Skip to main content
sharethis

กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญเสนอ ทำประชามติสองครั้งและให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาก่อน เพื่อไทยกังวลแก้ทั้งฉบับจะโดนฟ้องล้มล้างการปกครองจึงยังไม่ยืนตามมติฝ่ายค้านรับร่างแก้รัฐธรรมนูญหมด 7 ฉบับ พิธาย้ำรับหมดทุกร่างแต่หนุนร่างประชาชนให้เป็นร่างหลัก

17 พ.ย.2563 ก่อนการประชุมสภาพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดอะ สแตนดาร์ดรายงานว่า สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงมติพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ยืนตามมติพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ เนื่องจากมี ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางส่วนมีความกังวล เกรงว่าจะถูกเล่นงาน เพราะเคยถูกยื่นถอดถอนเอาผิดจากกรณีที่พรรคเคยถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง เมื่อปี 2556 และขณะนี้คดีก็ยังไม่สิ้นสุด 

สุทินย้ำว่าไม่ได้ปฏิเสธร่าง iLaw แต่ขอฟังการอภิปรายร่าง iLaw ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือไม่และดูเรื่องทางเทคนิคก่อน ซึ่งหลักการทั้ง 11 ข้อก็ตีความกันคนละอย่างมีความเปิดกว้างและไม่มีข้อยกเว้น นอกจากนั้นยังต่างจากร่างฉบับ 1-2 ของรัฐบาลและฝ่ายค้านที่มีจุดยืนชัดเจนไม่แตะหมวด 1-2 ตามหลักการเดิมของพรรคเพื่อไทยที่เราเคารพอยู่ จึงต้องไปดูว่าในวาระ 2-3 จะสามารถปรับหรือแก้หลักการได้หรือไม่ 

ทั้งนี้สุทินกล่าวว่าหากไม่มีใครคิดเอาเรื่องหรือจะไปยื่นศาล ส.ส. พรรคก็จะสบายใจโหวตให้ แต่ขณะนี้ก็มีคนจ้องอยู่ เช่น กลุ่มไทยภักดีที่เตรียมไปยื่น ดังนั้นจึงต้องป้องกันตนเองด้วย แต่ทางพรรคจะประชุมสรุปท่าทีอีกทีวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) 

ส่วนความกังวลว่าจะเสียมวลชนหรือไม่ สุทินย้ำว่านานๆ ทีจะมีร่างฉบับประชาชนเข้ามา เราก็เคารพและอยากให้ได้รับการพิจารณา แม้เราห่วงมวลชนกว่าแสนคนที่เข้าชื่อ แต่เราก็ต้องคำนึงถึงหลักการด้วย ส่วนการสวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้านจะกระทบการทำงานหรือไม่ สุทินระบุว่ามติฝ่ายค้านไม่ได้บังคับกัน มีบางโอกาสหลายครั้งที่บางพรรคจะต้องดำเนินการตามจุดยืนพรรค เช่น อดีตพรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่าพรรคร่วมยังเข้าใจกันอยู่

เดอะ สแตนดาร์ดรายงานถึงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่กล่าวถึงท่าทีของพรรคต่อการประชุมครั้งนี้ว่าจะสนับสนุนให้ร่างของประชาชนเป็นร่างหลักเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปในวาระ 2-3  ซึ่งแน่นอนนอนว่าพรรคก้าวไกลได้มีการพูดคุยกันในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับอย่างถี่ถ้วนแล้ว 

นอกจากนั้นพิธากล่าวว่าว่าร่างของ iLaw มีความครอบคลุมและครบถ้วน และที่สำคัญที่สุดคือเป็นร่างที่มาจากข้อเรียกร้องประชาชนโดยแท้จริงจึงมีความสำคัญที่รัฐสภาจะต้องรับร่างฉบับนี้

ทั้งนี้พิธากล่าวว่าเบื้องต้นพรรคก้าวไกลจะลงมติรับทั้ง 7 ร่าง โดยมีข้อสังเกตว่าฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. มีความพยายามที่จะอภิปรายซึ่งข้อเสียของร่างประชาชน ซึ่งพรรคจะอภิปรายเพื่อทำความเข้าใจต่อสาธารณะอย่างเต็มที่เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง

พิธากล่าวกรณีที่วิปรัฐบาลจะรับร่างเพียง 2 ร่างคือของรัฐบาลและฝ่ายค้านนั้นว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อยากให้ทุกท่านมองเห็นถึงการหาทางออกให้ประเทศในการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชน และยังเป็นเพียงวาระแรกในการรับหลักการ หาก ส.ส. รัฐบาลและ ส.ว. เห็นด้วยกับหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของร่างของรัฐบาลและร่างร่างของฝ่ายค้านก็คงต้องเห็นด้วยกับหลักการของร่าง iLaw ที่เป็นร่างของประชาชนด้วย โดยเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น 

พิธาเห็นว่ารัฐบาลและ ส.ว. ควรจะรับในหลักการทั้ง 3 ร่างแม้จะต้องระยะเวลาในแก้ไขรัฐธรรมนูญพอสมควร แต่ในระยะสั้น หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกรณีนายรัฐมนตรีลาออก คณะรัฐมนตรีทั้งหมดก็ต้องสิ้นสภาพ แต่ ส.ว. ไม่ได้สิ้นสภาพไปด้วย โดยในกรณีสำคัญที่จะเป็นกุญแจปลดล็อกคือการแก้ไขในมาตรา 272 ที่ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคก้าวไกลเสนอเพื่อเป็นทางออกในแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองของคนในประเทศ

กมธ.เสนอทำประชามติ 2 รอบ

ต่อมา ไอลอว์รายงานว่าเวลา 9.30 น. การประชุมเริ่มจากการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ หรือ "กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ"

กมธ. ชุดดังกล่าวถูกตั้งมาพิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จำนวน 6 ญัตติที่ยื่นโดย ส.ส. ทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ 4 ประเด็น ประเด็นแรกที่ถูกเขียนไว้ในรายงานของ กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ คือ การให้ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยกับร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต่างก็เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยความเห็นของรายงานใน กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่เกี่ยวกับการตั้ง สสร. ถูกแบ่งออกเป็น สองแนวทาง คือ ฝ่ายที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญกับฝ่ายที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ตั้ง สสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 256 คือ ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอมากลับมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ พร้อมกับอ้างอิง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2555 ระบุว่าการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่เป็นอำนาจของประชาชน ก่อนที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จึงต้องมีการออกเสียงประชามติจากประชาชน

นอกจากนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ยังเสนอให้ดำเนินการออกเสียงประชามติสองครั้ง คือ ครั้งที่หนึ่งก่อนที่รัฐสภาจะลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง โดยให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการออกเสียงประชามติ และครั้งที่สอง ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ข้อยุติเสียก่อน

ส่วนฝ่ายที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ตั้ง สสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2555 และในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยมีการทำแบบเดียวกัน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ที่เสนอให้มีการจัดตั้ง สสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเช่นกัน

ด้าน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงรายงาน กมธ.ชุดดังกล่าวว่า รายงานนี้ไม่มีบทสรุป และส่วนตัวยังมีคำถามว่าต่ออำนาจของรัฐสภาในการเสนอให้ตั้ง สสร. เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ภาพจากถ่ายทอดสดของไทยรัฐ

สุรชัย กล่าวด้วยว่า "ผมไม่ได้ลุกมาพูดเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ 2560 แต่มาพูดเพื่อถามถึงหลักการของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกฉบับต้องมีหลักการที่อยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุดของประเทศ และหลักการของหลักนิติธรรม เราจะตีความว่าแก้ไขได้ ทั้งที่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า ต้องแก้ไขรายมาตรา ถ้าจะทำทั้งฉบับต้องทำประชามติเสียก่อน แล้วกระบวนการที่ถูกต้องควรมีกระบวนการเช่นไร"

ด้าน ประเสริฐ จันทรรวมทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ 400 กว่าหน้า น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีมติ ไม่มีข้อสังเกต ขาดคุณค่าไม่มีสามารถมาประกอบการพิจารณาได้ และได้ปัดความรับผิดชอบที่สภาได้มอบหมาย แล้วจะมีการตั้งกมธ.ไปทำไม สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียเวลาเปล่าประโยชน์

ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ทุกฝ่ายมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ปี 2560) มีปัญหาต้องแก้ไข แต่พวกท่านเตะถ่วงและทำให้รธน.แก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น แทนที่จะลงมติรับหลักการในวาระหนึ่ง แต่รัฐบาลกลับส่งสัญญาณให้ยื่นร้องคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นการตอกย้ำความจริงที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” และ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net