Skip to main content
sharethis

"โรม ก้าวไกล" แจงฝ่ายค้านจะเสนอเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ iLaw เข้า กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญมีประเด็นที่น่าร่วมกันพิจารณาเช่นการเลือกตั้ง ส.ส.ร. วิป 4 ฝ่ายหารือโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ปรับให้มี 7 ฝ่าย ชวนหวังทุกฝ่ายเข้าร่วม

24 พ.ย.2563 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงมติเลือกประธานกรรมาธิการฯ ว่า ในที่ประชุม พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอชื่อ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่งประธานกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอชื่อ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ยอมรับว่าเสียงฝ่ายค้านมีเพียง 13 เสียง ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเสียงของรัฐบาลค่อนข้างมาก

ส่วนกรอบการพิจารณา รังสิมันต์ ระบุว่า พรรคฝ่ายค้านจะพลักดันเนื้อหาสาระร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของ iLaw ที่ถูกตีตกไป เพราะมีหลายประเด็นที่คิดว่าสามารถพิจารณาร่วมกันได้ เช่น การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ที่จะใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ที่เห็นต่างกับร่างของรัฐบาลที่ให้ใช้เขตจังหวัดเหมือนเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เป็นต้น

เมื่อถามว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อสังเกตเรื่องการรัฐประหารจะส่งผลทำให้การร่างรัฐธรรมนูญไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่ รังสิมันต์ ระบุว่า ต้องขึ้นอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ โดยสุดท้ายคนที่จะตัดสินว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่คือประชาชน พร้อมยกตัวอย่างว่าหากสุดท้ายโครงสร้าง ส.ส.ร.ประกอบไปด้วยสัดส่วนที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ก็ยากที่จะพูดว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือเข้ามาร่วมในกระบวนการ

“ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญจะออกมาแบบไหน เพราะมีหลายปัจจัยที่จะทำให้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ตัวชี้วัดสำคัญคือประชาชน

รังสิมันต์ ยังระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาการเมืองได้ทั้งหมด แต่เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข และต้องใช้ระยะเวลา พร้อมระบุว่าปัญหาระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการคือมาตรา272 ที่ให้อำนาจส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ต้องมีนายกฯ คนใหม่ และส.ว.จะยังสามารถร่วมโหวตได้อยู่ และถ้าไม่รีบแก้ไขและปล่อยให้กระบวนการนี้อยู่ก็จะทำให้ความขัดแย้งกลับมาประทุได้อีกครั้ง

ส่วนปัญหาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเรื่องการปฏิรูปสถาบัน รังสมันต์ ระบุว่า ต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้การดำเนินคดีหรือความรุนแรง มาปลุกระดมกัน พร้อมยกตัวอย่างเอกสารคำสั่งที่อ้างว่ามาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่แจ้งขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้จัดตั้งมวลชนมาปกป้องสถาบัน ซึ่งการทำเช่นนี้จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองไปเรื่อย ๆ

เตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ-ส่งร่าง รธน.ให้ศาลวินิจฉัย

วันเดียวกันนี้วอยซ์ออนไลน์รายงานว่า ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผลการประชุม ที่ประชุมวิป 4 ฝ่าย ร่วม วิป 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ส.ส. ฝ่ายค้าน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ส.ว. และตัวแทนคณะรัฐมนตรี ว่ามีมติให้มีการประชุมรัฐสภา วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 

นอกจากนั้นจะมีการพิจารณาญัตติของไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่จะขอให้ที่ประชุมความเห็นชอบส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าทั้ง 3 ร่างที่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

โครงสร้างคกก.สมานฉันท์ 7 กลุ่ม ชวนหวังทุกกลุ่มจะเข้าร่วม

ชวนระบุความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า วิป 4 ฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ร่างรูปแบบโครงสร้างเบื้องต้น ที่จะมีคณะกรรมการ 21 คน จาก 7 กลุ่ม 

ชวนระบุว่าคณะกรรมการทั้ง  21 จะประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล 2 คน , ผู้แทน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 2 คน , ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน , ส.ว. 2 คน , ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน , ผู้แทนที่มีความเห็นอย่างอื่น 2 คน , และผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน โดย 3 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อีก 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อีก 1 คนมาจากที่ประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4 คน 

ส่วนกลุ่มใดที่ไม่เข้าร่วมก็จะใช้องค์ประกอบเท่าที่มีอยู่ทำงาน โดยไม่ต้องรอให้ครบทั้ง 7 กลุ่ม ซึ่งในฐานะที่รับผิดชอบอยากให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

ชวน ยังกล่าวว่า เบื้องต้นใช้ชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่หากกรรมการต้องการปรับเปลี่ยนภายหลังก็สามารถทำได้ รวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการฯ 

ทั้งนี้สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่ายังตอบได้ยากว่าโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์นี้จะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ แต่เมื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วม โดยเฉพาะผู้ชุมนุมกับผู้เห็นต่าง ฝ่ายค้านก็คิดว่าน่าจะดีกว่าตอนแรกที่ไม่มีโครงสร้างเหล่านี้อยู่เลย และสุทินก็เชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะเก็บไปพิจารณาถ้ามีการปรับโครงสร้างแล้ว แต่ผู้ชุมนุมจะร่วมหรือไม่คงต้องรอฟัง เช่นเดียวกับฝ่ายค้านว่าจะร่วมหรือไม่ วันนี้ยังเป็นเพียงการหารือโครงสร้างคณะกรรมการเท่านั้น

สุทินมองว่า การมีคณะกรรมการสมานฉันท์นี้คงมีความหวัง แต่ว่าจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าจะสู้ปัญหาได้หรือไม่ และต้องรอดูกรอบเนื้อหาก่อน จึงจะสามารถตอบได้ว่าจะมีความหวังหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการก็จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมไปถึงการแก้ปัญหาในอนาคต ที่แก้ไขปัญหาควบคู่กันไป เพราะหากไม่แก้วันนี้ แล้วไปคิดทำแต่วันข้างหน้าคงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผลของการหารือจะต้องมีการเสนอไปยังทุกฝ่ายที่เป็นปัญหา 

สุทิน ยังกล่าวถึงกระแสการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่า เมืองไทยมีกระแสข่าวเรื่องการรัฐประหารได้ตลอด แต่จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็ไม่สามารถวางใจได้ ในทางตรงกันข้ามหากมองว่ามันไม่เกิดมัน ก็เป็นไปได้เช่นกัน ก็ต้องรอดูกันไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net