Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร' ชี้หลักคิด 'คณะก้าวหน้า' ว่าด้วยการกระจายอำนาจ - ยืนยันมุ่งมั่นเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นสู่การกระจายอำนาจสมบูรณ์

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดรายการสด “ก้าวหน้าทอล์ค” ทางเฟสบุ๊คไลฟ์ในหัวข้อ “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ คืนงบ คืนอำนาจให้ท้องถิ่น” ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงแนวคิดการกระจายอำนาจ ตลอดจนความเป็นมา และอุปสรรคของการกระจายอำนาจในประวัติศาสตร์ไทย และสิ่งที่เป็นแนวคิดของคณะก้าวหน้าในการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นแนวคิดธงนำในการลงสมัครับเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคมนี้

ประเทศไทยไม่ได้รวมศูนย์มาตั้งแต่แรก-ย้อนประวัติศาสตร์ ชี้ประเทศไทยมาจากการล่าอาณานิคมภายใน-สถาปนาระบอบราชการรวมศูนย์

โดยนายปิยบุตรระบุ ว่าเรื่องของการกระจายอำนาจนี้ เราพูดกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 จนทยอยเกิดการกระจายอำนาจ แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้การกระจายอำนาจยังไม่สำเร็จสมบูรณ์เสียที ยิ่งหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 การกระจายอำนาจยิ่งถอยหลังลงด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งหมดตนมองว่ามาจากสาเหตุในสามมิติด้วยกัน

มิติที่ 1) การต่อสู้ในทางความคิดว่าด้วยการกำเนิดขึ้นของรัฐไทย แน่นอนว่าทุกคนย่อมเคยผ่านการอบรมบ่มเพาะมาจากหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ว่ากำเนิดของประเทศไทยเริ่มต้นประวัติศาสตร์มาจากสมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เรารู้จักประเทศไทยว่าเป็นแผนที่ขวานทอง ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ฯลฯ

แต่จริงๆแล้ว ประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของรัฐไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนรู้กันมาตามหลักสูตร เป็นประวัติศาสตร์สกุลกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่รวมศูนย์เนื้อหาเอาไว้ที่วีรกรรมของพระมหากษัตริย์ มองกรุงเทพเป็นศูนย์กลางของอำนาจ มองประเทศสยามมีศูนย์กลางที่กรุเทพ แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น

การเกิดขึ้นเป็นรัฐชาติของประเทศไทย เกิดขึ้นหลังยุโรปหลายปี เพิ่งมาเกิดในช่วง 2440 เท่านั้นเอง ก่อนหน้านั้นประเทศสยามยังไม่ได้เป็นประเทศอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นชุมชนการเมืองแยกกันอยู่เป็นกลุ่มต่างๆ จังหวัดต่างๆในประเทศไทยวันนี้ก่อนหน้านั้นล้วนแคยเป็นส่วนหนึ่งของหัวเมืองต่างๆที่มีผู้ปกครองของตนเอง แต่เพียงส่งเครื่องบรรณาการให้กรุงเทพ เพื่อเป็นเครื่องหมายของมิตรภาพ ไม่ใช่เมืองประเทศราชของกรุงเทพ

ต่อมากรุงเทพจึงเริ่มมีอิทธิพลในทางกำลังทหาร การเมือง เศรษฐกิจ เข้าไปครอบงำหัวเมืองต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ความร่วมมือกับชาติตะวันตกเสียด้วยซ้ำ อย่างเช่นอังกฤษร่วมมือกับรัฐบาลสยามเพื่อขยายอำนาจเข้าไปในหัวเมืองทางเหนือ เพื่อให้อังกฤษได้รับความสะดวกในการตั้งบริษัทค้าไม้ จนได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย อังกฤษได้ทรัพยากรไม้ ส่วนสยามได้ส่วนแบ่ง เป็นต้น มีการตกลงกับอังกฤษตลอดเวลา ขณะเดียวกันสยามก็ทำตัวเป็นผู้ล่าอาณานิคมภายใน ยอมให้อังกฤษเข้ามาครอบงำ ขณะเดียวกันก็เข้าไปกินหัวเมืองต่างๆมารวมเป็นส่วนหนึ่งจนก่อเกิดเป็นรัฐชาติสยามขึ้นมา

การเกิดขึ้นของรัฐชาติในประเทศไทยจึงแตกต่างจากรัฐชาติในประเทศอื่นๆ รัฐชาติหลายแห่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวระหว่างกลุ่มคนที่มีภาษา สังคม วัฒนธรรมคล้ายๆกัน รวมมาเป็นรัฐชาติ แต่ของประเทศสยามใช้วิธีการบังคับผ่านอำนาจทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ ค่อยๆหลอมรวมเข้ามาเป็นชาติสยาม จนถึงเป็นรัฐไทยในปัจจุบันนั้นเอง

“เวลาเราพูดว่าอำนาจมันรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง ต้องเอากลับไปไว้ที่ท้องถิ่น แต่หากเราศึกษาประวัติศาสตร์จริงๆแล้ว อำนาจมันอยู่ที่จังหวัดต่างๆ ที่เมืองต่างๆอยู่แล้ว แต่ในบางช่วงบางตอน บางยุคบางสมัย เราก็ไปรวมดึงเข้ามาอยู่ส่วนกลางแล้วส่งคนไปปกครองในจังหวัดต่างๆ แล้วพอวันนี้มาถึงยุคที่เราต้องการใช้เทคนิคการบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจเอากลับไปไว้ที่ท้องถิ่น จริงๆแล้วมันจึงไม่ใช่เอาอำนาจจากตรงกลางไปกระจายให้ท้องถิ่น เอาเข้าจริงมันคือการทวงคืนอำนาจให้กลับไปที่จังหวัดต่างๆนั่นเอง ให้เขาได้มีอำนาจในการบริหารจัดการ” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ว่าดังนั้น การรวมอำนาจเอาไว้ที่ส่วนกลางไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นเรื่องของยุคสมัย เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินในยุคหนึ่งๆ แต่ละที่เคยมีเจ้าเมือง มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง การเกิดขึ้นของรัฐชาติสยามเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้เอง แล้วเกิดขึ้นด้วยอำนาจ กำลังบังคับให้มาเป็นส่วนหนึ่งของเรา รวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง วันนี้มาถึงยุคศตวรรษที่ 21 การบริหารราชการแบบนี้ไม่ตอบสนองพื้นที่ และถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาอำนาจกลับไปไว้ที่ท้องถิ่น

หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ในแบบนี้ เราจะลดทอนความคิดแบบชาตินิยม ว่าชาติอยู่ที่ศูนย์กลาง ส่วนกลางเป็นส่วนหลัก ต้องส่งคนลงไปปกครอง ต้องตัดสินใจที่ส่วนกลาง ทำให้การกระจายอำนาจถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติและต้องเกิดขึ้น นี่คือเรื่องของการทำงานทางความคิด

ชี้ระเบียบราชการ-กฎหมายสร้างอุปสรรคการกระจายอำนาจ-ราชการหวงอำนาจ

นายปิยบุตรกล่าวต่อไปถึงมิติที่ 2) กลไกทางกฎหมายของประเทศไทย ว่าระบบราชการต่างๆที่เป็นไปในทิศทางการรวมศูนย์มากกว่าการกระจายอำนาจนี้ มีสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งมาจากระบบกลไกกฎหมายที่เป็นอยู่เป็นอุปสรรคต่อการกระจาอำนาจ ทำให้เกิดรัฐรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง

ที่ผ่านมาเราหารัฐบาลที่จริงจังจริงใจในการกระจายอำนาจได้น้อยมาก เพราะนั่นคือการเฉือนอำนาจของรัฐบาลส่วนกลางออกไปให้คนอื่น เมื่อมาดูระบบกฎหมายก็มีอุปสรรคเต็มไปหมด หนึ่งในน้้นคือรากฐานความคิดว่ารัฐไม่ใช่นิติบุคคล แต่นิติบุคคลคือกระทรทวง ทบวง กรม ส่วนราชการต่างๆ ที่นักเรียนกฎหมายมหาชนในประเทศไทยต่างต้องเคยได้ร่ำเรียนมา

คำอธิบายเช่นนี้ ส่งผลต่อความยากลำบากในการกระจายอำนาจ เพราะเมื่อส่วนราชการต่างๆมีสถานะเป็นนิติบุคคล จะเกิดความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของขึ้น ทุกส่วนราชการจะหวงของขของตัวเองเอาไว้ รัฐบาลกี่ชุดต้องการปฏิรูประบบราชการทำได้ยากมาก การบริหารแผ่นดินก็เป็นไปแบบหน่วยงานใครหน่วยงานมัน

ปัญหาของระบบราชการไทยคือการให้สถานะนิติบุคคลแก่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่ทำให้การเปลี่ยน/โอนย้ายภารกิจ บุคลากร งบประมาณ จะต้องทำเป็นกฎหมายขึ้นมา การเอาภารกิจต่างๆไปไว้ให้กับท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจจึงยากตามไปด้วย

ในขณะที่ต่างประเทศ รัฐบาลที่ขึ้นมาสามารถจัดสรรกระทรวง ทบวง กรมใหม่ได้ แต่งตั้ง โยกย้ายภารกิจได้หมด แต่ของประเทศไทยต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ ประเทศไทยกลายเป็น “กรมมาธิปไตย” หลายกรณีกรมใหญ่กว่ารัฐมนตรีเสียอีก นี่คือสภาพปัญหาของประเทศไทย ทำให้ไม่ว่าจะปฏิรูประบบราชการ กระจายอำนาจ ทุกอย่างติดขัดไปหมด

การกระจายอำนาจที่ผ่านมาของประเทศไทย มีการโอนภารกิจไปที่ท้องถิ่นก็จริง แต่ก็มีระเบียบภายในของกระทรวงมหาดไทยหลายฉบับ ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ในการเข้าไปแทรกแซงภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ เราจึงมีนโบายสมัยพรรคอนาคตใหม่ว่าเราจะรื้อระเบียบที่ขัดขวางการกระจายอำนาจและขัดรัฐธรรมนูญเหล่านี้ทิ้งให้หมด

ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือการที่การให้บริการสาธารณะในท้องถิ่นกลายเป็นภารกิจของหน่วยงานราชการจากส่วนกลางเต็มไปหมด ทั้งที่ความเป็นจริงควรจะมีการแบ่สรรเป็นบริการสาธารณะในระดับชาติ และบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่น สิ่งใดที่เป็นภารกิจในระดับท้องถิ่นต้องให้ท้องถิ่นเป็นคนดำเนินการทั้งหมด ส่วนกลางดูเพียงนโยบายใหญ่ในภาพใหญ่เท่านั้น เราเคยเสนอว่าให้มีการแบ่งสรรงบประมาณให้ถึง 50-50 คือส่วนกลางได้ 50% ส่วนท้องถิ่นได้ 50% ของงบประมาณด้วยซ้ำ

และนี่ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน เหมือนที่มายาคติจำนวนหนึ่งพยายามโจมตีแน่นอน ประเทศไทยไม่เท่ากับกรุงเทพ ประเทศไทยไม่เท่ากับส่วนกลาง วันนี้กระจายอำนาจกลับไป ไม่ใช่การให้เป็นประเทศ แต่ให้มีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่มากขึ้น และยังคงเป็นรัฐเดี่ยวอยู่เหมือนเดิม

การกระจายอำนาจในลักษณะนี้ที่อื่นก็ทำ ญี่ปุนเป็นราชอาณาจักร เป็นรัฐเดี่ยว อยู่ในเอเชีย ใช้การกระจายอำนาจจนไม่เหลือส่วนภูมิภาคอีกต่อไปแล้ว ก็ไม่เห็นจะเกิดการแบ่งแยกประเทศออกจากกันอย่างที่คนบางส่วนที่ต่อต้านการกระจายอำนาจมีความกังวลกัน

“จริงๆแล้วการรวมอำนาจอาจจะเหมาะสมในยุคในสมัยหนึ่ง แต่วันนี้รวมแล้วมันแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนไม่ได้ เมื่อรวมอำนาจ การตัดสินใจว่าจะทำอะไรหลายเรื่องส่วนกลางตัดสินใจให้ในสิ่งที่เขาไม่อยากได้ สิ่งที่จังหวัดต่างๆอยากได้กลับไม่ได้ เพราะคุณไปคิดแทนเขา ยังไมนับรวมเรื่องความล่าช้า ยังไม่นับรวมเรื่องการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดมันทำให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่ที่เมืองหลวง ผมถามเอาง่ายๆ ทำไมประเทศไทย 76 จัดหวัดบวกกรุงเทพมหานคร ทำไมการคมนาคมขนส่งที่ดีอยู่ที่เพียงกรุงเทพมหานคร? ทำไมพี่น้องจังหวัดอื่นเสียภาษีเหมือนกันไม่ได้เรื่องพวกนี้? เพราะมันติดตรงนี้ มันไม่มีอำนาจ มันไม่มีงบประมาณเพียงพอ แต่ถ้าเราคิดฐานใหม่ว่าการบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นไปอยู่ที่จังหวัดทั้งหมด แต่ละจังหวัดเขาจะคิดออกแบบขึ้นมา ผมเดินทางรณรงค์หาเสียงมาจนถึงวันนี้ จังหวัดแต่ละจังหวัด ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นของประเทศไทยมีศักยภาพมาก เพียงแต่มันมีก้อนหินทับทุกๆจังหวัดอยู่ ถ้าเรายกก้อนหินก้อนนี้ออกได้ดอกไม้จะสพรั่งเลย ความเจริญก้าวหน้า ศักยภาพของคนไทยที่มีอยู่มหาศาลจะออกมาเต็มไปหมด แล้วผลลัพธ์ที่ดีอยู่ที่ประชาชนคนไทยในแต่ละจังหวัดนั่นเอง” นายปิยบุตรกล่าว

ย้ำ “คณะก้าวหน้า” ตั้งใจเต็มที่ หวังผลักดันการเมืองท้องถิ่นแบบใหม่ให้พ้นอิทธิพล-บ้านใหญ่-คอรัปชั่น

นายปิยบุตรกล่าวต่อไปอีก ว่ามิติที่ 3) การเมืองท้องถิ่นแบบใหม่ แบบสร้างสรรค์มีน้อยเกินไป ส่วนใหญ่การเมืองท้องถิ่นวันนี้มักถูกครอบงำโดยตระกูลการเมืองต่างๆ ที่ยึดจังหวัดแข่งสลับกันไปมา เป็นการเมืองของบ้านใหญ่ ใช้โอกาสในการบริหารงบประมาณแก่ประโยชน์พวกพ้อง เราได้ยินกันมาโดยตลอด เวลาเรารณรงค์ว่าต้องกระจายอำนาจกลับไปที่ทองถิ่น คนจะบอกทันทีว่าจะทำให้เกิดมาเฟีย การทุจริตที่มากขึ้น

ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำให้การเมืองท้องถิ่นดีขึ้นกว่าเดิมด้วย เราจึงตัดสินใจลงมาทำการเมืองท้องถิ่น เปลี่ยนจากการแข่งขันว่าใครอยู่บ้านหลังไหน เป็นแข่งขันกันที่นโยบาย ถ้าเราเปลี่ยนจากการแข่งขันโดยใช้เงิน ใช้อิทธิพล ให้เป็นการเมืองของคนทั่วไปที่อยากกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง ได้รับการสนับสนุน ได้เอาความคิดไปขาย การเมืองท้องถิ่นแบบบ้านใหญ่ก็จะค่อยๆหายไป กลายเป็นการเมืองท้องถิ่นของทุกคน ของคนที่หวังดีต่อบ้านเกิดตัวเอง

คณะก้าวหน้าจึงตั้งใจว่าจะต้องลงการเมืองท้องถิ่นในทุกระดับให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันในระดับชาติ แม้พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบไปแล้ว แต่ตนเชื่อเหลือเกินว่าพรรคก้าวไกลจะจริงจังในการผลักดันเรื่องนี้ต่อ พยายามเข้าไปมีอำนาจรัฐ เพื่อเอาอำนาจผ่องคืนกลับมาที่ท้องถิ่น ขณะที่ท้องถิ่นต้องมีตัวอย่างแบบใหม่ให้เห็นด้วย และนี่คือสิ่งที่คณะก้าวหน้ากำลังทำในวันนี้

“เราไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่นมาแล้วหลายปี ครั้งนี้ได้เลือกแล้ว อยากเชิญชวนพี่น้องมาใช้สิทธิใช้เสียงกันให้มาก คณะก้าวหน้าตั้งใจอยากส่งคนใหม่ลงเพื่อให้เกิดการเมืองแบบใหม่ เราทำงานกันอย่างหนัก แกะงบประมาณ ออกแบบนโยบาย พัฒนาจังหวัดต่างๆ พิสูจน์ให้เห็นว่าการกระจายอำนาจะทำให้เกิดผลดีอย่างแท้จริง” นายปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net