Skip to main content
sharethis

สภาพัฒน์ชี้สัญญาณฟื้นไม่ชัด ว่างงานเพิ่ม-ปริญญาตรี ตกงานมากสุด

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 หดตัว -6.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ขยายตัวขึ้น 6.5% เมื่อเทียบไตรมาส 2 ที่หดตัว -12.1% ภาพรวม 9 เดือนของปีนี้จีดีพีไทยหดตัวแล้ว -6.7% ซึ่ง สศช.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวลงเหลือ -6% จากเดิม -7.5% ตัวชี้วัดที่เร่งตัวขึ้น ได้แก่ การอุปโภคภาครัฐขยายตัวที่ 3.4% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.3% การลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 18.5% จาก 12.5% การก่อสร้างขยายตัวที่ 10.5% จาก 7.4%

“ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอื่น ๆ แม้ยังติดลบแต่ก็ติดลบน้อยลงจากไตรมาส 2 ค่อนข้างมาก ทั้งภาคส่งออกขยับมาที่ -8.2% จาก-17.8% การบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ -0.6% จาก -6.8% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ -10.7% จาก -15% ผลจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยับตัวดีขึ้น ซึ่งขณะนี้แทบจะเปิดได้ 100% ยกเว้นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ”

ด้านที่พักโรงแรม-ร้านอาหาร พบว่าไตรมาสนี้หดตัว -39.6% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ -50.2% ถือว่าดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้น

“คาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% โดยแรงขับเคลื่อนภาครัฐเป็นปัจจัยหนุน ปีหน้ายังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ฉะนั้น การเบิกจ่ายภาครัฐจะสำคัญมาก โดยตั้งเป้าเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ให้ได้กว่า 94.4% งบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายกว่า 70% งบฯเหลื่อมปีเบิกจ่ายกว่า 85% เบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทกว่า 70%”

สำหรับสถานการณ์จ้างงานในไตรมาส 3 ปีนี้ อัตราว่างงานยังสูงอยู่ ทั้งชั่วโมงการทำงานก็ลดลงต่อเนื่องซึ่งกระทบต่อรายได้ของครัวเรือน ส่วนแรงงานจบใหม่ อายุน้อยและการศึกษาสูงยังมีปัญหาว่างงานจำนวนมาก ซึ่งไตรมาส 3 ตัวเลขผู้ว่างงานมีทั้งสิ้น 7.4 แสนราย คิดเป็น 1.90% ใกล้เคียง 1.95% ไตรมาส 2 ช่วงโควิด-19 ระบาด

ทั้งนี้ ต้องจับตาแรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูง จะมีปัญหาว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น โดยผู้จบปริญญาตรีจะว่างงานถึง 3.15% สูงสุดตั้งแต่ปี 2554 รองมาเป็นระดับ ปวช. ปวส. ว่างงาน 2.79%, 2.73% และพบว่าแรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี และ 20-24 ปี ว่างงานสูงขึ้นที่ 9.4% และ 7.9% ตามลำดับ

ขณะที่แรงงานในระบบประกันสังคม มีผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 4.88 แสนคน คิดเป็น 4.4% เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ทั้งนี้ การว่างงานของแรงงานในระบบยังเพิ่มต่อเนื่อง

สำหรับแรงงานที่ยังมีงานทำ แต่ไม่ได้ทำงานเต็มที่ พบว่าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงจาก 43.5 เป็น 41.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ และจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาลดลง 19.7% ซึ่งส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ของแรงงานที่ลดลงตามชั่วโมง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/11/2563

เอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มขึ้นค่าจ้างสูงสุดปีหน้า ไทยติดอันดับ 3 ในท็อปเทน

ECA International บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับนานาชาติเปิดเผยรายงานคาดการณ์แนวโน้มเงินเดือนพนักงานในปี 2564 ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า บรรดานายจ้างมีความเชื่อมั่นว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

รายงานของ ECA International ระบุว่า อัตราการจ่ายเงินเดือนพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2564 นั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3% จากระดับ 3.2% ในปี 2563 ซึ่งสวนทางกับอัตราค่าจ้างทั่วโลกที่ลดลง

นอกจากนี้ รายงานยังคาดการณ์ด้วยว่า อัตราการปรับขึ้นค่าจ้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเพิ่มขึ้นที่ 3.8% ในปีหน้า จากระดับ 2.6% ในปีนี้ ขณะที่บรรดานายจ้างยกเลิกนโยบายชะลอการปรับขึ้นค่าจ้าง และอัตราเงินเฟ้อยังคงลดลง

ทั้งนี้ 10 อันดับประเทศที่มีแนวโน้มการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเปอร์เซนต์สูงสุดในปี 2564 นั้น ประกอบด้วยประเทศในเอเชียแปซิฟิกถึง 8 ประเทศ ได้แก่

1. อินโดนีเซีย 3.8%

2. อิสราเอล 2.8%

3. ไทย 2.7%

4. สิงคโปร์ 2.7%

5. โคลอมเบีย 2.7%

6. เกาหลีใต้ 2.6%

7. จีน 2.3%

8. อินเดีย 2.3%

9. กัมพูชา 2.1%

10. บังกลาเทศ 2.1%

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 19/11/2563

พนักงานของเดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง สหภาพเผยปี 2563 บริษัทมีกำไรมากกว่า 5,500 ล้าน

กลุ่มพนักงานของ บริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) กว่า 2,000 คน ได้รวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องเงินโบนัสจากผลกระกอบการบริษัท บริเวณหน้าโรง 5 ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย E9 ต.บางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

18 พ.ย.) พ.ต.อ.พิสุทธิ์ จันทรสุวรรณ ผกก.สภ.บางปู ได้สั่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางปู นำกำลังเข้าดูแลความเรียบร้อย ภายหลังจากได้ทราบว่า ได้มีกลุ่มพนักงานของ บริษัทเดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กว่า 2,000 คน ได้รวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องเงินโบนัส

บรรยากาศการประท้วง นายจุลรัตน์ ประธานสหภาพแรงงาน เป็นตัวแทน พูดผ่านโทรโข่งเพื่อปราศรัยไม่พอใจคณะผู้บริหารชาวไต้หวัน ที่ให้ค่าตอบแทนพนักงาน ไม่สอดคล้องกับผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล พร้อมกับประกาศจุดยืนให้ผู้บริหารของ ทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพ ซึ่งได้ยื่นไปแต่ทางผู้บริหารกลับไม่สนใจ โดยมีพนักงานชายหญิง ซึ่งเลิกงานจากกะเช้าออกมาร่วมตัวกัน พร้อมกับชูป้ายข้อความ ต่างๆ เช่น ไม่เอาผู้บริหารต่างชาติ พนักงานก็คนมั๊ยละ เพื่อกดดันให้ผู้บริหารตอบรับข้อเสนอ กระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 2 ชม. การประท้วงจึงได้ยุติ โดยไม่มีเหตุรุนแรงแต่อย่างใด

นายจุลรัตน์ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการของบริษัทพบว่าในปี 2563 มีกำไรมากกว่า 5,500 ล้าน เพราะฉะนั้นโบนัสต้องมาขึ้นตามผลประกอบการ แต่บริษัทกลับให้โบนัสกับพนักงานน้อยลง ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามสิ่งที่เราต้องการ ถึงแม้เมื่อช่วงกลางวัน จะได้เข้าไปพูดคุยกับคณะผู้บริหารแล้ว แต่ทางผู้บริหารก็ยังยืนยันคำเดิม คือไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ เราจึงได้ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพนักงานซึ่งเป็นคนไทย ที่มีผู้บริหารเป็นชาวต่างชาติกดขี่หรือไม่ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการกระจายได้มาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยบ้าง ไม่ใช่จะขนออกไปนอกประเทศจนหมด

สำหรับข้อเรียกร้อง ที่ทางเราได้ยื่นเสนอให้กับผู้บริหารนั้น มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1.ต้องแก้ไขเงื่อนไขสภาพการจ้างเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเพดานค่าจ้างของพนักงาน รายวัน 2.ต้องแก้ไขสภาพการจ้างเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างปี 2563 และ 3.แก้ไขข้อตกลงสภาพการจ้างงานโบนัสประจำปี 2563 จากที่บริษัทเสนอให้โบนัสให้กับพนักงานรายวันเฉลี่ย 120 วัน ให้เปลี่ยนเป็น 180 วัน บวก 1.5 หมื่นบาท และบวกเงินออม 4 พันบาท ส่วนพนักงานรายเดือนโบนัสเฉลี่ย 4 เดือน เปลี่ยนเป็น 6 เดือน บวก 1.5 หมื่นบาท และเงินออม 4 พันบาท

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/11/2563

ประกันสังคม ตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน ให้ลูกจ้างเจ็บป่วยเข้ารับการตรวจรักษาโรคฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมมุ่งเน้นดูแลคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างในสถานประกอบการ จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้ง "คลินิกโรคจากการทำงาน" ขึ้นมาดูแลลูกจ้างที่เจ็บป่วยอย่างเป็นระบบ ทั้งการวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาลตามมาตรฐาน ลดอุบัติเหตุจากการทำงาน และให้คำปรึกษาด้านชีวอนามัย

เบื้องต้น มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการคลินิกโรคจากการทำงานแล้ว 117 แห่ง เป็น โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 1 แห่ง โรงพยาบาลแม่ข่าย โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 110 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ให้บริการครอบคลุมลูกจ้าง จำนวน 11.7 ล้านคน และสถานประกอบการ 433,425 แห่ง

ลูกจ้างสงสัยว่าเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน ให้ติดต่อที่คลินิกประกันสังคมเพื่อตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น หากผลการวินิจฉัยพบว่าเจ็บป่วยจากการทำงาน ก็จะส่งลูกจ้างไปรักษาต่อที่คลินิกโรคจากการทำงาน แต่หากผลการตรวจลูกจ้างไม่เจ็บป่วยจากการทำงาน ลูกจ้างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เนื่องจากกองทุนเงินทดแทน สนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่โรงพยาบาลแล้ว

ส่วนผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ตนเองเลือกไว้ และมีคลินิกโรคจากการทำงาน สามารถเข้ารับบริการได้โดยตรง ไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับนายจ้างต้องยื่นแบบการประสบอันตราย (กท.16) ต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วัน และยื่นแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) เพื่อให้โรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ในส่วนของกองทุนเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมโดยตรง

ที่มา: TNN, 18/11/2563

เตือน 'ม.นอกระบบ' เงินเดือน 1.7 เท่าต้องจ่ายเต็มตามมติ ครม.เตือนหักเงินแบบผิดๆ เจอมาตรา 157

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 สภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดการเสวนาหัวข้อ “คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด : กรณีปรับเงินเดือน 1.7 และ 1.5 เท่า” สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายแนวทาง ให้พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีลักษณะได้รับเงินเดือนหรือสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการสมัยก่อน เพื่อไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ หลังจากออกนอกระบบราชการแล้ว บำเหน็จบำนาญ การรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัยจะไม่เหมือนข้าราชการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 1.5-1.7 เท่า เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างพนักงานทั้งสองระบบ

แต่เมื่อกำหนดอัตราเงินเดือนแล้ว พบว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีแนวปฏิบัติแตกต่างกัน บางแห่งหักเงินเดือน และนำไปใช้ประโยชน์ไม่เหมือนกัน ทำให้คณาจารย์เกิดความแคลงใจ ทำเรื่องร้องเรียนไปยังศาลปกครอง แม้จะมีคำสั่งออกมาแต่มหาวิทยาลัยไม่กล้ากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง กระทั่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล วศินสุนทร อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงเห็นว่าเป็นบทเรียนสำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อจัดค่าตอบแทนให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล วศินสุนทร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2542 ให้อำนาจและหลักการให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จ้างลูกจ้างในลักษณะพิเศษ พร้อมกำหนดให้จ่ายค่าจ้าง 1.7 เท่าในสายวิชาการ และ 1.5 เท่าในสายสนับสนุน เพื่อต้องการจำกัดการรับข้าราชการบรรจุใหม่ ให้เป็นพนักงานของรัฐชนิดหนึ่ง เรียกว่า พนักงานมหาวิทยาลัย แต่มีโครงสร้างลักษณะว่าจ้างแบบพิเศษ สัญญาจ้างระยะสั้น เกรงว่าจะถูกเลิกจ้าง จึงเป็นความกระอักกระอ่วนใจในบรรยากาศการทำงานของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในคำพิพากษาหน้า 37 ระบุถึงเจตนารมณ์ให้มีพนักงานมหาวิทยาลัย ระบุว่า จากหลักการที่ทบวงมหาวิทยาลัยขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการและได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการสร้างระบบการจัดสรรงบประมาณเงินเดือนและสวัสดิการ ให้คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อคุณภาพการศึกษา สภาพสังคม และงบประมาณที่สนับสนุน ถือว่าเป็นการวางหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจัดจ้างพนักงานในลักษณะพิเศษ โดยมีวาระการจ้างที่กำหนดเวลาชัดเจนแทนการทดแทนอัตราข้าราชการเกษียณอายุและการบรรจุข้าราชการใหม่ในมหาวิทยาลัย โดยให้ได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าข้าราชการด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดจ้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในลักษณะพนักงานมหาวิทยาลัย

ในตอนหนึ่ง ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล กล่าวว่า เมื่อปี 2551 มติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ขณะนั้น วางหลักการให้หักเงินเดือน 0.2 เท่า กันไว้เป็นสวัสดิการ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าเงินที่หักไว้ 0.2 เท่า บวกด้วย 1.5 เท่า เป็น 1.7 เท่า ศาลจึงกล่าวว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรี เห็นว่าหากมหาวิทยาลัยมีการพูดคุยกันในประชาคม และมีการจัดสวัสดิการจริง แนววินิจฉัยศาลปกครองนี้ทำได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยจัดสวัสดิการเกื้อกูลเลย การหักเงิน 0.2 เท่า ในสัญญาจ้างระบุว่ายินยอมให้หัก ซึ่งศาลระบุว่าถ้าตามสัญญาจ้างจะจัดสวัสดิการครอบคลุมทำได้ แต่ศาลวางแนววินิจฉัยว่า การที่เอาเงินไปจ่ายตำแหน่งวิชาการ หรือจ่ายกองทุนประกันสังคมนั้นไม่ใช่

เพราะสวัสดิการเกื้อกูล หมายความว่า ทุกคนได้รับในฐานะสมาชิกขององค์กร เป็นประโยชน์เกื้อกูล เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสวัสดิการของข้าราชการ แต่ในปี 2560 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยตั้งกองทุนเพื่อจัดสวัสดิการ ศาลจึงตั้งคำถามว่า เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย ไม่เห็นว่าแหล่งที่มาของเงินเป็นอย่างไร เทียบได้กับมาตรฐานการจัดสวัสดิการของข้าราชการหรือไม่ ซึ่งถ้ามีเจตนามิชอบ เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฉะนั้น เจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรียังมีอยู่ การเพิ่มเงินเดือน 1.7 เท่าให้รวมสวัสดิการเกื้อกูล แต่มหาวิทยาลัยแต่ละที่จะจัดสวัสดิการอย่างไร เมื่อจัดแล้วเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

“เจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรี สะท้อนไปยังผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ ว่า ในเมื่อศาลมีคำวินัยออกมาแล้ว ไม่ต้องรอฟ้องให้ชนะ ซึ่งไม่ใช่การบริหารที่เป็นธรรมาภิบาล เมื่อก่อนหากสงสัยในอำนาจของผู้บริหารว่าทำได้หรือไม่ ก็ต้องพึ่งอำนาจตุลาการมาถ่วงดุล แต่เมื่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดผูกพันทุกองค์กร และมีแนววินิจฉัยแบบนี้แล้ว หน้าที่ของผู้บริหารอย่างแรกคือ กลับไปดูว่าที่หักเงินเดือนนั้น จัดสวัสดิการเกื้อกูลอย่างไร เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ หรือคนน้อยเกินไป ก็คืนเงินเขาไปก่อน รอให้มหาวิทยาลัยมีรายได้มากขึ้น ดีขึ้น ถึงค่อยคุยกัน เพราะทั้งหมดกลับไปยังเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อมีคนรู้สึกเสียเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปร้องศาลปกครองหรือศาลอาญาก็ร้องง่ายๆ เองว่าไม่จ่ายเงินตามมติคณะรัฐมนตรีแค่นั้นเอง และการตีความมติคณะรัฐมนตรี ศาลสูงก็วางบรรทัดฐานแล้ว” ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล กล่าว

ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล กล่าวว่า หลังจากวันนี้หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จะเริ่มมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะศาลปกครองสูงสุดได้วางแนววินิจฉัย บอกเหตุผลให้ฝ่ายบริหารไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้บอกไปแล้ว และมีเจตนาชัดเจน ส่วนที่ผ่านมาจะเข้าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ ต้องดูกรณีของแต่ละมหาวิทยาลัย หากจัดสรรเงินโดยมีเจตนาในเชิงทางปกครองแบบไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเยียวยาแก้ไขทางแพ่งกันไป ซึ่งต้องคุยกันแต่ละมหาวิทยาลัย แต่บางแห่งเอาเงินไปใช้แบบผิดๆ ต้องดูเป็นกรณีว่าจะมีความผิดตามมาตรา 157 ในเรื่องเจตนาพิเศษหรือมิชอบอย่างไร เชื่อว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีแนววินิจฉัยเหมือนกันตลอด นอกเสียจากจะมีการออกมติคณะรัฐมนตรีใหม่

“การจ่ายเงิน 1.7 กับ 1.5 เท่า ไม่ได้ทำให้มหาวิทยาลัยเจ๊ง เป็นการชี้เป้าผิด เพราะเป็นเงินในสิทธิที่มติคณะรัฐมนตรีมีเจตนาที่จะพัฒนาครูบาอาจารย์ตั้งแต่แรกมา 21 ปีแล้ว เป็นการตั้งต้นสิ่งที่ดีแล้วแต่กลับไม่ทำ และไม่ใช่ว่าเงินไม่ได้เหมือนกรณีเงินข้าราชการ 8% กรณีนี้สำนักงบประมาณจ่ายเงินมาให้แล้วชัดเจน และมติคณะรัฐมนตรีชัดเจน แต่ทุกวันนี้สิ่งที่ไม่ชัดเจนคือวิธีการบริหารงาน ถ้ามหาวิทยาลัยท้าทายตัวเองที่จะออกนอกระบบ ก็ต้องเป็นผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ที่จะผลักดันและหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย ถ้าทำไม่ได้ก็ให้คนอื่นที่ทำได้เข้ามา การจะรอให้คนมาฟ้องนั้น ไม่ใช่การบริหารตามความสามารถ” ว่าที่ร้อยโท จอห์นนพดล กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 17/11/2563

ตรวจโรงงานแม่สอด จ.ตาก หาผู้ป่วยโรคโควิด-19

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 นายชัยพฤกติ์ เชียร ธานรักษ์ นอภ.แม่สอด ได้สั่งการให้ นายภัทรดนัย อุทัยรัตน์ ปลัดหัวหน้ากลุ่มงานความมั่นคง นายธวัชชัย อ่อนสาร ปลัดงานป้องกัน น.ส.ศิริพร สอนไว ปลัดกลุ่มงานความมั่นคง พร้อมด้วย สมาชิก อส.อ.แม่สอด ที่ 3 บูรณาการกำลังร่วมกับ รพ.แม่สอด ฉก.ร.4 ชป. จัดหางาน จ.ตาก ตรวจสอบสถานประกอบการในพื้นที่ ที่มีการจ้างแรงงานเมียนมาโดยตรวจวัดคัดกรองโรคแรงงาน และตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำชับให้มีการดำเนินมาตรการทางด้านสาธารณสุข และตรวจสอบการจ้างแรงงานที่ไม่ถูกต้อง จำนวน 4 โรงงาน ดังนี้

1. โรงงานเย็บผ้าสมหมาย ม.1 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด มีแรงงานเมียนมา จำนวน 12 ราย
2. โรงงานเย็บผ้าชูศรี ม.2 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด มีแรงงานเมียนมา จำนวน 13 ราย
3. บริษัทอุดมเดช ซัพพลาย จำกัด ม.6 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด มีแรงงานเมียนมา จำนวน 326 ราย
4. บริษัทไท ซ่ง เฮงจำกัด ม.1 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด มีแรงงานเมียนมา จำนวน 269 ราย

ที่มา: เชียงใหม่นิวส์, 18/11/2563

สศช. เผยภาวะสังคมภายใต้โควิด-19 พบคนยากจนเมือง 60.24% รายได้ลดทั้งหมด

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงสถานการณ์ผลกระทบโควิด-19 ต่อความยากจนของประเทศไทยในปี 2563 ว่า ตั้งแต่ต้นปี 63 เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงและส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)

มีการสำรวจ (23 เม.ย.-17 พ.ค. 2563) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 33% ในขณะที่รายได้ลดลง 54 โดยมีหนี้สินในระบบเพิ่มขึ้น 14% และหนี้สินนอกระบบเพิ่มขึ้น 9%

ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนยากจน โดยเฉพาะคนยากจนเมือง ประมาณ 60.24% มีรายได้ลดลงเกือบทั้งหมด และประมาณ 31.21% ที่รายได้ลดลงกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้กลุ่มครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่มีประมาณ 1.14 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นครัวเรือนยากจน เป็นกลุ่มที่ควรจะมีมาตรการเข้าไปรองรับเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น

โดยแยกเป็น 1.กลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือน มีประมาณ 6.37 แสนครัวเรือน ประกอบด้วย ครัวเรือนไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ, ครัวเรือนสูงอายุ, ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับเด็ก

2.กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานลดลงมาก มีประมาณ 4.67 แสนครัวเรือน ได้แก่ ครัวเรือนที่ทำงานในสาขาที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง เช่น ภาคท่องเที่ยว, อาชีพอิสระ

3.กลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินที่ทำกินน้อย ซึ่งมีประมาณ 0.49 แสนครัวเรือน

ทั้งนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบระยะสั้นคือ ชดเชยการขาดรายได้จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับแรงงานอิสระและเกษตรกร เยียวยา 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ในกลุ่มเปราะบาง นอกจากนั้นยังมีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค

ระยะปานกลาง มีโครงการฟื้นฟูฯ ช่วยส่งเสริมการจ้างงาน โดยมาตรการหล่านี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันต้องใช้กลไกท้องถิ่นในการค้นหาเป้าหมายและดูแลกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน และเร่งรัดโครงการภาครัฐให้ดำเนินการตามแผนเห็นผลโดยเร็ว 3.มุ่งสร้างงานสร้างอาชีพ

ส่วนการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ปัญหาด้านเกษตรกรทั้งระบบ รวมไปถึงการสร้างหลักประกันทางสังคม อาทิ การเร่งขยายความคุ้มครองประกันตนมาตรา 40 การส่งเสริมการออม และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจะเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูสถานการณ์ความยากจนตั้งแต่ปี 2531-2562 ถือว่ามีทิศทางดีขึ้น โดยมีแนวโน้มสัดส่วนคนยากจนลดลงอย่างมากจากระดับ 65.17% เมื่อปี 31 เหลือ 6.24% ในปี 62 คิดเป็นจำนวน 4.3 ล้านคน หากพิจารณาเป็นระดับครัวเรือนในปี 62 มีครัวเรือนยากจนทั้งสิ้น 1.31 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 5.04% ของครัวเรือนทั้งหมด

โดยพบว่า 1.คนจนมีอัตราพึ่งพิง (จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน) สูงว่าครัวเรือนไม่ยากจน 2.เด็กและเยาวชนมีปัญหาความยากจนมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุและวัยแรงงาน 3.ประเภทครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจน ได้แก่ ครัวเรือนขนาดใหญ่, ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับเด็ก และครัวเรือนไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/11/2563

ครม.อนุมัติในหลักการร่างประกาศคกก.แรงงานรัฐวิสาหกิจ ไฟเขียวเพิ่มสิทธิประโยชน์ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ

17 พ.ย. 2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ โดยยกเลิกร่างประกาศเดิม 1 ฉบับ พร้อมใช้หลักเกณฑ์ใหม่ 2 ฉบับ รวมเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องยกเลิกประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร 2. ร่างประกาศฯ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และ 3. ร่างประกาศฯ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าช่วยเหลือบุตรและค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร

สำหรับร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับจะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจรวม 306,887 คน ได้รับการคุ้มครองในเรื่องของการดำเนินการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อรองรับการจ่ายเงินคืนแก่สถานพยาบาลได้โดยเร็ว โดยระหว่างปี 2559-2563 มีพนักงานรัฐวิสาหกิจใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรวม 1,119 คน คิดเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลที่ค้างจ่ายต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 32,966,400 บาท ขณะเดียวกันลูกจ้างยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น เพิ่มสิทธิในการได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และค่าใช้จ่ายเพื่อการตวจสุขภาพ และปรับอัตราสิทธิในการได้รับค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนประเภทผู้ป่วยในให้สูงขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ลูกจ้างสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยใช้ระบบการเบิกจ่ายตรงได้ด้วย และได้ปรับอัตราจ่ายค่าทำศพจากประกาศเดิมให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันยังได้ปรับอัตราเงินช่วยเหลือบุตรจากเดือนละ 50 บาท เป็นเดือนละ 200 บาท และเพิ่มสิทธิการเบิกค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตรให้ รวมถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 17/11/2563

โควิด-19 เป็นเหตุ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.งดจ่ายโบนัสพนักงาน

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2563 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เปิดเผยภายหลังการประชุม เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินการของ ทอท. โดยคาดว่าปีหน้าสถานะทางการเงินของ ทอท. จะอยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งเป็นผลให้บอร์ดมีมติพิจารณาไม่จ่ายเงินโบนัสพนักงาน

สำหรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ในปีงบประมาณ 2563 ของ ทอท. ลดลงราว 50% ด้วยกัน อย่างไรก็ดีในสิ้นปีงบประมาณนี้ จะยังคงมีกำไรอยู่ เพราะผลกระทบดังกล่าวไม่ได้เกิดเป็นผลกระทบเต็มปี

"ในปีงบประมาณ 2563 เรายังมีรายได้สะสมจากไฮซีซั่น แต่ในปีงบประมาณ 2564 จะได้รับผลกระทบเต็มปี และ ทอท.ยังจำเป็นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมเปิดอาคารรองเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 จำนวนค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องงดจ่ายโบนัสไปก่อน"

นอกจากนี้บอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้มีการประเมินผลกระทบโควิด-19 ซึ่งไม่เห็นขอบเขตของความเสียหายกับอุตสาหกรรมทางการบินอย่างชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และขนาดความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ขณะที่การดำเนินการของ ทอท. มีต้นทุนคงที่อยู่ในสัดส่วนที่สูง การตัดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเป็นไปได้ในจำนวนที่ไม่มาก ต้นทุนผันแปรจำนวนมากหากลดลงแล้ว ก็อาจไม่สามารถจะเพิ่มกลับมาในระยะเวลาอันสั้น

ทั้งนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทอท.เป็นหน่วยงานที่มีการจ่ายโบนัสพนักงานในอัตราที่สูง โดยในปีงบประมาณ 2560 จ่ายโบนัสพนักงาน 7.5 เท่าเงินเดือน ปี 2561 จ่ายโบนัสเพิ่มขึ้นเป็นในอัตรา 7.75 เท่าของเงินเดือน และปี 2562 ปรับลดการจ่ายโบนัสเหลือ 7.25 เท่าของเงินเดือน

ที่มา: คมชัดลึก, 17/11/2563

ชวนแรงงานไทยทดสอบวัดระดับความสามารถภาษาญี่ปุ่น

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่ารัฐบาลประเทศญี่ปุ่นเปิดรับสมัครสอบภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้น สำหรับแรงงานไทยที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยมอบหมายให้ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพ (Japan Foundation Bangkok) เป็นผู้ดำเนินการรับสมัครสอบภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้น (The Japan Foundation Test for Basic Japanese (JFT-Basic) )เพื่อวัดระดับความสามารถภาษาญี่ปุ่นที่จำเป็นต่อการสื่อสารและการใช้ภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน โดยมีรูปแบบการทดสอบเป็นการเลือกคำตอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Based Test :CBT) ซึ่งผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะทราบผลการสอบในทันทีที่ สอบเสร็จ และจะได้รับใบรับรองผลสอบเพื่อเป็นเอกสารประกอบการยื่นขอรับการตรวจลงตรา (Visa) เพื่อไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นในสถานะแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ (Specified Skilled Workers) ภายใน 5 วันหลังจากการทดสอบโดยสามารถพิมพ์ใบรับรองได้จากระบบ http://ac.prometric-jp.com/testlist/jfe/index.html

นายสุชาติ กล่าวว่า กรมการจัดหางานมุ่งหวังส่งเสริมการจัดส่งและการรับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทยไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นอย่างราบรื่น แก้ไขปัญหาในการส่งและการรับแรงงาน ปัญหาของการพำนักอยู่ในญี่ปุ่นของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ในการนี้ได้แสดงความขอบคุณทางการญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อการรับแรงงานไทยที่มีทักษะเข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น และสำหรับแรงงานไทยที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นตามบันทึกความร่วมมือเกี่ยวกับกรอบพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะที่ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นที่กระทรวงแรงงานได้จัดทำไว้กับกระทรวงยุติธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น

อธิบดีกรมการจัดหางาน ยังกล่าวต่อไปว่า การทดสอบจะเป็นไปด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Based Test :CBT) ในหัวข้อเกี่ยวกับเนื้อหาและคำศัพท์บทสนทนาและการแสดงความรู้สึก ความเข้าใจจากการฟัง และความเข้าใจจาก การอ่าน ซึ่งหากเทียบกับการสอบเพื่อประเมินความสามารถในการใช้ภาษาญี่ปุ่น JLPT หรือ Japanese Language Proficiency Test แล้ว จะต้องอยู่ในระดับที่ไม่น้อยกว่า N4 หรือระดับ A2 ของการสอบ JFT – Basic

สำหรับผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.doe.go.th/overseas หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02-245-6708 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: บ้านเมือง, 17/11/2563

ไตรมาส 3/2563 อัตราว่างงานยังสูง แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคม ไตรมาส 3/2563 ว่า ในภาพรวมอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานในไตรมาส 3/2563 พบว่ามีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.90 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 1.95 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนการจ้างงานในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม 1.8% ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเป็นปกติมากขึ้น ประกอบกับฐานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงเดียวกันของปีก่อนลดต่ำลงมาก จากผลกระทบของการส่งออกที่หดตัวและมีการใช้กำลังการผลิตลดลง

ทั้งนี้ สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาก่อสร้าง, การขายส่งและขายปลีก, การขนส่ง/เก็บสินค้า ในขณะที่สาขาการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งนอกจากเป็นผลของคำสั่งซื้อที่ลดลงแล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันกับต่างประเทศ สำหรับภาคเกษตรกรรม แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก แต่เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง -0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี แม้แรงงานจะมีงานทำ แต่ไม่ได้เป็นการทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 43.5 ชม./สัปดาห์ มาเหลือ 41.6 ชม./สัปดาห์ และจำนวนผู้ที่ทำงานล่วงเวลา หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชม./สัปดาห์ ลดลง 19.7% ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และรายได้ของแรงงานที่อาจลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของครัวเรือน

"ภาวะสังคมไตรมาส 3 นี้ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ชั่วโมงการทำงานยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือนในด้านต่างๆ อีกทั้งแรงงานจบใหม่ แรงงานอายุน้อย และมีการศึกษาสูง ยังมีปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก" เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว พร้อมระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/63 แม้จะมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 นี้ แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ 1. ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดระลอกที่สอง 2.การเข้าร่วมมาตรการจ้างงานของรัฐ 3. ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม และ 4. คุณภาพชีวิตแรงงาน

นายดนุชา ยังกล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใน ไตรมาส 2/2563 ว่า มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แต่ชะลอตัวลงจาก 4.1% ในไตรมาส 1/2563 โดยคิดเป็นสัดส่วน 83.8% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ การที่หนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทำ จากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยจากข้อมูลยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคาพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2/2563 มีมูลค่า 152,501 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% และมีสัดส่วน 3.12% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากสัดส่วน 3.23% ในไตรมาส 1/2563 โดยเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ที่ทำให้ภาพรวมคุณภาพลูกหนี้มีสถานการณ์ดีขึ้น

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2563 โดยคาดว่าความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกันสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี รวมถึงยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อหนี้ครัวเรือนไทย ถือเป็นวิกฤติที่สะท้อนและตอกย้ำถึงความเปราะบางทางการเงิน และปัญหาเชิงโครงสร้างของครัวเรือนไทย จากการขาดหลักประกันและภูมิคุ้มกันในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐและสถาบันการเงินได้มีมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในส่วนของลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจ

แต่ในระยะต่อไป หากระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลง และสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จะเสี่ยงเกิดหนี้เสียจำนวนมาก และครัวเรือนอาจมีการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของทั้งภาครัฐ และสถาบันการเงิน ในการออกแบบนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในสภาวะของความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16/11/2563

กสศ. จับมือ บช.ตชด. สร้างโอกาสติดอาวุธให้ครู ตชด.ครั้งแรกของไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจตระเวรชายแดน(บช.ตชด.) และภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา จัดประชุมหัวข้อ “สมรรถนะครูตำรวจตระเวนชายแดนกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ภายใต้โครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยมีอาจารย์จาก 4 สถาบันเครือข่ายที่ทำหน้าที่พัฒนาและปรับหลักสูตรการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณวุฒิทางวิชาชีพครู ตชด. ในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, อุดรธานี, เลย และมหาวิทยาลัยทักษิณ เข้าร่วมประชุม

พลตำรวจโทวิชิต ปักษา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า จากการก่อตั้งโรงเรียน ตชด.แห่งแรกเมื่อปี 2499 ปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัด ตชด. 220 แห่ง จัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตร เช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป มีนักเรียน 26,577 คน มีครู ตชด. 1,467 คน ผลประเมินพบว่าครูจำนวนหนึ่งยังไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา เพราะต้องใช้ระยะเวลาเดินทางมาก ทำให้ครูไม่สามารถเข้าเรียนต่อหรือเรียนแต่ไม่จบตามแผนการศึกษาปกติที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ ตชด. จึงร่วมกับ กสศ. ทำโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษา กสศ. กล่าวว่า การพัฒนาโครงการนี้ เริ่มจากมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นจากครู นักเรียน โรงเรียน เพื่อรับฟังความต้องการและให้เห็นสภาพพื้นที่จริง ก่อนที่จะนำมาออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นลดปัญหาข้อจำกัดของครูตชด.ด้านการเดินทาง และไม่สามารถเรียนในระดับมหาวิทยาลัยตามหลักสูตรปัจจุบันได้ โดยใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี และสื่อออนไลน์ มาเสริมให้เกิดประโยชน์และพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า การวิเคราะห์ผลสอบจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA พบว่า การเรียนรู้ของเด็กในเมืองกับชนบทนั้นห่างกันถึง 2 ปีการศึกษา เด็กในโรงเรียน ตชด. จัดเป็นเด็กที่อยู่ในโรงเรียนชนบทด้วยเช่นกัน เหตุเพราะครูที่สอนส่วนใหญ่ไม่มีพื้นฐานวิชาชีพครูแต่เป็นตำรวจที่มาทำหน้าที่สอนหนังสือ หรือ ครู ตชด. โดยกว่าร้อยละ 50 ยังไม่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ กสศ. ได้สำรวจความต้องการพัฒนาครูและการเรียนรู้ของเด็กจากครู ตชด. พบครูต้องการความช่วยเหลือ 2 ส่วน คือ 1.พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 2.ต้องการเพิ่มวุฒิการศึกษาทางด้านครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประโยชน์ให้กับโรงเรียนและนักเรียน ทั้งนี้ หากกสศ.สามารถผลักดันให้ครูตชด.พัฒนาตนเองได้ สุดท้ายประโยชน์จะเกิดกับเด็กและนักเรียนยากจนด้อยโอกาสอีกด้วย

“ครู ตชด. เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สอนเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ขณะที่ผลสอบ O-NET ของเด็กโรงเรียน ตชด. อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตลอด กสศ. จึงมุ่งหวังให้โครงการนี้เข้าไปช่วยครู ตชด. ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กได้ ผ่าน 2 เรื่อง คือ 1. พัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เติมเต็มทฤษฎีจากคณาจารย์หรือพี่เลี้ยง และ 2. ให้ครูมีโอกาสเพิ่มความรู้และวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยคำนึงถึงบริบทความยากลำบากด้านการเดินทาง ดังนั้นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร 2. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 3. มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และ 4. มหาวิทยาลัยทักษิณ ออกแบบมานั้น นอกจากครูไม่ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยทุกวันแล้ว ยังจะมีการเทียบโอนหน่วยกิตได้บางส่วนจากภาคปฏิบัติในโรงเรียน และมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้าไปนิเทศก์การสอนในพื้นที่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับครู ตชด. ซึ่งจะสามารถจบการศึกษาได้ภายใน 3 ปี ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่จะมีหลักสูตรเพื่อครู ตชด.โดยเฉพาะ คาดว่าปี 2565 จะมีครูโรงเรียน ตชด.ได้รับการศึกษาจากหลักสูตรนี้เป็นรุ่นแรก นำร่องไม่น้อยกว่า 50 แห่ง ใน 15 จังหวัด เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี เลย อุดรธานี บึงกาฬ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ” ดร.อุดม กล่าว

ดร.สุธาสินี บุญญาพิทักษ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า การดำเนินงานจะทำคู่ขนาน นำบริบทของแต่ละโรงเรียนมาเป็นเกณฑ์หลักในการออกแบบหลักสูตร 2 ลักษณะ คือ 1. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู เหมาะกับครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านสาระเนื้อหาอยู่แล้ว แค่เติมคุณวุฒิบางส่วนให้ครูนำไปบูรณาการกับเนื้อหาที่มีอยู่ และ 2.หลักสูตรนวัตกรรมการศึกษาตลอดชีวิตบูรณาการประถมศึกษา เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีทางการศึกษา ผลิตครู 4 ปี ผู้เรียนจะได้คุณวุฒิระดับประถมศึกษาซึ่งเป็นคุณวุฒิสำคัญต่อการพัฒนาครู ตชด. หลักสูตรนี้จะบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ด้านวิชาการที่จำเป็นต่อการเป็นครูประถมศึกษา ความรู้บริบทโรงเรียนที่ชุมชนมีความหลากหลาย เพื่อให้หลักสูตรตอบสนองความต้องการของครู ตชด. ได้อย่างเหมาะสม

ผศ.ดร.กฤตวรรณ คำสม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ และ face to face คือ ผู้เรียนต้องเข้าพบอาจารย์เทอมละ 2 ครั้ง เพื่อเรียนรู้แนวคิด รับโจทย์ไปลงพื้นที่โรงเรียน เขียนแผนจัดการเรียนรู้และใช้งานจริง บันทึกผลการปฏิบัติ แล้วมาสะท้อนผลร่วมกัน ส่วนอาจารย์จะลงพื้นที่ใช้โรงเรียนเป็นฐานจัดการเรียนการสอน ติดตาม นิเทศก์ วัดผลประเมิน มีกิจกรรมเสริมวิชาการเพื่อเตรียมสอบใบประกอบวิชาชีพครู และจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ให้อาจารย์ไปสอนครู ตชด. จากพื้นที่ต่างๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างเครือข่ายให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แม้การออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับครู ตชด. จะเป็นเรื่องใหม่ แต่เชื่อว่าเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด มีอาจารย์ลงไปช่วยดู ใช้โรงเรียนและการทำงานของครู ตชด. เป็นฐานการเรียนรู้ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพครู ตชด. สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้โดยไม่ต้องทิ้งห้องเรียน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 16/11/2563

ก.แรงงาน จับมือ ศอ.บต.ส่งเด็กจบใหม่จาก 3 จชต.ทำงานนอกพื้นที่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้กลับมามีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ และระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว อีกทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงานเยาวชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีงานทำ ตนจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เร่งประสานงานกับ ศอ.บต. เพื่อนำเยาวชนในพื้นที่เข้าสู่ระบบการมีงานทำ ผ่านโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co-Payment) ที่กำลังรับสมัครอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้

นายสุชาติ กล่าวว่า การที่ ศอ.บต.เข้ามาอำนวยความสะดวกนำส่งแรงงานไปยังสถานประกอบการต่างๆ ที่มีความต้องการแรงงาน จะสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ และช่วยให้เยาวชนมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง นำมาซึ่งความสันติสุขในพื้นที่ได้อีกด้วย ซึ่งจากการประสานความร่วมมือ เบื้องต้นวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ จะมีแรงงานชุดแรกจำนวน 84 คน ที่ ศอ.บต.จะนำส่งแรงงานที่มีพื้นที่ภูมิลำเนาจังหวัดชายแดนใต้ไปยัง บริษัท แคล คอมพ์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย ) จำกัด ซึ่งเป็นสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี

พร้อมกันนี้ นายสุชาติ ได้ขอบคุณ ศอ.บต. ที่อำนวยความสะดวกนำส่งแรงงานจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ไปยังสถานประกอบการที่มีความต้องการแรงงานตามโครงการ Co -Payment เป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และนอกพื้นที่ ช่วยเหลือเด็กจบใหม่ให้มีงานทำ มีรายได้ นำความมั่นคงมาสู่พื้นที่ต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/11/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net