Skip to main content
sharethis

'คณะราษฎรไทย-นิวยอร์กเกอร์เพื่อประชาธิปไตย' จัดกิจกรรมรณรงค์และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสนับสนุนการชุมนุมคณะราษฎร 2563 อ่านแถลงการณ์เปิดผนึกประณามการกระทำของรัฐบาลไทย ประกาศเจตนารมณ์ยืนหยัดเคียงข้างราษฎรเรียกร้องประชาธิปไตย หน้าสำนักงานใหญ่ยูเอ็น นิวยอร์ก

กลุ่มคณะราษฎรไทย-นิวยอร์กเกอร์เพื่อประชาธิปไตย (Thai New Yorker For Demorcracy) รายงานว่าเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 กลุ่มคณะราษฎรไทย-นิวยอร์กเกอร์เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนไทย-อเมริกัน, ชาวนิวยอร์ก วัยทำงานและวัยเรียน ได้รวมตัวกัน (Organic Group) ทำกิจกรรมหน้าพื้นที่สำนักงานใหญ่ด้านหน้า UN บริเวณ 46 street และ 1st Ave. เริ่มติดตั้งป้ายรณรงค์ชั่วคราว พูดคุยแลกเปลี่ยน สมาชิกเริ่มทยอยมาสมทบเรื่อย ๆ ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงสนใจสอบถามและแสดงความเห็น ติดตามเรื่องราวในไทย ในฐานะที่เธอเคยไปท่องเที่ยวที่เมืองไทย ขอช่วยส่งให้กำลังใจในการชุมนุมรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริงในไทย 

คณะราษฎรไทย-นิวยอร์คเกอร์ฯ ได้เดินขบวนเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อนุสาวรีย์สันติภาพ  Peace monument ที่  RalpheBunche Park - 43street and 1Ave. บริเวณฝั่งตรงกันข้ามประตูทางเข้าสำนักงานใหญ่ ยูเอ็น บริเวณอนุสาวรีย์มีผู้คนสัญจรทั้งทางรถยนตร์ จักรยานพลุกพล่าน และชาวนิวยอร์คเกอร์ที่สัญจรไปมา เข้ามาพูดคุยทักทายถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย และร่วมเขียนข้อความ สนับสนุน เป็นกำลังใจ ส่งความในใจ ความคิดเห็น ต่อประวัติศาสตร์ ประชาชน และประชาธิปไตย ลงที่พื้นที่สื่อสารเสรีภาพรอบ ๆ บริเวณอนุสาวรีย์ คณะราษฎรนิวยอร์กฯ ได้แจกแถลงการณ์ประณามเปิดผนึกต่อผู้สนใจ ชาวนิวยอร์กท้องถิ่นต่างพูดถึงสถานการณ์ที่ขัดขวางการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยของไทยในอนาคต 

หลังจากนั้นทำกิจกรรม ‘เดินฝ่าข้ามขวากหนามเผด็จการ’ ไปกลับจากอนุสาวรีย์สันติภาพถึงหน้าสำนักงานใหญ่ยูเอ็น และเชิญชวนผู้ใช้รถใช้ถนนร่วม ‘บีบแตรเพื่อประชาธิปไตยไทย’ (Honk For Thai Demorcracy) หวังให้ได้ยินถึงด้านในยูเอ็น และรัฐบาลไทย ซึ่งมีผู้ใช้รถถนน ร่วมบีบแตรให้กับทางคณะฯ ล้นหลาม 

ต่อมาได้อ่านแถลงการณ์เปิดผนึกประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐในทุกรูปแบบต่อราษฎร ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย มาโดยตลอด ครั้งล่าสุดคือวันที่ 17 พ.ย.2563  โดยในแถลงการณ์ได้ประณามการใช้ความรุนแรง จากอำนาจรัฐอย่างเกินขอบเขตต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่ทำการประท้วงด้วยสันติวิธี และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐสภาปฏิบัติตาม 1. ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมสันติวิธี 2. รับฟังประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ต่อผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง 3. มีการใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรม อย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้กฎหมายรังแกผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง และ 4. ให้มีการพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอีกครั้ง และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากตัวแทนประชาชนทันที เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และผ่อนคลายความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย

ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์จำกัดโควิด-19 ผู้ประสานงานกลุ่มไม่สามารถติดต่อผู้เกี่ยวข้องมารับจดหมายเปิดผนึกได้ หากส่งอีเมล์ไปถึงผู้รับผิดชอบพันธกิจร่วมไทย-ยูเอ็นแล้ว และยุติกิจกรรมเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เสียงจากผู้เข้าร่วม ไทย-นิวยอร์คเกอร์

ต้าร์ ชาวไทย-อเมริกัน 37 ปี อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา 15 ปี 

"คิดว่าเป็นห่วง ทุกคนอยากให้มีประชาธิปไตยและเจริญมากกว่านี้ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อยากให้เป็นไปได้และอยากให้รัฐบาลหรือผู้มีอิทธิพลอะไรก็ช่างนะคะ ให้ลดลงมาฟังเสียงของประชาชนสักหน่อยเพราะว่าเราไม่ได้ไปทำร้ายประเทศชาติ แต่เราอยากให้ประเทศชาติเจริญ ที่เด็ก ๆ หรือใคร ๆ ออกมาต่อสู้อยู่ ณ ตอนนี้ก็คือ ไม่มีใครอยากทำร้ายประเทศชาติทั้งนั้นแหละค่ะ เค้ารักชาติถึงได้ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้บ้านเมืองเจริญขึ้น"

"สำหรับมาตรการของรัฐบาลต่อผู้ชุมนุม เป็นการทำเกินกว่าเหตุ เพราะว่าพวกที่ออกมาประท้วง ชุมนุม เขาไม่ได้มีอาวุธ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ถ้าคุณมีอาวุธหรือชุมนุมรุนแรง เขาถึงจะใช้พวกนี้ (ปืนฉีดน้ำความดันแรงสูง กระสุนยาง) มาสลายการชุมนุม บ้านเราเด็ก ๆ ทั้งนั้นและมือเปล่า ก็ขอประณามการกระทำนี้ของรัฐบาล ฝากถึงที่เมืองไทย สู้ๆ ไปด้วยกัน ทางนี้ก็จะทำทุกวิถีทางที่ช่วยได้"

เจเจ ชาวไทย-อเมริกัน 37 ปี อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา 13 ปี แอดมินกลุ่มคณะราษฎรไทย-นิวยอร์กเกอร์เพื่อประชาธิปไตย

"มาวันนี้เพื่อแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์ สนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เมืองไทย และไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของภาครัฐที่มีการใช้กำลังในการสลายการชุมนุมและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศไทยจริง ๆ ในทางที่ดีขึ้น และเชื่อว่าทุกคนที่มาวันนี้เพราะเรารักประเทศไทยถึงแม้ว่าเราจะอยู่ต่างประเทศ เรารักและเป็นห่วงประชาชนที่เมืองไทยทุกคนและอยากเห็นทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นเราเลยมา" 

"ส่วนเรื่องรัฐบาลปฎิบัติต่อผู้ชุมนุมคิดว่ารุนแรงเกินไปและไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะการประท้วงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสงบดี ไม่เหมือนการประท้วงทั่วไปที่เราเคยเห็นว่ารุนแรงและมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บตาย นี่เป็นการชุมนุมที่เรามารวมตัวทำกิจกรรม เป็นไปในทางสร้างสรรค์มากกว่า พอเห็นรัฐใช้มาตรการสลายการชุมนุมแล้วเห็นรัฐปล่อยให้ฟากตรงข้ามที่มาชุมนุมเข้ามาทำร้ายโดยอาวุธและกระสุนจริง คิดว่าเป็นอะไรที่เหมือนรัฐบาลทำให้ประชาชน เอ่อ ทำให้ฝั่งที่ชุมนุมเห็นชัดเจนว่า เค้าไม่ได้แคร์ สนใจ ในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องค่ะ"

ทางออกของประเทศไทย เห็นว่าถ้าเขาตอบรับข้อเสนอของผู้ชุมนุมก็จะเป็นทางออกได้แน่นอน สิ่งที่สำคัญ สิ่งที่เขาไม่อยากให้เราแตะต้อง มันก็ต้องคุยต้องแตะต้องได้แล้วนะคะ เพราะการที่ สถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญมันเป็นหลักสากลที่ประเทศอื่น ๆ ก็ทำกัน ถ้าจะอยู่ร่วมกันก็ต้องอยู่ในกฎ กติกาเดียวกัน เพราะเราก็คนเหมือนกัน ไม่มีใครล้มล้างหรอกค่ะเชื่อเหอะ ไม่มีใครที่จะล้มล้างแน่นอน"

"เลือกมาชุมนุมสถานที่นี่เพราะ คือหน้าตึกยูเอ็นฯ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เข้าไปข้างในแต่เราอยากให้ใครที่ผ่านไปมาแถวนี้ ทั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่ ได้เห็นว่าเรามีกิจกรรมตรงนี้ และเชื่อว่าเค้าคงมีการติดตามสถานการณ์ที่เมืองไทยอยู่บ้างว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรืองเล็ก"

"ฝากถึงคณะราษฎรและการชุมนุมที่จะมีขึ้นวันที่ 25 นี้ อยากให้ทุกคนดูแลรักษาตัวให้ดีเพราะเอาเข้าจริงๆ เราไม่เชื่อใจเลยกับรัฐบาลชุดนี้ รู้สึกว่าเป็นอะไรที่คาดการณ์ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้แสดงความรุนแรงอะไรแต่เหมือนกับเขาสร้างความรุนแรงกับเราได้เสมอ อย่างไรก็แล้วแต่อยากให้ทุกคนมีจุดยืนเดียวกัน ร่วมกันสู้และบรรลุเป้าหมายไปด้วยกันค่ะ"

เสียงจากนิวยอร์กเกอร์ท้องถิ่น

Flur - 27 ปี ชาวนิวยอร์ก นักกิจกรรม Black Live Metter~LGBTQ และเคลื่อนไหวแนวทางประชาธิปไตย 

"เราควรมีสิทธิ์ที่จะต่อสู้, ไม่มีเหตุผลได้ที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะแสดงออกในสิทธิที่เรามี, ประชาชนสมควรจะมีประชาธิปไตย และสิทธิที่เลือกผู้นำของตนเอง" (right to fight, no reason not to have ability to express the right, deserve democracy, right to choose their leaders) 

Rohan - 26 ปี ชาวนิวยอร์ก นักกิจกรรม Black Live Metter~LGBTQ และเคลื่อนไหวแนวทางประชาธิปไตย 

"ขอร่วมยืนหยัดสนับสนุน กับการต่อสู้ที่เมืองไทย เพราะเรามีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตแบบที่เราเลือก หากรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อเป็นอยู่ของประชาชนได้ ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน" (stand in solidarity with Thailand - rights to live as they are, if the government doesn't serve people or constitution, people deserve a new government and new constitution) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net