คุยกับคนมา #ม็อบ18พฤศจิกา ความผิดหวังที่ 'สภาไม่เห็นหัวเรา' และความหวังสร้างพื้นที่ปลอดภัย

คุยใน #ม็อบ18พฤศจิกา สมาชิกกลุ่มในม็อบมีเด็ก ผู้มาจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก การดูแลเด็กในพื้นที่ชุมนุม 'หนุ่มดอยเรียกร้องประชาธิปไตย' อยากเห็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่มราษฎรเป็นจริง เพื่อประเทศจะได้ดีกว่านี้ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ชี้ 'สภาไม่เห็นหัวเรา' หลังตีตกร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน 'เสื้อแดง' ชี้หากชายชาติทหารจริง ต้องรับฟังเสียงประชาชน

18 พ.ย.2563 หลังจากค่ำวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่หน้ารัฐสภา การชุมนุมของกลุ่มราษฎรเพื่อติดตามและเรียกร้องให้สภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับล่ารายชื่อของประชาชน ยุติลง โดยแกนนำประกาศนัดหมายชุมนุมวันต่อมาช่วงเย็นที่แยกราชประสงค์และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น 

ปรากฏวันนี้ (18 พ.ย.63) มีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมากที่ราชประสงค์ พร้อมกับทราบผลว่าสภามีมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนุญฉบับดังกล่าว สร้างความไม่พอใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้น หลังจากที่วานนี้มีความไม่พอใจจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการสกัดกันผู้ชุมนุมและการปะทะกับกลุ่มเสื้อเหลืองที่มาคัดค้านร่างดังกล่าวจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ประชาไท ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ร่วมชุมนุมครั้งนี้ถึงการชุมนุมครั้งนี้ ตั้งแต่ความรู้สึกหลังสภาไม่รับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การสกัดผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในที่ชุมนุมโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ฯลฯ

‘ในม็อบมีเด็ก’

รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ สมาชิกกลุ่มในม็อบมีเด็ก

18.30 น. ที่บริเวณหน้าเซ็นทรัลเวิล์ด กลุ่ม ‘ในม็อบมีเด็ก’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันหลายองค์กร ทั้งกลุ่มสิทธิเด็กและคนที่ทำงานด้านสุขภาพจิตเด็ก จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก การดูแลเด็กในพื้นที่ชุมนุม และชวนผู้ชุมนุม, ผู้ปกครอง รวมถึงเด็ก ร่วมติดสติ๊กเกอร์สถิติ ‘เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการสบายการชุมนุม’ ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. - 17 พ.ย. 63 Child in mobs. #ในม็อบมีเด็ก โดยใช้สีต่างๆ เป็นตัวกำหนดช่วงอายุของเยาวชน

รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ สมาชิกกลุ่มในม็อบมีเด็ก กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนรู้จักพื้นที่ปลอดภัยและจุดปฐมพยาบาลสำหรับเด็กภายในม็อบ รวมถึงวิธีการดูแลเด็กหากมีการสลายการชุมนุม

รวงทัพพ์ กล่าวต่อว่า สิทธิการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิของเด็ก เด็กควรที่จะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่มาม็อบตลอดจนกลับบ้าน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการคำถึงถึงความปลอดภัยของเด็กเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวานนี้ (17 พ.ย.63) มีการสลายการชุมนุมที่บริเวณรัฐสภาเกียกกาย เด็กหลายคนได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทางกลุ่มจึงตัดสินใจตัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อนให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก

รวงทัพพ์ กล่าวต่อว่า ผู้ใหญ่หลายคนกังวลไม่อยากให้เด็กไปร่วมชุมนุมซึ่งทำตัวคล้ายกับรัฐที่ไม่อยากให้มา แต่จริงๆ เด็กมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะเข้าร่วมเพราะมันคือความรู้สึกที่เขาเจอ และมีผลประโยชน์ที่เขาต้องดำเนินต่อไป และมันคืออนาคตของตัวเขาเอง

“เราไม่ได้บอกว่าเราจะชวนเด็กมาม็อบ แต่เราบอกว่าการมาม็อบต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง และความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง ผู้ปกครองหรือแกนนำก็ต้องคำนึงถึง แต่พื้นที่ม็อบในไทยมันไม่เคยถูกทำให้ปลอดภัยมาโดยตลอด”

เขามองว่าความอันตรายมันไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว “เรารู้สึกว่าม็อบมันสามารถทำให้มันปลอดภัยได้ ยกตัวอย่างในต่างประเทศในระดับสากล เด็กสามารถมาร่วมชุมนุมได้โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาดูแลเลยด้วยซ้ำ รัฐไม่ควรใช้วิธีการคุกคามหรือใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการชุมนุมโดยสันติวิธีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” รวงทัพพ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว

หนุ่มดอยเรียกร้องประชาธิปไตย

กลุ่มหนุ่มดอยเรียกร้องประชาธิปไตยเล่าว่า พวกตนมาจากดอยที่ จ.ตาก โดยเป็นกลุ่มชาวปกาเกอะญอ มาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ เพราะที่บ้านเรียกได้ว่าทุรกันดาร

“เราก็มาเรียกร้อง อยากได้นายกคนใหม่ เพราะประยุทธ์ไม่ได้เข้ามาอย่างชอบธรรม ส.ว. 250 คน สรรหามาเอง เลือกมาเอง แล้วก็มาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ” สมาชิกกล่าว

คนหนึ่งในกลุ่มเล่าว่าตนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และติดตามการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เมื่อสภาไม่ผ่านร่างของประชาชนจึงรู้สึกโกรธ ประกอบกับเห็นประชาชนถูกทำร้ายเมื่อวานนี้จึงตัดสินใจออกมาชุมนุม

“(รัฐธรรมนูญ 2560) ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง มันเป็นอำนาจไหนก็ไม่รู้ ถ้ามันเป็นแบบนี้ต่อไปมันก็ไม่จบไม่สิ้น” ตัวแทนกลุ่มกล่าว

เมื่อถามว่ามีคนบอกว่ายังไม่เห็นใครเดือดร้อนจากรัฐธรรมนูญ 2560 หนึ่งในกลุ่มตอบว่า ต้องลองลงพื้นที่ ในเมืองมันแบบหนึ่ง บ้านนอกมันอีกแบบเลย เศรษฐกิจแย่มาก ขนาดอยู่ในกรุงเทพฯ ยังเดือดร้อน บนดอยจะขนาดไหน

กลุ่มหนุ่มดอยเรียกร้องประชาธิปไตยกล่าวว่า อยากเห็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่มราษฎรเป็นจริง เพื่อประเทศจะได้ดีกว่านี้ เช่น มีประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทุกคนกว่านี้ ถ้าได้ตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน

'สภาไม่เห็นหัวเรา'

บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กล่าวว่า รู้สึกว่าสภาไม่เห็นหัวเราจึงไม่ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รู้สึกว่าสภาดูถูกดูแคลนประชาชนมาก ถึงขนาดที่ข้อเสนอที่ประชาชนอุตส่าห์ช่วยกันรวบรวมเข้าไป เขาเอาไปอภิปรายแบบสาดเสียเทเสียเทเสียด้วย

“คือไม่รับไม่พอ ยังอภิปรายแบบสาดเสียเทเสียด้วย ซึ่งแสดงว่าเขาไม่เห็นหัวเราเลย” ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนกล่าว

บารมีคิดว่า นี่เป็นความพยายามรักษาอำนาจนิยมล้าหลัง แต่ตนไม่เสียใจเลย ดีใจด้วยซ้ำ เพราะชาวบ้านจะได้รู้มากขึ้น ตาสว่างมากขึ้นว่ากลไกแก้ไขอะไรไม่ได้เลย ไม่จำเป็นต้องหวังหรือพึ่งอะไรกับกลไกสภาแล้ว

“บนท้องถนนนี่แหละคือการต่อสู้โดยสันติวิธี” บารมีกล่าว

แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายจะผ่านสภาวันนี้ แต่บารมีเห็นว่าก็เป็นเพียงการรับหลักการ เมื่อเข้าสู่วาระ 2-3 ที่ต้องตั้งกรรมาธิการจะถูกบิดถูกเบี้ยวไปขนาดไหนก็ไม่รู้

“เขียนเสือไปอาจจะออกมาเป็นหนูเลยก็ได้ อย่าว่าแต่จะเป็นแมวเลย ถ้าจะคิดถึงการเปลี่ยนแปลงก็ต้องออกมาบนท้องถนน เป็นคำตอบ อย่าคิดว่าเราจะได้ชัยชนะในเร็ววัน หลายเรื่องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องทำความเข้าใจกัน เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ต้องชุมนุมไปเรื่อยๆ ชุมนุมไปสักปีหรือสองปีก็ไม่เป็นไรถ้าเราหวังการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานหลายชั่วคน”

บารมีกล่าวว่า ที่คนออกมาวันนี้ เพราะถูกสลายการชุมนุมทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มชุมนุม ส่วนตัวตนไม่เคยเห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมเลย ตราบใดที่การชุมนุมยังไม่ได้ใช้ความรุนแรง ทำไมต้องกั้นลวดหนาม ทำไมประชาชนไปสภาไม่ได้ ทำไมตำรวจประกาศว่า คุณกำลังเข้ามาอยู่ในเขตหวงห้าม แต่ข้างหลังตำรวจก็คือประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง ทำไมพวกนั้นอยู่ในเขตหวงห้ามได้ พวกนั้นก็ชุมนุมเหมือนกัน ทำไมไม่หันไปฉีดน้ำใส่พวกนั้น ซึ่งอาจจะอยู่ใกล้เขตหวงห้ามมากกว่าพวกเราด้วยซ้ำ ตรรกะมันแปลกๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนกล่าวว่า ช่วงนี้สมัชชาคนจนอาจยังไม่มาร่วมชุมนุม เพราะอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ถ้าพ้นจากการเก็บเกี่ยวแล้วเจอกัน

ผิดหวังที่สภาไม่รับร่าง

นุกูล รติยาภินันท์ ประธานกลุ่มบ้านประชาธิปไตย กล่าวว่า วันนี้มาร่วมชุมนุมเพราะผิดหวังที่สภาไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งตนร่วมลงชื่อไปด้วย เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ข้อบัญญัติเอื้อให้กลุ่มผู้มีอำนาจอีกฝั่งหนึ่งซึ่งมาจากรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ

แม้สภาจะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. นุกูลเห็นว่าก็ยังสู้ร่างของภาคประชาชนไม่ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็น ส.ส.ร. ทำให้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ นุกูลเล่าว่า เมื่วานตนไปร่วมชุมนุมที่หน้ารัฐสภา พยายามเข้าจากด้านบริษัท บุญรอดบริวเวอรี จำกัด โดนแก๊สน้ำตายิงใส่ทุก 5 นาที แต่วันนี้ก็ยังมา เพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของน้องๆ ทุกคน

“อยากเห็นประชาชนยอมรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องอยู่กับความเป็นจริงว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ทั้งเศรษฐกิจและการสื่อสารมันปรับตัวไปมากแล้ว ประเทศไทยควรจะต้องปรับตัวตามไปด้วย รัฐธรรมนูญควรจะให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นประชาธิปไตยเต็มใบจริงๆ ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบแบบในปัจจุบัน เราต้องยอมรับความจริง” นุกูลกล่าว

ประธานกลุ่มบ้านประชาธิปไตย กล่าวต่อว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งแค่ 82 คน ถ้าไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อให้มีเสียงโหวตถึง 550 เสียง ก็โดนคว่ำร่างได้หมด แสดงให้เห็นว่าคนหมู่น้อยมีเสียงกว่าคนหมู่มาก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และรู้สึกได้ว่าประชาธิปไตยของเราไม่ใช่ประธิปไตยจริงๆ

หากชายชาติทหารจริง ต้องรับฟังเสียงประชาชน

ที่บริเวณหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ วีรวิทย์ รุ่งเรืองศิริ ผู้ชุมนุมคณะราษฎร และอดีตผู้ชุมนุมเสื้อแดงปี 53 กล่าวปราศรัยบนรถกะบะว่า

“คำว่าประชาธิปไตย คือต้องให้เกียรติความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน คำว่าประชาธิปไตย มันต้องยอมรับความเห็นต่างกัน เราต้องเจรจาพูดคุยกัน”

วีรวิทย์ เสนอให้ประยุทธ์ใช้วิจารณญาณรับร่างไอลอว์ที่มาจากประชาชนหนึ่งแสนกว่ารายชื่อ ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในรายชื่อนั้น ตนอยากให้คุณรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากเสียงประชาชนจริงๆ แล้วเรียกนักศึกษาเป็นตัวแทนเข้าไปพูดคุยข้างในสภาฯ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น คุณต้องลาออกก่อน คุณต้องสัญญาด้วยเกียรติชายชาติทหารว่า จะลาออกด้วยการรับร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน และมานั่งคุยกันเพื่อหาทางออก ถ้าไม่อย่างนั้นอย่าหวังว่านักศึกษาลูกหลานเขาจะยอม

“หากคุณเป็นชายชาติทหารจริง ต้องรับฟังเสียงประชาชน ลาออกและเอาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากเสียงประชาชนเข้าไปรับฟังแต่โดยดีเถอะ” วีรวิทย์ กล่าวปราศรัยหน้าเซ็นทรัลเวิลด์

ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังติดตามสถานการณ์ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ด้านในแนวรั้ว สตช. มีตำรวจพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอยู่หลังแนวขดลวดหนามหีบเพลงสูงจนสุดแนวรั้วและมีรถฉีดน้ำแรงดันสูงที่อยู่ไม่ไกล ก็ได้ยินเสียงเล็กๆ ยืนตะโกนด่าตำรวจอย่างไม่ระย่อไปพร้อมๆ กับผู้ชุมนุมในบริเวณนั้น

สู้เพื่ออนาคตของตัวเอง

พี(นามสมมติ) อายุ 15 ปี เรียนอยู่ ม.4 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง บอกเล่าถึงความรู้สึกโกรธของตัวเองจนไปร่วมยืนด่าตำรวจที่ สตช. แม้ว่าเมื่อวานนี้พีจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์สลายชุมนุมที่รัฐสภาก็ตาม และบอกผู้สื่อข่าวว่าขอให้ถ่ายไม่เห็นหน้าเพราะกลัวจะถูกแม่ว่าเอา

"หนูโกรธมากที่เขาทำแบบนี้ พวกเราเป็นเจ้าของประเทศ ประเทศนี้ไม่ใช่ประเทศของพวกเขาอย่างที่เขาบอก แต่สิ่งที่เขาทำอยู่เป็นการดูถูกเรามากๆ เราออกมาเพื่อเรียกร้องสิทธิของเราในการที่จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

"แต่ดูสิ่งที่เขาทำกับเรา รถน้ำ รถเครื่องเสียง กระบอง โล่ โดยส่วนตัวคิดว่ามันไม่แฟร์ ถ้าคุณจะเป้นประชาะิปไตยแต่คุณไม่มีความยุติธรรม ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยแต่เราคือประเทศเผด็จการอะพี่ตอนนี้”

“ตอนนี้หนู ม. 4 อีก 6 ปี คือหนูจบปี 4 หนูต้องหางานทำ ถ้าเขาอยู่ต่อไปอีกสัก 2-3 ปี ยังไงมันก็ต้องมีเอฟเฟคต์ไปถึงตอนหนูทำงาน หนูจะไม่ยอมมีชีวิตที่ไม่ได้รับสิ่งที่หนูควรได้ ภาษีที่หนูจ่ายไปไม่ใช่สิ่งที่หนู deserve หนูรู้สึกว่าหนูต้องออกมาเพื่อเรียกร้องสิทธิของหนู เพื่อนๆ หนู น้องๆ หรือลูกหลานหนูในอนาคต เขาควรจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้”

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการล่ารายชื่อประชาชนร่วมกว่าแสนถึงสำคัญแม้ว่าเธอจะไม่ได้ร่วมลงชื่อเพราะอายุไม่ถึงก็ตาม พีตอบว่า

“ร่างที่เราใช้กันอยู่ไม่มีความยุติธรรมต่อประชาชนเลย หนูรู้สึกว่ามันถูกเขียนขึ้นมาเพื่อผู้ที่มีตำแหน่ง ไม่ใช่เพื่อให้พวกเรามีชีวิตที่ดีขึ้น หนูก็เลยรู้สึกว่าร่างของไอลอว์เป็นร่างที่ประชาชนร่างกันขึ้นมา มันก็จะเวิร์คกว่าร่างที่พวกเค้าเป็นคนร่างขึ้นมาเอง”

“ส่วนตัวหนูไม่ได้เรียนโรงเรียนรัฐ หนูไม่เคยเรียนโรงเรียนรัฐ ไม่เคยได้รับความรู้สึกในการเรียนโรงเรียนรัฐมาก่อน แต่หนูเรียนโรงเรียนค่าเทอมที่สูงกว่าโรงเรียนรัฐมากๆ แต่ลูกพี่ลูกน้องหนูเขาเรียนโรงเรียนรัฐ หนูรู้เลยว่าเนื้อหาที่เขาเรียนกับที่หนูเรียนแม่งคนละเนื้อหา หนูก็สงสัยว่าทำไมหนูกับน้องหนูถึงไม่ไ่ด้เรียนเนื้อหาเดียวกันแต่เราอยู่ในประเทศเดียวกัน” พีเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองเจอในการศึกษาเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมถึงไปยืนทักท้วงกับตำรวจว่าไม่ห่วงการศึกษาของลูกหลานของตัวเองบ้างหรือ ก่อนที่พีจะบอกต่อว่าขนาดรัฐมนตรีกระทรวงศึกษายังส่งลูกตัวเองไปเรียนต่างประเทศกัน

“ขนาดเขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาเขายังไม่เชื่อมั่นในระบบของเขาเลย แล้วจะให้หนูเอาอะไรมาเชื่อมั่นในระบบที่แบบเพื่อนๆ น้องๆ พี่ๆ หรือว่าหนูต้องได้รับ”

“หนูเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเอาภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีทางตรงภาษีทางอ้อมภาษีที่ดิน ภาษีใดๆ ทั้งสิ้น ที่ทุกคนต้องจ่าย พี่จ่ายหนูจ่ายไปใช้ประโยชน์ที่แบบมันจะไม่ขึ้นตรงกับพวกเขาที่นั่งอยู่ในสภาที่ไม่แม้แต่จะลงมารับร่างของเราด้วยซ้ำ”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมถึงกังวลเรื่องที่บ้าน เธอบอกว่า

“แม่หนูเขารู้สึกว่าการมาตรงนี้มันอันตราย เขาไม่เคยมารับรู้ว่าการมาอยู่ตรงนี้มันไม่ใช่อันตราย ที่มันอันตรายคือฝั่งนู้น ปู่หนูเขาก็สนับสนุนคุณประยุทธ์ พี่เก็ตปะคนอายุ 60 ขึ้นเป็นอย่างนี้กันหมด หนูไม่สามารถบอกได้ว่าหนูมาตรงนี้ คนเดียวที่หนูบอกได้คือคุณพ่อ แต่หนูก็ยังบอกผู้ปกครองแล้วก็อยากบอกเลยว่าใครก็ตามที่มาม็อบก็อยากให้บอกใครสักคนเพราะมันปลอดภัยกว่า”

ผู้สื่อข่าวเลยถามต่อว่าฟังดูเหมือนว่าการเมืองจะตรงกันกับพ่อมากกว่า พีก็ตอบว่าใช่

”พ่อเขาเคยเป็นม็อบนกหวีดมาก่อน แล้วเขารู้สึกว่าที่ทำให้พวกเราต้องออกมาแบบนี้ เขาเป็นต้นเหตุที่ให้เกิดตรงนี้มาเอง เขารู้สึกว่าถ้าลูกเค้าจะไป ลูกได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ก็คือพ่อหนูบอกว่าสุดท้ายคนที่จะใช้ชีวิตต่อไปคือหนูไม่ใช่พ่อ เพราะฉะนั้นก็เป็นสิทธิของหนูที่หนูจะออกมาหรือไม่ออกมาเพื่อเรียกร้องสิทธิตัวเอง”

แต่พีก็อธิบายกับแม่ที่ไม่เห็นด้วยกับการมาของเธอเท่าไหร่นักเพราะห่วงความปลอดภัยว่า

“แก้(รัฐธรรมนูญ) แล้วคนที่รับประโยชน์ก็คือหนู หนูจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น แม่หนูก็พยายามทำความเข้าใจ คือเขาก็สนับสนุนฝั่งนี้แต่ไม่เห็นข้อดีของการมาม็อบอะพี่ แต่อย่างเมื่อวานเขาเห็นรุนแรงกันก็พยายามอธิบายให้เขาฟังว่าเราไม่ได้รุนแรง ฝั่งนู้นเป็นคนรุนแรง เขาก็บอกว่าถึงอย่างไรก็คือความรุนแรงถ้าลูกไปก็อันตรายอยู่ดี เขาโอเคกับการที่หนูสนับสนุนฝั่งนี้นะ เขาแค่ไม่โอเคกับการมาม็อบเฉยๆ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท