Skip to main content
sharethis

กลุ่มสเก็ตบอร์ดที่รวมตัวกันในนาม “คณะราษสเก็ต” ท้าอำนาจรัฐ ทวงคืนประชาธิปไตย ‘เชน’ แอดมินกลุ่มระบุว่าแม้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะจบลง เขาก็จะยังแสดงออกทางการเมืองผ่านแผ่นสเก็ตบอร์ดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความหลากหลายทางเพศ หรือประเด็นอำนาจนิยมในโรงเรียน

อเล็กซ์ เชน และชัย กลุ่ม 'ราษสเก็ต'

ในการชุมนุม Mob Fest เมื่อวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเล่นสเก็ตบอร์ดบนถนนราชดำเนินระหว่างผู้ชุมนุมปิดถนนเพื่อจัดกิจกรรม โดยกลุ่มดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อว่าคณะราษสเก็ต เคยไปจัดกิจกรรมเล่นสเก็ตบอร์ดในการชุมนุมก่อนหน้านี้มาแล้ว

เชน แอดมินกลุ่มราษเก็ต กล่าวว่ากลุ่มนี้เริ่มต้นจากการที่เขาเป็นคนสนใจการเมืองอยู่แล้วและใช้สเก็ตบอร์ดเยียวยาปัญหาจิตใจหลายอย่างทั้งปัญหาชีวิตส่วนตัวและการถูกล่าแม่มดเพราะเรื่องการเมือง บวกกับบรรยากาศทางการเมืองที่ก่อนการเลือกตั้งเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น มีกระแสเรียกร้องการเลือกตั้ง มีการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ แต่กลับถูกผู้มีอำนาจเข้ามาทำลายความหวัง โครงสร้างมีปัญหาตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมา ทำให้เชนรู้สึกว่าอยากกลับมาแสดงออกทางการเมืองอีกครั้ง แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เป็นเรื่องยาก เขาจึงตัดสินใจใช้สเก็ตบอร์ดเพื่อแสดงออก เพราะมองว่าสเก็ตบอร์ดเป็นสิ่งที่นำความกล้ามาให้ตน

"ซับคัลเจอร์สตรีทมันมีรากมาจากการเมืองอยู่แล้ว มันมีรากมาจากคนที่ถูกกดทับด้วยวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมอยู่แล้ว ถ้าซับคัลเจอร์สตรีทไม่พูดเรื่องการเมือง แม่งกากว่ะ" - เชน ราษสเก็ต

เชนเริ่มต้นจากการทำแผ่นสเก็ตบอร์ดเป็นลายรูปมือชูสามนิ้วเล่นเองก่อน ซึ่งขอภาพมาจากศิลปินในทวิตเตอร์ และนำสเก็ตบอร์ดแผ่นดังกล่าวไปชูในการชุมนุมครั้งหนึ่งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จากนั้นเขาจึงเริ่มต้นทำแบรนด์สเก็ตของตัวเองชื่อ Rise ซึ่งมาจาก Uprising ทำแผ่นสเก็ตที่พูดถึงปัญหาทางสังคมและบันทึกเรื่องราวของขบวนการทางสังคมในช่วงเวลาปัจจุบัน โดยมีหลักการว่าเขาทำเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง ไม่ได้เป็นคู่แข่งกับแบรนด์อื่น ๆ 

"เราไม่ได้เป็นศัตรูกับสเก็ตแบรนด์อื่น เราเป็นศัตรูกับเผด็จการ" เชนกล่าวติดตลก 

แผ่นสเก็ตลายแรกที่เชนทำคือแผ่นที่มีข้อความว่า "เผด็จการต้องจบที่รุ่นเรา" โดยเขาระบุว่าถึงแม้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะจบลง เขาก็จะยังแสดงออกทางการเมืองผ่านแผ่นสเก็ตบอร์ดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความหลากหลายทางเพศ หรือประเด็นอำนาจนิยมในโรงเรียน 

จากนั้นเขาก็จัดกิจกรรม "ไถหน้าตู่" ในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทำแผ่นป้ายไวนิลที่มีรูปหน้าพลเอกประยุทธ์สำหรับมาวางที่พื้นแล้วประกาศผ่านทางเฟสบุ๊คว่าใครอยากมาร่วมกิจกรรมก็มาได้เลย โดยเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

"เราก็ประกาศในเฟสบุ๊คเลยว่าใครอยากมามาเลย เราจะมาเล่นกระแทกหน้านี่กัน โดยพื้นฐานที่ว่าเรามาเล่นสเก็ตบนหน้าตู่เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกที่เรามีต่อประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลนี้ ที่มาอันไม่ชอบธรรมของรัฐบาลนี้ แต่เราจะไม่ใช้ความรุนแรงต่อบุคคลจริง ๆ" เชนอธิบาย

"ที่ผ่านมาสเก็ตบอร์ดถูกใช้โดยทุน ถูกใช้โดยวงการโฆษณาว่าเป็นสัญลักษณ์ของการออกจากคอมฟอร์ทโซน เป็นสัญลักษณ์ของการท้าทาย คนรุ่นใหม่ที่ออกมาใช้ชีวิตกันอย่างเต็มที่อะไรแบบนี้ แล้วนี่ไง น้อง ๆ เขาออกมาท้าทายอำนาจที่ครอบงำสังคมอยู่ มันโคตรเข้ากับสเก็ตบอร์ดเลย แล้วแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่เคยใช้สเก็ตบอร์ดเป็นสินค้า จะยังอยู่ในคอมฟอร์ทโซนได้อีกเหรอ" - เชน ราษสเก็ต

กิจกรรม "ไถหน้าตู่" ครั้งแรกได้รับความสนใจจากคนบนโซเชียลมีเดียที่เห็นโพสต์ของเชนแล้วมาร่วมกิจกรรม เช่น อเล็กซ์ ที่เห็นโพสต์ในเฟสบุ๊คและตัดสินใจมาร่วมกิจกรรมคนเดียว โดยคนในกิจกรรมไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนแต่มารวมตัวกันในการชุมนุม 

สำหรับพวกเขา การมาเล่นสเก็ตในที่ชุมนุมเป็นทั้งโอกาสในการได้เล่นสเก็ตในช่วงที่มีการปิดถนนและโอกาสในการแสดงออกเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กัน 

"เราไม่สามารถเล่นแบบนี้ที่ไหนได้ เราไม่มีโอกาสที่จะได้เล่นแบบเขาปิดถนน ในใจที่เราเล่นมันคือเราได้มาเล่นด้วยแล้วได้มาสนับสนุนขบวนการที่เราก็เชื่อด้วยเรื่องประชาธิปไตย มันเลยวินวินทั้งสองอย่าง" อเล็กซ์เล่า 

เชนเล่าว่าการจัดกิจกรรมทำให้เขาได้เจอคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมืองมากหลายคนที่เล่นสเก็ต จนได้มารวมตัวกัน ซึ่งคณะราษสเก็ตก็เกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคมนั่นเอง

"ตอนที่มีนักข่าวช่องอมรินทร์มาสัมภาษณ์แล้วผมก็หันไปหาเหนี่ยว เหนี่ยวก็บอกว่าใช้ชื่อคณะราษเก็ตเลย" เชนเล่า 

กลุ่มราษเก็ตเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันแบบหลวม ๆ เชนเดินทางมาจากชัยนาท ทำให้มาร่วมการชุมนุมไม่ได้ทุกรอบ ส่วนอเล็กซ์อยู่ กทม. อยู่แล้ว เวลามาชุมนุม ถ้าเจอใครที่เล่นสเก็ตบอร์ดก็จะเข้าไปแนะนำให้เข้ามาอยู่ในกลุ่ม 

"ยังไงคือเราต้อนรับทุกคนมา มาเลย อยากลองเล่นก็เล่นได้ ให้เด็ก ๆ เด็กผู้หญิงอะไรแบบนี้ ใครอยากลองเล่นก็เล่นได้" อเล็กซ์เล่า โดยเขากล่าวว่าสมาชิกในกลุ่มก็มีความหลากหลาย มีทั้งหญิงชาย ผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีช่วงอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึง 40 ปี ถึงแม้ว่าคนทั่วไปมักจะมองว่ากีฬาเล่นสเก็ตบอร์ดเป็นกีฬาของผู้ชาย 

"มัน intimidating ไง เราเข้าไปเจอผู้ชายถอดเสื้อ กินเบียร์ สูบบุหรี่ เข้ามาแล้วโดน catcalling ด้วย แต่ตอนนี้มันดีกว่าเยอะเลย ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องรุ่นหรือเปล่า สำหรับ generation ใหม่มันไม่ใช่กีฬาผู้ชายแล้ว มันเป็นกีฬาที่ทุกคนเล่นได้ ไม่ต้องเล่นท่าก็ได้" อเล็กซ์เล่า 

การเมืองบนท้องถนน

พื้นที่ของกลุ่มราษเก็ตกลายเป็นพื้นที่ของการแสดงออกทางการเมือง โดยเชนเล่าว่าทุกคนในกลุ่มที่มามีประเด็นของตัวเองที่อยากสื่อสาร ตั้งแต่ประเด็นเรื่องทางเท้าไปจนถึงประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก หรือประเด็นความอยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคมซึ่งเชนบอกว่าคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมกิจกรรม "อิน" กับเรื่องนี้มาก 

"จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้ผ่านตัวสเก็ตโดยตรงหรอก เพราะว่าสเก็ตมันเป็นทางที่ปลดปล่อยเขา มันเป็นกีฬาที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นจากความรู้สึกกดทับมากกว่า" เชนกล่าว ในขณะที่อเล็กซ์เล่าว่าวัฒนธรรมการเล่นสเก็ตมีความเป็นกบฎในตัวมันเองอยู่แล้วในฐานะวัฒนธรรมย่อยหรือวัฒนธรรมสตรีท 

แล้วถ้าการเมืองดี ราษเก็ตอยากเห็นอะไร?

ชัย สมาชิกกลุ่มราษเก็ตอีกคนเล่าว่าสเก็ตบอร์ดเป็นกิจกรรมที่มีความเป็นการเมือง คนที่เล่นสเก็ตบอร์ดมักจะเป็นคนที่ไม่เดินไปตามเส้นทางที่สังคมกำหนดและถูกกีดกันให้กลายเป็นคนนอก 

อเล็กซ์บอกว่าอยากได้ฟุตบาทที่ดี ซึ่งไม่ใช่สำหรับเล่นสเก็ตอย่างเดียว แต่สำหรับคนอื่น ๆ ที่ต้องเดินบนทางเท้าด้วย ซึ่งชัยเสริมว่าทางเท้าบอกถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม และถ้าทางเท้าดี เด็ก วัยรุ่น คนแก่ คนพิการ ก็จะออกมาบนถนน ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม 

"ถ้าเราได้ จักรยานก็ได้ด้วย คนเดินเท้าก็ได้ด้วย คนเล่นโรลเลอร์เบลด อะไรก็ได้หมด" ชัยเล่า 

อเล็กซ์อยากให้กีฬาสเก็ตบอร์ดได้รับการสนับสนุนให้ไปแข่งขันในระดับโลก เขามองว่ากีฬาเหล่านี้สามารถถูกผลักดันได้มากกว่านี้ แต่ในไทยไม่มีแรงสนับสนุน นอกจากนี้ก็อยากให้มีสวนสาธารณะและพื้นที่สำหรับให้ไปเล่นสเก็ตกัน

ส่วนเชนกล่าวว่าคนในกลุ่มก็คงจะมีสิ่งที่อยากได้แตกต่างกันไป แต่ตัวเขาออกมาเคลื่อนไหวเพราะเชื่อในเสรีภาพในการแสดงออก โดยเขาคิดว่าวัฒนธรรมย่อยและวัฒนธรรมสตรีทในทุกรูปแบบควรจะพูดเรื่องการเมืองได้ 

"ซับคัลเจอร์สตรีทมันมีรากมาจากการเมืองอยู่แล้ว มันมีรากมาจากคนที่ถูกกดทับด้วยวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมอยู่แล้ว ถ้าซับคัลเจอร์สตรีทไม่พูดเรื่องการเมือง แม่งกากว่ะ" เชนกล่าว "ที่ผ่านมาสเก็ตบอร์ดถูกใช้โดยทุน ถูกใช้โดยวงการโฆษณาว่าเป็นสัญลักษณ์ของการออกจากคอมฟอร์ทโซน เป็นสัญลักษณ์ของการท้าทาย คนรุ่นใหม่ที่ออกมาใช้ชีวิตกันอย่างเต็มที่อะไรแบบนี้ แล้วนี่ไง น้อง ๆ เขาออกมาท้าทายอำนาจที่ครอบงำสังคมอยู่ มันโคตรเข้ากับสเก็ตบอร์ดเลย แล้วแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่เคยใช้สเก็ตบอร์ดเป็นสินค้า จะยังอยู่ในคอมฟอร์ทโซนได้อีกเหรอ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net