The Social Question (1) มิติทางจริยศาสตร์และญาณวิทยาจากความขัดแย้งในสื่อสังคมออนไลน์

เรามักเชื่อว่าสิ่งที่เรารู้นั้นจริงและสมเหตุสมผลกว่าสิ่งที่คนอื่นรู้ กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันสิ่งที่เราคิดว่ารู้ก็ไปกำหนดกรอบเกณฑ์ความถูก-ผิด ดี-ชั่ว ด้วย ซึ่งทำให้ความขัดแย้งในโลกออนไลน์ยิ่งมีหลายมิติที่ทับซ้อนกัน

เมื่อโซเชียลมีเดียสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์มากขึ้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดเป็นผลกระทบในมิติต่างๆ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ The Social Question: จริยศาสตร์กับโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยพินิจโซเชียลมีเดียผ่านมุมมองทางปรัชญา กฎหมาย และวรรณคดี

โดยในหัวข้อ ‘มิติทางจริยศาสตร์และญาณวิทยาจากความขัดแย้งในสื่อสังคมออนไลน์’ ศิรประภา ชวะนะญาณ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

ประมาณห้าหกเจ็ดปีก่อนเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับ Google ซึ่งเป็นเครื่องมือในการหาความรู้ เครื่องมือในทางญาณวิทยา โดยการค้นหาของ Google มีลักษณะเป็น personalization (การทำตลาดแบบรายบุคคล) สมมติดิฉันเสิร์ชคำเดียวกันกับอีกคนหนึ่ง แต่ก็อาจได้ผลที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับ Google มองว่าเราสนใจอะไร และไม่ใช่แค่ Google อย่างเดียวที่เป็นเช่นนี้ เกือบทุกเว็บที่เราเข้าตอนนี้มัน personalization มันแสดงผลโดยคิดว่าเราเป็นคนอย่างไรและแสดงผลให้เป็นไปตามที่เราต้องการมากที่สุดและก็กันสิ่งที่เราไม่ต้องการออกไป

ลักษณะแบบนี้ในทางญาณวิทยาทำให้เกิดปัญหาหนึ่ง เนื่องจากคนเรามีอคติอยู่แล้วในเรื่องต่างๆ การที่เว็บกรองสิ่งที่เราอยากจะรู้ให้เราจะส่งผลให้อคติที่เรามีรุนแรงยิ่งขึ้น เหมือนกับเราเชื่ออะไรอยู่แล้ว เราก็เห็นแต่สิ่งที่เราเชื่อ อะไรที่เราไม่เชื่อก็ถูกกันออกไป เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ที่ถูกกรอง

ดิฉันก็เลยสนใจศึกษาปัญหาเกี่ยวกับข้อขัดแย้งในโลกออนไลน์เพราะเห็นว่าเวลามีข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ดูมันจะรุนแรงกว่าในโลกจริงเสียอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าคนที่เราว่าอยู่เป็นใคร

ศิรประภา ชวะนะญาณ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ก็คือดูว่ามันมีหลักอะไรที่เป็นเรื่องของความดีและความรู้ที่อยู่เบื้องหลังข้อขัดแย้งในสื่อสังคมออนไลน์ โดยดูจาก Facebook Page เพราะคนไทยใช้ Facebook มากที่สุด ถ้าเทียบกับสื่ออื่นๆ และผู้ใช้มีอายุกระจายกว่า Twitter และเลือกจากเพจที่มีดราม่าอยู่ 10 เพจโดยเก็บข้อมูลเป็นเวลา 4 เดือน เก็บทุกหัวข้อ และเก็บคอมเม้นต์โดยไม่ได้ดึงว่าใครเป็นคนคอมเม้นต์

6 ข้อสังเกตทางญาณวิทยา

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสาเหตุเชิงญาณวิทยา

1. การให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของความรู้แตกต่างกันจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน เวลาที่ผู้ร่วมถกเถียงมีความเห็นไม่ลงรอยกัน บางทีเป็นเพราะผู้ร่วมถกเถียงให้น้ำหนักกับแหล่งที่มาของความรู้ต่างๆ ไม่เท่ากัน

แหล่งที่มาของความรู้เป็นอะไรได้บ้าง เช่น เรารับรู้ผ่าน perception การรับรู้ เห็น ได้ยิน หรือการใช้เหตุผล หรือจิตสำนึก ความทรงจำ อีกอันหนึ่งที่สำคัญคือ testimony ซึ่งเป็นแหล่งของคำที่คนอื่นบอก การที่มีหลายแหล่งที่มาของความรู้ของเรา แล้วแต่ละคนให้น้ำหนักไม่เท่ากันว่าอันไหนน่าเชื่อกว่าอันไหน ทำให้เราตีความหลักฐานที่ได้มาไม่เท่ากันและส่งผลให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้น

ประเด็นนี้จะโยงกับอีกประเด็นหนึ่งก็คือแม้แต่รับแหล่งที่มาเดียวกัน สมมติรับสิ่งที่คนอื่นบอกมาเหมือนกัน แต่ถ้าข้อมูลที่ได้รับมาต่างกัน เช่น เรื่องสลายการชุมนุม ดิฉันได้ยินมาอย่างหนึ่ง อีกคนได้ยินมาอีกอย่างหนึ่ง มันก็เกิดข้อขัดแย้งได้เช่นเดียวกัน แม้จะได้รับจากแหล่งที่มาเดียวกัน แต่ก็ขัดแย้งกันได้อยู่ดีถ้าแหล่งที่มานั้นไม่ตรงกัน ซึ่งก็จะไปสู่ประเด็นที่ 2

2. การมีความเชื่อที่มีฐานมาจากแหล่งที่มาของความรู้เดียวกันแตกต่างกันจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน เช่น เรื่องการลดน้ำหนักว่าวิธีไหนทำได้หรือกรณีการปรุงอาหารที่ทรมานสัตว์ก็จะมีข้อถกเถียงว่าสัตว์รับรู้ความเจ็บปวดได้หรือไม่ ก็จะมีการพูดว่าที่ฉันรู้มาเป็นอย่างนี้ แล้วก็มีข้อขัดแย้งกัน จะสังเกตเห็นว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เป็นพื้นฐานให้แต่ละคนเอาไปตัดสินอีกทีหนึ่งว่าการกระทำนี้มันดีหรือไม่ ฉันควรจะกินสัตว์ที่มีพื้นฐานมาจากการทรมานหรือไม่ มันก็อยู่บนฐานที่ว่าเรามีข้อมูลว่าสัตว์มันเจ็บปวดได้ไหม จะเห็นว่าการตัดสินเชิงจริยธรรมในจุดหนึ่งก็มีความเชื่อมโยงว่าฉันมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างไรด้วย

3. การมีความเชื่อฝังหัวเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ แตกต่างกันจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน ช่วงที่เก็บข้อมูลความเชื่อที่ฝังหัวเยอะมากๆ เกิดความขัดแย้งมากๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ของไทยก็คือความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น เพศชายถูกมองว่าจะต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เป็นผู้นำ เวลาที่ผู้ชายไม่ทำอะไรแบบนั้น วิธีการต่อว่าก็คือฆาตกรคงไม่ใช่ลูกผู้ชาย ต้องเอากระโปรงมาสวมแทนคน ที่คอมเม้นต์นี้เป็นผู้หญิง มันเป็นการต่อว่าที่เหมือนต่อว่าตัวเองไปด้วย เป็นการย้ำว่าผู้ชายต้องเป็นอย่างไร ผู้หญิงต้องเป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วความรับผิดชอบอาจจะไม่ใช่เรื่องของเพศก็ได้ แต่เป็นของทุกคนซึ่งก็มีการทะเลาะกันต่อมาว่าว่าแบบนี้ได้หรือ

หรือกรณีความเชื่อฝังหัวที่บอกว่าเพศชายต้องเป็นผู้นำ ต้องเป็นคนหาเงิน เวลาที่มีผู้ชายเลือกแฟนด้วยเหตุผลว่าฝ่ายหญิงมีฐานะก็จะถูกคอมเม้นต์ต่อว่าว่าเป็นแมงดา ซึ่งถ้าเป็นผู้หญิงเลือกผู้ชายเพราะฐานะมั่นคงจะไม่โดนเท่า หรืออีกเพศหนึ่งซึ่งโดนหนักไม่แพ้กันคือเพศทางเลือก สมมติมีการแชร์คลิปคู่ LGBT แต่งงานกันจะไม่เป็นคอมเม้นต์ลักษณะแสดงความยินดี แต่จะเป็นลักษณะสายเหลืองบ้าง หรือเป็นช่วงเวลาที่ต้องชดใช้กรรม แต่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังจะใช้กรรมอยู่ ซึ่งก็น่าคิดว่ากรรมมีจริงไหม ต้องชดใช้กรรมจริงเหรอ

ความเชื่อฟังหัวที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์มีอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเรื่องคนมีรอยสักหรือการเมืองเกี่ยวกับชีวิตเรา ก็เป็นจุดที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งได้เยอะมาก

4. การมีเกณฑ์การให้เหตุผลควรเชื่อแตกต่างกันจึงทำให้ยอมรับข้อมูลที่จะนำมาตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกันจนสามารถก่อให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน ญาณวิทยาสนใจศึกษาธรรมชาติของความรู้เวลาที่เราบอกว่าเรารู้อะไรสักอย่าง นอกจากมันจะต้องจริงแล้ว เราต้องอธิบายได้ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราคิดว่ามันจริง ทีนี้ตัวเหตุผลที่ทำให้เราคิดว่ามันจริง บางทีคนเรามีหลายเกณฑ์ และเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันได้

ยกตัวอย่างคนบางคนเห็นว่าเหตุผลที่ทำให้เราเชื่ออะไรอย่างหนึ่งว่าเป็นเรื่องจริงไม่จำเป็นต้องจริงๆ ก็ได้ มันก็ทำให้เรามีชีวิตรอดหรือเชื่อแล้วทำให้เราสบายใจโดยไม่ต้องเป็นเรื่องจริง แค่นี้ก็พอแล้ว แต่บางคนไม่ได้ บางคนจะมองว่าแบบนี้ไม่มีเหตุผล เหตุที่ทำให้เราเชื่อมันต้องโยงไปสู่ความจริงด้วยสิ เช่น จะกินยาหม้อรักษามะเร็งดีไหม ก็มีคนแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ว่าถ้าเขาพิสูจน์แล้วว่ามันใช้ไม่ได้ก็ไร้เหตุผลที่จะกิน อีกคนบอกว่าถ้ามันไม่เหลืออะไรแล้ว รักษาอะไรก็ไม่หายแล้ว กินไปแล้วจะทำไม ก็ฉันอยากจะกิน กินแล้วสบายใจ อันนี้ก็เป็นความต่างในเรื่องของเกณฑ์

บางคนก็มีเกณฑ์ว่าฉันจะมีเหตุที่ทำให้เชื่อได้ ฉันต้องเข้าถึงเหตุผลนั้นได้ ถ้าฉันเข้าถึงมันไม่ได้แปลว่าฉันตัดสินอะไรไม่ได้ ก็คือว่ามีบางคนอ่านเรื่องหนึ่งแล้วบอกว่าอย่าไปตัดสินเขา เราไม่ได้เป็นเขา ถ้าอธิบายแบบนี้หมายถึงว่าเราเข้าถึงเหตุผลของเขาไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น แต่จะเห็นว่ามีบางคนที่ไม่ได้มองแบบนี้ มีบางคนที่พร้อมจะตัดสินคือไม่จำเป็นต้องเข้าถึง แต่ฉันรู้ได้ว่าทำแบบนี้มันมีเหตุผลจากอะไร

อีกประเด็นหนึ่งในการดูเกณฑ์ เราต้องไปดูว่าแต่ละคนมีกระบวนการสร้างความเชื่อนั้นมาอย่างไร จะเห็นว่าบางคนรับกระบวนการการสร้างความเชื่อที่จะต้องมาจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น บางคนเรื่องเหนือธรรมชาติก็รับได้หมด พอมีเกณฑ์ตรงนี้ต่างกันก็นำไปสู่ความขัดแย้งได้

ความต่างที่เห็นได้ชัดและก็นำมาสู่ความขัดแย้งคือบางคนมองว่าจะมีเหตุที่ทำให้เชื่ออะไรสักอย่างหนึ่งได้ เวลาที่รับข้อมูลอะไรเข้ามาคุณต้องทำอะไรกับข้อมูลนั้นด้วย เช่น ต้องตรวจสอบคุณถึงจะพูดได้ว่าคุณมีเหตุที่จะทำให้เชื่อสิ่งนี้ ความต่างตรงนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดข้อขัดแย้งอีกเหมือนกัน เพราะคนที่ตั้งเกณฑ์ขึ้นมาแล้วต้องตรวจสอบด้วย ไม่ใช่แค่รับมาเฉยๆ ก็จะต่อว่าคนที่รับข้อมูลเข้ามาแบบเฉยๆ ว่าเชื่อได้ยังไง มันก็เกิดเป็นข้อขัดแย้งขึ้นอีก คล้ายๆ ว่าเกณฑ์ต่างกัน ลักษณะนี้จะเห็นได้ชัดเวลาที่มีคนรับข้อมูลแล้วไม่ได้ตรวจสอบให้ดี

ความต่างอีกอันหนึ่งเกี่ยวกับเกณฑ์ก็คือ ที่บอกว่า testimony หรือสิ่งที่คนอื่นบอกเป็นแหล่งที่มาของความรู้แหล่งหนึ่ง มันก็มีคนบอกว่าผู้ที่มาร่วมถกเถียงบางคนมองว่าสิ่งที่คนอื่นบอกมีฐานะเท่ากับการรู้ผ่าน perception (การรับรู้) หรือบางคนมองว่าสิ่งที่คนอื่นบอกไม่เท่ากับ perception เราต้องอธิบายถอยกลับไปยัง perception ให้ได้ก่อน แล้วถึงค่อยเชื่อมัน ความต่างของ 2 จุดนี้ก็ทำให้เกิดข้อขัดแย้งได้อีกเพราะว่าจะให้น้ำหนักข้อมูลไม่เท่ากันคือมองว่าข้อมูลหนึ่งน่าเชื่อกว่าอีกข้อมูลหนึ่ง

5. การเลือกยอมรับและตีความหลักฐานแตกต่างกันจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน ในการถกเถียงที่เกิดขึ้นพบว่าผู้ร่วมถกเถียงมีการยอมรับและตีความหลักฐานไม่เหมือนกันและทำให้เกิดความขัดแย้งได้ ตัวอย่างเช่นบางคนยอมรับหลักฐานเหนือธรรมชาติว่าเป็นหลักฐานด้วย แนวคิดว่าอะไรที่เรียกว่าหลักฐาน บางทีมีความต่างกัน บางคนไม่ยอมรับสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นหลักฐาน และแม้ว่าจะยอมรับหลักฐานเดียวกันข้อสรุปต่อจากนั้นก็อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกันด้วยขึ้นอยู่กับว่าหลักฐานนั้นพอหรือเปล่าที่จะนำไปสู่ข้อสรุป ซึ่งอันนี้จะยุ่งกับเกณฑ์อื่นๆ อีกหลายอย่าง

6. การมีศักยภาพทางญาณวิทยาไม่เพียงพอจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน ซึ่งพบบ่อยมาก คือในสื่อสังคมออนไลน์จะเกิดสถานการณ์ที่อ่านหัวข้อปุ๊บ คอมเม้นต์ได้เลย ไม่ได้อ่านเนื้อความ เช่น ข่าวที่กลุ่มวัยรุ่นเข้าไปตีคู่อริในโรงพยาบาล ทีนี้ก็ไปสัมภาษณ์ยายแล้วมาเขียนหัวข้อข่าวว่ายายบอกว่าหลานเป็นคนดี ทัวร์ก็ลง อย่างนี้คือดีเหรอ เข้าไปตีคนอื่นในโรงพยาบาล ดิฉันก็เข้าไปอ่านบทสัมภาษณ์ พบว่า จริงๆ แล้วยายให้สัมภาษณ์ว่าแต่ไหนแต่ไรก็สอนให้หลานเป็นคนดี ไม่ได้พูดเลยว่าหลานเป็นคนดี ในคอมเม้นต์ทั้งหลายทั้งปวงมีอยู่แค่คนสองคนที่เข้าไปอ่าน แล้วก็บอกว่ามีตรงไหนที่ยายบอกว่าหลานเป็นคนดี อันนี้เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากไม่อ่านแต่คอมเม้นต์ได้เลย

5 ข้อสังเกตทางจริยศาสตร์

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสาเหตุเชิงจริยศาสตร์

1. ผู้ร่วมถกเถียงมีทัศนะเกี่ยวกับสถานะของความดีแตกต่างกันจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน มันมีการกระทำบางอย่างที่คนในสื่อสังคมออนไลน์เห็นตรงกันว่าไม่ดีและไม่มีใครโต้แย้ง หมายความว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจะไม่มีคอมเม้นต์ในลักษณะเห็นอกเห็นใจหรือมองว่าถูก คือการข่มขืน การมีชู้ บางทีมันสะท้อนภาพของสังคมเราเหมือนกันว่าให้คุณค่ากับอะไร การทำร้ายคนที่ไม่มีทางสู้ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม การเป็นมิจฉาชีพ การทำผิดซ้ำๆ การทำผิดจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนการกระทำที่เห็นว่าดีอย่างไม่มีใครโต้แย้งคือการช่วยเหลือหรือดูแลผู้มีพระคุณ การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนโดยที่ตัวเองไม่เดือดร้อนจากการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนนั้น เพราะถ้าเราช่วยเหลือคนอื่นและเราเดือดร้อนจากการช่วยเหลือนั้นบางทียังมีข้อถกเถียงว่าควรช่วยหรือเปล่า

2. ผู้ร่วมถกเถียงมีทรรศนะเกี่ยวกับประเด็นเกณฑ์การตัดสินการกระทำที่ดีแตกต่างกันจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน บางคนดูที่ผลของการกระทำ บางคนดูที่เจตนาของการกระทำ บางคนดูว่าใครเป็นคนกระทำ ถ้าคนคนนี้ทำไม่ผิด ถ้าคนคนนี้ทำถูกตลอด

ตัวอย่างเช่นข้อถกเถียงเรื่องโทษประหารชีวิตมีคนคอมเม้นต์ว่า ถ้าไม่ประหาร คุกล้น อันนี้พูดถึงผล แต่การตีความผลก็แตกต่างกันอีกตามข้อความที่ได้รับจากการบอกเล่า หรือบางกรณีไม่พูดถึงผลเลยแต่พูดในเชิงคอนเซ็ปต์ว่า ถ้ามองว่าการฆ่าไม่ดีในตัวมันเอง การประหารก็ไม่น่าจะดีได้ แบบนี้เป็นการปฏิเสธโทษประหารในเชิงมโนทัศน์ แม้จะนำไปสู่ข้อสรุปที่เหมือนกัน แต่คำอธิบายมีเกณฑ์ที่ต่างกันอยู่

3. ผู้ร่วมถกเถียงมีทัศนะเกี่ยวกับประเด็นเรื่องที่มาของการกระทำที่ดีแตกต่างกันจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน คือมองที่มาของการกระทำที่ดีต่างกัน หนึ่งก็คือที่มาต้องมาจากกฎหมาย บางคนบอกว่าต้องมาจากศาสนา อันนี้ในสังคมไทยค่อนข้างเยอะคืออ้างศาสนา

อีกอันหนึ่งคือสังคม สังคมในความหมายแรกจะอ้างที่มาของความดี หนึ่ง-คือหลักจารีต วิถีประชาในสังคม ไม่ได้ยุ่งกับศาสนา สอง-อ้างประเพณีวัฒนธรรม ต้องอธิบายว่าไม่ได้หมายความว่าแบบนี้ถูกต้อง แต่มีการอธิบายแบบนี้ในสื่อสังคมออนไลน์คืออ้างประเพณีวัฒนธรรมว่าเป็นที่มาของความดีหรืออ้างสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปแบบคนส่วนใหญ่เขาทำกัน สาม-อ้างอุดมคติเชิงคุณค่าในสังคม เช่น พ่อที่ดีเป็นยังไง ลูกที่ดีเป็นยังไง ต่อมาก็คือจรรยาบรรณวิชาชีพก็ถูกใช้อ้างเป็นที่มาของความดีเหมือนกัน อาชีพที่ถูกต่อว่ามากที่สุดในสื่อสังคมออนไลน์มีอยู่ 4 อาชีพคือ ตำรวจ ทหาร ครู หมอ

อีกอันหนึ่งที่เป็นที่มาของการกระทำที่ดีคือโมเดล บุคคลคนนี้คือคนดี เพราะฉะนั้นอะไรที่คนคนนี้ทำจะถือเป็นการกระทำที่ดี ซึ่งตอนที่เก็บข้อมูลจะมีอยู่ 2 คน หนึ่งคือคุณตูน Bodyslam และในหลวงรัชกาลที่ 9 พอยึดสิ่งเหล่านี้ต่างกันก็นำมาสู่ความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้

4. ผู้ร่วมถกเถียงมีทัศนะเกี่ยวกับขอบเขตเรื่องการทำดีและไม่ดีกับผู้อื่นแตกต่างกันจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน คือนอกจากเกณฑ์แล้วเรายังมีการมองขอบเขตที่แตกต่างกันด้วย ขอบเขตหมายถึงอะไร ขอบเขตก็คือฉันจะปฏิบัติดีกับพวกเดียวกับฉัน ฉันจะปฏิบัติดีเฉพาะกับคนไทย ฉันจะปฏิบัติดีกับคนทั้งโลก หรือบางคนขอบเขตต้องปฏิบัติดีกับสัตว์ด้วย บางคนแค่สัตว์ไม่พอต้องปฏิบัติดีกับสิ่งแวดล้อมด้วย ตัวเราแต่ละคนมองว่าขอบเขตของสิ่งที่เราจะปฏิบัติดีด้วยมันกินความแค่ไหน ถ้าเรามองขอบเขตต่างกันก็ส่งผลให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นได้

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในเพจ Drama Addict เราควรกินอาหารที่สัตว์ถูกทรมานก่อนตายไหม จะมีบางคนที่แสดงความคิดเห็นชัดเลยว่าไม่ได้รวมสัตว์เข้ามาว่าต้องปฏิบัติดีด้วย คือมองเป็นอาหาร แต่บางคนบอกว่าไม่ได้ ถ้าจะเจ็บปวดเราต้องทำให้มันทรมานน้อยที่สุด อันนี้คือการพยายามรวมมันเข้ามาอยู่ในขอบเขตของสิ่งที่เราปฏิบัติดีด้วย

หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว เราควรปฏิบัติดีกับคนในครอบครัวมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า คล้ายๆ มีพันธะหน้าที่บางอย่างหรือเปล่า คือจะมีบางคนที่มองว่าทุกคนเป็น 1 เท่ากันหมด แต่บางคนมองความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งที่มีพันธะหน้าที่มากกว่า การแสดงความคิดเห็นก็จะต่างกัน เช่น พ่อตายิงลูกเขยเพราะโกรธที่โกง คอมเม้นต์ก็จะประมาณว่าถ้าโกงจริงก็สมควรตายแล้วล่ะ เห็นผู้ชายดีกว่าพ่อแม่สมควรตาย จะเห็นว่าแต่ละคนให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์มากกว่าหรือเปล่า

อีกอันหนึ่งอาจจะมีความต่างในลักษณะที่ว่า ถ้าคนทำไม่ดีกับเรา เราควรทำไม่ดีตอบกลับไปหรือไม่ ทัศนะเรื่องนี้อาจจะต่างกันได้ บางคนมองว่าเราไม่ควรทำไม่ดีตอบ เราต้องเฉย ในขณะที่บางคนตอบว่าถ้าทำไม่ดีกับเรา เราสามารถทำไม่ดีตอบได้

5. ผู้ร่วมถกเถียงมีทัศนะเกี่ยวกับประเด็นเรื่องหนทางการแก้ไขปัญหาในเชิงจริยศาสตร์แตกต่างกันจนสามารถทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกัน สมมติคนหนึ่งเจอเหตุการณ์ไม่ดีจะแก้ยังไง วิธีแรกที่เจอคือใช้สังคมเป็นหนทางแก้ คือการแชร์เรื่องนี้ออกไปให้คนอื่นรับรู้ว่าแกทำอะไรผิด วิธีที่ 2 คือใช้ศาสนาเป็นหนทางแก้จะเห็นได้ชัดในสังคมไทยและในกรณีที่กฎหมายทำอะไรไม่ได้ คอมเม้นท์ก็จะมีลักษณะว่าขอให้เวรกรรมติดตามแกไป หรืออีกกรณีหนึ่งใช้กฎหมายเป็นหนทางแก้ซึ่งจะโยงกับประเด็นแรกด้วยว่าสังคมมองว่าอะไรไม่ดีตรงกัน การกระทำไหนคิดว่าไม่ดีตรงกัน อันนั้นคือให้ใช้กฎหมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการข่มขืนจะไม่ใช้การแชร์หรืออ้างเวรกรรม แต่ต้องประหาร

จะเห็นได้ชัดว่าเวลาตัดสินว่าใครคนหนึ่งทำอะไรผิด มันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ทางจริยศาสตร์ แต่โยงกับเกณฑ์ทางญาณวิทยาซึ่งเป็นตัวบอกว่าเราจะรับอะไรเป็นข้อมูลด้วย

สิ่งที่พูดมามันเป็นเหมือนเกณฑ์ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าแต่ละคนรับเกณฑ์นี้เหมือนกันแล้วจะตัดสินออกมาเหมือนกัน เพราะแต่ละคนรับหลายเกณฑ์และการให้น้ำหนักว่าเกณฑ์ไหนสำคัญกว่าก็ไม่เท่ากัน จึงส่งผลให้เกิดการตัดสินที่ต่างกันได้อีก

อีกทั้งยังมีข้อมูลไม่เท่ากันซึ่งจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งได้อีก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการตัดสินเป็นเรื่องตามแต่ใจ มันก็มีเกณฑ์บางอย่างที่อธิบายอยู่ดีซึ่งการพยายามทำความเข้าใจเกณฑ์พวกนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจคนที่เห็นต่างมากขึ้นก็ได้ว่าทำไมเขาจึงแสดงความคิดเห็นแบบนี้

โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าข้อขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่ดีโดยตัวมันเอง เพราะหลายครั้งข้อขัดแย้งนำไปสู่สิ่งที่ทำให้คนตั้งคำถามกับตัวเอง ตกตะกอนความคิดจากความขัดแย้งนั้น แต่มันมีข้อขัดแย้งบางอย่างในสื่อสังคมออนไลน์ที่บางทีมันไม่จำเป็นต้องเกิด อย่างกรณีที่ว่าอ่านหัวข้อข่าวแล้วคอมเม้นต์เลย มันแก้ได้ ถ้าแต่ละคนปรับเกณฑ์ว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันเชื่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เราได้มาจากโลกออนไลน์ หลายครั้งมันเป็น anonymous (ไม่ระบุชื่อ) การรับข้อมูลมาแบบ passive (ไม่ดิ้นรน) แล้วเชื่อเลยไม่พอแล้ว เราต้องทำอะไรบางอย่างกับข้อมูลนั้นด้วย เช่น การตรวจสอบ

ทีนี้ไม่ใช่ว่าแก้ที่ตัวเราแล้วมันจะจบ ทุกๆ ส่วนต้องรับผิดชอบเหมือนๆ กัน แม้กระทั่งสื่อ หลายๆ ครั้งสื่อเขียนหัวข้อข่าวเรียกแขกและชวนให้เข้าใจผิด รัฐเองก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเช่นระบบการศึกษาหรือความเชื่อฝังหัวต่างๆ บางทีการแก้จากปัจเจกแต่ละคนอาจจะไม่เพียงพอ ต้องมีการแก้จากข้างบนลงมาด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท