Skip to main content
sharethis

16 พ.ย. 2563 สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3/2563 หดตัว -6.4% ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว -12.1% ในไตรมาส 2/2563 ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนปีนี้ GDP ไทยหดตัว -6.7% ขณะที่ประมาณการทั้งปีจะหดตัวราว -6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึง -7.8 ถึง -7.3%

ปัจจัยสำคัญของการที่เศรษฐกิจไตรมาส 3/2563 ติดลบน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลและการลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 3/2563
ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามปี 2563 และแนวโน้มปี 2563-2564

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 63 ที่ -6.0% หดตัวน้อยลงกว่าประมาณเดิมที่คาดไว้ที่ -7.3 ถึง-7.8% ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยหนุนประกอบกันไป ได้แก่ การลงทุนภาคชน ราคาสินค้าเกษตร และการส่งออกที่หดตัวน้อยลง "ตัวเลข GDP ปีนี้ที่ติดลบน้อยลงกว่าคาด ไม่ได้มีปัจจัยไหนโดดเด่น แต่มาจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ทั้งการลงทุนภาคเอกชน, ราคาสินค้าเกษตร และการส่งออกที่ติดลบน้อยลง ซึ่งเป็นหลายๆ ปัจจัยผสมกันไป ไม่มีปัจจัยไหนเป็นพระเอก ดังนั้นในระยะนี้และระยะถัดไป จะต้องร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ ภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ ทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ หากไม่มีปัจจัยใดที่เข้ามากระทบรุนแรงก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 เนื่องจากจะเห็นได้จากดัชนีที่เป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ในช่วงโควิด ในขณะที่ตลาดส่งออกแม้จะยังติดลบ แต่ก็ติดลบน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวน้อยลงเหลือ -6.0% โดยในปีนี้สภาพัฒน์ประเมินว่าการส่งออกจะอยู่ที่ -7.5% การนำเข้า -13.8% ดุลการค้าเกินดุล 38.3 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.8% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ -0.9% ส่วนการลงทุนรวมอยู่ที่ -3.2% การลงทุนภาคเอกชน -8.9% การลงทุนภาครัฐ 13.7% การบริโภคภาคเอกชน -0.9% การอุปโภคภาครัฐบาล 3.6% ประมาณการรายได้การท่องเที่ยวปีนี้อยู่ที่มูลค่า 4.6 แสนล้านบาท ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 41.8 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 31.30 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ในปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราการว่างงาน, ปัญหาหนี้ครัวเรือน, ปัญหาภัยแล้ง 

"ตัวที่จะขับเคลื่อนหลักในปีนี้ คือ การลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐจะต้องเริ่มก่อน แล้วในระยะถัดไปจึงค่อยกระตุ้นให้เอกชนลงทุนมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป" นายดนุชากล่าว 

ส่วนในปี 2564 สภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายได้ที่ระดับ 3.5-4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนของภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปีนี้ โดยสภาพัฒน์ประเมินว่าในปี 2564 การส่งออกจะกลีบมาขยายตัว 4.2% การนำเข้า 5.3% ดุลการค้าเกินดุล 37.9 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 13.9 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.6% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ 0.7-1.7% ส่วนการลงทุนรวมอยู่ที่ 6.6% การลงทุนภาคเอกชน 4.2% การลงทุนภาครัฐ 12.4% การบริโภคภาคเอกชน 2.4% การอุปโภคภาครัฐบาล 4.7% ประมาณการรายได้การท่องเที่ยวปี 64 จะมีมูลค่า 4.9 แสนล้านบาท ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 41-51 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2564 อยู่ในช่วง 30.30-31.30 บาท/ดอลลาร์ 

นายดนุชา ยังกล่าวถึงแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 รวมถึงปี 64 ว่า สภาพัฒน์มองว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้ 

1. การป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสโควิดระลอกที่สองภายในประเทศ 

2.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยต้องเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองสาขาและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การช่วยเหลือดูแลแรงงาน การรณรงค์ให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม รวมทั้งการดำเนินงานด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 

3.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 94.4% งบลงทุนต้องเบิกจ่ายให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ส่วนการเบิกจ่ายตามโครงการใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% 

4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน โดยเน้นการขับเคลื่อนสินค้าส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโควิด, การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญ การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท 

5. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง, ขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิต, ประชาสัมพันธ์จุดแข็งของไทย เช่น Health Care เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ 

6.การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง 7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ 

8. การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก และการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ

อัตราว่างงานยังสูง แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ภาวะสังคมไตรมาส 3/2563 นี้ในภาพรวมอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานในไตรมาส 3/2563 พบว่ามีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.90 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 1.95 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนการจ้างงานในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม 1.8% ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเป็นปกติมากขึ้น ประกอบกับฐานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงเดียวกันของปีก่อนลดต่ำลงมาก จากผลกระทบของการส่งออกที่หดตัวและมีการใช้กำลังการผลิตลดลง

ทั้งนี้ สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาก่อสร้าง, การขายส่งและขายปลีก, การขนส่ง/เก็บสินค้า ในขณะที่สาขาการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งนอกจากเป็นผลของคำสั่งซื้อที่ลดลงแล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันกับต่างประเทศ สำหรับภาคเกษตรกรรม แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก แต่เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง -0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี แม้แรงงานจะมีงานทำ แต่ไม่ได้เป็นการทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 43.5 ชม./สัปดาห์ มาเหลือ 41.6 ชม./สัปดาห์ และจำนวนผู้ที่ทำงานล่วงเวลา หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชม./สัปดาห์ ลดลง 19.7% ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และรายได้ของแรงงานที่อาจลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของครัวเรือน

"ภาวะสังคมไตรมาส 3 นี้ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ชั่วโมงการทำงานยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือนในด้านต่างๆ อีกทั้งแรงงานจบใหม่ แรงงานอายุน้อย และมีการศึกษาสูง ยังมีปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก" เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว พร้อมระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/63 แม้จะมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 นี้ แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ 1. ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดระลอกที่สอง 2.การเข้าร่วมมาตรการจ้างงานของรัฐ 3. ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม และ 4. คุณภาพชีวิตแรงงาน

นายดนุชา ยังกล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใน ไตรมาส 2/2563 ว่า มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แต่ชะลอตัวลงจาก 4.1% ในไตรมาส 1/2563 โดยคิดเป็นสัดส่วน 83.8% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ การที่หนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทำ จากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยจากข้อมูลยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคาพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2/2563 มีมูลค่า 152,501 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% และมีสัดส่วน 3.12% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากสัดส่วน 3.23% ในไตรมาส 1/2563 โดยเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ที่ทำให้ภาพรวมคุณภาพลูกหนี้มีสถานการณ์ดีขึ้น

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2563 โดยคาดว่าความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกันสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี รวมถึงยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อหนี้ครัวเรือนไทย ถือเป็นวิกฤติที่สะท้อนและตอกย้ำถึงความเปราะบางทางการเงิน และปัญหาเชิงโครงสร้างของครัวเรือนไทย จากการขาดหลักประกันและภูมิคุ้มกันในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐและสถาบันการเงินได้มีมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในส่วนของลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจ

แต่ในระยะต่อไป หากระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลง และสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จะเสี่ยงเกิดหนี้เสียจำนวนมาก และครัวเรือนอาจมีการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของทั้งภาครัฐ และสถาบันการเงิน ในการออกแบบนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในสภาวะของความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net