Skip to main content
sharethis

นักเคมีเผยผลวิเคราะห์น้ำที่เจ้าหน้าที่ใช้ฉีดสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 พบสาร 5 ชนิด ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ

ที่มาของคลิป: Facebook/Weerachai Phutdhawong 20 พ.ย. 63

เวิร์กพอยต์ทูเดย์ รายงานว่า รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ระบุว่า ผลการวิเคราะห์น้ำที่เก็บได้จากแนวปะทะที่เกียกกาย น้ำที่เก็บมามีสีฟ้าออกน้ำเงินเนื่องจากว่า ปนเปื้อนกับสีที่ผู้ชุมนุมใช้สีน้ำเงิน จึงปนกันกับน้ำสีม่วง ซึ่งได้นำมาสกัดด้วย DCM จนได้สารละลายสีม่วงพร้อมกับสารที่อยู่ในนั้นออกมาแยกชั้น จากนั้นจึงนำสารละลายสีม่วง ที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยเทคนิค gc-ms (Gas chromatography–mass spectrometry (GC-MS)) พบว่าสีม่วงคือ Methylviolet 2b (เมทิลไวโอเลททูบี) ซึ่งเป็นสีม่วงธรรมดา ไม่มีพิษภัยอะไร และเจอสารสำคัญ 5 ตัว ในสารละลายสีม่วง คือ

1. Dimethyl sulfoxide, DMSO (ไดเมททิล ซัลฟอกไซด์) เป็นสารประกอบอินทรีย์ซัลไฟด์ มีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสี จุเดเดือดสูง นิยมใช้เป็นตัวทำละลายและใช้เป็นสารทำความสะอาดส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองถ้าได้รับในปริมาณมาก

2. 2-Chlorobenzaldehyde (2-คลอโรเบนซัลดีไฮด์) ลักษณะไม่มีสีหรือของเหลวใสสีเหลืองเล็กน้อย ข้อควรระวังคือทำให้ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรงและทำลายดวงตา โดย 2-Chlorobenzaldehyde ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต o-chlorobenzyl Dene malononitrile หรือ 2-chlorobenzalmalononitrile หรือ o-Chlorobenzyl malononitrile ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ในแก๊สซีเอส (CS gas) ซึ่งเมื่อโดนแก๊สน้ำตาเข้าไปแล้ว จะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและแก้วตาดำ ทำให้มีน้ำตาไหลออกมาก เยื่อบุตาจะแดงและแก้วตาดำจะบวม ตามองไม่เห็น น้ำมูกน้ำลายไหล ไอ หายใจลำบาก เมื่อร่างกายสัมผัสกับแก๊สน้ำตามักจะเกิดอาการภายในวินาทีหรือหลายนาที อาการจะเป็นอยู่นานประมาณ 15 –30 นาทีส่วนใหญ่จะหายเองภายในหนึ่งชั่วโมง

3. 2-Chlorobenzyl alcohol (2-คลอโรเบนซิลแอลกอฮอล์) มีลักษณะเป็นผงสีขาว โดยสารตัวนี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ทั้งต่อดวงตา ผิวหนัง แม้แต่การสูดดมเข้าไป

4. 2-chlorobenzalmalononitrile (2-คลอโรเบนซัลมาโลโนไนไตร) หรือ o-Chlorobenzyl malononitrile (CS gas) 2-chlorobenzalmalononitrile หรือ o-Chlorobenzyl malononitrile ทางทหารเรียกสั้นๆว่า CS จัดเป็นอาวุธเคมี (chemical weapon) ที่ใช้คุมฝูงชน แต่ไม่ทำให้ถึงตาย (non-lethal chemical weapon) โดยปกติในอุณหภูมิห้อง ไม่ได้อยู่ในสถานะก๊าซ เป็นของแข็ง แต่ทำเป็นละอองได้ เหมือนสเปย์พริกไทย

5. o-Chlorobenzyl malononitrile เป็นสารก่อการระเคืองเหมือนกันที่อยู่ใน CS gas เหมือนกัน เป็นอนุพันธ์ของสารหมายเลข 4

โดยสารหมายเลข 1 เป็นตัวทำละลาย เพื่อทำให้สารอีก 4 ตัวละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกันเป็นหัวเชื้อ ส่วนสารหมายเลข 2 3 4 5 เป็นกลุ่มแก๊สน้ำตาซึ่งใส่ตัวเดียวก็เกินพอแล้วครับแต่ใส่ไปทั้งหมด 4 ตัว

ดังนั้นความเข้มข้นที่คำนวณได้จากเครื่อง ดังนี้

สารที่ 1 = 10.39 % V/V

สารที่ 2 = 10.87 % V/V

สารที่ 3 = 8.56 % V/V

สารที่ 4 = 63.93 % V/V

สารที่ 5 = 6.25 % V/V

ซึ่งผลกระทบในคนได้มีการศึกษาผลของ CS smoke or aerosol and exposure via inhalation พบว่า Aerosol เมื่อทำการผลิตโดยวิธี Thermal dispersionที่มีขนาด 0.5 um ในตัวทำละลาย methylene chlorideทำการศึกษากับอาสาสมัครเป็นเวลา 90 นาทีในพื้นที่ขนาด 0.5-1 mg/m3 พบว่าอาสาสมัครมีอาการผิวไหม้บริเวณปาก หายใจแล้วแสบรวมถึงแน่นหน้าอก

 

ผลการวิเคราะห์น้ำที่เก็บได้จากแนวปะทะที่เกียกกาย ไม่รู้น้ำใครนะ...

Posted by Weerachai Phutdhawong on Friday, 20 November 2020

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY หลังวันสลายการชุมนุมด้วยว่า จากการติดตามถ่ายทอดสดของสื่อมวลชนจะพบว่า ขณะที่มีการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่มีการใช้น้ำเปล่าฉีดก่อน ทำให้ปริมาตรน้ำในถังลดลง และการเติมน้ำเข้าไปยังไม่เต็ม จากนั้นก็เปลี่ยนให้ใช้สารละลายที่มีแก๊สน้ำตา เพราะฉะนั้นการใส่แก๊สน้ำตา และสารสีม่วงเข้าไปผสมจึงไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้เกิดความเข้มข้นสูง เราจึงเห็นสีม่วงเข้มมาก แล้วความเข้มข้นของแก๊สน้ำตาก็เข้มข้นเช่นกัน ซึ่งความเข้มข้นสูงเกินไม่มีมาตรฐานในการใส่ ทำให้ผิวหนังจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน

“สัดส่วนการผสมมีมาตรฐานอยู่ แต่ที่เรากล้าพูดว่ามันเข้มข้นเพราะมีคลิปออกมา เห็นว่าเจ้าหน้าที่เติมสารตรงนั้นเลย เติมขณะที่กำลังฉีดอยู่ ทำให้มีความเข้มข้นสูง แล้วแก๊สน้ำตาก็เป็นยุทธภัณฑ์ ซึ่งการตัดสินใจใช้ยุทธภัณฑ์เช่นนี้ ถือว่ารุนแรงต่อประชาชน นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะถูกสารแล้ว ยังมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่า มีผลในระยะยาวต่อการเปลี่ยนแปลงโครโมโซมและทำลายตับ เพราะสารเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วทำให้ขจัดออกได้ยากลำบาก ที่สำคัญในแต่ละคนร่างกายก็มีความทนทานต่อสารเคมีที่แตกต่างกัน และเมื่อเทียบระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เด็กจะมีภูมิต้านทานน้อยกว่า และเมื่อดูกลุ่มผู้ร่วมชุมนุนจะเห็นว่าส่วนใหญ่อายุไม่น่าจะถึง 30 ปี เป็นเด็กมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย แต่บางคนก็มีวิธีรับมือ ด้วยการใช้น้ำที่มีขั้วของน้ำสูง เช่น น้ำเกลือ และน้ำนม จะทำให้สารหลุดออกได้ดีกว่าน้ำเปล่า” รศ.ดร.วีรชัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net