"นิมิตร์"แนะชดเชยค่าบริการฟอกไต กระตุ้นโรงพยาบาลรับบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี

"นิมิตร์" ชี้ปัญหาโรงพยาบาลรัฐไม่รับฟอกไตแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องแก้ไขด้วยการชดเชยค่าบริการเพื่อกระตุ้นให้รับบริการและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไม่สามารถส่งต่อเชื้อได้ เผยขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างหารือเพิ่มเงินแก่หน่วยบริการแล้ว

17 พ.ย.2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดมาตรการส่งเสริมให้หน่วยไตเทียมจัดบริการได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และหาแนวทางชดเชยค่าบริการที่เหมาะสมให้กับหน่วยบริการ เนื่องจากขณะนี้พบว่าโรงพยาบาลรัฐปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้ป่วยไตวายที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยทั้งประเทศมีโรงพยาบาลรัฐเพียงแห่งเดียวที่รับบริการแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ และมีอีก 4 แห่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน อีกทั้งการให้บริการยังเรียกเก็บเงินเพิ่มครั้งละ 2,000-3,000 บาท สร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยทั้งค่าบริการที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับบริการ

นิมิตร์ เทียนอุดม

นิมิตร์ กล่าวว่า เรื่องนี้โจทย์ใหญ่อยู่ที่ตัวผู้ให้บริการซึ่งแม้ว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะมีมาตรฐานความปลอดภัยกำกับ เพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อไม่ว่าจะเชื้ออะไรก็ตาม คนที่ใช้เครื่องในรายถัดๆไปต้องไม่ติดเชื้อ แต่ตัวผู้ให้บริการยังรู้สึกไม่มั่นใจว่ามาตรฐานที่มีจะปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ จึงใช้วิธีปลอดภัยไว้ก่อนโดยปฏิเสธการฟอกเลือดแก่ผู้ติดเชื้อ หรือถ้าให้บริการก็เปลี่ยนตัวกรองทุกครั้ง หรือแยกเครื่องเฉพาะสำหรับผู้ติดเชื้อ หรือให้ฟอกเลือดเป็นรายสุดท้ายของวันก่อนจะทำความสะอาดฆ่าเชื้อ

"ปัญหามันอยู่ที่ผู้ให้บริการรู้สึกไม่มั่นใจ กลัวเกิดความเสี่ยง กลัวเกิดความผิดพลาด ก็จะ play safe ซึ่งวิธีลดความเสี่ยงง่ายๆ คือปฏิเสธการให้บริการ ซึ่งไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ รวมทั้งการใช้มาตรฐานทางการเงินมากำกับว่าถ้าอยากรับบริการต้องจ่ายเพิ่ม" นิมิตร์ กล่าว

นิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า แก้ไขปัญหานี้ ประการแรกต้องยึดหลักก่อนว่าผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมและไม่ถูกเรียกเก็บเงิน และเบื้องต้นต้องมีการแก่ไขใน 2 ประเด็นคือ 1. ใช้มาตรการทางเงินที่เหมาะสมให้ เพื่อให้หน่วยบริการรู้สึกคุ้มที่จะให้บริการ เช่น ถ้าหน่วยบริการต้องเปลี่ยนตัวกรองใหม่ทุกครั้งและมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ให้บริการว่าจะคิดราคาเท่าไหร่ที่สามารถทำให้มีกำไรในการให้บริการ 

ประเด็นที่ 2 คือการสร้างความเข้าใจและและพูดกันด้วยข้อเท็จจริงกันว่าโดยมาตรฐานแล้ว การใช้เครื่องฟอกไตร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ทำให้เชื้อส่งสามารถต่อกันได้ ถ้าผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสแล้ว โอกาสจะติดเชื้อแทบไม่มี 

"จะอย่างไรเรื่องนี้ก็ต้องแก้ปัญหา เพราะถ้าไม่ทำอะไรแล้วโรงพยาบาลไปเรียกเก็บเองครั้งละ 2,000-3,000 บาท ประชาชนก็ไม่ไหวเพราะสัปดาห์หนึ่งต้องฟอกเลือด 2-3 ครั้ง ดังนั้นเบื้องต้นคิกว่าควรแก้ปัญหาด้วยมาตรการทางการเงินที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการ สปสช.ก็ต้องไปหางบประมาณเพิ่ม รวมทั้งสร้างความเข้าใจว่าโดยมาตรฐานแล้วไม่ได้ทำให้เชื้อส่งสามารถต่อกันได้" นายนิมิตร์ กล่าว

นิมิตร์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ สปสช.เอง หลังจากที่ได้รับหนังสือจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตแล้ว ก็มีการตอบสนองข้อเรียกร้องไปในทิศทางที่ดี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประชุมหารือว่าจะใช้มาตรการทางการเงินเพิ่มอย่างไร กำลังพิจารณาตัวเลขว่าควรจ่ายให้หน่วยบริการเพิ่มครั้งละเท่าไหร่ โดยสรุปเบื้องต้นก็ต้องใช้มาตรการลักษณะนี้ไปก่อน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท