Skip to main content
sharethis

สปสช.ก้าวสู่ปีที่ 19 จากมุ่งสร้าง “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อดูแลคนไทย เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืน พร้อมสู่การขับเคลื่อน “ยกระดับบัตรทอง สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่”   

18 พ.ย. 2563 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานพิธีเปิดงาน “วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี โดยปีนี้ครบปีที่ 18 และก้าวเข้าสู่ปีที่ 19 ของการก่อตั้ง สปสช. พร้อมวางพวงมาลัยรูปนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.คนแรกและเป็นผู้ผลักดันกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกองทุนบัตรทองตลอดระยะเวลา 18ปี ที่ผ่านมา โดย สปสช.ภายใต้กำกับของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ได้เปลี่ยนผ่านการดำเนินงานภารกิจที่เป็นไปตามช่วงเวลา โดยมีเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ เริ่มจากระยะที่1 (2545-2550) ช่วงก่อร่างสร้างระบบ ในการจัดตั้งองค์กร สปสช. การจัดระบบและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการดำเนินงานระบบ ขับเคลื่อนงานภารกิจ ทั้งขยายความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพให้ประชาขนผู้มีสิทธิ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจภาคีทุกภาคส่วน หนุนเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งของระบบบริการ จนก้าวสู่ระยะที่ 2 (2551-2555) ที่เป็นช่วงการพัฒนา นอกจากต่อยอดการดำเนินงานที่ผ่านมาแล้ว ยังได้ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงบประมาณและจัดการกองทุน พัฒนาระบบบริหารจัดการภายใน สปสช. และขยายการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมถึงพัฒนาการสื่อสารเพื่อการรับรู้สิทธิและคุ้มครองสิทธิ 

เชื่อมต่อระยะที่ 3 (2556-2560) สู่ความซับซ้อนที่เน้นการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยออกแบบการบริหารจัดการกองทุนในรูปแบบใหม่และการเบิกจ่าย การขับเคลื่อนบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพให้มีมาตรฐานเดียวกันที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม พร้อมรับหน้าที่หน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข (National Clearing House) หน่วยงานกลางบริหารจัดการทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาล (National Beneficiary Registration Center) และวางระบบเข้าถึงยากำพร้าและยาขาดแคลน (Orphan drugs and Antidote Collaboration) นอกจากนี้ได้เพิ่มกลไกการมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนงานพื้นที่โดยขยายความร่วมกับภาคีต่างๆ มากขึ้น และการสร้างความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกัน   

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงระยะที่ 4 (2561-2565) เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อโลก ความซับซ้อนในการพัฒนาระบบเพิ่มมากขึ้น มีการปรับรูปแบบการบริหารกองทุนและการจ่ายชดเชยที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านสาธารณสุข (Health need) และการเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพของประชาชน การนำเทคโนโลยี 4.0 มาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ บริหารภาคียุทธศาสตร์ และวางรากฐานการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ปี 2559-2573 (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้านหลักประกันสุขภาพของไทย ทั้งนี้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึง “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้ดำเนินการเข้าสู่ระยะที่ 4 แล้วเช่นกัน   

จาการดำเนินงานที่ผ่านมานี้  ได้สร้างความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ จากร้อยละ 90.79 ในปี 2545 เพิ่มเป็นร้อยละ 99.88 ในปี 2562 การรับบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 111.95 ล้านครั้ง ในปี 2546 เป็น 182.69 ล้านครั้ง ในปี 2562 คิดเป็นอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 2.45 เป็น 3.84 ครั้งต่อคนต่อปี ขณะที่การรับบริการผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นจาก 4.30 ล้านครั้ง ในปี 2546 เป็น 6.30 ล้านครั้ง ในปี 2562 หรือคิดเป็นอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 0.094 เป็น 0.132 ครั้งต่อคนต่อปี  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ส่งผลต่อการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่เป็นวิกฤตการณ์สำคัญด้านสาธารณสุข ส่งผลให้ต้องมีการจัดสรรงบประมาณและปรับการบริหารจัดการกองทุนเพื่อรองรับการรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ กรณีการตรวจสอบพบการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องเพิกถอนคลินิกเอกชนออกจากระบบเกือบ 200 แห่ง ที่กระทบต่อการเข้าถึงบริการคน กทม. ที่นำมาสู่การเปลี่ยนผ่านระบบปฐมภูมิรูปแบบใหม่ที่นำร่องในพื้นที่ กทม. สอดรับกับ “รักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น” ที่เป็นนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในการยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ พร้อมการพัฒนาระบบบริการอีก 3 รายการ คือ “ผู้ป่วยใน ไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว” “ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารักษาโดยตรงที่โรงพยาบาลเฉพาะทางและไม่แออัด” และ “ประชาชนได้รับสิทธิบริการทันที หลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ”  

“หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้มีความสำเร็จระดับหนึ่งที่เป็นผลความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เป็นรากฐานสำคัญ แต่การขับเคลื่อนยังต้องเดินหน้าบนความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 258 (4) กำหนดให้ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561- 2580 ที่มุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี เข้าถึงบริการสังคมและสุขภาพ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างประชากร ระบาดวิทยาของโรค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เป็นต้น นับเป็นความท้าทายในการก้าวต่อไปจากนี้ของกองทุนบัตรทอง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net