พร้อมกับแจ้งว่ามีการเชิญให้นายพริษฐ์และนายปิยรัฐมาปราศรัยในวันดังกล่าว 

หลังจากที่จำเลยทั้งสองกับพวกประกาศแจ้งข่าวดังกล่าวได้มีประชาชนประมาณ 200 คน ร่วมกันไปชุมนุมฟังปราศรัย จำเลยทั้งสองกับพวกยังได้ถ่ายทอดการปราศรัยทางเฟซบุ๊กเพจคณะอุบลปลดแอก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟัง ซึ่งเป็นคำพูดปราศรัยในลักษณะที่ไม่บังควรต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นการชุมนุมและคำปราศรัยที่ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนที่ได้ทราบคำปราศรัยดังกล่าว ถึงขนาดที่ประชาชนฝ่ายที่เห็นด้วยกับจำเลยทั้งสองกับพวก และประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับจำเลยทั้งสองกับพวกจะก่อความไม่สงบและก่อความวุ่นวายขึ้นในราชอาณาจักร

โดยเอกสารคำปราศรัยของพริษฐ์และปิยรัฐที่แนบมาท้ายคำฟ้องระบุว่า ถอดคำปราศรัยโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานการข่าว กอ.รมน.จ.อุบลฯ คาดว่า กอ.รมน.เป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวโทษในคดีนี้

ทั้งนี้ ฉัตรชัย แก้วคำปอด ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจับกุมตามหมายจับเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา และศาลจังหวัดอุบลฯ ให้ประกันตัวในชั้นฝากขัง จะครบกำหนดฝากขังผัดที่ 2 และต้องเข้ารายงานตัวต่อศาลในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ย. 63) คาดว่า ฉัตรชัยจะถูกขังและต้องยื่นประกันตัวในชั้นพิจารณาของศาลอีกครั้งเช่นเดียวกับวิศรุตในวันนี้ เนื่องจากอัยการได้ยื่นฟ้องแล้ว โดยที่ฉัตรชัยไม่ได้รับการแจ้งจากพนักงานสอบสวนหรืออัยการให้ทราบเพื่อเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัวเช่นกัน

2 นักกิจกรรม #คณะอุบลปลดแอก ยืนยันขอต่อสู้คดี ม.116 คดีแรก หลัง #เยาวชนปลดแอก

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดสอบคำให้การ หลังเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 นายรุ่งโรจน์ เที่ยงนิล พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ  เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “ทนายแชมป์” ฉัตรชัย แก้วคำปอด และวิศรุต สวัสดิ์วร สองนักกิจกรรม #คณะอุบลปลดแอก ในความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ที่ศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลฯ 

09.00 น. ฉัตรชัยและวิศรุตเดินทางมาถึงศาลตามที่ศาลนัด ในส่วนของฉัตรชัยนั้นเดิมวันนี้เป็นนัดรายงานตัวต่อศาลหลังได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง โดยเป็นวันที่ครบกำหนดฝากขังผัดที่ 2 แต่เมื่ออัยการยื่นฟ้องแล้ว วันนี้จึงเป็นการมาศาลในชั้นพิจารณา 

วัฒนา จันทศิลป์ ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารต่อศาลว่า จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมในชั้นพิจารณาคดี  “หลังจากยื่นคำให้การจำเลยที่ 1 คือ ฉัตรชัย แก้วคำปอด คงต้องยื่นประกันตัวในชั้นศาลอีกครั้ง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 คือ วิศรุต สวัสดิ์วร ที่ได้ประกันตัวไปเมื่อวาน” 

จากนั้นทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฉัตรชัยในชั้นศาล โดยเปลี่ยนหลักประกันจากเดิมซึ่งใช้ตำแหน่ง ส.ส.ของนายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.จ.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย ในวงเงิน 2 แสนบาท แต่นายเอกชัยติดภารกิจประชุมสภาในวันนี้ เป็นการวางเงินสด 120,000 บาท โดยมีนายศราวุธ ฟุ้งสุข ทนายความ เป็นนายประกัน   

เวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบเพื่อจะควบคุมตัวทั้งสองไปขังที่ห้องขังใต้ถุนศาล แต่ฉัตรชัยและวิศรุตแจ้งว่า ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จากนั้นทั้งหมดได้ไปที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิ โดยเจ้าหน้าที่ศาลได้อ่านคำฟ้องให้ฉัตรชัยและวิศรุตฟัง เบื้องต้นทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตามที่ได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารไปแล้ว  

11.45 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวฉัตรชัย โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่ผิดกฎหมายหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน 

ศาลกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิคดีนี้ในวันที่ 26 พ.ย. 2563 และนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 21 ธ.ค. 2563 

คดีนี้นับเป็นคดี ม.116 คดีแรกที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลในบรรดาคดีที่นักศึกษา-นักกิจกรรม ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหานี้จากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 โดยมีการเร่งรัดยื่นฟ้องคดีอย่างผิดสังเกต หลังวิศรุต จำเลยที่ 2 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพียง 6 วัน ขณะที่บางคดีมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วกว่า 3 เดือน ก็ยังไม่มีการยื่นฟ้อง อีกทั้งอัยการคดีนี้ยังเลือกที่จะยื่นฟ้องเฉพาะนักกิจกรรมในท้องถิ่นที่สาธารณะไม่ค่อยรู้จัก อย่างไรก็ตาม ทนายวัฒนากล่าวในตอนท้ายว่า “ทั้งสองคนพร้อมต่อสู้คดี เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร และอยู่ในความสนใจของสาธารณะ”

ด้านวิศรุตกล่าวถึงคดีนี้ว่า “เป็นเพียงเครื่องมือของเจ้าหน้ารัฐในการชะลอความเคลื่อนไหวของประชาชน ทำให้เกิดความยุ่งยากกับการต่อสู้เท่านั้น แต่ผมยืนยันว่ายังคงยืนหยัดสู้ต่อไปไม่ว่าในทางคดีความหรือในเชิงการเคลื่อนไหว”

ขณะที่ฉัตรชัยเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า “หลังจากที่ได้รับการประกันไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ผมได้ทราบภายหลังจากการรายงานตัวครั้งที่ 2 ว่า ในวันที่ 27 ต.ค. ซึ่งในหลวงจะเสด็จมายังวัดหนองป่าพง พนักงานสอบสวนได้มายื่นขอถอนประกัน โดยอ้างว่าได้ข้อมูลมาว่า ผมได้รวบรวมประชาชนไปแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองเพื่อขัดขวางขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเรื่องเท็จและไม่มีมูลเลย ซึ่งศาลก็พิจารณาแล้วได้ยกคำร้องของพนักงานสอบสวน เนื่องฝ่ายผู้ถูกร้อง ไม่ได้มาแสดงเหตุผลข้อเท็จจริงคัดค้าน”

ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า “ผมไปรับเสด็จจริงแต่ไปคนเดียวในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาไปก่อความวุ่นวายใดๆ แต่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เวลา 16.00 – 21.00 น. คือตลอดระยะเวลาที่ในหลวงเสด็จมาและเสด็จกลับไป”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net