Skip to main content
sharethis

มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิงตั้งโต๊ะล่าชื่อกลาง Mob Fest ขอยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 39 หวังอาชีพ พนง.บริการได้รับการคุ้มครองแรงงานเหมือนอาชีพอื่น ๆ ยันไทยมีกฎหมายค้ามนุษย์และกฎหมายคุ้มครองเด็กอยู่แล้ว

15 พ.ย.2563 ในงาน Mob Fest อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 พ.ย.63) มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง(EMPOWER FOUNDATION) ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานบริการหญิงที่มารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อเพื่อขอยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยทางกลุ่มเริ่มตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อครั้งแรกในการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา และขณะนี้รวบรวมรายชื่อได้แล้วราว 3,000 รายชื่อจากที่ตั้งเป้าหมายหนึ่งหมื่นรายชื่อ

ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง(EMPOWER FOUNDATION) 

ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ ตัวแทนกลุ่มระบุว่าต้องการให้ยกเลิกกฎหมายนี้ เนื่องจากพนักงานบริการได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายฉบับนี้ เธอกล่าวว่าพนักงานบริการพบเจอกับเงื่อนไขในการทำงานที่เอาเปรียบ ต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไปจ่ายเงินใต้โต๊ะต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้เพราะปัจจุบันอาชีพนี้ยังผิดกฎหมาย นอกจากนั้นยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมและไม่มีอำนาจต่อรองเพราะได้ชื่อว่าทำงานผิดกฎหมาย

ชัชลาวัณย์ยังกล่าวอีกว่า กฎหมายมักถูกนำมาใช้ละเมิดสิทธิของพนักงานบริการ ทุกวันนี้พนักงานบริการยังถูกล่อซื้อ ซึ่งเธอกล่าวว่าไม่ถูกต้องและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการ

"มันไม่ถูกต้องเลยสำหรับพวกเรา ในความคิดเรามันคือการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การที่เอาเงินมาล่อซื้อ มาปลอมตัวเป็นลูกค้า มาทำให้เราสนิทใจแล้วสุดท้ายก็พาเราเข้าโรงแรม บางคนหนักข้อขึ้นไปถึงขั้นร่วมเพศ แล้วก็จับ ตรงนี้เรามองว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เรา ทำเหมือนเราไม่ใช่คน" ชัชลาวัณย์กล่าว "เราไม่ใช่ยาบ้า เราก็เป็นคน"

นอกจากนี้การที่พนักงานบริการมีประวัติอาชญากรรมยังสร้างปัญหา โดยชัชลาวัณย์ยกตัวอย่างว่าเช่นตัวเธอเองอยากออกจากอาชีพขายบริการทางเพศแล้วจะไปสมัครงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย แต่สมัครไม่ได้เพราะมีประวัติอาชญากรรมอยู่ ซึ่งประวัตินี้จะไม่ถูกลบ ทำให้พนักงานออกจากอาชีพไม่ได้

ในช่วงล๊อคดาวน์โควิด-19 ที่ผ่านมา ชัชลาวัณย์กล่าวว่าพนักงานบริการยังสามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือของรัฐได้ แต่ก็ยังมีคนที่ตกหล่น เช่นคนที่เข้าไม่ถึงโทรศัพท์หรือวิธีการลงทะเบียนออนไลน์ แต่ปัญหาที่พนักงานบริการต้องพบเธอก็คือการที่สถานบริการเป็นกิจการกลุ่มแรกที่ถูกรัฐบาลสั่งปิดและเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้เปิดทำการ แต่กลับได้รับการเยียวยาสามเดือนเท่ากับอาชีพอื่น ๆ โดยกลุ่มพนักงานบริการก็มีการร้องเรียนไป แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ชัชลาวัณย์กล่าวว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยเข้ามาให้ความช่วยเหลือพนักงานบริการในฐานะที่เป็นกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนชายขอบ แต่มีเงื่อนไขที่สร้างความยุ่งยาก เช่นต้องให้พนักงานบริการไปเรียกร้องในพื้นที่ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน แต่พนักงานบริการมักไม่ได้ทำงานในภูมิลำเนาของตัวเองทำให้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือตรงนี้

ต่อคำถามที่ว่าถ้ายกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีแล้วจะคุ้มครองเด็กหรือคนที่ถูกบังคับให้มาขายบริการอย่างไรนั้น ชัชลาวัณย์ระบุว่าประเทศไทยมีกฎหมายค้ามนุษย์และกฎหมายคุ้มครองเด็กอยู่แล้ว สามารถนำกฎหมายนี้มาบังคับใช้ได้เลย และในกลุ่มพนักงานบริการเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการให้เด็กมาทำงาน เพราะว่าเด็กยังไม่มีวัยวุฒิพอจะทำงานนี้ได้ ซึ่งเธอระบุว่างานบริการเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะและไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้

"กรณีลูกค้าที่ซื้อเด็กหรือการบังคับ ไม่เต็มใจอะไรแบบนี้ เราไม่เห็นด้วยมาก ก็คือคุณจับไปเลย แล้วคุณก็เอาพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและกฎหมายค้ามนุษย์มาช่วยเหลือเหยื่อไป แต่ทีนี้เรากำลังพูดถึงคนที่เต็มใจ มีวัยวุฒิ สมัครใจมาทำงานแล้ว คนกลุ่มนี้คุณจะทำยังไงกับเขา มันถึงเวลาหรือยังที่จะให้เขาเข้าถึงการคุ้มครอง" ชัชลาวัณย์กล่าว

ชัชลาวัณย์กล่าวว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานให้คำนิยามของคำว่างานว่าต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่อาชีพพนักงานบริการเป็นอาชีพสีเทา ถ้าพนักงานบริการขึ้นศาลคดีแรงงานก็จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าอาชีพนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคมหรือเปล่าและเป็นงานจริงไหม  ถ้าศาลตัดสินว่าไม่ใช่งาน พนักงานบริการก็จะไม่ได้รับความคุ้มครอง โดยชัชลาวัณย์ระบุว่าหลังจากยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีแล้วก็จะต้องเรียกร้องให้แก้ไขนิยามต่างๆ ในกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ชัชลาวัณย์กล่าวว่า กลุ่มพนักงานบริการเลือกจะออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองในครั้งนี้เพราะว่าถ้าทางกลุ่มเรียกร้องสิทธิของพนักงานบริการแต่ไม่เลือกยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยก็แสดงว่ากลุ่มมีจุดยืนไม่ชัดเจน นอกจากนี้เธอยังต้องการให้พนักงานบริการได้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างกฎหมายต่างๆ ที่มีผลกับคนที่ทำอาชีพดังกล่าว และมีส่วนร่วมในขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเธอระบุว่าพนักงานบริการมักไม่มีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ทั้งที่กฎหมายออกมาใช้กับพนักงานบริการ แต่พนักงานบริการเองกลับไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

"เรามองว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเราต้องมีส่วนร่วม แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีส่วนร่วม ดังนั้นครั้งนี้เราถึงได้เลือกฝั่งประชาธิปไตยแล้วก็ออกมาเรียกร้อง มาร่วมม็อบทุกครั้ง แล้วก็มาใช้ม็อบตรงนี้เพื่อสื่อสารกับคนให้มากขึ้น เพราะเรามองว่ารัฐธรรมนูญต้องเคารพสิทธิของเรา ในเมื่อเราเลือกที่จะทำงานนี้แล้ว เราเลือกที่จะทำงานแล้ว ทำไมเรากลับไม่ได้รับการคุ้มครอง กลับมาบอกว่าเราผิดกฎหมาย" ชัชลาวัณย์กล่าว

"กฎหมายออกมาใช้กับ sex worker แต่ sex worker ไม่มีพื้นที่ในการไปร่วมร่างหรือแสดงความคิดเห็น เอาใครก็ไม่รู้ไปนั่งบนแท่นแล้วคิดออกแบบให้ ถ้าคุณเอาคนที่มีศีลธรรมสูงส่งหรือศีลธรรมที่ต่างกัน เราก็หมดสิทธิ เราก็ตายอย่างเดียว แต่กฎหมายถูกใช้กับเรา ไม่ได้ถูกใช้กับเขา ถ้าเกิดวันหนึ่งเราเรียกร้องได้ เราอยากให้รัฐธรรมนูญเรามีส่วนร่วม และเรามีสิทธิมีเสียงในการลงความคิดเห็น ออกเสียงทุกส่วนตั้งแต่ระดับล่างยันถึงบน"

ชัชลาวัณย์กล่าวว่า ถ้าการเมืองดี เธออยากให้อาชีพพนักงานบริการได้รับการคุ้มครองและได้เป็นแรงงานเหมือนอาชีพอื่น ๆ

"เรารู้แหละว่ามันยังมีอีกหลายด่านที่เราต้องสู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตีตราหรือศีลธรรม แต่เราขอแค่ด่านเดียว ให้เราเป็นแรงงานเหมือนคนอื่น ถ้าการเมืองดีแปลว่าเราจะมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและจุดยืน" ชัชลาวัณย์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net