'ศิริกัญญา' กังขารัฐอวด GDP ฟื้นไม่จริง ชี้หลายปัจจัยยังตกส่อเข้าภาวะถดถอย

'ศิริกัญญา' กังขารัฐอวด GDP ฟื้นไม่จริง ชี้หลายปัจจัยยังตกส่อเข้าภาวะถดถอย จับตากึ๋นรัฐบาลไตรมาสสุดท้าย 'คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน' อุ้มไหวหรือไม่ ชี้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ไม่คืบ แค่ออก พ.ร.ก.มาเซ็นเช็คเปล่า ย้ำกระตุ้นเศรษฐกิจต้องรอบด้าน อย่าละเลยปากท้องประชาชน ตัวเลขคนว่างงานยังพุ่ง ราคาสินค้าเกษตรยังต้องอยู่แลอย่าให้มีการกดราคา

23 พ.ย. 2563 ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบายพรรคก้าวไกล โพสเฟสบุ๊คส่วนตัว ตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจของประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยระบุว่า แม้รัฐบาลจะบอกว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โตดีกว่าคาด แต่การที่เศรษฐกิจจะดีเท่าที่รัฐบาลให้ความหวังไว้หรือไม่นั้น ตัวเลขต่างๆ ต้องออกมาดีมาก โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องโตกระฉูดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน จึงยังน่ากังวลว่ารัฐบาลจะทำได้หรือไม่

“สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า GDP ของทั้งปี 2563 ว่าจะหดตัวเพียง - 6% นับว่าดีกว่าที่คาด จากที่เคยคิดว่าจะหดตัวถึง -7.5% บางสำนักคาดว่าอาจจะถึง -8% ถึง -9% ด้วยซ้ำ ถึงแม้เศรษฐกิจจะเริ่มผกหัวขึ้น แต่ตัวเลขจะไปถึงฝั่งฝันที่ -6% หรือไม่ ยังคงน่ากังขา เพราะจากที่ดิฉันคำนวณย้อนกลับมาว่าแต่ละเครื่องยนต์ต้องทำงานหนักแค่ไหนในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพื่อให้ตลอดทั้งปีติดลบแค่ -6% หรือตามที่สภาพัฒน์ตั้งไว้ก็พบว่า การใช้จ่ายบริโภคภาคเอกชนต้องกลับมาขยายตัว 1.4% จากที่ติดลบติดกันมา 2 ไตรมาส ซึ่งเราคงได้เห็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคกันครั้งใหญ่ช่วงปลายปีกันอีกรอบ ลำพังโครงการคนละครึ่ง ช็อปดีมีคืน และการเติมเงินใส่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐอาจจะยังไม่พอ การลงทุนภาคเอกชน ต้องชะลอการหดตัวให้เหลือ -5% หรือกลับมาหดตัวเท่ากับไตรมาสแรกที่เศรษกิจแค่เริ่มชะลอตัวและยังไม่มีโควิด โดยการส่งออกต้องหดตัวน้อยลงเหลือ -5.3% ซึ่งดีกว่าในไตรมาสแรกของปี ก่อนเผชิญวิกฤตศรษฐกิจจากโควิด-19 แบบเต็มรูปแบบเสียอีก และโจทย์ที่เป็นความท้ายทายสำคัญและเกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรง คือการใช้จ่ายภาครัฐ โดยการอุปโภคภาครัฐ (รายจ่ายประจำ+เงินโอน) ต้องขยายตัว 12.4%! และการลงทุนภาครัฐต้องขยายตัว 37.5%” ศิริกัญญา ระบุ

อย่างไรก็ตาม ศิริกัญชา ชี้ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพัฒน์เพิ่งเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ว่า หดตัว 6.4% หรือเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันที่เศรษฐกิจหดตัว จึงเท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มตัว แต่มีข่าวดีก็คือเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดจากไตรมาส 2 ที่หดตัวถึง 12.1%

“สภาพัฒน์ให้เหตุผลที่ตัวเลขออกมาดีกว่าที่คาดคือ การส่งออก การลงทุนเอกชน และการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของเอกชนปรับตัวดีขึ้น ซึ่งก็คงเป็นเพราะเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อไตรมาส 2 ที่มีการล็อกดาวน์ แต่จากตัวเลขเราก็เห็นเช่นกันว่า การฟื้นตัวยังกระจุกตัวในบางกลุ่ม จำนวนคนว่างงานยังอยู่ในระดับสูงถึง 730,000 คน อัตราว่างงาน 1.9% แทบไม่ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ผู้รับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมยังคงทำนิวไฮไม่ลดลง”

ศิริกัญญา ระบุอีกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องพึ่งตัวเลขจากการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่คำถามคือจะมีที่มาจากไหน เพราะการใช้จ่ายภาครัฐดังกล่าวจะต้องโตถึง 12% หรือต้องโตสูงที่สุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และโตมากกว่าช่วงที่ผ่านมาที่มีการจ่ายเงินเยียวยาโควิดราว 500,000 ล้านบาท แต่จุดนี้ยังมีความเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มปีงบประมาณที่ปกติการเบิกจ่ายจะแผ่วลงอยู่แล้วหากมีการอัดฉีดเพื่อกระตุ้นก็จะโตเร็วกว่าปกติ ส่วนการลงทุนภาครัฐที่ต้องโตถึงเกือบ 40% เคยเกิดขึ้นช่วงหลังรัฐประหารปี 2558 ที่การลงทุนภาครัฐหดตัว - 6.6% ในปี 2557 จึงมีการเร่งเครื่องกันยกใหญ่ แต่สำหรับงบลงทุนที่โตเกือบ 40% หรือต้องเพิ่มขึ้นราว 100,000 ล้านบาท จะมีที่มาอย่างไรยังไม่ทราบได้ เพราะยังไม่มีคำอธิบายที่มาที่ไปอย่างชัดเจนว่าภาครัฐ วางแผนจะลงทุนอะไร

“จะเป็นงบจากแผนฟื้นฟู 400,000 ล้านก็ยังน่าสงสัยเพราะโครงการที่อนุมัติแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ใช่โครงการลงทุน ส่วนรัฐวิสาหกิจก็เพิ่มการปรับลดแผนก่อหนี้เพื่อการลงทุน ทำให้ยอดลดลง นอกจากนี้ เท่าที่ย้อนดูผลงานการบริหารของรัฐบาลย้อนหลังก็พบว่า งบลงทุนปี 63 เบิกจ่ายไปได้แค่ 60% งบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อนุมัติไปแค่ 49% เบิกจ่ายจริงไปแค่ 31% แผนงานฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท อนุมัติไปแค่ 120,000 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเพียง 2,671 ล้านบาท (0.67% เท่านั้น ) แล้วแบบนี้เรายังจะเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วอย่างที่สภาพัฒน์ประกาศได้หรือไม่ ก็ต้องขอกระตุกแขนเสื้อหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแรงๆ ให้เร่งรัดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าหวังจะให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างที่คาด”

“หากรัฐบาลจะทำอย่างเชื่องช้าเช่นนี้ ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลอะไรที่แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ต้องออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อข้อกู้เงินแบบเซ็นเช็คเปล่า รอคิดโครงการให้เสร็จแล้วทำเป็นร่างพระราชบัญญัติให้สภาช่วยคิด ช่วยพิจารณาจะดีกว่า และแน่นอนว่า เรื่อง GDP คงไม่ได้สะท้อนภาพจริงของเศรษฐกิจทั้งหมด เราคงต้องตามกระตุ้นเตือนรัฐบาลกันต่อให้ดูแลเรื่องปากท้องและรายได้ที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงาน ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ที่เริ่มฟื้นตัวตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ไม่ให้ถูกกดดันราคาจากโครงการประกันราคาและกลุ่มพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้ผลประโยชน์ตกกับประชาชนอย่างเต็มที่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท