บรรษัทใหญ่ส่วนมากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

จากรายงานเกณฑ์มาตรฐานสิทธิมนุษยชนของบรรษัทประจำปี 2563 แสดงให้เห็นว่าบรรษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากที่ละเลยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่านักลงทุนและลูกค้าของพวกเขาจะเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็ตาม

22 พ.ย. 2563 ในสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานจากองค์กรสมาพันธ์เกณฑ์มาตรฐานโลก (World Benchmarking Alliance) ที่ทำการรวบรวมข้อมูลและจัดอันดับบริษัทต่างๆ ในด้านความสำเร็จเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) พบว่าบรรษัทใหญ่ยังคงล้าหลังมากในเรื่องการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

รายงานเกณฑ์มาตรฐานสิทธิมนุษย์ชนของบรรษัทประจำปี 2563 รวบรวมข้อมูลจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ 229 แห่งพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งในจำนวนบรรษัทเหล่านี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 1 กรณี และในจำนวนนี้มีอยู่ร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีการชดเชยอย่างเหมาะสมแก่เหยื่อ

รายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนบรรษัทได้ทำการวัดผลจาก 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคส่วนการเกษตร, สิ่งทอ, การขุดเจาะทรัพยากร, การผลิตเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภาคส่วนยานยนต์

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นอีกว่ามีบริษัทไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ "แสดงความเต็มใจและมีพันธกิจในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง" และการระบาดของ COVID-19 ก็ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการปล่อยปละละเลยสิทธิมนุษยชนแย่ลง

ผู้สำรวจพบว่าบรรษัททำได้แย่ในเรื่องนี้ตั้งแต่ "การสอบทานธุรกิจ" (due diligence) แล้ว จากการที่ร้อยละ 46.2 ของบรรษัททั้งหมดไม่เผยแพร่ข้อมูลความโปร่งใสตรงนี้ ซึ่งรวมถึงในแง้การวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงทางสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องนี้คามิลล์ เลอ ปอร์ส ผู้นำองค์กรสมาพันธ์เกณฑ์มาตรฐานโลกบอกว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก

ภาคส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นภาคส่วนที่ทำได้แย่ที่สุดในด้านสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่ที่มีการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับภาคส่วนนี้มาตั้งแต่ปี 2560 จากการที่ไม่มีการบันทึกหรือบริหารตัดการเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในสายงานการผลิตของพวกเขา

บริษัทด้านบานยนต์ที่ทำได้ดีที่สุดในเรื่องสิทธิมนุษยชนคือฟอร์ดมอเตอร์ กรุ๊ปพีเอสเอ และเดมเลอร์ จากการที่พวกเขามีการสอบทานธุรกิจในเรื่องนี้ บริษัทที่ทำได้แย่ที่สุดคือ เกรทวอลล์มอเตอร์, เอสเอไอซี มอเตอร์, ฉางอัน ฉงชิ่ง และเอฟเอดับเบิลยูคาร์คอมพานี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทรถสัญชาติจีน

นอกจากนี้รายงานยังระบุถึงบริษัทในภาคส่วนอื่นๆ ที่ทำได้ดีขึ้นในเรื่องการสอบทานทางด้านสิทธิมนุษยชนเช่น อะดีดาส, อิริคสัน และยูนิลิเวอร์ ส่วนสตาร์บัค, รอสส์สโตร์ และฟิลิปส์ 66 ยังขาดพัฒนาการตรงนี้

อัลจาซีราระบุว่าบรรษัทยักษ์ใหญ่มีบทบาทสำคัญในการทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สหประชาชาติตั้งเป้าไว้ในปี 2573 แต่ทว่าในขณะที่บางบริษัทจะสามารถทำตามเป้าหมายของ "หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ" (UNGPs) แต่ทุกภาคส่วนกลับไม่ดำเนินบนครรลองเพื่อบรรลุเป้าหมายของยูเอ็น

ทีมด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ระบุว่า ภาคส่วนห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเหล่านี้มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีหลักนิติธรรมที่อ่อนและไม่มีการบังคับใช้มาตรฐานการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างจริงจัง ทำให้บริษัทเหล่านี้อาศัยช่องโหว่ในการลดต้นทุนตัวเองไปพร้อมๆ กับทำให้ลูกจ้างของพวกเขาสูญเสียสิทธิมนุษยชนไป

เรื่องนี้สะท้อนในสถิติของรายงานที่ระบุว่าบรรษัทเหล่านี้มีฐานการผลิตร้อยละ 85 ในประเทศกำลังพัฒนาถึงแม้ว่าร้อยละ 78 ของบริษัทเหล่านี้จะมีสำนักงานอยู่ในประเทศสมาขิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

รายงานเรื่องเกณฑ์มาตรฐานสิทธิมนุษยชนยังระบุเน้นย้ำความสำคัญต่อการเชื่อมโยงประเด็นสิทธิมนุษยชนและภาวะโลกร้อนเข้าด้วยกัน เนื่องจากสองประเด็นนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน เช่น การที่บางบริษัทมีมาตรการเรื่องโลกร้อนแต่มาตรการเหล่านั้นละเลยที่จะคำนึงถึงมิติด้านสิทธิมนุษยชน และในทางกลับกันการมองเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ต้องคำนึงถึงปัญหาโลกร้อนด้วย ซึ่งรายงานเสนอให้มีการมองแบบองค์รวมกับปัญหาเหล่านี้ เพราะการละเลยปัญหาใดปัญหาหนึ่งจะทำให้เกิดการกดขี่ข่มเหงและความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นได้

องค์กรเกณฑ์มาตรฐานโลกยังเสนอว่ารัฐบาล นักลงทุน และผู้ถือหุ้นล้วนแล้วแต่มีบทบาทในการออกมาตรการกำกับดูแลและตั้งมาตรฐานให้กับบรรษัทเหล่านี้ทั้งสิ้น ซึ่งจะช่วยให้บรรษัทเหล่านี้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนได้

ทีมด้านสิทธิมนุษยชนของ UNDP ระบุเพิ่มเติมว่า บริษัทเหล่านี้มักจะดำเนินการโดยอาศัยการประเมินเรื่องความเสี่ยงของตัวเองเป็นหลักจากการเทียบเคียงกับกฎหมายแรงงานในประเทศนั้นๆ ทำให้พวกเขาไม่มีการดำเนินการหรือมีการดำเนินการอ่อนมากในการทำตามมาตรฐานนานาชาติ

เรียบเรียงจาก
Corporate giants are falling down on human rights, says study, Aljazeera, 19-11-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท