The Social Question (2) ความพร่าเลือนของพื้นที่ส่วนตัวในสังคมโลกเสมือน

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล กล่าวถึง ‘ความพร่าเลือนของพื้นที่ส่วนตัวในสังคมโลกเสมือน’ ตั้งแต่ ความเป็นส่วนตัวในมุมมองของ digital life ในมุมมองของนักกฎหมายมองความเป็นส่วนตัวแบบไหน พื้นที่ส่วนตัวมีปัญหาอย่างไร และทิศทางของกฎหมายหรือบรรทัดฐานว่าด้วยความเป็นส่วนตัว

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ)

เมื่อโซเชียลมีเดียสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์มากขึ้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดเป็นผลกระทบในมิติต่างๆ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ The Social Question: จริยศาสตร์กับโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยพินิจโซเชียลมีเดียผ่านมุมมองทางปรัชญา กฎหมาย และวรรณคดี

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพูดถึง ‘ความพร่าเลือนของพื้นที่ส่วนตัวในสังคมโลกเสมือน’ ที่การนิยามความเป็นส่วนตัวนั้นยากกว่าที่เราคิด เธอกล่าวว่า

วันนี้อยากจะพูดถึงพื้นที่ส่วนตัวว่าเราจะทำความเข้าใจมันอย่างไร เมื่อปีก่อนให้สัมภาษณ์สื่อสำนักหนึ่งแล้วเขาก็ไปโพสต์ว่า เฟซบุ๊กไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวจนทำให้เกิดการดีเบต จึงทำให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่คนรับรู้กันเยอะและสนใจมากเหมือนกันว่า สิ่งที่เราทำลงไปบนโลกออนไลน์จะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของเรา ต่อตัวตนของเรา

แรงตอบสนองต่อคำว่า เฟซบุ๊กไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวก็มีตั้งแต่ว่าเห็นด้วย ต้องทำความเข้าใจพื้นที่ตรงนี้ใหม่ หรือบางคนบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันว่าเมื่อเราออกนอกบ้านเมื่อไหร่ เราก็ต้องรับรู้ว่ามีคนมองเราอยู่ มีคนที่พยายามเอาไปเทียบกับโลกจริงๆ บางคนก็ด่าเฟซบุ๊กว่าตรงนี้มันควรเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่แกไม่ยอมให้ฉันอยู่อย่างเป็นส่วนตัว ชอบมายุ่งกับชีวิตของฉันเหลือเกิน เอาข้อมูลของฉันไปขาย

มีอยู่ 4 ประเด็นที่เตรียมมา ประเด็นแรกที่อยากจะคุยคือ อะไรคือความเป็นส่วนตัวในมุมมองของ digital life (วิถีชีวิตดิจิทัล)เพื่อที่จะได้เห็นภาพว่าตอนนี้เราเจอปัญหาอะไร ประเด็นที่ 2 เป็นในเชิงคอนเซ็ปต์ว่าในมุมมองของนักกฎหมายมองความเป็นส่วนตัวแบบไหนบ้าง ซึ่งมีหลากหลายอยู่เหมือนกัน ประเด็นที่ 3 พื้นที่ส่วนตัวมีปัญหาอย่างไรกับคำๆ นี้ และสุดท้ายปัจจุบันนี้หรือต่อไปข้างหน้านอร์มหรือว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางไหน

ความเป็นส่วนตัวในมุมมองของ digital life

เวลาพูดถึงความเป็นส่วนตัวใน digital life มันก็ไม่ใช่แค่ในโซเชียลมีเดียอย่างเดียว เพราะความเป็นส่วนตัวมีหลายแง่มุม บางอันก็ไม่ได้ลิงค์กับโซเชียลมีเดียโดยตรง เช่น เราขับรถแล้วป้ายทะเบียนรถของเราถูกจับโดยกล้องแล้วไปลิงค์กับระบบขนส่ง แล้วก็ดูได้ว่าเป็นรถของใคร และอาจไปถึงกระทั่งจับคู่ใบหน้าของเรากับรถว่าเป็นรถของเราหรือเปล่า ซึ่งมันอาจลิงค์กลับไปสู่โซเชียลมีเดียได้เมื่อการระบุตัวตนโดยใบหน้าหลายครั้งมาจากการเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นข้อมูลแบบ user generated (ผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายผลิตด้วยตัวเอง) จึงเรียกรวมๆ ว่าเป็น Digital Life

การมีบัญชีโซเชียลมีเดีย อีเมล์ หรือแม้กระทั่ง internet banking account (บัญชีธนาคารออนไลน์) ในที่นี้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ลิงค์กับ identity (ตัวตน) ของตัวเรา ในบัญชีเหล่านี้สามารถตั้งค่าได้ว่าเราต้องการให้เป็นส่วนตัวแค่ไหน ไปจนกระทั่งเมื่อเราใช้บัญชีเหล่านั้นว่าจะเป็นเฉพาะเพื่อนหรือสาธารณะ ซึ่งในส่วนของเฉพาะเพื่อนก็สามารถจัดได้อีกว่าจะให้ใครเห็นบ้าง มันมีความหลากหลายในการจัดการความเป็นส่วนตัวในตัวบัญชี

แต่มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราเลือกอย่างเดียวว่าจะให้มันเป็นอย่างไร หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่กำหนดมาแล้วจากตัวเจ้าของระบบหรือแพลตฟอร์มนั้นๆ และเราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างเช่น เวลาเราไปกดไลค์เพจ คนที่ไม่ใช่เพื่อนเราจะไม่เห็นว่าเราไปกดไลค์ status (สถานะหรือโพสต์) ในเพจนั้น แต่ถ้าเป็นเพื่อนจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงล่าสุดในการนำเสนอว่าใครกดไลค์ ซึ่งแบบดั้งเดิมการที่คนอื่นเห็นว่าเราไปกดไลค์เพจนั้น วัตถุประสงค์แรกมันคือเพื่อเพิ่มเน็ตเวิร์ค เพิ่มเอ็นเกจเม้นท์ของคนในพื้นที่ออนไลน์ตรงนั้น หรือที่ว่าพอเราเห็นเพื่อนกดไลค์เราก็จะเห็นด้วย อัลกอริธึมก็จะทำให้เพจนั้นขึ้นมาบนหน้าฟีดของเรา ไปจนถึงว่ามันช่วยกระตุ้นยอดขายหรือทำให้เจ้าของโพสต์รู้หรือคนที่ผ่านมาดูสนใจจะลงโฆษณากับเพจนี้ก็จะรู้ว่ามีคนประเภทไหนเข้ามากดไลค์

หรือแค่ดูรูปโปรไฟล์ก็พอจะรู้ได้ว่าคนนั้นคิดยังไง เช่นตอนนี้ถ้ารูปโปรไฟล์เป็นสีฟ้าก็จะรู้ว่าเป็นคนที่โปรคุณค่าแบบโปรเกสซีฟ(ก้าวหน้า)หน่อย การแสดงตัวตนมันไปในหลายสเต็ป(ขั้นตอน)มากๆ แล้วมันถูกกำหนดโดยเทคโนโลยีเยอะมากๆ

หรือแม้กระทั่งบางอันที่เราเลือกได้ แต่ default setting (การตั้งค่าเบื้องต้น) มันเปลี่ยนไปโดยบริษัทเทคโนโลยีก็ทำให้จริงๆ แล้วเราไม่ได้เลือกเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ default setting คือค่าตั้งต้นซึ่งค่าตั้งต้นในการโพสต์เฟซบุ๊กตอนนี้เป็น friend only (เฉพาะเพื่อน) และเราก็สามารถกำหนดค่าตั้งต้นได้ว่าอยากให้มันเป็นอย่างไรหรือค่าตั้งต้นในการแชร์โลเคชั่น จะเห็นประเด็นว่าความแตกต่างระหว่างสังคมหรือบริบทของการใช้งานมันมีเยอะมาก เพียงแต่ว่า default setting เป็นอันเดียวกันทั้งโลก อันนี้ก็จะเป็นปัญหาหนึ่งของเรื่องความเป็นส่วนตัว

ยังมีความเป็นส่วนตัวในด้าน expectation หรือความคาดหวังของผู้ใช้เองซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ใช้แต่ละคนว่าโพสต์แบบนี้ไปใครจะเห็นบ้าง เช่น ผู้สูงอายุ ถ้าผู้ใช้ไม่มีความรู้เรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวเพียงพอก็มักจะชอบแชร์โลเคชั่น ถ่ายรูปหลานๆ แชร์

เรื่องที่ 2 คือ digital divided หรือความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในเชิงทรัพยากร ว่าเราจะเข้าถึงได้แค่ไหน ทรัพยากรในที่นี้มีได้ตั้งแต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่ใช้ เพราะอุปกรณ์แต่ละแบบมีการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวไม่เท่ากัน เครื่องที่สามารถล็อคด้วยลายนิ้วมือ ได้ด้วยพาสเวิร์ด หรือเวลาจะใช้พาสเวิร์ดต้องใช้เวลา activate (การตั้งค่าเครื่องเบื้องต้น) เครื่องนานกว่า มันก็มีผลต่อการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว

สุดท้ายก็เป็นเรื่องของการนำข้อมูลของเราไปใช้ ซึ่งข้อมูลของเรามันเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อตอนที่เราเริ่มใช้โซเชียลมีเดีย เราจะเห็นได้ว่า google search ทำงานได้ดีมากขึ้นเมื่อ user generated content (ผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายผลิตเนื้อหาด้วยตัวเอง) กลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดา

แล้วมันนำมาสู่อะไร ข้อแรกคือการที่รัฐสามารถดำเนินการโดยดึงเอาจากข้อมูลส่วนตัวของคน ซึ่งมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี เช่น การติดตามอาชญากรรมหรือการดูว่าเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรคระบาดหรือเปล่า ถ้าเราย้อนไปประมาณปี 2010 ที่มีการออกมาเปิดโปงว่ารัฐสอดส่องชีวิตของเรามากแค่ไหน มันก็ทำให้คนพุ่งเป้าไปเรื่องของการละเมิด privacy (ความเป็นส่วนตัว) ของคนในโลกดิจิทัล ตอนนี้โมเมนตั้มมันเริ่มจะย้ายมาที่เอกชนแล้วเพราะเอกชนก็มีความสามารถเยอะขึ้น

แนวคิดความเป็นส่วนตัว

อะไรคือความเป็นส่วนตัว แนวคิดความเป็นส่วนตัว อันนี้ดึงมาจากบทความ conceptualizing privacy ปี 2002 โดยแบ่งเป็นมโนทัศน์และเนื้อหา

อันแรกคือ the right to be let alone สิทธิ์ที่จะไม่ถูกเข้ามายุ่มย่ามหรืออยู่ตามลำพัง ซึ่งตั้งต้นจากบ้าน บ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่รัฐเข้ามาไม่ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาก็ต้องมีหมายค้นจากศาลนำไปสู่อีก 2 คอนเซ็ปต์คือ limited access to the self ก็คือการเข้าถึงพื้นที่ตรงนั้นอาจมีการเข้าถึงที่แตกต่างกันในระดับว่าเป็นรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่ หรือคนที่มีความเกี่ยวข้องกันในเชิงการให้บริการบางอย่าง หรือในรัฐเองก็มีเอเจนซี่ (ตัวแทน) ที่สามารถเข้าถึง ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากข้อแรก

ข้อ 2 คือ secrecy หรือความลับ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างมีปัญหาเพราะมองเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องเกี่ยวกับความลับซึ่งไม่จำเป็นเสมอไป บางเรื่องต่อให้ไม่เป็นความลับก็เป็นเรื่องส่วนตัวด้วยเหมือนกัน แต่เรื่องนี้จะไปโฟกัสที่ว่าเรื่องอะไรต้องปิดและเรื่องอะไรต้องเปิด อะไรที่ห้ามให้คนอื่นเข้าถึงเลย ซึ่งก็จะทับซ้อนอยู่กับประเด็น limited access

ข้อที่ 3 control over personal information เป็นการเปลี่ยนครั้งใหญ่ในเรื่องความเป็นส่วนตัว มันเปลี่ยนจากสิทธิที่จะอยู่ตามลำพังหรือแยกตัวเองออกมา มาอยู่ที่ความสามารถในการควบคุมข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเอง แบบแรกเป็น negative right คือเธออย่ามายุ่งกับฉัน ฉันมีสิทธิ์ที่จะบอกว่ารัฐอย่ามายุ่ง ซึ่งนี่คือ first generation ของสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าการป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้ามายุ่งในพื้นที่ส่วนตัวของเรามันไม่พอแล้วที่จะคุ้มครอง เพราะว่าความเป็นส่วนตัวของเรามันติดไปกับหลายๆ อย่างและส่วนใหญ่ที่มันติดไปคือข้อมูล ซึ่งบางทีเขาไม่ได้เป็นคนเข้ามา แต่เราเป็นคนเอาออกไป ดังนั้น แทนที่เราจะไปดูเรื่องพื้นที่หรือการเข้าถึง มันยังมีเรื่องของการควบคุมว่าข้อมูลนี้จะไปอยู่ที่ใครบ้างและเรามีสิทธิ์ที่จะรู้ ถ้าพูดในแง่สิทธิมนุษยชนเรื่องนี้จึงเป็น positive right คือสิทธิ์ที่เราสามารถจะทำอะไรได้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งการจะทำอะไรได้มันต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกจากรัฐ ต้องมีการรับรองสิทธิ์ สามารถใช้สิทธิ์ในการร้องเรียน แต่ก็ต้องมีกฎหมายมารองรับการควบคุมนี้

ส่วน personhood (ความเป็นบุคคล) กับ intimacy (ความใกล้ชิด) ไม่ใช่การมองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลหรือความเป็นส่วนตัวของพื้นที่โดยตรง แต่เป็นเรื่องที่ว่าความเป็นส่วนตัวนั้นนำไปสู่อะไร คือการที่เรามีความเป็นส่วนตัวมันนำไปสู่การตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตของเราอย่างเรื่อง personhood นักทฤษฎีก็จะกลับไปที่คดีในศาลสูงของอเมริกาเรื่องการทำแท้งว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นการดึงเอาคอนเซ็ปต์เรื่องความเป็นส่วนตัวมาบอกว่าผู้หญิงจะตัดสินใจอย่างไรกับร่างกายของเขา มันเป็นเรื่องของเขา เพราะมันส่งผลต่อความเป็น personhood ของเขา ลักษณะความเป็นตัวตนของเขาในอนาคต

ดังนั้น ความเป็นส่วนตัวในมุมมองของ personhood จึงเป็นว่าจะมีบางเรื่องที่กั้นไม่ให้รัฐเข้ามายุ่งเลย ปัญหาของเรื่องนี้คือมันไปโฟกัสที่ private (เอกชน) กับรัฐมากเกินไป ทั้งๆ ที่โลกทุกวันนี้อำนาจในการเข้าถึงข้อมูลของบุคคลหรือส่งผลกระทบต่อตัวตนของคนมันอยู่ที่ตัวบริษัทด้วย

ส่วนเรื่อง intimacy คล้ายๆ กับเรื่อง personhood แต่ว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลว่า เราจะใช้บางเรื่องกับคนใกล้ตัวมากกว่าคนที่อยู่ไกลตัวเพราะอะไร หรือในทางกลับกันเราจะไม่ใช้บางเรื่องกับคนที่อยู่ใกล้ตัวเลย แต่เราแชร์กับคนที่ไม่รู้จัก เล่าให้ฟังเพื่อให้เห็นว่าคอนเซ็ปต์ของความเป็นส่วนตัวมีความหลากหลายมาก ปัญหาสำคัญคือเวลาเราเถียงกัน เราไม่ได้เถียงอยู่บนนิยามเดียวกัน มันจึงมีความไม่ลงตัวกัน แต่ในทางวิชาการก็ได้ข้อสรุปว่าต้องเอาสิ่งเหล่านี้มายำรวมกันว่ามันมีหลายมุมมอง

แต่ส่วนที่สำคัญก็คือ 2 ข้อนี้คือการเปลี่ยนจากสิทธิในการอยู่คนเดียวมาเป็นสิทธิในการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง

พื้นที่ส่วนตัวมีปัญหาอย่างไร

โควทนี้มาจากปี 1971 ก่อนยุคที่อินเทอร์เน็ตจะแพร่หลายซึ่งพูดถึงคำนิยามของความเป็นส่วนตัวว่า

“ความเป็นส่วนตัวคือพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ของเรา และใครก็ตามที่จะข้ามเส้นเขตแดนตรงนั้นมา จะเข้ามาได้ก็ต่อเมื่อเราเชิญเขาเข้ามาหรืออนุญาตอย่างชัดแจ้งเท่านั้น และในพื้นที่นี้ผลประโยชน์ของเราเป็นสิ่งสูงสุด เราอยากจะทำอะไร เราอยากจะแยกตัวออกมาจากสังคมโดยรวม การถูกจ้องมอง การได้รับอิทธิพลจากผู้อื่น อันนี้เป็นเสรีภาพของเราที่เราจะทำได้”

อันนี้คือมโนทัศน์แรกคือสิทธิที่จะอยู่ตามลำพัง มันมีเรื่องการเข้าถึงเรื่องความเป็นตัวตน เรื่องความใกล้ชิด แต่สิ่งที่ไม่มีในนี้คือการคอนโทรลข้อมูลที่จะออกไปจากเรา มันจึงนำมาสู่ข้อถกเถียงของตัวเองที่อยากจะนำเสนอในที่นี้ว่า การมองว่าอะไรเป็นพื้นที่ส่วนตัวมันเคยเป็นมโนทัศน์ที่จำเป็นของการทำงานของกฎหมายในยุคอนาล็อก เราจะเห็นว่ากฎหมายเอื้อมเข้าไปไม่ถึงในพื้นที่ส่วนตัวอย่างครอบครัว สมมติเป็นรัฐที่แยกออกจากศาสนา เราบอกว่าการศึกษาในโรงเรียนจะต้องเป็น secular education (การศึกษาทางโลก) เด็กๆ ห้ามใส่ผ้าคลุมผมมาเรียน แต่ถ้าพ้นจากเขตโรงเรียนไปแล้วพ่อแม่อยากจะเลี้ยงลูกอย่างไร อยากให้มีศาสนาอะไร เป็นเรื่องของเขา แบบนี้คือการแยกอำนาจของรัฐเข้าไปแทรกแซงพื้นที่ส่วนตัว

มันมีความสำคัญมากในการแยกหรือหาขอบเขตของอำนาจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของกฎหมายที่ผูกติดอยู่กับพื้นที่ทางกายภาพตลอดเวลา เหตุผลหนึ่งที่เป็นแบบนี้เพราะการใช้อำนาจทางกฎหมาย มันคืออำนาจดิบที่ถูกทำให้มีความชอบธรรมโดยกฎหมาย แต่ในประเด็นของเรื่องความเป็นส่วนตัว มันมีปัญหาอยู่เพราะว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวเช่นครอบครัว เนื้อตัวร่างกาย บ้าน หรือบัญชีส่วนตัว แต่เราจะรู้ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นพื้นที่ส่วนตัวมาตั้งแต่ต้นและมีความเป็นส่วนตัวที่เปลี่ยนไป

อย่างครอบครัวเมื่อก่อนเราไม่สามารถตัดสินใจได้เองว่าเราจะแต่งงานกับใคร ทุกวันนี้เราก็ยังตัดสินใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราอยากแต่งงานกับคนเพศเดียวกันในประเทศนี้ก็ยังไม่ได้รับการอนุญาต ความเป็นส่วนตัวในแง่นี้จึงยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นความหมายของความเป็นส่วนตัวที่เปลี่ยนไปตามสังคม

สิ่งที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเนื้อตัวร่างกาย เมื่อก่อนเราไม่ค่อยคาดหวังความเป็นส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ การที่เราเดินออกมาในพื้นที่สาธารณะถูกถ่ายรูปเป็นเรื่องปกติ กฎหมายไม่ได้ห้าม ในบางสังคมอาจมีบรรทัดฐานทางสังคมที่ต่างไปนิดหนึ่ง แต่โดยสังคมทั่วๆ ไปแล้วการอยู่ในที่สาธารณะและถูกถ่ายรูปเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น จึงมีกฎหมายที่ว่ารัฐสามารถกำหนดได้ว่าผู้ที่มาชุมนุมจะต้องไม่ปกปิดใบหน้าเพื่อรักษาความปลอดภัยของพื้นที่

แต่เมื่อเดือนที่แล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ตีความสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนใหม่ในเรื่องการชุมนุม ประเด็นหนึ่งที่เขาใส่เข้าไปก็คือ ต่อไปนี้รัฐจะไม่สามารถห้ามไม่ให้คนใส่หน้ากากมาที่ชุมนุมได้ แล้วถ้าจะห้ามต้องห้ามด้วยสาเหตุของความไม่ปลอดภัย เช่น ถ้าใส่หน้ากากแบบไม่เห็นอะไรเลยไม่ได้ หรือใส่แล้วสามารถปกปิดอาวุธที่จะนำเข้ามา แต่ถ้าคนใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากธรรมดามาในที่ชุมนุมเพื่อเหตุผลในการปกปิดใบหน้าของตัวเอง โดยไม่กระทบต่อความปลอดภัยของพื้นที่ อันนี้ห้ามไม่ได้เพราะเทคโนโลยีในการตรวจจับใบหน้าที่เปลี่ยนไปซึ่งเป็นผลจากการชุมนุมในฮ่องกงที่รัฐบาลจีนได้พัฒนาความสามารถในการดึงเอาข้อมูลของคนมาตรวจสอบการจับใบหน้าได้มากขึ้น มันก็กลายเป็นว่าฝั่งคนที่ต้องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของตัวเองต้องปกปิดใบหน้าหรือเนื้อตัวร่างกายแม้จะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งไม่ใช่แค่พัฒนาความสามารถ แต่เป็นเพราะว่าเครื่องมือในการถ่ายรูปตอนนี้ไม่ใช่กล้องที่ต้องมีราคาแพง ทุกคนมีกล้องถ่ายรูปอยู่ในกระเป๋า ดังนั้น นิยามของความเป็นส่วนตัวของพื้นที่ส่วนตัวมันเปลี่ยนตลอด นอกจากนั้นยังมีความเข้าใจที่แตกต่างในแต่ละสังคมด้วย

เรื่องความเป็นส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ บางประเทศการถ่ายรูปในที่สาธารณะเป็นเรื่องโอเค แต่ในบางประเทศถูกมองเป็นเรื่องน่าสงสัย อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นไม่สามารถปิดเสียงชัตเตอร์ได้และแค่กฎหมายยังไม่พอที่จะป้องกันการนำรูปนั้นไปใช้ในทางที่ไม่ดีได้ เขาจึงทำให้การถ่ายรูปในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่ต้อง alert (แจ้งเตือน) คนรอบข้างตั้งแต่ต้นโดยการห้ามปิดเสียง และการห้ามนี้ไม่ได้ห้ามในระดับพฤติกรรมแต่ห้ามในระดับของการออกแบบเทคโนโลยี

นำมาสู่ประเด็นสุดท้ายว่าแล้วกฎหมายต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างไร อันนี้เป็นทฤษฎีของอาจารย์ Lawrence Lessig นักวิชาการด้านความเป็นส่วนตัวเบอร์ 1 ของโลกตอนนี้ การที่เราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไรบางอย่าง หรือบริษัท มันไม่ได้ถูกกระทบโดยกฎหมายอย่างเดียว บรรทัดฐานทางสังคมก็เป็นสิ่งสำคัญ อีกอันหนึ่งก็คือตลาด อีกสิ่งหนึ่งที่เรามักจะลืมไปก็คือตัวสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยีที่ควบคุมพฤติกรรมเราอยู่ อย่างการใช้มือถือที่มีเสียงชัตเตอร์ตลอดเวลา มันจะทำให้พฤติกรรมของเราในการถ่ายรูปในที่สาธารณะไม่เหมือนกับพฤติกรรมของคนที่ถ่ายรูปในประเทศที่สามารถปิดเสียงชัตเตอร์ได้ หรือเรื่องตลาดมันก็ชัดเจนเวลาเราเช็คอินเฟซบุ๊กเวลาเข้าร้านอาหารแล้วได้ลดราคา

แฟ้มภาพ

ทิศทางของกฎหมายหรือบรรทัดฐานว่าด้วยความเป็นส่วนตัว

สุดท้ายแล้ว กฎหมายหรือบรรทัดฐานเหล่านี้มันเปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการความเป็นส่วนตัวหรือพื้นที่ส่วนตัวที่พร่าเลือนมากๆ ว่าตรงไหนคือพื้นที่ส่วนตัวกันแน่ เฟซบุ๊กเป็นไหม ไลน์เป็นไหม chat application ที่เรารู้สึกว่าเป็นการสนทนาส่วนบุคคล มันไม่ต่างอะไรจากการที่เราโทรศัพท์ไปหาเพื่อนแล้วมันก็เป็นกฎสากลว่าการที่เราโทรศัพท์ไปหาคนอีกคนหนึ่งจะต้องไม่ถูกดักฟังระหว่างทาง แต่การที่เราส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันอาจจะไม่ถูกดักฟังโดยรัฐ แต่ถูกดักฟังโดยระบบ โดยแพลตฟอร์ม เพื่อจะดึงข้อมูลบางอย่างเข้าไปประมวลผลในการยิงโฆษณามาหาเรา private chat application ก็อาจไม่ได้ไพรเวตอย่างที่เราเข้าใจอีกต่อไป

ในแง่นี้ความเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมายจะทำอย่างไร หลักการทางกฎหมายมักจะมุ่งไปที่เรื่องการเลือกและการควบคุม แต่ก็มีงานศึกษามากมายที่บอกว่าเราเลือกทางเลือกไม่ได้เต็มที่หรอกในโลกแบบนี้ หลายอย่างเราตกเป็นทาสของเทคโนโลยี เราไม่รู้ทันพอที่จะเข้าใจเทคโนโลยี ทำให้เรื่องการเลือกและควบคุมยากขึ้น แต่ก็มีความพยายามที่จะทำให้ระบบเหล่านี้มีความโปร่งใสมากขึ้นเพื่อให้เราสามารถมีทางเลือกได้

อีกหลักฐานหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญและถูกพูดมากขึ้นในตอนหลังก็คือเรื่องความจำเป็น นอกจากจะให้เจ้าตัวเลือกได้ว่าข้อมูลไหนจะถูกนำไปใช้แล้ว คนที่จะนำข้อมูลไปใช้ก็ต้องใช้เท่าที่จำเป็นหรือใช้ตามหลักการเรื่อง data minimization คือใช้ให้น้อยที่สุด มันไม่ได้กำกับแค่ตัวเราแล้ว แต่มันกำกับคนที่เอาข้อมูลไปใช้ด้วยว่าคุณต้องใช้ให้น้อยที่สุด แต่เวลานำหลักการนี้ไปใช้มันจะไม่ง่ายนัก กลไกในการนำไปปฏิบัติจะมีตั้งแต่การรับรองสิทธิ์ของตัวข้อมูลส่วนบุคคลในกฎหมายและให้เขาไปใช้สิทธิ์ได้ หรือการทำให้มีคนที่คอยตรวจตราระบบของบริษัท หรือทำมาตรฐานบางอย่างเพื่อให้บริษัทต้องผ่านมาตรฐาน

ในแง่นี้จึงมีคนพูดว่าต่อจากนี้ความเป็นส่วนตัวจะต้องถูกทำให้มีมาตรฐานมากขึ้นหรือเปล่า ซึ่งขัดกับสิ่งที่เราพูดมาตอนแรกว่าความเป็นส่วนตัวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วทุกคนมีทางเลือก การที่มันถูกทำให้เป็นมาตรฐานอาจจะทำให้ทางเลือกน้อยลง จึงมีคนพยายามพูดถึงว่าหรือเราจะทำให้มันสามารถนำมาแลกเป็นเงิน พูดง่ายๆ คือขายข้อมูลตัวเอง คือตอนนี้ข้อมูลถูกนำไปใช้เพื่อทำประโยชน์อยู่แล้ว แต่คนที่ได้ประโยชน์ในรูปแบบของเงินจะเป็นบริษัท เราจะได้ประโยชน์ เช่นเสิร์ชที่ตรงใจมากขึ้น แต่ผลประโยชน์ในเชิงตัวเงินมันไม่ได้มาถึงผู้บริโภคเต็มที่ ส่วนใหญ่จะเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมมากกว่า ก็มีคนเสนอว่าถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่ monetization มันไปเลยว่า ถ้าคุณพร้อมจะแลกข้อมูลส่วนบุคคลในเรื่องนี้ คุณก็ได้ประโยชน์จากมันตรงๆ

สุดท้าย ในทางกฎหมายที่กังวลกันมากและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นก็คือการเข้าไปแทรกแซงการพัฒนาเทคโนโลยีบางอย่าง เพราะบางเรื่องเราไม่รู้เลยว่าผลสุดท้ายมันจะนำไปสู่อะไร เช่นกรณีคลิปโอบามาพูดที่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้พูด แต่ใช้ AI ทำให้พูดได้ ซึ่งมีผลกระทบร้ายแรงและหลายอย่างมาก จึงมีความพยายามว่าเราจะหยุดมันก่อนไหม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท