Skip to main content
sharethis

รวมแถลงการณ์ต่อกรณีสลายชุมนุมวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอรัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอทุกฝ่ายยึดมาตรฐานสากลและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง, มูลนิธิผสานวัฒนธรรมประนามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

18 พ.ย. 2563 วันนี้หลายองค์กรสิทธิออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงของการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมยึดมาตรฐานสากลและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง, มูลนิธิผสานวัฒนธรรมประนามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน  ดังนี้

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

แถลงการณ์ขอให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบโดยทันที และให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพื่อเปิดพื้นที่สันติวิธีที่ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม

จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าปิดกั้น สกัดและฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมติดตามว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน จะผ่านการพิจารณาของสภาหรือไม่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนมาตลอด ได้แก่ 1.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ลาออก 2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย  โดย นอกจากมีการฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมแล้ว เจ้าหน้าที่ยังมีการเตรียมใช้กระสุนเพื่อยกระดับมาตรการควบคุมฝูงชนด้วยนั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มีความเห็นว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องและติดตามการลงมติต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนได้ร่วมกันเสนอ ที่บริเวณหน้ารัฐสภานั้น ยังถือเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 21 ที่รัฐไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งการจำกัดใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวย่อมกระทำไม่ได้ การอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมบางประการ ไม่อาจทำให้การชุมนุมนั้นกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบจนเป็นเหตุให้รัฐใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมได้

การที่เจ้าหน้าที่รัฐฉีดน้ำแรงดันสูงและแก็สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่เพียงต้องการเข้าไปชุมนุมโดยสงบบริเวณหน้ารัฐสภานั้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศรับรองไว้ ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเรื่องการสลายการชุมนุมตามหลักสากล เนื่องจากตามหลักการแล้ว ก่อนใช้กำลังเจ้าหน้าที่ควรต้องพิจารณา (1) หลักความถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่ากำลังที่จะใช้ เป็นไปตามข้อกำหนดของตำรวจ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ (2) หลักความจำเป็นอย่างเข้มงวด กล่าวคือการใช้ความรุนแรงควรเป็นหนทางสุดท้ายในการนำมาใช้ (3) หลักความได้สัดส่วน โดยการใช้กำลังจะต้องเป็นไปตามเป้าประสงค์เพื่อให้บรรลุผลถึงการใช้กฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นปฏิบัติเกินกว่าเหตุและไม่ได้สัดส่วน และ(4) หลักความรับผิดรับชอบ เมื่อรัฐเป็นผู้ใช้กำลังทุกครั้ง รัฐจะต้องรับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้น โดยควรจะมีกลไกที่ไม่ใช่การตรวจสอบกันเองภายในองค์กร แต่ต้องมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ เพื่อไม่ให้เกิดการลอยนวลความผิด

ในการนี้ สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

รัฐต้องยุติการใช้อำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบของประชาชนทุกกลุ่ม โดยต้องอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบโดยทันที

หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายต่อการกระทำดังกล่าว ทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัย ถ้าหากมี เพื่อไม่สร้างการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และป้องปรามและป้องกันไม่ให้มีการกระทำของเจ้าหน้าที่เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ เป็นอิสระ และปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของบุคคลกลุ่มใด

ให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพื่อเปิดพื้นที่สันติวิธีที่ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในทุกประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งทางสังคมอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

 

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมยึดมาตรฐานสากลและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง

ตามที่กลุ่มประชาชนได้ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาในระหว่างที่มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ยุทธวิธีควบคุมฝูงชนโดยมีการฉีดน้ำและน้ำผสมแก๊สน้ำตาเพื่อสกัดผู้ชุมนุม และต่อมาเกิดเหตุปะทะกันของผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหลายสิบราย นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รู้สึกเป็นกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมที่อาจมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงระหว่างกลุ่มที่มีความเห็นต่าง จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณา ดังนี้

1. ผู้ชุมนุมและประชาชนที่เห็นต่างทุกฝ่ายควรเคารพในสิทธิและเสรีภาพในความคิด ความเชื่อ และการแสดงออกของบุคคลอื่น โดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน การสร้างเงื่อนไข และการสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่สร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อกันในทุกกรณี

2. รัฐบาลต้องเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้แนวทางสันติวิธีในการเจรจาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างเป็นธรรมกับผู้ชุมนุมทุกฝ่าย หากไม่ปรากฏเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงจะต้องไม่ใช้มาตรการในการสลายการชุมนุมจนกระทบต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของทุกฝ่าย โดยควรนำมาตรฐานสากลมาปรับใช้ตามสมควรแก่กรณีเพื่อให้มีลำดับขั้นตอน สัดส่วนและวิธีการที่จะใช้ในการควบคุมการชุมนุมอย่างเหมาะสม 

 3. รัฐบาลควรเร่งเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมอย่างรวดเร็วและเสมอภาค รวมทั้งเพิ่มมาตรการป้องกันการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บมาดำเนินคดีโดยเร็ว

4. สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ควรร่วมกันใช้กลไกรัฐสภาในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายร่วมด้วย เพื่อมิให้สถานการณ์บานปลายและนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

18 พฤศจิกายน 2563

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

แถลงการณ์ประนามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระทำละเมิดต่อประชาชนที่ออกมาเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ณ บริเวณสี่แยกเกียกกายไปจนถึงบริเวณหน้ารัฐสภา โดยการใช้ลวดหนามปิดกั้นมิให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมการชุมนุม ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งมีส่วนผสมแก๊สน้ำตาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งเด็กและเยาวชน ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว อันเป็นการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

การชุมนุมวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เป็นการใช้เสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอด การใช้เสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ได้รับรองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกติกาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2539 ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายที่จะต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นผล

การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดกั้นมิให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมและการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมดังกล่าวนั้นจึงเท่ากับว่ารัฐได้กระทำผิดกฎหมายด้วยการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงเสียเอง มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

1.รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนทุกรูปแบบ และคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างกันทางการเมือง โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ 

2.รัฐบาลต้องไม่สลายการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ หากข้อเท็จจริงปรากฏถึงขนาดที่รัฐมีความจำเป็นต้องสลายการชุมนุม รัฐต้องปฏิบัติตามหลักวิธีสากลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน และผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ 

3.รัฐบาลต้องตรวจสอบอย่างเร่งด่วนกรณีการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดกั้นมิให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมและการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมในครั้งนี้และครั้งก่อนหน้า เพื่อนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดดังกล่าวขึ้นซ้ำอีก

4.รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิผลเพื่อชดเชยและฟื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบจากมาตรการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว  

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net