Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนจัดกิจกรรมเสวนาการใช้ชีวิตของหญิงข้ามเพศหูหนวกและการดูภาพยนตร์เนื้อหาเกี่ยวกับหญิงข้ามเพศ เนื่องใน 'วันสากลเพื่อรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหารด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง' (Transgender Day of Remembrance)

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 เวลา 18.00-21.30 ณ ห้องประชุมร้านTexas Chicken สาขาสีลมมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ภายใต้โครงการทรานส์วอยซ์ (Trans’ Voice Against Violence : TVAV) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก United Nations Development Programme (UNDP) ร่วมกับชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง และมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องใน“วันสากลเพื่อรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหารด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง (Transgender Day of Remembrance ) เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับกลุ่มคนข้ามเพศคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นคนหูหนวก ได้มีพื้นที่บอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำรงชีวิตในโครงสร้างสังคมที่ยังไม่โอบรับกับคนข้ามเพศในสังคมที่ยังมีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ หรือการทำความรุนแรงกับคนข้ามเพศคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สอดคล้องกับสถิติโครงการสถานการณ์การติดตามการฆ่าสังหารคนข้ามเพศ (Trans* Murder Monitoring-TMM) เดือน ต.ค. 2561 - ก.ย. 2562 ทั่วโลก พบการฆ่าสังหารคนกลุ่มนี้ 331 ราย เกิดขึ้นในบราซิล 130 ราย เม็กซิโก 63 ราย และสหรัฐอเมริกา 30 ราย เพิ่มขึ้น 3,314 ราย ใน 74 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2008-2020 พบว่ามีคนข้ามเพศอายุ 13-53 ปี ถูกทำร้ายเสียชีวิต 22 ราย

ระหว่างการกล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์และเปิดการเสวนา คุณนับดาว องค์อภิชาติ ประธานชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดงานนี้อีกว่า เนื่องจากหญิงข้ามเพศไม่ได้มีแต่เฉพาะหญิงข้ามเพศที่หูดี ได้ยินชัดเจน สังคมควรได้รับทราบถึงตัวตนและวิถีชีวิตของหญิงข้ามเพศหูหนวกด้วย ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้มีการจัดงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นโอกาสดีที่ได้เห็นความเข้มแข็งในการรวมตัวของหญิงข้ามเพศหูหนวกมากขึ้น จึงอยากจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหญิงข้ามเพศหูดี หญิงข้ามเพศหูหนวก และสังคมในโอกาสต่อ ๆ ไป

คุณสุดารัตน์ เมฆฉาย ผู้แทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เห็นการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของคนหูหนวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนงานของบุคคลหลากหลายทางเพศ และสตรีที่ตนเองได้ดูแลอยู่ วันสากลเพื่อรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหารด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง เป็นงานที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่มีโอกาสได้เห็น ได้รับรู้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้จากระดับนานาชาติ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้เสวนา และภาพยนตร์

โดยในการเสวนานั้นมีผู้ดำเนินรายการประกอบไปด้วยคุณนพนัย ฤทธิวงศ์ ผู้รับผิดชอบโครงการทรานส์ว๊อยซ์ ที่มีการทำงานร่วมกันกับกลุ่มหญิงข้ามเพศหูหนวก เสริมสร้างความเข้มแข็งในการเข้าถึงสิทธิและโอกาสอย่างเท่าเทียม จากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ร่วมกับคุณอัจฉราภรณ์ ทองแฉล้ม ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายผู้ปกครองที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ ที่ทำงานร่วมกับครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศจากมูลนิธิเครือเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยในการร่วมเสวนาการใช้ชีวิตของหญิงข้ามเพศหูหนวก มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนคือ

คุณธีรพร เตียเจริญชัยโชติ Miss Deaf T-Beauty Thailand 2020 เธอได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ของการทำงานของเธอด้วยรูปลักษณ์ และการแต่งกายที่ไม่ตรงกับคำนำหน้าของเธอ ทำให้บางครั้งหลายคนมีการแสดงสีหน้า ท่าทางที่สงสัยในตัวตน บางครั้งมักเจอคำถามที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานเช่นมักจะถามเรื่องผ่าตัดแปลงเพศ การทำหน้าอก ซึ่งสิ่งที่เธอเผชิญนั้นสร้างความอึดอัด และรู้สึกว่าตนเองต้องตอบในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แต่เธอก็พยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง เธอหวังว่าจะมีกฏหมายที่รองรับเพศสภาพของเธอ

คุณพันธุ์พงศ์ สิมะโภไคย หญิงข้ามเพศหูหนวก จากครอบครัวพ่อแม่หูหนวก เธอเกิดมาในครอบครัวที่มีคนหูหนวกตัวเธอเองก็หูหนวก การเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่หูหนวก ทำให้พ่อแม่ของเธอไม่เข้าใจ พ่อแม่ของเธอกังวลเกี่ยวกับการทำงาน และอนาตของเธอ เธอต้องพิสูจน์ตนเองด้วยการเรียนหนังสือ และเธอสามารถทำงานในบริษัทเอกชนได้ พิสูจน์ให้พ่อกับแม่เธอเห็นว่าแม้ว่าเธอจะเป็นหญิงข้ามเพศหูหนวกเธอก็สามารถทำงานและรับผิดชอบตัวเองได้ โดยที่ทุกการพิสูจน์ตนเองให้แก่พ่อแม่เธอมีน้าและน้องชายคอยให้กำลังใจ เธอบอกว่าอยากให้พ่อแม่ คนในครอบครัวเข้าใจลูกหลานข้ามเพศ ลูกหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะทุกคนคือกำลังใจและพลังที่ทำให้ทุกคนมีชีวิต และสามารถต่อสู้กับอคติ และความเกลียดชังที่มีต่อคนข้ามเพศได้

คุณปัณณวัฒน์ วันหวัง หญิงข้ามเพศหูหนวกมุสลิม ในตัวของเธอเป็นผู้มีความซับซ้อนของอัตลักษณ์ทั้งอัตลักษณ์การเป็นหญิงข้ามเพศ  อัตลักษณ์ของการเป็นหูหนวก ยิ่งไปกว่านั้นเธออยู่ในอัตลักษณ์ในบริบทของศาสนาอิสลาม เธอมีแรงเสียดทานมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่เธอสามารถก้าวข้ามและดำรงค์ไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนของตนเองได้ เพราะเธอได้รับพลังจากครอบครัวที่ยอมรับในสิ่งที่เป็นชีวิต เป็นตัวตนของเธอ ทำให้เธอสามารถต่อรองและใช้ชีวิตในสังคมนี้ได้ แม้ว่าบางคนยังตำหนิ หรือพูดถึงเธอในทางไม่ดี แต่เธอก็สามารถเผชิญและจัดการกับตัวเองได้

ภายหลังการชมภาพยนตร์เรื่อง The Danish Girl ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตขิงของหญิงข้ามเพศ ผู้เข้าร่วมได้มีการร่วมจุดเทียนเพื่อรำลึกถึง คนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหาร พวกเราร่วมจุดพลังในการร่วมสร้างพลังแห่งการทลายอคติ พลังแห่งการต่อสู้ที่จะยืนหยัดในชีวิต ตัวตนของตนเอง 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net