เมื่อประติมากรรมแสงกลายเป็นงานเพื่อการบูชา ไม่ใช่งานออกแบบเสียแล้ว

เป็นประเด็นดราม่าจนได้ เมื่อมีกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. จัดทำโพลออนไลน์ในเว็บ change.org เรียกร้องคณะให้ปลดประติมากรรมแสง ที่ผนังอาคารของคณะ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากผลงานชิ้นนี้ได้ทำหน้าที่ลุล่วงไปแล้วกว่า 3 ปี อีกทั้งการนำผลงานชิ้นหนึ่งลงไม่ใช่การดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ใดๆ เลย ในขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกแถลงการณ์ยืนยันไม่ยอมให้ปลดประติมากรรมเด็ดขาด 

ภาพประติมากรรมแสง จัดแสดงที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รำลึก 100 วันหลัง พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สวรรคต โดยแสงในเวลา 15.52 น. ที่กระทบวัตถุจะปรากฏเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ไทยพีบีเอส)

กลายเป็นประเด็นดราม่าจนได้ เมื่อมีกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. จัดทำโพลออนไลน์ในเว็บ change.org เรียกร้องคณะให้ปลดประติมากรรมแสง รูปพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ผนังอาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากผลงานชิ้นนี้ได้ทำหน้าที่ลุล่วงไปแล้วกว่า 3 ปี ถือว่าเป็นผลงานที่เก่าแล้ว อีกทั้งการนำผลงานชิ้นหนึ่งลงไม่ใช่การดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ใดๆ เลย

แต่กลับกลายเป็นว่า สื่อออนไลน์บางฉบับได้หยิบประเด็นนี้มานำเสนอข่าว เพื่อโยงว่าแนวคิดการกระทำของนักศึกษากลุ่มนี้ กำลังลบหลู่พระเกียรติของในหลวง ร.9 จนทำให้สังคมข้างนอกสับสนและโจมตีนักศึกษากลุ่มนี้

ทำให้ ดร.จิรันธนิน กิติกา ในฐานะอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นผู้ที่ได้คุยสอบถามกับนักศึกษากลุ่มดังกล่าว ต้องออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงเหตุผลให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ ดังนี้

จากสถานการณ์กดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมได้พูดคุยกับนักศึกษาเกี่ยวกับการเรียกร้องถอดประติมากรรมแสงลงในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผมขออนุญาตเป็นตัวแทน อธิบายความคิดร่วมของกลุ่มนักศึกษาในวันนี้ โดยร่างข้อความฉบับนี้ เพื่อแสดงความชัดเจนว่า มันไม่ได้เป็นความผิดและการชักนำทางการเมืองใดๆ ซึ่งขอแยกย่อยประเด็นของนักศึกษา ออกมาทั้งหมด 3 ประเด็นดังนี้

(1) นักศึกษาปัจจุบันของคณะ มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นต่องานออกแบบบนพื้นที่ของคณะ อีกทั้งยังมีสิทธิในการขอความร่วมมือจากคณะ ให้สนับสนุนและแสดงออกตามความต้องการเพื่อสาธารณประโยชน์ของคนในคณะเป็นหลัก ตามกระบวนการและระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(2) การขับเคลื่อนครั้งนี้ ไม่มีขบวนการเบื้องหลังหรือแกนนำ แต่มันคือการแสดงออกของปัจเจกบุคคลที่รวมตัวเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือ การขอเอาประติมากรรมแสงลงจากพื้นที่คณะ ด้วยเหตุผลร่วมกัน 4 ข้อคือ (ก) บริบททางสังคมและการเมืองในประเทศ ที่เยาวชนและประชาชนเรียกร้องการปฏิรูปของโครงสร้างรัฐและฝ่ายปกครอง ซึ่งการที่คณะยังคงแสดงประติมากรรมชิ้นนี้ ส่งผลทำให้จุดยืนของคณะสามารถถูกบิดเบือน หรือถูกเหมารวมว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งได้ หากยังคงแสดงผลงานชิ้นนี้ท่ามกลางการเรียกร้องอธิปไตยของประชาชน (ข) ผลงานชิ้นนี้ได้ทำหน้าที่ลุล่วงไปแล้วกว่า 3 ปีแล้วซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่เก่าแล้ว อีกทั้งการนำผลงานชิ้นลงไม่ใช่การดูหมิ่นสถาบันใดใดเลย เพราะคณะได้แสดงความภักดีกับกษัตริย์องค์เก่าอย่างสุดซาบซึ้งไปแล้วตามช่วงเวลาที่เหมาะสม (ค) ผลงานชิ้นนี้สร้างความไม่สบายใจของนักศึกษาปัจจุบัน และมีผลกระทบทางอารมณ์และความรู้สึกของผู้พบเห็นและใช้พื้นที่ในคณะร่วมกัน (ง) แรงกดดันจากบริบทภายนอกมหาวิทยาลัยจากโพลสาธารณะ change.org และจำนวนของผู้ลงชื่อใน Google drive ที่สะท้อนการเรียกร้องให้คณะนำลง ทั้งนี้วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำและรับผิดชอบต่อสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะการสร้างพื้นที่และงานออกแบบเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

(3) โครงสร้างและระบบในระดับนักศึกษาปัจจุบันที่มีการแทรกแซงและสะท้อนปัญหาจากโครงสร้างอาวุโสนิยม ที่มาขัดขวางการแสดงออกส่วนบุคคลของนักศึกษาปัจจุบัน อันสืบเนื่องมาจากกิจกรรมรับน้อง รูปแบบของสโมสรนักศึกษา กลุ่มศิษย์เก่าบางกลุ่ม ที่แบ่งแยกนักศึกษา กดทับ และผูกขาดอำนาจในการแสดงออกเชิงปัจเจกบุคคลของนักศึกษา ผู้ร่วมร่างจดหมายเห็นว่าระบบการทำงานระหว่างผู้บริหารของคณะกับนักศึกษาไม่ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาปัจจุบันมีสิทธิและการแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิผล ดังนั้นกระบวนการเรียกร้องในครั้งนี้ เป็นการดียิ่งที่จะสะท้อนว่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นโรงเรียนออกแบบสมัยใหม่ที่ไม่ได้นิ่งเฉยกับโครงสร้างอำนาจนิยมชุดนี้ด้วย

จาก 3 เหตุผลนี้จึงทำให้นักศึกษาและผม แสดงจุดยืนของปัจเจกบุคคลและผู้ใช้พื้นที่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร้องเรียนเพื่อขอเอางานออกแบบประติมากรรมแสงลงจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แก่ฝ่ายอาคารและสถานที่ คณบดี และกลุ่มผู้บริหารคณะ เพื่อให้พิจารณาตามครรลองของระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยขั้นตอนอันสมานฉันท์ตามสิทธิอันพึ่งมีของนักศึกษาปัจจุบันในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ครับ

แต่ดูเหมือนว่า กระแสข่าวโจมตีนักศึกษาจะกระพือรุนแรง และภาพของนักศึกษากลุ่มนี้ได้ถูกมองไปในเชิงลบ อีกทั้งทางผู้บริหารในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช.ยังได้เรียกตัวนักศึกษาที่ทำโพลมาคุย พร้อมกับกดดันนักศึกษาว่าเป็นสิ่งไม่ควรทำ ถ้าถูกแจ้งความดำเนินคดีจะไม่ประกันตัวให้  อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเฝ้า ควบคุม กดดัน ภายในบริเวณตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อีกด้วย

ต่อมา ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563  ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ตัดสินใจออกแถลงการณ์ด่วนทันที โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่ได้ปรากฎในสื่อออนไลน์ มีบุคคลเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อปลดประติมากรรมแห่งแสงพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ติดตั้ง ณ ผนังอาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ ล้นเกล้าฯ รัชการที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคารพและเทอดทูนเหนืออื่นใด ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพวกเราชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะไม่ยินยอมให้เกิดการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการลบหลู่พระเกียรติของพระองค์ท่านไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม

 

เป็นการออกแถลงการณ์ โดยที่ทางผู้บริหาร มช. ยังไม่ได้รับการชี้แจงเหตุผลของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการขั้นตอนรวบรวมรายชื่อเพื่อเข้ายื่นต่อคณะคณบดีคณะสถาปัตยกรรม และผู้บริหาร มช.

และนี่คือคำให้สัมภาษณ์ ดร.จิรันธนิน กิติกา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พยายามปกป้องสิทธิของนักศึกษากลุ่มนี้ และอยากสื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งได้เข้าใจ

จิรันธนิน กิติกา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หลังเกิดเหตุการณ์ นักศึกษาในคณะ รู้สึกอย่างไรกันบ้าง?

บอกตรงๆ ก็คือนักศึกษาค่อนข้างวิตกกังวลและหวาดกลัวกันไปเลยนะ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นนักศึกษาทุกคนก็เชื่อและคิดว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่เหตุการณ์มันเริ่มรุนแรง ก็เพราะว่าอยู่ดีๆ ก็มีสื่อสองฉบับเอาไปเป็นข่าว กลายเป็นว่า “นักศึกษาพวกนี้ทำไมถึงมาทำโพลให้ปลดรูปประติมากรรม ร.9 ลง” ซึ่งผมคิดว่ามันค่อนข้างผิดวิสัย เพราะทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่าสื่อทั้งสองฉบับเป็นแนวอนุรักษ์นิยม พอเป็นข่าวแรงขึ้น ทางคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็มีการเรียกนักศึกษาคนนั้นมาคุย

ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ทางนักศึกษาก็เคยได้มาคุยมาปรึกษากับผมว่า อาจารย์ๆ เราจะทำยังไงกันดี เพราะรู้สึกว่า มันคุกรุ่นอยู่ในออนไลน์มากขึ้นๆ ซึ่งผมก็บอกนักศึกษาไปว่า เราอย่าไปแคร์ออนไลน์ เพราะออนไลน์มันตรวจสอบอะไรไม่ได้  ถึงแม้ว่าจะมีคนมาร่วมลงชื่อใน change.org  แต่สุดท้ายคนที่มีอำนาจการตัดสินใจที่จะบอกเราว่าให้เอาลงหรือไม่เอาลง ก็คือผู้บริหารคณะ ผมก็ได้แนะนำนักศึกษาไปว่า ถ้าเราอยากจะเอาลง เพราะทุกคนมีจุดยืน มีเหตุผล ก็ให้ลงรายชื่อนักศึกษา แล้วไปยื่นต่อคณบดี ผมก็พยายามบอกนักศึกษาแบบนี้ ให้เป็นไปตามกระบวนการที่ชอบธรรม

แต่ทีนี้ พอสื่อเอาไปเล่นรุนแรงมากขึ้นๆ มันก็เริ่มตึงเครียด แล้วทางตึกหน้า หรือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เข้ามามีบทบาทควบคุม มีการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาบริเวณคณะ ซึ่งผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาอ้างว่าเขาได้ข้อมูลมาจากโปรแกรมแช็ท “เทเลแกรม” ว่าจะมีการชุมนุมของนักศึกษา มช.ที่คณะสถาปัตย์ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผมงงไปอีกว่า เพราะปกติการชุมนุมของนักศึกษา มช. หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มนักศึกษาปลดแอกเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จะไม่มีแกนนำที่เป็นนักศึกษาคณะสถาปัตย์  คืออาจมีนักศึกษาสถาปัตย์ไปเข้าร่วม แต่จะไม่มีแกนนำที่เป็นนักศึกษาในคณะเราเลย และเขาก็ไม่มีการประกาศว่าจะมาชุมนุมที่คณะสถาปัตย์  มันทำให้ผมรู้สึกงงมากว่า สื่อพวกนี้มันมาได้ยังไง มันเหมือนว่าเรากำลังถูกสื่อที่เป็นสื่อนอก รวมทั้งสื่อจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ประโคมข่าวจนทำให้ตำรวจเข้ามา

นักศึกษาถูกกดดันจากฝ่ายไหนบ้าง?

สถานการณ์แบบนี้มันทำให้นักศึกษาได้รับความกดดันมาก ขณะที่พวกเขากำลังล่ารายชื่อนักศึกษาที่ต้องการจะให้มีการปลดประติมากรรมแสงลงนั้น ทางคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีการเรียกนักศึกษาที่เป็นผู้ทำโพลไปพบ แต่ไปแบบไม่ได้มารับฟังความเห็นของนักศึกษา แต่เรียกมาคุยเพื่อจะบอกว่า ทำไม่ได้ ไม่ให้ปลดลง ซึ่งมันเป็นความไม่ลงตัว เพราะทางนักศึกษาจะกลับมาเล่นในระเบียบของมหาวิทยาลัย คือไม่ลงชื่อทางออนไลน์แล้ว แต่จะทำตามระเบียบของมหาวิทยาลัย คือ มีการขอรายชื่อนักศึกษา เข้ายื่นต่อผู้บริหาร เพื่อให้ทางผู้บริหารคณะพิจารณาว่าจะให้ปลดลงหรือไม่ให้เอาลง   ซึ่งในขณะนั้น ทางฝั่งทางผู้บริหารคณะ กลับมองอีกแบบหนึ่ง คือ ทำอย่างไรพวกเขาในฐานะอาจารย์และผู้บริหารถึงจะอยู่ใน มช. ได้ และเขามองว่า การที่เขาไม่ประกาศอะไรเลย มันจะดีกว่าที่จะสุ่มเสี่ยง  พูดง่ายๆ คือ เขามองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นผู้บริหาร แต่ไม่ได้มองว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นนักศึกษา ก็เลยทำให้ฝั่งผู้บริหารตัดสินใจเลยทันทีว่า ไม่ได้  รวมทั้งยังถูกกดดันจากสื่อ และผู้บริหารตึกหน้า มช อีกว่าไม่ให้เอาลง โดยไม่ยอมฟังเหตุผลของนักศึกษากันเลย

อาจารย์จึงลุกขึ้นมาปกป้องนักศึกษา และยืนยันว่า นักศึกษามีสิทธิอันชอบธรรมในกฎหมายและพื้นที่คณะ?

ใช่ เมื่อกลับจากที่ประชุม ผมจึงได้เขียนแถลงการณ์ โพสต์ในสื่อโซเชียล ว่า นักศึกษามีสิทธิอันชอบธรรมในกฎหมายและพื้นที่คณะ ซึ่งผมเห็นว่า เฮ้ย กลายเป็นที่ประชุมวันนั้น ผู้บริหารและอาจารย์กำลังรังแกนักศึกษา ซึ่งผมรู้สึกในตอนนั้นว่า ต้องไม่ยอม ซึ่งในที่ประชุม ผมก็เถียงแทนเด็กๆ เลยว่า แล้วทำไมเด็กมันจะวิพากษ์งานออกแบบในคณะไม่ได้  แล้วทำไมการตัดสินใจมันต้องเป็นคนนอก ทำไมเราต้องแคร์คนนอก เพราะว่าเด็กนักศึกษากลุ่มนี้ไม่ได้ทำอะไรผิดกันเลย

นอกจากนั้น ตอนที่เรียกนักศึกษาเข้าไปคุย ยังมีการขู่นักศึกษาอีกว่า ...ถ้าทำอะไรผิด ก็จะโดนจับ พอนักศึกษาย้อนถามไปว่า...แล้วถ้าพวกเขาโดนจับ  ทางคณะจะช่วยพวกเขาไหม...ทางคณะก็บอกว่า จะตามไปดู แต่จะประกันตัวให้ไม่ได้  ซึ่งผมก็งงไปหมดเลยว่า แล้วจะจับเพราะเหตุผลอะไร  มันไม่ได้เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นอันใดเลย ก็แค่เอางานหนึ่งงานที่ออกแบบ และทำหน้าที่สำเร็จลุล่วงไปแล้ว เอาลงมา ซึ่งมันก็ไม่ใช่พระรูปด้วยซ้ำ ดังนั้น มันก็เลยวุ่นวายยิ่งขึ้นไปอีก  หลังจากผมออกแถลงการณ์ไปแล้ว ก็มีคนแชร์กันเยอะมาก ทุกคนก็ทราบว่า เราโพสต์ก็เพราะว่าเราต้องการปกป้องนักศึกษาและคณะด้วยว่า เราในฐานะอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ไม่ได้คิดแบบนั้น

ดูเหมือนว่าผู้บริหาร มช. จะชิงออกแถลงการณ์ ก่อนที่นักศึกษาจะเข้ายื่นรายชื่อ?

คือตอนแรก ทางกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตย์ ตั้งใจจะนำรายชื่อนักศึกษา ซึ่งได้รวบรวมรายชื่อด้วยลายมือตัวเองทั้งหมด 158 ชื่อ ไปยื่นต่อคณบดี แต่ทางผู้บริหาร มช.ชิงออกแถลงการณ์ไปก่อนว่า ไม่ให้เอาลง จากนั้น ทางคณบดีก็ออกแถลงการณ์ตามมา อีกว่า ไม่ให้เอาประติมากรรมแสงลง ต่อมา ในช่วงบ่ายของวันนั้น ทางกลุ่มนักศึกษา ได้เข้าไปยื่นรายชื่อให้ตามระเบียบ แต่ก็ไม่มีผลแล้ว เพราะว่าผลมันออกมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เราก็ใช้สิทธิยื่นไปให้แล้วเสร็จเป็นไปตามกระบวนการอันชอบธรรม

นักศึกษากลัวจะถูกฟ้องกันไหม?

คือถ้าคนจะฟ้องได้ ถามว่าใครที่รู้รายชื่อข้อมูลนักศึกษา ก็คือคณบดี และผู้บริหารมช.เท่านั้น ที่จะฟ้องนักศึกษาของตนเองได้  และถามว่า จะฟ้องเรื่องอะไร เพราะนักศึกษา ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย นอกจากพวกคุณจะมองไปเองว่า การขอให้เอาประติมากรรมแสงลง มันได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหัวก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าก็ตาม มันมองเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นตัวแทนของการเมืองอยู่ ซึ่งผมคิดว่า การเอางานประติมากรรมแสง ลงนั้น มันไม่ได้เป็นการลบหลู่พระเกียรติ แต่มันกลายเป็นว่า ทางผู้บริหารคณะสถาปัตย์และคณะผู้บริหาร มช.ไม่ได้อยู่ข้างนักศึกษา แล้วยังถูกกดดันจากข้างนอกให้ทางมหาวิทยาลัยต้องวางตัวแบบนี้

อยากสื่อสารให้สังคมในมหาวิทยาลัยและสังคมข้างนอกให้เข้าใจอย่างไรดี เมื่อก่อนหน้าได้เสพข่าวกันเพียงด้านเดียว?

คือเราต้องยอมรับกันก่อนว่า ปัญหาเรื่องการเมืองในขณะนี้ เป็นปัญหาที่ทุกคนพูดถึงกันอยู่ แต่ความเชื่อมโยงมันเป็นเรื่องของส่วนบุคคล ฉะนั้น เราจะต้องแยกให้ได้ เมื่อพูดถึงสื่อ มันคือสื่อก็จริง แต่มันเป็นสิ่งที่ถูกแพ็คเก็จไปด้วยความคิดเห็นส่วนบุคคล ดังนั้น การเป็นสื่อแล้วชี้นำบุคคลให้เกิดความแตกแยก นั้นคือสื่อที่ทำตัวไม่ดี คือมันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเลย เห็นได้ว่า การบิดเบือน มันทำให้เกิดผลประโยชน์ของสื่ออย่างชัดเจน  ทั้งๆ ที่นักศึกษา เขามีความหวังดีต่อคณะอย่างแน่นอน เขาพยายามออกแบบงานชิ้นหนึ่ง แล้วก็เอางานชิ้นหนึ่งลง เพื่อให้งานของคณะ มีการพัฒนาขึ้น และต้องการให้พื้นที่สาธารณะนั้นเป็นของทุกๆ คนจริงๆ

ประเด็นพื้นที่สาธารณะนั้นน่าสนใจ เพราะว่า ประติมากรรมแสงนั้นแขวนอยู่ที่บริเวณลานตะกร้อ พอมีประติมากรรมแสงตั้งอยู่ตรงนั้น ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่ตรงนั้น นักศึกษาเขาใช้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการเล่นตะกร้อหรือฟุตซอล แล้วบางวันก็มีการออกมาห้ามไม่ให้เล่น กลับไปกระทบรูปประติมากรรมแสง บางวันก็มีเจ้าหน้าตำรวจมายืนเฝ้าเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ซึ่งผมมองว่า นี่มันกลายเป็นงานประติมากรรมเพื่อการบูชา มันไม่ใช่งานออกแบบไปแล้ว มันถูกมองงานออกแบบชิ้นนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว มีการจำกัดห้าม โดยเฉพาะในช่วงที่มีแสง ตอนบ่ายสามโมง ซึ่งพอเอาสิ่งนี้มาเป็นกฎเกณฑ์ สิ่งอื่นนั้นก็ผิดไปหมด ผมมองว่า นี่มันกลายเป็นแพ็คเก็จการเหมารวมไปหมดแล้วหรือ

มองปัญหาการเมือง จนมีการชุมนุมเคลื่อนไหวในขณะนี้ยังไงบ้าง?

การเมืองในระดับประเทศ เขาพูดถึงการเมืองในระดับโครงสร้างหลากหลาย ไม่ใช่การเมืองแค่ระดับตัวบุคคล ดังนั้น การที่คนเราจะแสดงออกทางการเมืองนอกมหาวิทยาลัยหรือในมหาวิทยาลัยก็ตาม มันพูดถึงทั้งระบบที่มันแย่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในระบบนักเรียน โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือระบบสถาบันใดๆ ก็ตาม ซึ่งพวกเขาพูดถึงระบบโครงสร้าง ไม่ใช่ตัวคน แต่ในขณะนี้ ผมคิดว่ามันน่ากลัวและหลายคนกำลังหลงทาง ไปอิงเรื่องตัวคน การลบหลู่ตัวบุคคล หรือใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มที่กำลังถูกแยกเป็นสองขั้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่ได้เป็นการต่อสู้กับคนใดคนหนึ่งแล้ว แต่มันเป็นการต่อสู้ของทั้งระบบ

ผมคิดว่า คนยุคเก่าหรือคนอนุรักษ์นิยมนั้นยังเข้าใจผิด กับการเรียกร้องของนักศึกษาชุดนี้อยู่ ที่ไปอ้างว่ามันเป็นการลบหลู่พระเกียรติ ไม่เคารพสถาบันฯ ซึ่งมันไม่ใช่ ดังนั้น เราควรจะอยู่ด้วยกันด้วยความต่าง ไม่ใช่ลบความต่างออกไป

หลังเป็นข่าว นักศึกษาในคณะสถาปัตย์ ถูกละเมิดคุกคามอย่างไรบ้าง?

ตอนนี้ ผมสงสารนักศึกษาคณะสถาปัตย์มาก เพราะกำลังอยู่ในช่วงส่งงานไฟนอลกันพอดี ซึ่งที่ผ่านมานักศึกษาเขาก็เอาเวลาทำงานนั้นมาเรียกร้อง และพอเรียกร้อง กลับโดนล่าแม่มด โดยเฉพาะน้องที่โพสต์โพลเพื่อเชิญลงชื่อ ก็โดนแค็ปรูปส่วนตัว แล้วนำไปประจานเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมใดๆ ของเขา จึงเกิดการล่าแม่มด เกิดการไล่ด่าน้องๆ  พอเกิดเรื่องคุกคามแบบนี้ จะไปหวังพึ่งกับทางคณะ ก็หวังพึ่งไม่ได้แล้ว สุดท้าย น้องๆ นักศึกษา ก็มาหาผมเยอะมาก ตั้งแต่เกิดเรื่อง บอกว่า…อาจารย์ทำไงดี พวกเขาถูกล่าแม่มด… มีการเอารูปของนักศึกษาไปโพสต์ ดิสเครดิต ไปสืบหาประวัติของนักศึกษาว่าคนนี้อยู่จังหวัดไหนบ้าง ผมก็ได้บอกกับนักศึกษาว่า ให้เก็บหลักฐานข้อมูลเอาไว้ ซึ่งพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ก็มาบอกผมว่า ถ้าน้องนักศึกษาถูกคุกคาม ก็แจ้งมา เดี๋ยวให้ทีมทนายเข้าไปช่วยเหลือได้นะ  ซึ่งหลังจากนี้ ผมก็ได้บอกนักศึกษาในคณะว่า ไม่ต้องไปตอบโต้ แต่ให้เก็บหลักฐานต่างๆ เอาไว้

และสิ่งที่ผมเป็นห่วง คิดว่ามันน่ากลัวมากกว่าการล่าแม่มด นั่นคือ การทำให้เกิดความกลัวของนักศึกษา เพราะก่อนหน้านั้น น้องๆ นักศึกษา เชื่อว่า สิ่งที่ตัวเองทำลงไปนั้น มันไม่ได้ผิด มันเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่กลับถูกผู้บริหารคณะ ปรามและขู่ และมีการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนคุมเชิงในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งมันทำให้สภาพจิตใจเกิดความกลัว และมันทำให้สิทธิมันถูกลิดรอนอย่างรุนแรง

มองว่ามหาวิทยาลัย และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ควรปรับแนวคิด การทำงานอย่างไร?

มหาวิทยาลัย ควรเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำเพื่อสังคม ไม่ใช่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อตัวองค์กรใด ดังนั้น ถ้าสังคมเขาคิดอย่างไร เราก็ควรรับฟัง ปรับเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้ บริบททางสังคมมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าเรายังจมอยู่กับความคิดเดิมๆ เราก็อยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ไม่ได้  อีกอย่าง คณะเราเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ซึ่งแน่นอน มันคือการผลิตคนที่ออกแบบ ในเมื่อสอนให้เราออกแบบ แต่ไม่ให้เราออกแบบ มันตลกไหมละครับ ให้เราออกแบบอาคารโน่นนี่ แล้วพอเรามีคำถามกับการออกแบบของคณะ เราขอแค่ให้พิจารณา ก็ยังทำไม่ได้  มันกลายเป็นว่า มึงห้ามคิดเป็นอื่น กลายเป็นการรวบอำนาจ อำนาจนิยมในคณะสถาปัตย์  ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ นักศึกษาโพสต์เรื่องโพล นั้นก็เพราะพวกเขาต้องการทวงคืนพื้นที่สาธารณะ อยากให้งานออกแบบมันสะท้อนออกมาสู่สาธารณะประโยชน์ ซึ่งนักศึกษาเชื่อว่า สิ่งนี้มันจะต้องถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในอนาคตอย่างแน่นอน ก็เลยอยากจะเอาประติมากรรมแสงลง เพื่อให้ทางคณะเราวางตัว โดยไม่ต้องถูกแพ็คเก็จให้ดันไปอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ทางผู้บริหาร ต้องการอนุรักษ์ ไม่อยากให้เอาลง เด็กก็กลายเป็นผิด และถูกตามล่าแม่มด ขู่ จะแจ้งจับ จะดำเนินการ ก่อนจะรับฟังเหตุผลของนักศึกษา ซึ่งมันน่าสงสารนักศึกษามากๆ เลย

ในฐานะอาจารย์ที่เลือกอยู่ข้างนักศึกษา ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

มันก็สะท้อนออกมาหลายๆ อย่างนะ อาจเป็นโชคดีในความโชคร้ายของตนก็ว่าได้ คือมีทั้งคนเห็นด้วย สนับสนุน และไม่เห็นด้วยกับผม ถึงขั้นมีอาจารย์บางคนไม่ยอมรับไหว้ อาจารย์บางคนก็เชิดหน้าใส่ แต่ว่าผมไม่ว่าอะไร เพราะผมย้ำอยู่เสมอว่า มันก็เหมือนกับการเมืองในเวลานี้ เราไม่ได้เกลียดที่ตัวบุคคล  แต่เราเกลียดที่โครงสร้าง  ฉะนั้น  เขาจะโกรธ คิดโน่นนี่ยังไง ผมไม่ได้คิด ไม่ได้โกรธพวกเขาที่คิดแบบนั้น ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์นี้ ผมได้ตัดสินใจลาออกจากคณะผู้บริหารของคณะทันที  เพราะก่อนหน้านั้น ผมก็ถูกมองและถูกคณบดีเรียกไปพบบ่อยมาก บอกว่า ผมเองชอบแสดงออกทางการเมืองผ่านโซเชียลสังคมมากไป คือเขาพยายามจะบอกว่า เป็นผู้บริหารแล้วจะคิดต่างไม่ได้  จนกระทั่งมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้เข้า จึงเหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย ผมจึงตัดสินใจลาออกคณะผู้บริหาร

ที่น่าตกใจก็คือ หลังจากที่ผมแจ้งลาออกจากผู้บริหารคณะแล้ว ทางคณบดีบอกว่า เขารู้สึกโอเคมากกับทางออกแบบนี้ และเขารู้สึกว่า ตัวผมชอบทำตัวเป็นคู่ตรงข้ามกับคณะ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกช็อคกับคำพูดจากคณบดีมาก ที่ผมเลือกจะอยู่ฝั่งนักศึกษา ที่พยายามทำให้เกิดความชอบธรรม และพยายามจะสื่อให้เห็นว่า ทางคณะและผู้บริหาร มช.กำลังถูกสื่อและบุคคลข้างนอกเข้ามาทำร้าย คุกคามนักศึกษา แต่นี่กลับมาโทษผมและนักศึกษา  ซึ่งมันทำให้ผมรู้แล้วว่า เขาเลือกแล้วว่าให้มีแต่ขาวกับดำ ซึ่งผมยังมองและเชื่อว่า คณะสถาปัตย์ เป็นของนักศึกษากับอาจารย์  มันไม่ใช่ คณะสถาปัตย์ เป็นของอาจารย์และผู้บริหาร

ท้อไหมเมื่อพบเหตุการณ์แบบนี้?

ไม่ท้อนะครับ ระหว่างผมในฐานะอาจารย์กับน้องๆ นักศึกษา เราก็ให้กำลังใจกันเอง และยังอยากสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมกันต่อใหม่ โดยประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ เราจะจัดแสดงงาน Design week เป็นงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่ประติมากรรม ที่พยายามสะท้อนจุดยืนและวิธีคิด ว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาให้จับต้องได้ ก็จะเป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษาที่ถูกกดทับเหล่านี้แหละ มาเป็นดีไชน์เพื่อต่อรองและปลดปล่อยผลงานออกมา อีกอย่างก็เพื่อเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ด้วย 

เพราะนักศึกษาก็คืออนาคตของเรานั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท