ทบทวนแก้รัฐธรรมนูญไวๆ ไม่เกิน 400 คำ

ดูแบบเร็วๆ ว่าการประชุมรัฐสภาในวันที่ 17-18 พ.ย. นี้มีกี่ญัตติ ทิศทางรวมๆ ของพรรคการเมืองต่อร่างฉบับต่างๆ และความหวังที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะผ่านมีมากน้อยแค่ไหนท่ามกลางกระแสโจมตีสารพัด

รัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แก้...อะไร

แน่นอนว่าแก้รัฐธรรมนูญ บางคนเข้าใจว่าเป็นการแก้ไขเนื้อหาทั้งฉบับ แต่จริงๆ แล้วเนื้อหาที่มีการเสนอไปเป็นการแก้ไขเฉพาะส่วนเพื่อนำไปสู่การทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกฉบับหนึ่ง 

หากแบ่งตามตัวละคร จะพบว่ามีตัวละครคร่าวๆ 3 กลุ่มที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และประชาชนที่เข้าชื่อเสนอ หากแบ่งตามจำนวนฉบับก็จะแบ่งเป็น 7 ญัตติ โดยทั้งหมดเป็นร่างฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

  1. ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 พรรค ยกเว้นพรรคก้าวไกล สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ แก้มาตรา 256 ให้สามารถตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
  2. ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล แก้มาตรา 256 ให้สามารถตั้ง ส.ส.ร. โดยมาจากเลือกตั้งโดยตรง 150 คน , จากการคัดเลือกโดยรัฐสภา 20 คน , ที่ประชุมอธิการบดีฯ เลือกผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ 20 คน และสมาชิกซึ่งคัดเลือกจากนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา 10 คน โดยขั้นตอนตั้งแต่การเลือก ส.ส.ร.การยกร่างรัฐธรรมนูญ จนไปถึงการออกเสียงประชามติอยู่ราว 1 ปี 4 เดือน
  3. ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน สมพงษ์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ ยกเลิก ม. 270 271 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามแผนปฏิรูปประเทศ
  4. ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน สมพงษ์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ แก้ ม. 159 ยกเลิก ม. 272 ตัดสิทธิ ส.ว. ชุดนี้ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ
  5. ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน สมพงษ์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ ยกเลิก ม. 279 เพื่อยกเลิกความชอบธรรมของประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 
  6. ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน สมพงษ์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม) หรือคือการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็นแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ยกเลิกระบบคำนวณโควตาแบบ ส.ส. พึงมี ที่ใช้ในการเลือกตั้งปี 2562
  7. ฉบับจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 98,041 คนเป็นผู้เสนอ หรือฉบับที่เริ่มล่ารายชื่อโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

บีบีซีไทยรายงานว่า 6 ร่างฯ ที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาร่างแก้รัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ที่มีวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐและวิปรัฐบาลเป็นประธาน

ในส่วนของการได้มาของ ส.ส.ร. นั้น พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านมีความแตกต่างอยู่ในเรื่องของที่มาของสมาชิก ส.ส.ร.

นอก-ในสภาจะทำอะไรบ้าง

ในสภาวันพรุ่งนี้จะเป็นการพิจารณาว่าจะรับญัตติใดเอาไว้บ้างจากทั้งหมด 7 ฉบับ ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ญัตติแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดมรรคผลทางนโยบายได้จะต้องได้รับการอนุมัติ 3 วาระ

ในวาระแรก ต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา แต่ต้องมี ส.ว. อยู่ในนั้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภาทั้งหมด

ในวาระที่สองจะพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้นับตามเสียงข้างมากจึงถือว่าผ่าน หลังจากนั้นรอไปอีก 15 วัน แล้วพิจารณาวาระที่สาม

ในวาระที่สามต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา ต้องมี ส.ส. จากพรรคการเมืองที่สมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานสภา ซึ่งในที่นี้คือพรรคฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรครวมกัน และมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 

หากลงมติเห็นชอบแล้วก็ให้รอ 15 วัน แล้วนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เว้นเสียแต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 (บททั่วไป) หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) หรือหมวด 15 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็จะต้องให้ทำประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าเห็นด้วยก็ให้ดำเนินการทูลเกล้าฯ ต่อไป

ประชาชาติธุรกิจเช็คเสียงองค์ประชุมในสภาพบว่าการลงมติเมื่อ 26-27 ต.ค. 2563 ในที่ประชุมสภา มีสมาชิกสภาปฏิบัติหน้าที่ได้ 732 คน เป็น ส.ส. 487 คน ส.ว. 245 คน เสียงเห็นชอบที่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงเท่ากับ 366 เสียง

ส่วนนอกสภา กลุ่ม “ราษฎร” นัดชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17-18 พ.ย. โดยจะกดดันให้สภาลงมติรับลักการร่างฯ ฉบับประชาชน และจะมีประชาชนกลุ่มไทยภักดี นัดสวมเสื้อเหลืองมาคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่สภาเช่นกัน

ทิศทางฝ่ายค้าน รัฐบาล

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า พรรคจะสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านในเรื่องการแก้มาตรา 256 ส่วนร่างไอลอว์จะให้เป็นหน้าที่ของวิปในการหารือกัน ย้ำว่าไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 (ที่มา: สำนักข่าวไทย

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงผลประชุมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านว่า 6 พรรคฝ่ายค้านมีมติรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง (ที่มา: สำนักข่าวไทย

พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐแถลงมติพรรคว่า ยืนยันตามมติวิปรัฐบาล รับหลักการร่างฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเรื่องมาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร. ส่วนร่างที่ 3-6 งดออกเสียง ส่วนร่างฉบับประชาชน จะรอฟังสมาชิก ส.ส. ฝ่ายค้าน รัฐบาลและ ส.ว. ก่อน (ที่มา: ไทยโพสท์

ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภากล่าวว่าการลงมตินั้น หากรับร่างฯ ก็จะไปต่อ แต่ถ้าไม่รับก็จะตกไป ประเด็นคือจะนำร่างใดเป็นหลักในการพิจารณา (ที่มา: ไทยโพสท์)

ผู้สื่อข่าวมติชนรายงานว่า ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่าการลงมติเรื่องการแก้มาตรา 256  แต่อีก 4 ฉบับที่เหลือที่ไม่ใช่ฉบับจากไอลอว์ มีแนวโน้มจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา จะมีเพียงเสียงฝ่ายค้านเท่านั้นที่จะลงมติให้ทั้ง 4 ร่าง

กระแสโจมตีร่างฯ ฉบับประชาชน

กระแสโจมตีร่างฯ ฉบับประชาชนที่เริ่มล่าชื่อโดยไอลอว์มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่การแก้รัฐธรรมนูญใกล้เข้ามา ทั้งการโจมตีว่าไอลอว์รับทุนจากแหล่งทุนต่างประเทศโดยอุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี การบอกว่าร่างฯ ฉบับไอลอว์มีการแก้หมวด 1 หมวด 2 โดยไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ หรือการชี้นำว่าการสรรหาตุลาการองค์กรอิสระ รวมทั้ง ป.ป.ช. ใหม่มีจุดมุ่งหมายให้คนที่ถูกวินิจฉัยจาก ป.ป.ช. ว่ามีความผิดเป็นโมฆะโดยสิระ เจนจาคะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ

เมื่อเปิดดูร่างฯ ฉบับประชาชน จะพบว่าไม่มีการระบุว่าจะแก้ไขหมวด 1 กับหมวด 2 ในหลักการการเปลี่ยนแปลง 11 ประเด็น 

ความแตกต่างของญัตติแก้รัฐธรรมนูญของแต่ละกลุ่ม (ที่มา: ไอลอว์)

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่าการโจมตีรายละเอียดเช่นว่าเป็นความพยายามเบี่ยงประเด็น เพราะหลักการสำคัญที่ต้องการให้แก้ไขคือการรื้อถอนอำนาจ คสช. และกลับสู่หนทางประชาธิปไตย ข้อเสนอที่ส่งเข้าสภาไม่ได้เสนอให้แก้หมวด 1 และ 2  เพียงแต่ ส.ส.ร. ในฉบับประชาชนไม่ได้ล็อกสเปคว่าห้ามแตะหมวด 1 และ 2 ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านมีการพูดว่าห้ามแตะหมวด 1 และ 2 ซึ่งก็น่าแปลก เพราะ ส.ส.ร. ในสมัยก่อนนี้ก็ไม่มีการพูดว่าจะเขียนบางเรื่อง ไม่เขียนบางเรื่อง

ในส่วนข้อครหาเรื่องการนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นจากการสรรหากรรรมการองค์กรอิสระอย่างเช่น ป.ป.ช. นั้น ยิ่งชีพระบุว่า ที่ต้องการเสนอนั้นไม่ได้มีความต้องการนิรโทษกรรมใคร แต่ต้องการให้แก้ไขที่มาของกรรมการองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐ อย่าง ป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ล้วนมีที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมาจากการอนุมัติของ คสช. สนช. หรือ ส.ว. 

ผู้จัดการไอลอว์กล่าวต่อไปว่า ในทางเทคนิค การเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ลงลึกไปถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบางมาตรา จึงใส่เป็นข้อเสนอยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วถ้าสภารับไว้พิจารณาว่าที่มาขององค์กรอิสระต้องถูกยกเลิกหรือแก้ไขก็ให้รับหลักการไว้ก่อน แล้วหากไม่ต้องการให้มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นก็ไปเขียนในรายละเอียดช่วงแปรญัตติก็ได้ 

 

*แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 เวลา 13.50 น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท