Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนา 'แด่นักสู้ผู้จากไป ประชาธิปไตยแบบไหน ที่จะไม่ลอยนวลพ้นผิด' เสนอ 'ประชาธิปไตยแบบที่ไม่ลอยนวลพ้นผิด' ยึดโยงอยู่กับ 'ประโยชน์สาธารณะ-หลักนิติรัฐนิติธรรม-การกระจายอำนาจ' ทำให้อุดมการณ์ 'ประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน' เข้ามาแทนที่ 'ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์' ด้าน Protection International ระบุสถิติของนักปกป้องสิทธิที่ถูกสังหารเพิ่มมากขึ้นถึงมากกว่า 70 ราย

15 พ.ย.2563 ที่ห้องเอนกประสงค์ 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กร Protection International และโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) ได้จัดแสดงนิทรรศการแด่นักสู้ผู้จากไปและขบวนการต่อสู้ที่ยังยืนหยัด ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพถ่ายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนที่ถูกลอบสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมกันนี้ยังได้จัดเสวนาในหัวข้อ “แด่นักสู้ผู้จากไป ประชาธิปไตยแบบไหน ที่จะไม่ลอยนวลพ้นผิด” โดยมีนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสอน คำแจ่ม ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภรรยานักต่อสู้ดงมะไฟที่ถูกลอบสังหาร น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ เยาวชนปลดแอก นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน และที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ดำเนินรายการโดย น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจาก Protection International

น.ส ชฎาพร ชินบุตร โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPMกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดแสดงนิทรรศการแด่นักสู้ผู้จากไปและขบวนการต่อสู้ที่ยังยืนหยัดว่า การจัดงานของของเราในครั้งนี้ก็เพื่ออุทิศให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยระดับชุมชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย การรำลึกถึงความยากลำบากในการต่อสู้และความอยุติธรรมที่นักต่อสู้เหล่านี้ต้องพบเจอด้วย เป็นการกระตุ้นเตือนให้เราระลึกถึงความเข้มแข็งของการต่อสู้และแรงบันดาลใจที่เกิดจากการต่อสู้ที่ยังคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงที่ขบวนการประชาชนพยายามทำให้เกิดอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะต่อสู้ภายใต้สถานการณ์ที่บีบคั้นกดดันและเต็มไปด้วยการคุกคาม

PI เผยตัวเลขนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากถึง 70 กว่าคน

น.ส.ปรานม สมวงศ์ ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลของ PI เราพบว่าในช่วงระยะเวลา50ปีที่ผ่านมามีนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการทุจริตในท้องถิ่น การต่อสู้ของสมาชิกสหพันธ์ชาวนา ชาวไร่ และเรียกร้องการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม พวกเขาเหล่านี้ถูกบังคับให้สูญหายและสังหารไปกว่า 70 คน เราจัดงานนี้ขึ้นเพราะอยากให้ผู้คนในสังคมร่วมจดจำประวัติศาสตร์ที่ผู้กระทำผิดอยากลบเลือน เราอยากให้ผู้คนกลับไปเผชิญหน้ากับความรุนแรงในอดีตเพื่อตามหาความจริงและความยุติธรรมให้นักปกป้องสิทธิที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย จะได้แก้ปัญหาไม่ให้สังคมไทยจะต้องเผชิญกับวงจรความรุนแรงเช่นนี้ต่อไป เราต้องทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกคุกคามหากลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิฯ เราต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมที่จะได้รับการเคารพจากคนอื่น ซึ่งเป็นหัวใจและแก่นแท้ของสังคมประชาธิปไตย หากปราศจากความเท่าเทียมในมิตินี้ความเท่าเทียมในมิติอื่นก็ไร้ความหมาย

'อังคณา' ระบุการบังคับสูญหายเป็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้กำจัดผู้เห็นต่าง พร้อมเสนอแก้ รธน.ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน และล้างบางปฏิรูประบบยุติธรรมโดยเฉพาะตำรวจ 

นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาในหัวข้อแด่นักสู้ผู้จากไป ประชาธิปไตยแบบไหน ที่จะไม่ลอยนวลพ้นผิดว่า การลอยนวลพ้นผิด มักเกิดในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีระบบยุติธรรม รวมถึงกลไกการสืบสวนสอบสวนที่อ่อนแอ ไม่โปร่งใส รวมถึงระบบกฎหมายที่ปกป้องเจ้าหน้าที่หากกระทำโดยสุจริต ทำให้ไม่ต้องรับโทษ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆจนกลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และทำให้ผู้กระทำผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมั่นใจว่าจะไม่ต้องรับโทษ

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า เรื่องการบังคับสูญหายเกิดขึ้นมานานในสังคมไทย หากแต่ที่ผ่านมาเหยื่อมักเผชิญกับการถูกคุกคามทำให้มีความกลัวอย่างมากในการเรียกร้องความยุติธรรม กรณีสมชาย นีละไพจิตร ทำให้เข้าใจดีว่าเราไม่ได้ต่อสู่กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หากแต่เป็นการต่อสู้กับระบบยุติธรรม กับองค์กรตำรวจซึ่งเป็นสถาบันที่เข้มแข็งมาก ในฐานะคนธรรมดาเราแทบทำอะไรไม่ได้เลย เช่น ช่วงสืบสวน พนักงานสอบสวนบอกมีหลักฐานมากมาย แต่พอขึ้นศาลกลับไม่มีพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เลย แม้แต่ประจักษ์พยานก็ถูกคุกคามจนเบิกความไปร้องไห้ไป

นางอังคณากล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของระบบกฎหมาย การสู้คดีจนถึงศาลฎีกาทำให้ทราบว่าคดีคนหาย “ครอบครัว” ไม่ใช่ผู้เสียหาย เนื่องจากเราไม่มีหลักฐานว่าสมชาย บาดเจ็บหรือเสียชีวิตมาแสดง เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่าบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ผู้ที่ต้องมาเรียกร้องความเป็นธรรมจึงต้องเป็นตัวสมชายเอง นั่นก็คือ คดีคนหายไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายหายไปแล้ว สุดท้าย เราทำอะไรไม่ได้เลย กรณีสมชาย กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 แต่วันนี้งดการสอบสวนโดยระบุว่าไม่พบพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำผิด

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวอีกว่า การบังคับสูญหายจึงเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนนิยมใช้ในการกำจัดผู้ที่เห็นต่าง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว แม้วันนี้รัฐบาลจะมีความพยายามให้มี พรบ.ทรมานสูญหาย แต่ตนไม่เชื่อว่ากฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการละเมิดโดยรัฐ จะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เชื่อมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งหาก พรบ. ฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาบังคับสูญหาย และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ ก็จะไม่มีผลในทางปฏิบัติในการคุ้มครอง และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อ

นางอังคณากล่าวว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาของดิฉันบอกได้ว่ากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ เกิดขึ้นได้ไม่ว่าในรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ภายใต้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ รัฐจะฟังเสียงของประชาชน เราจะมีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ได้อย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ เราจะมีฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการที่เป็นอิสระที่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร เราจะไม่มีกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างอิสระโดยไม่หวาดกลัว

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ การปฏิรูประบบยุติธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ จะเห็นได้ว่ามีการพูดถึงการปฏิรูปตำรวจตั้งแต่ปี 2549 จนปัจจุบันการปฏิรูปตำรวจกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะสถาบันตำรวจเป็นสถาบันที่เข้มแข็งมาก มีระบบอุปถัมภ์ที่ยิ่งใหญ่ทำให้สามารถดำรงอยู่ได้ทุกยุคสมัย ไม่ว่าในรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลประชาธิปไตย ... ความเห็นของตน หากเราไม่สามารถปฏิรูปตำรวจได้ ก็ไม่สามารถปฏิรูประบบยุติธรรมได้ และการยุติการลอยนวลพ้นผิดจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต้องมีการปฏิรูปความมั่นคงทั้งระบบ เช่น การปฏิรูปทหาร เนื่องจากในบางสถานการณ์มีการนำทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง รวมถึงต้องปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคง เพื่อปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ไม่ให้มองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู หรือเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัด

นางอังคณากล่าวว่า การลอยนวลพ้นผิดมักเกิดในบริบทที่อำนาจรัฐมีความเข้มแข็งมากในขณะที่ระบบตรวจสอบอ่อนแอ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การแก้รัฐธรรมนูญ โดยการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจให้ประชาชน นายกรัฐมนตรี สส และ สว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรอิสระ และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ประการที่สอง ต้องปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งระบบ โดยคดีสิทธิมนุษยชนต้องใช้ระบบไต่สวน โดยประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้ มีการคุ้มครองพยานที่มีประสิทธิภาพ มีกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน มีหน่วยงานที่เป็นอิสระจริงๆในการสืบสวนสอบสวนคดีที่มีความซับซ้อน หรือเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ว่าเมื่อผู้เสียหายลุกขึ้นมาฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐแล้วกลับถูกฟ้องกลับดังที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้

“สำหรับดิฉันอยากเห็นประชาธิปไตยที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้จะเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐ เคารพในความแตกต่างหลากหลายของประชาชน ไม่มองประชาชนที่เห็นต่างเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด หรือด้อยค่า ถ้าการเมืองดี คงไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย หรือหากมีการละเมิดเกิดขึ้น ผู้กระทำผิดก็ต้องได้รับโทษและเหยื่อได้รับการชดใช้เยียวย และหากการเมืองดี วันนี้ดิฉันก็คงเป็นหญิงสามัญคนหนึ่งที่มีชีวิตที่เรียบง่าย สามารถใช้เสรีภาพได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งโดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่ออำนาจที่มองไม่เห็น สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามที่ตั้งใจ อย่างไรก็ดีเมื่อชีวิตเปลี่ยนไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับมาจุดเดิมได้อีก สิ่งที่มุ่งมั่นในวันนี้จึงเป็นความมุ่งหวังในการสร้างสังคมที่มีอิสรภาพ เสรีภาพเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังต่อไป” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระบุถ้าประชาธิปไตยดี การเมืองดี จะไม่มีใครเข้าไปทำเหมืองในพื้นทีป่าได้และสามีก็จะไม่ถูกลอบสังหาร

ด้านนางสอน คำแจ่ม ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภรรยาของกำนันทองม้วน คำแจ่ม นักต่อสู้ดงมะไฟที่ถูกลอบสังหาร กล่าวว่า ตอนที่ต้องสูญเสียกำนันทองม้วนไปใหม่ๆ ในชีวิตของตนเองก็โดดเดี่ยวมากเพราะกำนันทองม้วนนอกจากจะเป็นผู้นำครอบครัวแล้วยังเป็นคู่ชีวิตเป็นทั้งเพื่อนเป็นทุกอย่างในชีวิตของตน เรามีลูก 3 คนเราก็วาดหวังอยากให้อนาคตของลูกเราเติบโตขึ้นมาอย่างสวยงามแต่พอกำนันทองม้วนมาโดนลอบสังหารอนาคตของตนและลูกก็เหมือนมืดดับลงไปด้วย พอหลังจากกำนันทองม้วนเสียตนก็พยายามที่จะทวงถามความยุติธรรมให้กำนันทองม้วนแต่ก็โดนขู่อยู่ตลอดเวลาเลยทำให้ตนเกิดความกลัว เพื่อนหลายคนก็ไม่มีใครกล้าช่วยเพราะทุกคนก็เกิดความกลัว จึงทำให้ตอนนั้นตนรู้สึกโดดเดี่ยวมาก 

“สิ่งที่สำคัญในตอนนั้นก็คือจะต้องทำยังไงก็ได้ให้ลูกได้เติบโตได้เรียนหนังสือสูงๆ ได้อยู่ดีกินดีเรา เราก็กลัวเราถูกฆ่าไปอีกคนด้วย เราก็เลยไปทำงานรับจ้างก่อสร้างเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก รับจ้างทุกอย่างที่ทำได้ ลูกคนโตก็ให้ช่วยดูแลน้องที่ยังเล็ก ๆ บางวันก็เอาลูกไปฝากไว้กับเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านเราก็ดีก็ช่วยเลี้ยงลูกช่วยดูลูกให้เราด้วย และในทุกวันที่เราเลี้ยงลูก ดูแลลูกพร้อมกับทำงานรับจ้างไปด้วยไม่มีวันไหนเลยที่เราไม่คิดจะทวงถามความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับสามีของเราจนผ่านมา 21 ปี เมื่อมีคนมาช่วยเรา เราคิดว่านี่จะเป็นโอกาสที่เราจะทวงถามความยุติธรรมที่เกิดขึ้นให้กับสามีของเราได้ 

“คนร้ายที่ฆ่าสามีเราทุกวันนี้เขาก็ยังลอยนวลพ้นผิดอยู่ เราอยากให้เอาเขามาลงโทษให้ได้ อยากให้ประชาชนดงมะไฟได้เห็นว่าคนผิดได้รับผิดตามที่เขาก่อก็จะได้เป็นเยี่ยงอย่างให้เห็นกับคนดงมะไฟได้เห็นว่าคนผิดจะต้องได้รับผิด และที่สำคัญตนเชื่อว่าถ้าประชาธิปไตยดีคนผิดก็คงจะถูกนำมาลงโทษคนร้ายก็จะไม่ได้ลอยนวลอยู่แบบนี้ และถ้ายิ่งการเมืองดีและเจ้าหน้าที่รัฐบาลดีชีวิตเราก็ต้องไม่ลำบากป่าไม่ก็จะไม่ถูกทำลาย บริษัทเหมืองก็จะเข้ามาทำเหมืองด้วยการทำลายป่าไม่ได้ และกำนันทองม้วนก็อาจจะยังไม่ตาย”ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภรรยาของกำนันทองม้วน คำแจ่ม นักต่อสู้ดงมะไฟที่ถูกลอบสังหาร กล่าว

เยาวชนปลดแอกชี้ปัญหาของบ้านเมืองคือสังคมเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญถูกนำมาใช้อย่างบิดเบี้ยว

ขณะที่ น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ เยาวชนปลดแอก กล่าวว่า ตอนนี้ประชาธิปไตยในประเทศไทยอยู่ในระดับพัฒนาการมันยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องมีความเท่าเทียมและไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้มันเกิดขั้นจากส่วนของผู้ที่บังคับใช้กฎหมายและผู้ที่มีอำนาจที่ทำให้มันบิดเบี้ยว ทั้งนี้โดยส่วนตัวตนคิดว่าระบบประชาธิปไตยมันดีอยู่แล้วแต่พอมาเป็นรัฐธรรมนูญของไทยการปกครองโดยชนชั้นน้ำของไทยมันก็เลยทำให้เกิดการสูญหายเกิดการอุ้มฆ่าผู้ที่เห็นต่างจากบุคคลเหล่านั้น และทำให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ซึ่งในส่วนเรื่องของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสายตามของคนรุ่นใหม่พวกเรายอมรับในเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนก็ไม่สมควรมีใครต้องถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกอุ้มหายสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ ไม่ว่าใครก็ตามควรมีชีวิตที่ดีได้ และไม่ว่าใครก็ตามหากเขาทำผิดก็ควรใช้กระบวนการทางกฎหมายมาจัดการ ตนจะรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม 

เยาวชนปลดแอกกล่าวว่า เราเติบโตมาด้วยการเห็นความไม่เท่าเทียมความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของประชาชนที่รัฐต้องจัดสรรให้มันก็ไม่เกิดขึ้นทุกคนต้องดิ้นรนเอง มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ไม่ใช่ให้แค่บางคนที่เข้าถึง เราเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เห็นรัฐธรรมนูญที่ถูกนำมามาใช้อย่างบิดเบี้ยวเช่นหมวดเฉพาะกาล ในการเลือกส.ว. เราไม่อยากส่งต่อสังคมบิดเบี้ยวแบบนี้ต่อไปอีก 
 
“ปัญหาตอนนี้คือสังคมเรามันไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้ามันเป็นประชาธิปไตยแล้วเราคงมีช่องทางในการถกเถียง มีช่องทางในการพูดคุย มีช่องทางในการเปิดพื้นที่และหาทางออกร่วมกัน ในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมต่อการสร้างอนาคตของชาติและการพัฒนาในอนาคต ถ้าการเมืองมันดีจริงหนูก็จะยังคงเรียนไม่จบก็คงจะตั้งในเรียนในมหาวิทยาลัยและจบออกมาทำงานเพื่อที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป อยากทำอะไรก็คงจะได้ทำ”น.ส. จุฑาทิพย์ระบุ

หัวหน้าพรรคสามัญชนอัดระบบราชการไทยที่ยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ทำให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝังรากลึก พร้อมเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนกล่าวว่า ระบบราชการไทยไม่ได้ทำงานอยู่ภายใต้อุดมการณ์และชุดความคิดประชาธิปไตย แต่ทำงานอยู่ภายใต้อุดมการณ์และชุดความคิด 'ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์' มันจึงย้อนแย้งสุดขั้ว เพราะวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดมันฝังลึกอยู่ในระบบราชการที่ยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์

ในส่วนของนโยบายสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของเหมืองแร่ ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ กิจการเหมืองทั้งการสำรวจ ทำเหมือง แต่งแร่ ย่อยแร่ หาแร่ ซื้อขายขนย้ายแร่ ต้องหยุดเอาไว้ก่อน ต้องทำข้อมูลให้ชัดเสียก่อนว่าพื้นที่ใดเป็นหรือไม่เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ซึ่งตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ยกเว้นว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน โบราณวัตถุ ภาพเขียนสีโบราณ เขตหวงห้ามเฉพาะ แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ต้องถูกกันออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองซึ่งจะนำไปให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ชนิดใด ๆ ไม่ได้ แต่ก็น่าเศร้าใจที่ระบบราชการที่ผูกขาดในการชงข้อมูลให้กับข้าราชการฝ่ายการเมืองกลับละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยยกใบอนุญาตในการสำรวจและทำเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ ตามกฎหมายแร่เก่าให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองไปเสีย ทั้ง ๆ ที่ผิดหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ นี่แหละคือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในกิจการแร่ของระบบราชการไทย ที่ข้าราชการฝ่ายการเมืองไม่มีและไม่ใช้สมองให้มากพอในการกำกับดูแลและบริหารระบบราชการ ที่สามารถใช้อำนาจที่ได้มาจากประชาชนเข้าไปต่อสู้หรือดัดแปลงมัน

หัวหน้าพรรคสามัญชนระบุเพิ่มเติมอีกว่า การพัฒนาใด ๆ มีกลุ่มคนสามฝ่ายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หนึ่งคือรัฐ-ราชการ สองคือนายทุนหรือผู้ประกอบการ และสามคือประชาชน บทบาท อำนาจและหน้าที่ของรัฐคือต้องทำหน้าที่เป็นฉนวนหรือกำแพงกั้นกลางระหว่างนายทุนกับประชาชนไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน หรือหากมีความขัดแย้งกันรัฐ-ราชการต้องดำรงความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้ ต้องดำเนินการและพิจารณาแต่ละเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ในกิจการเหมืองแร่ และรวมถึงกิจการการพัฒนาอื่น ๆ ด้วย เราจะเห็นอยู่เสมอว่ารัฐกับทุนผสมพันธุ์กันอย่างแนบแน่นเสียจนทำให้เสียสมดุลการพัฒนา ปล่อยให้ฉนวน คล้าย ๆ ฉนวนกันความร้อนบนหลังคา ถูกทำลายไป มันจึงส่งผลโดยตรงให้ความรุนแรงคล้าย ๆ แสงแดดบนหลังคาที่ไร้ฉนวนกันความร้อนปะทะโดยตรงกับประชาชน

นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ที่ดงมะไฟก็เป็นแบบนี้ และที่อื่น ๆ อีกหลายที่ก็จะเป็นทำนองเดียวกัน การจนแต้มของรัฐ-ราชการที่จะตอบคำถามและตอบสนองข้อเรียกร้องของชาวบ้าน เรียกได้ว่าการต่อสู้คัดค้านที่นั่นในหลายประเด็นทำให้รัฐ-ราชการไม่มีช่องให้ตอบตามข้อกฎหมายแล้ว ไม่รู้จะแถไปยังไงแล้ว จึงนิ่งเฉยปล่อยเกียร์ว่างดีกว่า กลัวตอบแล้วเข้าตัว ตอบแล้วผิดแต่ผลอีกด้านมันคือใบอนุญาตฆ่าโดยอ้อมให้นายทุนกระทำความรุนแรงกับประชาชน และเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นรัฐ-ราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะลอยนวลพ้นผิด ทั้ง ๆ ที่ถ้าไม่นิ่งเฉยปล่อยเกียร์ว่าง หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ก็จะไม่มีใครลอยนวลพ้นผิดไปได้ตั้งแต่ต้น

หัวหน้าพรรคสามัญชนกล่าวอีกว่า ส่วนคำถามที่ว่าเราจะป้องกันการลอยนวลพ้นผิดและการลอบสังหารนักปกป้องสิทธิอย่างไร ก็คือบทกำหนดโทษรุนแรงต่อข้าราชการที่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันนี้จะช่วยได้อย่างมาก รวมถึงองค์กรอิสระและหน่วยงานราชการที่มีภารกิจส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็ต้องยึดโยงกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างจริงจัง เพื่อที่จะให้ความเคารพและสำนึกในบุญคุณของประชาชนอย่างล้นพ้นอันหาที่สุดไม่ได้ที่รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน มันน่าสมเพชสุด ๆ ที่เห็นโลโก้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีชฎาสวมครอบลงไป ไม่เหลือความเป็นอิสระใด ๆ หลงเหลืออยู่เลย พนักงานทำตัวเป็นข้าราชการ ทำงานเช้าชามเย็นชาม ไม่กระตือรือร้นหรือมีสำนึกที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยบนท้องถนนของประชาชนคนเล็กคนน้อยเอาเสียเลย มิหนำซ้ำ กลับออกแถลงการณ์ที่ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเสื่อมทรามยิ่งเข้าไปอีก

ในแง่นี้ การลอยพ้นผิดและความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดกับประชาชน เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ขาดความกระตือรือล้นและไร้สำนึกในหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของคณะกรรมการสิทธิฯด้วย เราเป็นประเทศที่มีสำนักงานและคณะกรรมการสิทธิฯที่อยู่กับคดีละเมิด ข่มขู่ กดขี่ คุกคาม กลั่นแกล้ง และสังหารประชาชน ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและเสรีภาพ จำนวนมากหลายร้อยคดี ได้อย่างลอยหน้าลอยตา ไม่ทุกข์ร้อนใด ๆ

“สุดท้าย ประชาธิปไตยแบบที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์น่าจะตอบโจทย์สังคมไทยอย่างถึงรากถึงโคนที่สุดแล้ว เมื่อทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญได้จริง ระบบราชการที่ชอบใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญก็จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องเหมาะสมตาม อันนี้คือส่วนที่เป็นโครงสร้างใหญ่ ส่วนโครงสร้างย่อยในสังคมตามพื้นที่ต่าง ๆ ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทั้งงบประมาณและภารกิจ ตัดการใช้อำนาจซ้ำซ้อนออกให้หมด ผู้ว่าฯและนายอำเภอกับ นายก อบจ. และสมาชิกสภาจังหวัด, กำนันและผู้ใหญ่บ้านกับนายก อบต. และสมาชิก อบต. ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้สังคมและการเมืองมีพัฒนาการไปในวิถีทางที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นเป็นพัฒนาการที่จะทำให้อุดมการณ์ความคิดในประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเข้ามาแทนที่อุดมการณ์ความคิดในชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” นายเลิศศักดิ์ระบุ
ธนาธรสะท้อน ประชาชนคนไทยไม่มีอำนาจ ไม่มีความหมายไร้ค่าในสายตาของชนชั้นนำ ที่มาว่า ทำไมประชาชนไม่ได้รับการปกป้อง 

ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้ากล่าวว่า ธนาธรสะท้อน ประชาชนคนไทยไม่มีอำนาจ ไม่มีความหมายไร้ค่า ในสายตาของชนชั้นนำ ข้อเท็จจริงของที่มาว่าทำไมประชาชนไม่ได้รับการปกป้อง
    
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ตนเติบโตมากับการรับรู้เรื่องราวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลายคนกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ตนอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เช่น ทะนง โพธ์อ่าน เจริญ วัดอักษร สมชาย นีละไพจิตร และเด็กรุ่นใหม่ก็เติบโตมาพร้อมกับเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เช่นกรณีชัยภูมิ ป่าแส เช่นกัน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหนเลย แต่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะที่คุณูปการของคนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการยกย่อง ทั้งที่สิทธิต่างๆ หลายอย่างที่พวกเราได้รับในทุกวันนี้มาจากคนเหล่านี้ กรณี คุณ ปราณี คุณ มณฑา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ แต่พวกเธอกลับถูกยิงตาย ศพถูกทำลายเพื่อข่มขู่ไม่ให้ทำตาม 
    
“เวลาเราพูดถึงเรื่องพวกนี้ทีไร นั่นเป็นเพราะเราเพิกเฉยถึงได้เกิดเรื่องพวกนี้ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และถ้าเรายังเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ลุกขึ้นปกป้องสิทธิต่างๆ ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้ลุกขึ้นมาปกป้องดิน น้ำ ฟ้า ป่า ในบ้านของตัวเอง พูดเรื่องกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางเศรฐกิจและสังคม ประชาธิปไตย แต่ผู้กระทำผิดไม่เคยถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย นั่นบอกว่าด้านกลับของประชาชนในประเทศนี้ไม่มีอำนาจ ไม่อำนาจ ไม่มีความหมายไร้ค่า ในสายตาของชนชั้นนำ นี่คือข้อเท็จจริงของที่มาว่าทำไมประชาชนไม่ได้รับการปกป้องฉะนั้น เราไม่ควรปล่อยให้เขาสู้อย่างโดดเดี่ยว ปล่อยให้การอุ้มหาย ถูกข่มขู่เป็นเรื่องปกติสามัญ” หัวหน้าคณะก้าวหน้า ระบุ 
    
นายธนาธร กล่าวต่ออีกว่า หากต้องการให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในสังคมไทย ยังต้องต่อสู้ต่อไปใน 3 ประเด็น คือ 1.ต่อสู้เชิงประเด็นทีละประเด็นยังสำคัญอยู่ การเรียกร้องยังต้องชุมนุม ยังต้องเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังต้องไปคุยกับสื่อเพื่อขอพื้นที่เพื่อให้ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นวาระทางสังคม ขณะที่ประชาชนสามารถช่วยเหลือการต่อสู้เชิงประเด็นด้วยการช่วยออกแบบแคมเปญ ช่วยพูด ช่วยกดไลก์ กดแชร์ แสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่การช่วยคนละไม้ละมือจะทำให้กลายเป็นกระแสได้ 2.การต่อสู้เชิงระบบที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดจะมีแพทเทิร์นคล้ายๆ กัน ที่อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน ชนชั้นนำมองว่าประชาชนในประเทศนี้ไม่มีค่า ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง การต่อสู้เพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกันอย่างแท้จริง ยังเป็นเรื่องจำเป็น และ 3.ต่อสู้เชิงวัฒนธรรม ที่ต้องกลับมาเริ่มกันใหม่ ต้องกลับมาปลูกฝังค่านิยมพลเมืองกันใหม่ ว่าประเทศนี้เราเป็นเจ้าของร่วมกัน และการเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่เป็นเรื่องชีวิตของเรา เป็นเรื่องอนาคตของลูกหลานของเรา ทุกอย่างในชีวิตคือเรื่องการเมือง อย่าให้เขามากดขี่ หรือเชื่อว่าการกดขี่คือบุญคุณตามที่เขาบอก อย่ายอมให้เขาหลอก 
    
“เรื่องนี้ทุกประเด็นต้องเกี่ยวแขนกัน ต้องยืนหยัดต่อสู้ร่วมกัน ต่อสู้ทั้งทางประเด็น ทางระบบและทางวัฒนธรรม ว่าจะต้องมีการปฏิรูประบบข้าราชการ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ยุติการรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ ซึ่งการต่อสู้เชิงระบบจะไปไกลกว่าการต่อสู้เชิงประเด็น และอยากฝากเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตในประเทศไทย เพราะถ้าคนมีความมั่นคงในชีวิต มีความอิสระทางเศรษฐกิจ สามารถตัดสินใจทางการเมือง พลังของระบบอุปถัมภ์ดั่งเดิมจะลดน้อยลงไป” หัวหน้าคณะก้าวหน้า อธิบายเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศข้างนอกได้มีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายถ่ายของนักปกป้องสิทมนุษยชนที่ถูกสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหายอาทิ รูปถ่ายของชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่วิสามัญฆาตกรรม นางบิลลี่ พอละรักจงเจริญ นายเด่น คำแหล้ ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมรับชมก่อนเข้างานด้วย ซึ่งนิทรรศการได้รับความสนใจจากประชาชนที่เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ก่อนเริ่มงานยังได้มีการแนะนำขบวนการนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ยังยืดหยัดในการต่อสู้อยู่เช่นกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได้ด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net