Skip to main content
sharethis

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือชุมนุมลานครูบาศรีวิชัย-ท่าแพ เชียงใหม่ ดันกระจายการถือครองที่ดินในรัฐธรรมนูญ-สนับสนุนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ นักวิชาการ มช. ชี้ ต้องคืนที่ดินให้ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกร พาสังคมพ้นวิกฤต “โควิด” และ “สึนามิการเมือง”

19 พ.ย. 2563 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จัดกิจกรรมชุมนุมรณรงค์ มหกรรม “ที่ดินเป็นของราษฎร 46 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ณ ลานครูบาศรีวิชัย ทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนจะเดินเท้าไปที่ข่วงประตูท่าแพ รำลึกวีรกรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน สิทธิชุมชน โดยสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยในช่วงปี 2516-1519 ประกาศสานต่อเจตนารมณ์บรรพบุรุษเกษตรกร ต่อสู้เพื่อกระจายการถือครองที่ดิน สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ และส่งสัญญาณยกระดับการเคลื่อนไหวสู่กรุงเทพมหานครยกเลิก “โฉนดชุมชน” โดยมีมวลชนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือประมาณ 500 คน จากพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมรณรงค์

กิจกรรมในช่วงเช้าจัดขึ้น ณ ลานครูบาศรีวิชัย ทางขึ้นดอยสุเทพ โดยมีพิธีกรรมทางศาสนา สืบชะตาแด่สมาชิกสหพันธ์ชาวชาวไร่แห่งประเทศไทยผู้ล่วงลับ ก่อนจะกล่าวคำสดุดีและไว้อาลัยแด่นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินและทรัพยากร หลังจากนั้นผู้แทนคนรุ่นใหม่ของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้กล่าวคำปฏิญาณสานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ ระบุว่าจะปกป้องผืนดินทำกินของบรรพบุรุษ ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ยืนยันรัฐธรรมนูญต้องมาจากเสียงประชาชน และขอสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกรูปแบบ บนหนทางแห่งประชาธิปไตย

รังสรรค์ แสนสองแคว ผู้ปฏิบัติงานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ กล่าวว่า สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยเคยเป็นขบวนการสำคัญที่ร่วมต่อสู้กับนักศึกษาในสมัยเหตุการณ์เดือนตุลาคม ปี 2516 และ 2519 ร่วมกับขบวนการกรรมกรและแรงงาน นำไปสู่คุณูปการแด่คนรุ่นหลัง คือการตราพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เป็นฐานะเป็นลูกหลานของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ จึงยังต้องสานต่อด้วยการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินโดยแท้จริง ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“การต่อสู้ของเราที่ผ่านมาเต็มไปด้วยอุปสรรค เหมือนจะไปได้แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ รัฐ ทุน และศักดินายังร่วมมือกันกดขี่คนจน เราในฐานะลูกหลานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ถึงเวลาผ่อนถ่ายให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสานต่อ เริ่มจากการดันให้การกระจายการถือครองที่ดินไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ และให้สิทธิชุมชนเป็นจริงให้ได้ ปัญหาที่ดินต้องแก้ให้จบ ไม่ควรส่งต่อให้คนรุ่นหลังต้องมาตามแก้อีกแล้ว” รังสรรค์กล่าว

กิจกรรมในช่วงบ่าย มวลชนเคลื่อนขบวนไปที่ข่วงประตูท่าแพ ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 3 ชั่วโมง ชูป้ายรณรงค์ เช่น “เบื่อประยุทธ์” “คุกมีไว้ขังคนจน” “หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า” “ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดิน ที่ดินเป็นของราษฎร” “จนจริง เจ็บจริง แอบแซ่บที่ดินชาวบ้าน” แล้วจึงตั้งเวที เปิดพื้นที่ให้มวลชนขึ้นมาปราศรัย

นักวิชาการ มช. ย้ำ ต้องจัดความสัมพันธ์อำนาจใหม่ในสังคม

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปาฐกถา พูดถึงโครงการทางการเมือง (Political Project) ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เพิ่มประโยชน์ให้ชนชั้นนำ ทวีความเหลื่อมล้ำ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ (iLaw) ถูกตีตก ร่วมกับนโยบายประชานิยมที่เปรียบเสมือนการหยอดน้ำข้าวต้มให้คนป่วย ให้ไม่ตาย แต่ไม่ให้แข็งแรง

“สิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนใน 46 ปีนี้คือการแบ่งชนชั้นของสังคมไทยมันหนักแน่นและหนักหนา เพราะรัฐตั้งใจที่จะวางมันเอาไว้เพื่อให้พวกเรากลายเป็นแค่แรงงานเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องมีสิทธิเสรีภาพ นี่คือสังคมไทย คนจนบ้านเราตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านกว่า แต่คนเกือบจนมีประมาณถึง 7-8 ล้าน คนเกือบจนคือคนที่ออกมาหาบเร่แผงลอย ขายไอติม ขายลูกชิ้น คนที่เกือบจนเหล่านี้ไม่สามารถขยับตัวขึ้นมาได้” อรรถจักร์กล่าว

นอกจากนั้น อรรถจักร์ยังกล่าวว่า สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตสองเรื่อง ได้แก่ การระบาดของโควิดและสึนามิทางการเมือง กล่าวคือ เมื่อมีสถานการณ์โควิด ชุมชนต้องพึ่งพิงที่ดินและฐานทรัพยากรมากขึ้น ในขณะที่รัฐก็เร่งแย่งยึดที่ดิน ทำให้ชุมชนไม่มีหลังพิง ประกอบกับสถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ที่ไม่ว่าอย่างไรกลุ่มกลุ่มเกษตร คนจน ชาวนา ชาวไร่ และชาติพันธุ์อย่างพวกเราก็ต้องการ รวมถึงสืบทอดเจตนารมณ์ของสหพัน์ชาวนาชาวไร่ฯ ต่อไป

“สิ่งที่พวกเราต้องทำคือยืนให้มั่น คิดให้ชัดเจน สืบทอดปณิธานของสหพันธ์ชาวไร่ชาวนา ‘ความเสมอภาค ความยุติธรรม พลเมือง’ นี่คือหัวใจที่จะต่อสู้ไปสู่อนาคตที่งดงามของสังคมไทย ถ้าสังคมไทยปราศจากความเสมอภาค ความยุติธรรม ปราศจากสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมกัน สังคมไทยไปไม่รอด มีแต่จะฆ่ากัน และคุณจะฆ่ากันได้สักเท่าไหร่ … สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้พวกเราต้องยืนอยู่บนหลักการ และหลักการนี้มีความสำคัญกับชีวิตของพวกเรา ข้อเรียกร้องเบื้องต้นเกี่ยวกับชีวิตของพวกเราที่สำคัญก็คือหยุดกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวกับที่ดิน เกี่ยวกับป่าไม้ ต้องหยุดหมดและลงไปศึกษารูปธรรมที่ชัดเจน พี่น้องชนเผ่าที่อยู่บนดอยจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะที่ไม่เหมือนกับพื้นราบ กฎหมายป่าชุมชนต้องถูกจรรโลงและทำให้เข้มแข็งมากขึ้น เราต้องยืนตรงนี้ การยืนตรงนี้ ยืนอยู่บนหลักการที่สำคัญที่สหพันธ์ชาวไร่ชาวนาได้สร้างสรรค์ไว้ ได้ทิ้งไว้เป็นมรดกให้เรา ความเสมอภาค ความเป็นธรรม สิทธิพลเมือง” นักวิชาการมนุษยศาสตร์ย้ำ

ในช่วงท้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้กล่าวแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ ย้ำจุดยืนเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันมาตรการการกระจายการถือครองที่ดิน คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์อย่างถึงที่สุด ลั่นยกระดับการเคลื่อนไหวหากรัฐบาลยกเลิกนโยบายโฉนดชุมชน รวมทั้งประกาศสนับสนุนข้อเรียกร้องและแนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่กำลังต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า นำความเป็นธรรมและประชาธิปไตยกลับคืนสู่ปวงชน เฉกเช่นเดียวกับบรรพบุรุษสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่เคยร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับขบวนการนักศึกษา เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

คำประกาศเจตนารมณ์มหกรรมที่ดินเป็นของราษฎร  46 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย

พี่น้องประชาชน ชาวนา ชาวไร่ ผู้ใช้แรงงาน ชาติพันธุ์ คนจนผู้ทุกข์ยากทั้งหลาย อันเป็นผลผลิตที่เกิดจากโครงสร้างอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม บนความลำเอียงของนโยบายแห่งรัฐในการจัดการที่ดิน ทรัพยากรทั้งหลาย ทั้งยังถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ คุกคามจนทำให้คนจนต้องอยู่อย่างทุกข์ยาก ขาดอำนาจต่อรอง เข้าไม่ถึงการจัดการทรัพยากร

พวกเรา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ในนามลูกหลานชาวนา ชาวไร่ ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ บรรพบุรุษของเรา บุกเบิก แผ้วถาง ต่อสู้ ในนาม “ประชาชน ชาวนา ชาวไร่ ผู้หล่อเลี้ยงชาวโลก” ขอประกาศเจตนารมณ์แห่งการมีชีวิตอยู่อย่างทรงคุณค่าและเกียรติภูมิ ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และความเท่าเทียม เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันหาญกล้าของวีรชนที่ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมทั้งปวง ในนาม “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ในอดีตซึ่งเคยมีสมาชิกชาวนาชาวไร่กว่า 1 ล้าน 5 แสนคน จากประชากร 30 ล้านคน เมื่อ 46 ปีที่แล้ว

วันนี้ที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตของชาวนาชาวไร่ผู้สร้างโลก ได้กลายเป็นสินทรัพย์และอำนาจทางสังคม จากการกระจุกตัวของที่ดินในมือชนชั้นนำส่วนน้อยของประเทศได้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะคนส่วนใหญ่ของประเทศ กลับเข้าไม่ถึงและไร้ซึ่งความมั่นคงในที่ดิน

อีกทั้งพี่น้องชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงและชุมชนในเขตป่าหลายแห่ง ที่ต้องเผชิญสถานการณ์การแย่งยึดที่ดินอย่างเลือดเย็น ด้วยการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิ ประหนึ่งว่าชุมชนในเขตป่าต้องตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของรัฐส่วนกลาง กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ จนไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปรกติสุขดังที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ การเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐานเหล่านี้เอง ที่ยิ่งทวีความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนมิอาจทนต่อการถูกกดขี่ข่มเหงซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกต่อไป

เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตและความเป็นธรรมทางสังคม เราขอประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้

1. เราจะรณรงค์ผลักดันอย่างถึงที่สุด ให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย เพื่อสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงบทบัญญัติว่าด้วยการกระจายการถือครองที่ดินสู่คนจนและเกษตรกรรายย่อยอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง

2. เราจะเคลื่อนไหวผลักดันกลไกรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ในการบังคับใช้และปฏิรูปกฎหมาย บทบัญญัติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน สร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำจนถึงที่สุด

ให้นำประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6 กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาบังคับใช้อีกครั้งหนึ่ง

ให้แก้ไขกฎหมายป่าอนุรักษ์ และมติคณะรัฐมนตรีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้

ต้องบัญญัติกฎหมายใหม่ เพื่อกระจายการถือครองที่ดินรวมทั้ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และ พ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน

ต้องบัญญัติพ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามรัฐธรมนูญมาตรา 70 โดยเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมโดยตรงของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม

ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีป่าไม้อย่างไม่เป็นธรรม และให้มีการบัญญัติกฎหมายนิรโทษกรรมในคดีป่าไม้ที่ดินกับประชาชน

3. เรียกร้องต่อกลไกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระจายการถือครองที่ดิน เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และสถาบันบริหารจัดการที่ดิน ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงที่ดินได้อย่างถ้วนหน้า

4. ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินของปัจเจก นิติบุคคล และที่ดินของรัฐ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในตรวจสอบการถือครองที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน

5. เราขอประกาศสนับสนุนข้อเรียกร้องและแนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่กำลังต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า นำความเป็นธรรมและประชาธิปไตยกลับคืนสู่ปวงชน เฉกเช่นเดียวกับบรรพบุรุษสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่เคยร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับขบวนการนักศึกษา เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เราขอยืนยันสานต่อเจตนารมณ์นี้ในฐานะเกษตรกรร่วมสมัยผู้ไม่อาจทนต่อการถูกข่มเหงรังแก

ในวาระครบรอบ 46 ปีการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ในฐานะของผู้แบกรับภารกิจประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราเห็นว่า “สังคมประชาธิปไตย” เท่านั้น ที่จะเป็นคบเพลิงอันรุ่งโรจน์ส่องประกายล้างความมืดมิดพลิกวิกฤติความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินให้มลายหายไป นำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินให้กับประชาชน เราจะผลักดัน ต่อสู้อย่างถึงที่สุด เพื่อให้ปัญหาที่ดินและทรัพยากร “จบที่รุ่นเรา” ไม่ขอส่งต่อมรดกบาปนี้ให้คนรุ่นหลังอีกต่อไป

ด้วยจิตคารวะ

“ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ กฎหมายต้องเป็นธรรม ”

ณ ลานท่าแพ

สุดท้ายนี้ เราได้ทราบข่าวล่าสุดว่ารัฐบาลพยายามจะยกเลิกโฉนดชุมชน นโยบายอันเป็นหัวใจสำคัญของการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม คือ “สิทธิชุมชน” ที่ได้รับการผลักดันจากภาคประชาชน เพื่อจะคุ้มครองผืนดินทำกินไม่ให้หลุดมือจากเกษตรกร ไปอยู่ในมือของทุน เราขอยืนยันว่า หากรัฐบาล นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันจะยกเลิกนโยบายนี้ เราพร้อมจะยกระดับการเคลื่อนไหว เคลื่อนพล เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ ณ กรุงเทพมหานค

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net