Skip to main content
sharethis

21 พ.ย.2563 วัชรสิทธาเชิญสองอาจารย์อารมณ์ดีมาบรรยายเรื่อง "จากไสยศาสตร์การเมือง​ สู่ศาสนธรรมราษฎร"  นั่นคือ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่

คนหนึ่งสอนปรัชญาและศาสนาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คนหนึ่งสอนภาษาไทยและสังคมศึกษาให้เด็กมัธยมในขอนแก่น คนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการประกอบพิธีแบบพราหมณ์ คนหนึ่งเป็นลูกหลานหมอธรรมในอีสานและเราเพิ่งเห็นเขาแต่งชุดขาวประกอบพิธีปักหมุดคณะราษฎร์ 2563 ที่สนาม(หลวง)ราษฎร์ ซึ่งจนปัจจุบันนี้คนก็ยังถามกันอยู่ว่า “จริงมั้ย”

วิทยากรทั้งคู่ทำให้เราเห็นว่าศาสนากับอำนาจนำทางการเมืองสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เส้นทางของมันลากกลับไปได้ไกลโพ้น และมันยังถูกผนวกรวมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันกษัตริย์ได้อย่างแยบยล ที่สำคัญคือ ความเข้าใจนี้อาจทำให้เรามองพิธีกรรมต่างๆ ในการต่อสู้ทางการเมืองต่างออกไป

“ประเด็นเรื่องการทำพิธีหรือความเชื่อ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ ‘พวกเขา’ เชื่อ และนี่คือสงครามจิตวิทยา อาจารย์เขมานันทะเคยพูดว่า ไสยศาสตร์คือ ภาษา ภาษาเป็นสิ่งที่มีผลต่อคนที่อยู่ในระบบเดียวกัน ดังนั้น ถ้าจะเคลื่อนการเมืองแบบนี้บ้างมันก็น่าสนใจยิ่ง” คมกฤช กล่าว

“ผมไม่ได้จะเอาชนะลำหักลำโค่นภายในปีสองปีนี้ ผมมีความฝันที่ 12 ปีซึ่งก็คือปี 2575... การแสดงความคิดเห็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้ามีเพดานบดบังความสว่างไสว แล้วเพดานต่ำมันก็จะมืดๆ เราจึงรู้สึกอึดอัด เมื่อเราดันเพดานสูงขึ้น มันดูโล่งขึ้น ลมพัดเย็นขึ้น แสงสว่างไปไกลขึ้น เจ้าก็เปรียบเสมือนเพดาน นอกจากนี้ยังมีเสาอีก 4 เสา คือ พระ ทหาร ศาล ทุน บวกกับเรื่องต่างๆ ที่เป็นอิฐก่อล้อมเป็นกำแพงไว้อยู่ แต่สิ่งที่เป็น ‘ปูน’ ซึ่งเชื่อมเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้อยู่ด้วยกันคือ ความเชื่อและศาสนา เราเห็นเสา เราเห็นอิฐ เราเห็นเพดาน แต่เราอาจลืมไปว่าในโครงสร้างใหญ่มีตัวหนึ่งที่ผสานทุกอย่างให้มั่นคงอยู่ได้ โดยเขาสอดแทรกให้มันไปอยู่ในทุกอณู เราจึงต้องช่วยกันกระเทาะมันออกมาเรื่อยๆ” อรรถพล กล่าว

ว่าแล้วพวกเขาก็ประกอบพิธีชุมนุมเทวดาและประกาศเทวดาซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ชนชั้นสูงทำเสมอมาตั้งแต่โบราณกาล เพื่อบอกกล่าวกิจการต่างๆ ต่อเทวดา แต่คราวนี้ทำในเวอร์ชัน ‘ประกาศเทวดาพิทักษ์ราษฎร์’ โดยจุดเทียนธูปหน้าแท่นบูชา แล้วสวดด้วยมนต์ที่แต่งขึ้นใหม่ ดูแล้วคล้ายเป็นศึกชิงเทวดา จากที่เคยผูกขาดการทำพิธีพราหมณ์ในหมู่ชนชั้นนำ ให้มาอยู่ในมือคนสามัญที่ร่ายมนตร์ตรงไปตรงมาขอเทวดาปกปักรักษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม (อ่านบทสวดบางส่วนในล้อมกรอบด้านล่าง)  

1.
ความศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดจากสังคมโบราณ
กับความสามารถในการปรับประยุกต์

คมกฤช เริ่มต้นอธิบายรากของความศักดิ์สิทธิ์โดยชี้ชวนให้สังเกตว่า การมองพระภิกษุว่าศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่พบในประเทศอื่นๆ แต่พบในไทย เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมแบบไทยซึ่งมีลักษณะลูกผสม ผี+พราหมณ์+พุทธ

เขาอธิบายว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนามีรากฐานจากความเชื่อโบราณซึ่งเริ่มต้นที่ศาสนาผี เรายกให้เป็นศาสนาเพราะมีการสืบทอด มีระบบความเชื่อของตัวเอง เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรตอบไม่ได้แน่ชัด สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายไว้ว่า ผี ในที่นี้หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติที่รักษากฎเกณฑ์สังคม เป็นระบบความเชื่อดั้งเดิมของทั่วโลก ในตระกูลไทย-ลาวและตระกูลมอญ-เขมร ซึ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ในอุษาคเนย์ต่างก็มีระบบผีของตนเอง และทั้งสองกลุ่มนับถือผี ‘ผู้หญิง’ เพราะผู้หญิงเป็นผู้สืบตระกูล ในโลกโบราณผู้ชายไม่ศักดิ์สิทธิ์เพราะคลอดลูกไม่ได้

“อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผีฟ้า คนตระกูลไทย-ลาวเชื่อว่าผีที่ใหญ่สุดอยู่บนฟ้า ขณะเดียวกันก็เรียก เจ้าฟ้า ด้วย เจ้ากับผีเป็นคำที่แทนกันได้ คำว่า เจ้าฟ้า ในสมัยโบราณยังหมายถึงพระมหากษัตริย์ ก่อนที่เราจะใช้คำตระกูลสันสกฤตบาลี แสดงว่าคนที่เป็นหัวหน้าเผ่ากับผีเป็นคนเดียวกัน แต่เดิมผีอยู่บนฟ้าเป็นเจ้าฟ้า แต่ไม่ได้อยู่บนฟ้าอย่างเดียว ยังแบ่งตัวเองมาปกครองบนโลกด้วย โดยหมอผีผู้ติดต่อกับผีฟ้าพญาแถนบอกว่าฉันก็เป็นเจ้าฟ้าเหมือนกัน เรื่องพวกนี้มีอยู่ในจารึกโบราณ”

“แต่แม้ปัจจุบัน เจ้าฟ้า จะหมายถึงลูกของกษัตริย์แล้ว มันก็ยังเป็นคำที่สูงมากอยู่ดีและสะท้อนผ่านราชพิธี ถ้าเจ้าฟ้าชั้นเอกคือประสูติขณะที่พ่อเป็นพระมหากษัตริย์ แม่เป็นพระมเหสี เรียกว่าไม่มีเชื้อไพร่ปนเลย เป็น pure blood พราหมณ์ก็จะใช้มนตร์อีกแบบที่เปิดประตูศิวาลัยไกรลาสได้ ... ศาสนามาลิงก์กับเรื่องนี้ชัดๆ แล้วไม่ได้มีรากเหง้าจากพราหมณ์ฮินดูอะไรทั้งสิ้น มันเป็นรากเหง้าจากความเชื่อผีฟ้าในอุษาคเนย์”

“เราไม่รู้แน่ชัดว่าเมื่อไรที่หมอผีหัวหน้าเผ่ากลายเป็นกษัตริย์ เป็นจุดรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมอุษาคเนย์กับอินเดีย พอเรารับวัฒนธรรมอินเดียก็เอามาสวมความเชื่อเดิมของเรา อาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) บอกว่า ศาสนาที่เรานับถืออยู่นี้ไม่ใช่ ผี พราหมณ์ พุทธแบบแยกกัน แต่คือ “ศาสนาไทย” แปลว่า ศาสนาผีที่หยิบเอาสิ่งละอันพันละน้อยของพราหมณ์และพุทธมาประดับ และพระในพุทธเถรวาทบ้านเราจึงศักดิ์สิทธิ์กว่าที่อื่น เพราะพระมาทำหน้าที่แทนหมอผี แม้แต่พระราชพิธีในราชสำนัก ดูเหมือนพราหมณ์ แต่เป็นพราหมณ์แค่เปลือกข้างนอก แต่ลึกๆ แล้วเป็นวัฒนธรรมผี”

อรรถพล กล่าวเสริมว่า ศาสนาผีนั้นผู้หญิงจะมีอิทธิพลสูง ในภาคเหนือและอีสานแม้แต่การแต่งงาน ผู้ชายต้องแต่งเข้าบ้านผู้หญิงแล้วต้องไปตัวเปล่าด้วย การสืบวงศ์ตระกูลจะสืบผ่านผู้หญิง ผู้หญิงมักเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมพื้นบ้านทั้งหลาย แต่ในช่วง 10 กว่าปีมานี้กลุ่ม LGBT มีบทบาทมากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อสังคมไทยสมาทานเอาความคิดแบบอินเดียเข้ามา มันก็เป็นการช่วงชิงอำนาจทางเพศด้วย เพราะวิธีคิดแบบอินเดียนั้นให้อำนาจแบบผู้ชาย ทำให้ระบบกษัตริย์ก็ให้อำนาจกับเพศชาย ขณะที่ระบบชนเผ่าแบบเดิมนั้นให้อำนาจกับผู้หญิง

คมกฤช อธิบายต่อว่า เหตุที่ไทยต้องรับเอาวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาก็เพราะบริบทโลกในช่วงเวลานั้นผู้ที่เป็นศูนย์กลางโลกคือ อินเดียกับจีน การรับพุทธ พราหมณ์ เพื่อสถาปนาอำนาจชนชั้นนำให้มีความศิวิไลซ์เท่าเทียมกับอินเดียจีน อีกทั้งเป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากผู้หญิงไปสู่ผู้ชาย แล้วพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของผีก็มีถูกซ้อนทับด้วยพุทธศาสนา เรื่องนี้มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับ

อรรถพลเสริมเรื่องการซ้อนทับทางวัฒนธรรมโดยยกตัวอย่างพื้นที่อีสานว่า อีสานเป็นพื้นที่ที่ถูกกดทับทางการเมืองค่อนข้างสูง ย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 4-5 พื้นที่อีสานถูกห้าม ‘เลี้ยงผีมเหศักดิ์’ ซึ่งก็คือผีบรรพบุรุษของเจ้าเมืองคนก่อน ต้องเข้าใจว่าเจ้าเมืองเหล่านั้นไม่ได้มีกำลังพลหรืออำนาจเงิน แต่มีอำนาจทางวัฒนธรรม เป็นศาสดาของคนในพื้นที่หรือเป็นหัวหน้าเผ่าในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ชาวบ้านนับถือเจ้าเมืองเพราะสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองคนที่แล้ว เจ้าเมืองคนที่แล้วตายไปก็จะเป็นผีมเหศักดิ์ พวกเขาจึงทำพิธีกรรมเลี้ยงผีมเหศักดิ์เพื่อติดต่อสื่อสารสร้างความมั่นใจ การสั่งห้ามเลี้ยงผีมเหศักดิ์จึงเป็นการตัดอำนาจเจ้าเมืองเหล่านี้ให้เป็นเพียง “ขุนนางของกรุงเทพฯ” พื้นที่ของศาลผีมเหศักดิ์ก็ถูกแทนด้วยศาลหลักเมืองซึ่งกรุงเทพฯ ไปตั้งให้

คมกฤช กล่าวต่อว่า เรื่องความเชื่อว่ากษัตริย์เป็นเทวราช ในอินเดียไม่มี เรื่องนี้เกิดในอุษาคเนย์โดยเริ่มในเขมรก่อน แล้วลัทธิเทวราชก็ส่งต่อมาที่อยุธยาทำให้คติพระมหากษัตริย์เป็นเทพเข้มข้นขึ้น อาจดูเหมือนพราหมณ์แต่ไม่ใช่พราหมณ์ เป็นคติแบบผีสืบเผ่าจากบรรพบุรุษที่ทรงความศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ต้น ในรูปของวัฒนธรรมผีความศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นผีมเหศักดิ์ ในวัฒนธรรมเขมรกลายเป็นรูปพระศิวลึงก์ กษัตริย์ตายแล้วไปรวมกับเทพใช้สัญลักษณ์เป็นศิวลึงค์ ในแง่คนทั่วไปนั่นคือพระศิวะ ในแง่กษัตริย์นั่นคือบรรพชน คติแบบนี้สืบทอดมายังสยาม แต่สัญลักษณ์ไม่ใช่ศิวลึงค์ วิญญาณบรรพกษัตริย์ไปอยู่ในพระพุทธรูปแทน

“พุทธรูปทรงเครื่องที่ยืนอยู่ในวัดพระแก้วนั้นไม่ใช่ตัวแทนพระพุทธเจ้า แต่คือพระราชบรรพชน มีชื่อทุกองค์ นั่นคือที่สิงสถิตของดวงวิญญาณพระราชบรรพชนในสถานะของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ไทยรับศาสนาจากอินเดียมา ไม่ได้รับแบบที่อินเดียเป็น แต่เอามาปรับกับระบบความเชื่อตัวเอง” คมกฤชกล่าว

คมกฤช ยกตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันว่ากษัตริย์ไทยนับถือศาสนาผสมอย่างชัดเจน คือ จารึกสมัยอยุธยาตอนกลางที่ฐานเทวรูปพระอิศวรในจังหวัดกำแพงเพชรระบุว่าให้กษัตริย์อยุธยาบำรุง พระพุทธศาสนา พระไสยศาสน์ (ศาสนาพราหมณ์) และศาสนาพระปะกำ (ศาสนาผีที่เกี่ยวข้องกับการจับช้างซึ่งสำคัญต่อการรบทัพจับศึก) ขณะที่ผู้เข้าร่วมเสวนาคนหนึ่งอธิบายถึงจารึกราว พ.ศ.1600 ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ระบุข้อความว่า สมณะชีพราหมณ์ต่างๆ จะนับถือพุทธเถรวาท มหายาน นับถือพระศิวะ ศิวลึงค์หรือศาสนาใด อาณาประชาราษฎรทำบุญใดให้ถวายพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว เขาเชื่อว่าความเชื่อลักษณะนี้ถูกส่งต่อมาที่อยุธยา

“ดังนั้นจะเห็นได้เลยว่าสถาบันกษัตริย์ของอุษาคเนย์ต้องครองความศักดิ์สิทธิ์ของทุกศาสนาไว้กับตัว ในแง่หนึ่งจึงเป็นการสถาปนาอำนาจตรงๆ และมันลงมาถึงพระบรมวงศานุวงศ์และพระสงฆ์ด้วย เป็นการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ผ่านความเชื่อทางศาสนาที่หยั่งรากลึกมากในเชิงวัฒนธรรม” คมกฤชกล่าว

มีผู้ร่วมเสวนาถามคำถามว่า สถาบันสงฆ์นั้นมาส่งเสริมอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในตอนไหน คมกฤชตอบว่า อันที่จริงแล้วมีเค้ามาตั้งแต่ในอินเดีย สมัยพระเจ้าอโศก สิ่งหนึ่งที่ยืนยันความเป็นกษัตริย์พุทธคือต้องทำนุบำรุงพุทธศาสนาซึ่งมี 2 วิธีคือ สร้างวัดวาอารามกับชำระพระศาสนา จับศึกอลัชชี ทำพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ พอมาถึงยุคลังกาซึ่งเป็นต้นแบบของพุทธศาสนาไทยเรื่องนี้ก็ยิ่งชัดเจน มีการรบและฆ่าชาวทมิฬซึ่งไม่นับถือพุทธศาสนาโดยพระเจ้าทุฐคามินี แล้วก็ทรงกลุ้มใจที่ฆ่าคนจำนวนมาก แต่ในตำนานมหาวงศ์ พระอรหันต์อธิบายแก้ความกลุ้มใจให้กษัตริย์ว่าเป็นเพียงบาปเล็กน้อย

“มีพระอรหันต์ให้คำอธิบายด้วยว่า พวกทมิฬไม่ใช่คนเต็มคนเพราะไม่ได้นับถือพระรัตนตรัย ไม่ถือศีลห้า การปราบทมิฬจึงไม่บาป ถึงบาปก็นิดเดียว ได้บำรุงพุทธศาสนา คำอธิบายนี้เหมือนกิตติวุฒิโฑ เขาไม่ใช่คนแรก พล็อตนี้มีตั้งแต่ลังกาแล้ว แล้วก็กลายเป็นพล็อตเถรวาท คือ พระสงฆ์อนุโมทนาเสมอหากกษัตริย์บำรุงศาสนา ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม แล้วยังมีระบบสมณศักดิ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงการตั้งแบบที่พระทำกันเอง แต่ตอนหลังกษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง แล้วตั้งให้พระเป็นเจ้าด้วย จึงเกิดระบบพระสังฆราชขึ้นมา เป็นพระราชาของพระสงฆ์ แต่ก็ยังอยู่ใต้เจ้า สัญลักษณ์คือฉัตรสามชั้น พระสังฆราชมียศเทียบเท่าพระองค์เจ้า แต่พระมหากษัตริย์ทรงฉัตรเก้าชั้น นี่คือกลวิธีที่สถาบันใช้ระบบสงฆ์ในการเสริมพระราชอำนาจมาอย่างยาวนานแล้ว”

“มีความพยายามจะแก้เรื่องนี้ในสมัยคณะราษฎร เปลี่ยนใหม่โดยทำสังฆสภา มีตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร เหมือนทางโลกเลย เรื่องรวมนิกายก็เคยทำมาแล้ว ปี 2484 งานบวชพระยาพหลฯ สองนิกายนั่งด้วยกัน ทำมาแล้ว พ.ร.บ.สงฆ์แบบรวมนิกายออกมาแล้ว พระบอกขอเวลา 8 ปี แต่มันเจ๊งไปก่อน ถูกกำจัดจากอำนาจไปก่อน เลยไม่เกิดการรวมนิกาย...ถ้าสังเกตให้ดี พระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาบวชธรรมยุตทุกพระองค์ ธรรมยุติกนิกายตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พอถึงช่วงสมัยคณะราษฎรเกิดข้อเรียกร้องว่า ทำไมธรรมยุตปกครองพระส่วนใหญ่ อย่างในกัมพูชาเขามีสังฆราชของทั้งสองนิกายแยกกันไป แต่ผมคิดว่าการรวมนิกายนั้นน่าสนใจ เพราะมันเป็นแค่ความแตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้แตกต่างกันในพื้นฐานพระวินัย”

“การแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ล่าสุด เป็นการถวายคืนพระราชอำนาจในส่วนนี้ทั้งหมด อ้างโบราณราชประเพณีว่าเป็นพระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะสงฆ์ ก่อนหน้านี้ตั้งเหมือนข้าราชการ เสนอยื่นเป็นลำดับ กษัตริย์ทำเพียงเหมือนลงชื่อ สังฆราชแต่ก่อนจะกำหนดว่าให้เลือกจากสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโส(พรรษา)สูงสุด ไม่เกี่ยวว่าเป็นธรรมยุตหรือมหานิกาย แต่แก้กฎหมายล่าสุดแปลว่าแล้วแต่พระราชประสงค์”

2.
ความศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์ในราชสำนัก

คมกฤช เริ่มต้นอธิบายรูปธรรมความศักดิ์สิทธิ์ที่พบเห็นได้ในปัจจุบันในพระบรมหาราชวังและอื่นๆ

1.กำแพงพระบรมมหาราชวัง กำแพงที่มีรูปเสมาได้โดยรอบมีเพียงวัด(พระอุโบสถ)และวังเท่านั้น สำหรับวังทำได้สองระดับคือ วังของกษัตริย์และวังของเจ้าฟ้า

2.หอประสาทพระเทพบิดร พระเทพบิดรคือวิญญาณพระมหากษัตริย์ โดยเริ่มทำเป็นรูปคนจริงเท่าตัวจริงในสมัยรัชกาลที่ 3 ใกล้ๆ กันมีหอพระนาก สันนิษฐานว่ามีพระเชษฐบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นคือ ดวงวิญญาณพระเจ้าอู่ทองบรรพกษัตริย์อยุธยา ทำอยู่ในรูปพระพุทธรูป

3.ในพระอุโบสถวัดพระแก้ว บรรดาพระพุทธรูปยืนทั้งหลายไม่ใช่พระพุทธเจ้าแต่เป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์และพระประยูรญาติทั้งหมด เข้าใจว่าเป็นธรรมเนียมตั้งแต่อยุธยา

4.ของที่สำคัญมากคือ ฉัตร เพราะในระบบกษัตริย์อินเดียและไทย สิ่งสำคัญที่สุด คือ ฉัตร หรือร่มขาว พระมหากษัตริย์เองยังต้องไหว้เทวดาที่สิงอยู่ในฉัตร

5.หลักเมือง ในวัฒนธรรมพราหมณ์ อินเดียไม่มีเสาหลักเมือง ลัทธิบูชาเสานั้นเป็นของศาสนาผี โดยปกติแล้วเมืองใดๆ ย่อมมีเสาหลักเมืองเสาเดียว แต่ของกรุงเทพฯ มี 2 เสา อันที่สูงกว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 1 อันที่เตี้ยกว่าเป็นของรัชกาลที่ 4 เหตุที่มีสองเสานั้นมีเรื่องเล่ากันว่า มีงูเล็ก 4 ตัวลงไปในหลุมตอนวางเสาและเป็นตำนานที่ผู้คนร่ำลือเรื่องการพยากรณ์อายุของพระราชวงศ์ว่าจะอยู่ถึง 150 ปี ซึ่งจะตรงกับปี 2475 พอดี สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ลงเสาเอกใหม่เพื่อแก้เคราะห์ต่างๆ ปี 2472 ก็มีการแก้เคราะห์อีก เพราะเผอิญมีเจ้านาย 4 พระองค์เกิดปีมะเส็ง คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเจ้ากำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ก่อนจะครบ 150 ปีทั้งสี่จึงไปสร้างตึกชื่อ ‘๔ มะเส็ง’ ที่รพ.จุฬาฯ นอกจากนี้เรื่องการสร้างสะพานเชื่อมกรุงเก่าและกรุงใหม่ก็เป็นอีกตำนานซุบซิบเพื่อแก้อาถรรพ์

6. เทวดากำพูฉัตร สมัยโบราณเชื่อว่ามีเทวดาอยู่ตรงกำพูหรือที่รวมของซี่ฉัตร แต่ไม่มีการทำรูปขึ้นมา สมัยรัชกาลที่ 4 นั้นทรงทำรูปให้เห็นจริงนำไปติดตั้งตรงกำพูฉัตร ใครผ่านพระมหาเศวตฉัตรต้องกราบ เพราะศักดิ์สิทธิ์กว่าทุกสิ่งสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และเมื่อกางแล้วต้องไม่หุบตลอดรัชกาล เป็นสัญลักษณ์ว่า พระเจ้าแผ่นดินยังอยู่

7.พระสยามเทวาธิราช เป็นรูปเคารพสร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เทวดาประจำสยามตั้งไว้บูชาในวันสารทไทย เดือน 5 แต่เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพระสยามเทวาธิราชให้มีหน้าเหมือนคนจริงซึ่งเป็นใบหน้าละม้ายรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างความหมายพิเศษว่า พระสยามเทวาธิราชย์ คือ อดีตบูรพกษัตริย์ พระสยามเทวาธิราชย์ยังถูกใช้ในเหรียญตราต่างๆ ที่กษัตริย์แจกให้ข้าราชบริพาร แม้แต่คณะราษฎรก็นำมาใช้กับ ‘เหรียญปราบกบฏ’ (บวรเดช)หรือเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้านหน้าเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ ด้านหลังเป็นพระสยามเงื้อง่าจะประหารปรปักษ์ “เรียกได้ว่าคณะราษฎรเคยพยายามจะชิงพระสยามฯ ชิงมาได้พักหนึ่งแล้วก็ถูกชิงกลับไป”

8.ท้าวหิรัณฮู หรือหิรัณพนาสูร สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 เวลาไปประพาสต่างจังหวัด พระองค์ทรงรู้สึกว่ามีผีหรืออสูรชาวป่าซุ่มตามพุ่มไม้เพื่อปกปักรักษา พระองค์จึงให้ชื่อว่า ฮู และตั้งให้เป็นเทพารักษ์ประจำพระองค์

9.เรื่องโหราศาสตร์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาเยอะมากและขอละไว้

3.
ไสยศาสตร์ในคณะราษฎร

คมกฤชยังอธิบายแนวรบด้านศาสนาและความเชื่อของคณะราษฎรว่ามีความพยายามอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

1.ฝังหมุดคณะราษฎร  แปลนบริเวณพระบรมรูปนั้นคือการแสดงความรุ่งเรืองสูงสุดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

“แล้วคณะราษฎรก็กวนฉิบหายไปฝังอะไรไว้ตรงนั้น การฝังหมุดในเช้าวันนั้น แง่หนึ่งคือการประกาศการเข้าถึงพื้นที่ที่สำคัญที่สุด แต่อีกแง่หนึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์ คนไทยมีคติเรื่องฝังของ การฝังอาถรรพ์ เวลาจะสร้างบ้านสมัยก่อนต้องฝังยันต์ ฝังนู่นฝังนี่ แล้วถ้าเคยเป็นบ้านเก่าอยู่เราต้องสวดถอนสิ่งต่างๆ ออกไป”

2.สร้างวัดประชาธิปไตย หรือ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เป็นวัดที่ทอนเอาสัญลักษณ์เกี่ยวกับเจ้าออก สถาปัตย์แบบเรียบๆ เจดีย์ก็เป็นทรงระฆังที่เอาบัลลังก์ทิ้ง พระประธานก็เอาพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระของวังหน้ามา พักหนึ่งก็ถูกเอาคืน หลังจากนั้นพระยาพหลฯ บวชปี 2484 นับเป็นสังฆกรรมครั้งแรกที่ธรรมยุตและมหานิกายมารวมกันโดยมีสังฆราชเป็นประธาน

“บอกว่าอย่าให้เรื่องนี้หยุดแค่นั้น เรามาตั้งพ.ร.บ.สงฆ์ใหม่รวมนิกายกันเถอะ อย่าให้แตกแยกกันอีกต่อไป แต่มันหายไปในสายลมหลังการรื้อฟื้นธรรมยุติกนิกายโดยฝ่ายเจ้า จนปัจจุบันพระก็ยังแยกนิกายกันอยู่ แต่พูดได้เลยว่าเคยมีการบวชแบบนี้ที่พระสองนิกายบวชด้วยกันในวัดมหาธาตุ”

3.เปลี่ยนเทวดาเวอร์ชันใหม่ ปกติหน้าบรรณพระอุโบสถมักจะเป็นเทวดาชั้นสูงของราชสำนัก เช่น พระนารายณ์ทรงสุบรรณ แต่คณะราษฎรเปลี่ยนมาเป็น ‘อรุณเทพบุตร’ มีครึ่งตัวทำหน้าที่เป็นสารถีของพระสุริยเทพ (ดวงอาทิตย์) ปรากฏบนหน้าบรรณวัดพระศรีมหาธาตุ และหน้าบรรณประตูอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“มีคนตีความว่ามันคือเวลาย่ำรุ่งตอนประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นสัญลักษณะรุ่งสางของประชาธิปไตย เป็นการทอนจารีตโดยใช้รูปแบบทางจารีตนี่แหละ แต่เปลี่ยนความหมาย”

4.บูชารัฐธรรมนูญ คณะราษฎรคิดว่าชาวบ้านอาจยังไม่เข้าใจมากก็ให้ไหว้ๆ ไปก่อน มีการแจกพานและรัฐธรรมนูญจำลองแบบเหมือนจริงให้ทุกจังหวัด มีการทำพิธีปลุกเสกแล้วแห่ไปตามจังหวัดต่างๆ โดยให้ ส.ส.เป็นคนรับ แล้วก็ยังไปปรากฏในสถาปัตยกรรมอย่างวัดหรืออาคารสถานที่ราชการ รวมถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในหลายพื้นที่ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นด้วย โดยเฉพาะในอีสาน (ซึ่งเป็นช่วงของ 4 รัฐมนตรีอีสาน)  รวมถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญในช่วงสั้นๆ

“อาจารย์นิธิพูดไว้น่าสนใจว่า ทำไมพานรัฐธรรมนูญถึงต้องเป็นพานสองชั้นที่เราเรียกว่า พานแว่นฟ้า ซึ่งบ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์มาก แล้วปกติเวลาเรารับของจากเจ้า เรารับแล้วถือไว้ในมือ แต่เวลาเราถวายเจ้าเราต้องเอาใส่พาน แสดงว่ารัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ว่า ปวงชนเสนอไป ถึงต้องใส่พาน ไม่ใช่สิ่งที่ประทานลงมา”  

“เรื่องหนึ่งที่ผมอยากเรียกร้องมากคือ รัฐสภาปัจจุบัน ยอดด้านบนเป็นมณฑป แล้วเขาแพลนไว้ว่า จะวางพระสยามเทวาธิราช มีคนเสนอว่าควรเป็นพานรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม อยู่ใต้รัฐธรรมนูญหมดและเป็นสัญลักษณ์ของรัฐสภา เรื่องนี้ผมเห็นว่าควรผลักดันและรณรงค์ ไม่ควรมีพระสยามเทวาธิราชไปโผล่บนสภาแล้ว”

5.พระลัญจกร ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับพระนามที่เป็นสัญลักษณ์ของพราหมณ์ แต่มีองค์เดียวที่ใช้สัญลักษณ์แบบพุทธคือ รัชกาลที่ 8 เป็นรูปพระโพธิสัตว์ เป็นเรื่องน่าสนใจว่าผู้ให้คำแนะนำสำหรับพระองค์นั้นมีความคิดเบื้องหลังอย่างไร ขณะที่พระลัญจกรของรัชกาลที่ 10 คือ การผสมระหว่างรัชกาลที่ 5 และ 6 รวมกัน

ส่วนหนึ่งของคำประกาศเทวาพิทักษ์ราษฎร์

“ศรีศรี สิทธิ ฤทธิ เดชโชชัย กาลบัดนี้เป็นเวลาวิกฤตด้วยเกิดภยันตราย เผด็จการแรงร้ายข่มเหงบีฑาราษฎร เกิดยากจนทุกข์เข็ญโรคภัยก็เข้ารุกราญ ประชาราษฎร์เดือดร้อนกันทุกถ้วนหน้า ทหารหาญไม่เข้ากรมแต่กลับชื่นชมยศฐาปกครองนคราด้วยอำนาจภินท์พัง แม้นองค์กษัตริย์ก็มิได้สดับรับฟัง ข้อเสนอปวงประชาที่จะช่วยให้สถาบันตั้งอยู่ยั้งยืนยง แผ่นดินจึงทุรยศบรรดาคนคดกลับมีตำแหน่งทรง แต่คนตรงกลับถูกกลั่นแกล้งเบียดเบียนข่มเหงลงให้อัปรา”....

“หากศักดินาใช่เล่ห์เพทุบาย โดยใช้โหราไสยเวท ใช้อลัชชีทุรเพศกระทำพิธี ด้วยหวังให้มีผลแรงร้าย มุ่งทำลายขบวนการประชาชน ดลให้ทุรชนีอำนาจสูง หรือมาชักจูงให้เทวดากระทำย่ำยีพี่น้อง ขอเหล่าเทวดาจงยั้งคิด จงตั้งจิตในอัปปมัญญา ไม่รับคำบัญชาอันไม่ประกอบด้วยธรรม แล้วนำจิตใจให้ใฝ่กุศล รีบจรดลหลีกหนี อย่าฟังคำบวงสรวงอัปปรีย์ปลิ้นปล้อน ดุจละครโวหารสวยหรูหรือแม้มีเครื่องบูชามากหลายกับทั้งรำถวายกร ก็ห่อนใส่ใจ แต่โปรดอำนวยพรชัยจำเพาะแต่ปวงชน ผู้ทุกข์ทนในบ้านนี้เมืองนี้ ให้ได้พบเสรีภาพกับความสุขสมบูรณ์ ให้ผู้คนได้เกื้อกูลกันด้วยระบอบ อันควรชอบด้วยระบบ ให้ได้พบความยุติธรรมอันหายาก ให้ขวากหนามแห่งประชาธิปไตยสูญสิ้น ขอท่านจงยินเสียงพี่น้องประชาชนโห่ร้อง ก้องตะโกนด้วยความทุกข์ร้อน ก็จงผันผ่อนคลายโทษ โปรดพิทักษ์รักษาคนธรรมดาสามัญ ให้ได้ฟันฝ่าอุปสรรค ขอความรักแผ่ขยายไม่สิ้นสูญ ขอความไพบูลย์จงมี แด่ชาติราษฎร์และประชาธิปไตย ชโย
สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง, สิทธิการิยะ ตถาคโต, สิทธิเตโช ชโยนิจจัง, สิทธิลาโภ นิรันตะรัง” ....

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net