คณะรัฐประหารไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ (และศาลในฐานะ "ผู้ร่วมก่อการ”)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ศาลไทยได้พิพากษารับรองให้คำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมายครั้งแล้วครั้งเล่า  คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานมักอ้าง argument ต่อไปนี้ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

1) กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ 
2) เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ (ตามความหมายของ "รัฏฐาธิปัตย์" ในข้อ 1)
ดังนั้น
3) เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ คำสั่งของคณะรัฐประหารย่อมเป็นกฎหมาย 

ข้อกล่าวอ้าง (1) คือ "ทฤษฎีคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์" ที่ถูกนำเสนอโดย John Austin นักปรัชญากฎหมายชาวอังกฤษผู้มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ส่วนข้อกล่าวอ้าง (2) นั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ แต่เป็นข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับคณะรัฐประหารที่ศาลไทยยกมาอ้างเพิ่มเติม

แม้ว่าทฤษฎีคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์จะถูกวิจารณ์อย่างหนักโดยนักปรัชญากฎหมายตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา จนเสื่อมความนิยมไปในปัจจุบัน แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่พูดถึงความน่าเชื่อถือของตัวทฤษฎีโดยตรง แต่จะพุ่งเป้าไปที่ข้อกล่าวอ้าง (2) ซึ่งกล่าวว่า เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์

บทความนี้พยายามชี้ให้เห็นว่า ต่อให้ยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารก็ยังไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้นข้อกล่าวอ้าง (2) จึงเป็นเท็จ ฉะนั้นต่อให้ทฤษฎีคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์เป็นจริง คำสั่งของคณะรัฐประหารก็ไม่ใช่กฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นบทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า หากศาลพิพากษารับรองคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย ศาลก็กำลังประพฤติตัวเป็น “ผู้ร่วมก่อการ” ในการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ใหม่ร่วมกับคณะรัฐประหาร

คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่?

โปรดสังเกตว่าคำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” ปรากฏอยู่ในทั้งข้อกล่าวอ้าง (1) และ (2)  การที่ argument ข้างต้นจะพิสูจน์ของสรุปได้นั้น นิยามของคำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” ใน (1) และใน (2) จะต้องตรงกัน  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ นิยามของ “รัฏฐาธิปัตย์” ที่ศาลไทยใช้อ้างในข้อกล่าวอ้าง (2) นั้น จะต้องตรงกับนิยามของ “รัฏฐาธิปัตย์” ในทฤษฎีคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ (คือในข้อกล่าวอ้าง 1)

ฉะนั้นเราต้องเริ่มด้วยการพิจารณานิยามของ “รัฏฐาธิปัตย์” ตามทฤษฎีคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์  นิยามที่ John Austin ใช้นั้นใกล้เคียงกับนิยามที่นักทฤษฎีการเมืองในอังกฤษอย่าง Thomas Hobbes ใช้มาในศตวรรษก่อนหน้า นั่นคือ รัฏฐาธิปัตย์คือผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบังคับใช้คำสั่งและกฎที่ตนตั้งขึ้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจของบุคคลหรือองค์กรอื่นใด  วลีสำคัญคือ “โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจบุคคลหรือองค์กรอื่นใด” เพราะหากยังต้องพึ่งอำนาจขององค์กรอื่นในการบังคับใช้คำสั่งแล้ว ก็ย่อมไม่ได้มี “อำนาจเบ็ดเสร็จในการบังคับใช้คำสั่ง” จริง ดังที่ George Cornewall Lewis เขียนอธิบายแนวคิดเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ของ Austin ไว้ว่า "ถ้ารัฏฐาธิปัตย์ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้คำสั่งของตัวเอง ... เขาก็ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์จริง"

นอกจากนี้ รัฏฐาธิปัตย์ตามนิยามของ Austin ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเพียงคนเดียวหรือแม้แต่กลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียว แต่อาจเป็นผลรวมขององค์กรและบุคคลหลายๆ กลุ่ม ที่เมื่อทำงานร่วมกันแล้วสามารถบังคับใช้กฎหรือคำสั่งของกลุ่มได้ แนวคิดนี้ประจักษ์อยู่ในคำตอบของ Austin ต่อคำถามที่ว่า "รัฏฐาธิปัตย์ของสหราชอาณาจักรคือใคร?" Austin ตอบว่ารัฏฐาธิปัตย์ของสหราชอาณาจักรคือผลรวมของกษัตริย์ สภาขุนนาง (House of Lords) และทุกคนที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกสมาชิกสภาสามัญชน (House of Commons)  คำตอบนี้สะท้อนความจริงที่ว่า ในระบบการเมืองยุคใหม่ที่ซับซ้อนกว่าระบบการเมืองของชนเผ่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีกลุ่มบุคคลหรือองค์กรใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จ จนสามารถบังคับใช้คำสั่งและกฎที่ตนสร้างได้โดยไม่ต้องพึ่งพาองค์กรอื่น ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฏฐาธิปัตย์จะเป็นคนกลุ่มเดียวหรือองค์กรเดียวได้

ถึงจุดนี้เราสามารถตอบคำถามว่าคณะรัฐประหารของไทยเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่  คำตอบคือ ต่อให้คณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จ ก็ยังไม่สามารถเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้ ตราบใดที่คณะรัฐประหารยังต้องพึ่งพาองค์กรอื่น เช่น ศาล ในการบังคับใช้กฎที่ตนสร้างขึ้น  ความจริงที่ว่ากฎของคณะรัฐประหารยังต้องได้รับการรับรองโดยศาลว่าเป็นกฎหมายนั้นย่อมแสดงให้เห็นอยู่แล้ว ว่าคณะรัฐประหารเองไม่สามารถบังคับใช้กฎที่ตนสร้างขึ้นได้เองอย่างเบ็ดเสร็จเพียงลำพัง จึงต้องอาศัยศาลช่วยรับรองและบังคับใช้กฎเหล่านั้นให้  คำพิพากษาของศาลไทยที่อ้างเหตุผลว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้แล้วจึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ นั้นจึงไม่สมเหตุสมผล

ศาลในฐานะ “ผู้ร่วมก่อการ”

คำถามถัดไปคือ "แม้ว่าตัวคณะรัฐประหารเองจะไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์เพราะไม่สามารถบังคับใช้กฎของตนได้โดยลำพัง ศาลสามารถช่วยให้คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้หรือไม่?" คำตอบคือ ในเมื่อคำพิพากษาของศาลที่รับรองคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นการช่วยบังคับใช้คำสั่งของคณะรัฐประหาร ศาลย่อมกำลังช่วยคณะรัฐประหารก่อตั้งรัฏฐาธิปัตย์ใหม่ขึ้นมาแทนที่รัฏฐาธิปัตย์เดิม 

แต่รัฏฐาธิปัตย์ใหม่นี้ย่อมไม่ได้ประกอบด้วยคณะรัฐประหารเพียงองค์กรเดียว แต่ยังรวมถึงศาลเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของคณะรัฐประหารด้วย เพราะทั้งคณะรัฐประหารและศาล ไม่มีองค์กรใดสามารถออกคำสั่งและบังคับใช้คำสั่งของตนใดโดยลำพัง แต่ต้องอาศัยกันและกันในการบังคับใช้คำสั่ง ดังนั้นศาลจึงกำลังร่วมก่อตั้งรัฏฐาธิปัตย์ใหม่โดยเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฏฐาธิปัตย์ใหม่นั้น

ถึงจุดนี้ เราสามารถสรุปได้สองข้อ หนึ่งคือ หากมีรัฏฐาธิปัตย์ใหม่เกิดขึ้นจริง รัฏฐาธิปัตย์ใหม่นี้ไม่ได้เกิดขึ้น ณ เวลาที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จ แต่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษารับรองให้คำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ สอง การที่ศาลพิพากษารับรองคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นกฎหมายนั้น ไม่ใช่การตัดสิน "รับรู้" ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรัฏฐาธิปัตย์ที่มีอยู่เดิมก่อนคำพิพากษา แต่คือการตัดสินเพื่อ "ก่อตั้ง" รัฏฐาธิปัตย์ใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่เดิมก่อนมีคำพิพากษา และเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีศาลเองเป็นองค์ประกอบ

ข้อสรุปสองข้อนี้ฉายให้เราเห็นภาพใหม่เกี่ยวกับบทบาทของศาล เดิมทีคนจำนวนมากมองว่า ในการตัดสินว่าคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลกำลังประพฤติตนเป็นผู้สังเกตการณ์จากภายนอก ที่พิจารณาข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่โดยเป็นอิสระจากคำพิพากษา แต่ข้อสรุปของเราเสนอภาพใหม่ที่ว่า ศาลไม่ได้เป็นผู้สังเกตการณ์ แต่เป็น “ผู้ร่วมก่อการ” ในการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ใหม่ร่วมกับคณะรัฐประหาร

ภาพใหม่เกี่ยวกับบทบาทของศาลนี้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับอนาคต ในอนาคตศาลต้องตระหนักว่า ในการตัดสินรับรองคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้น ศาลอาจกำลังเป็น "ผู้ร่วมก่อการ" ในการตั้งรัฏฐาธิปัตย์ใหม่ ดังนั้นหากวันใดวันหนึ่งสังคมไทยมีมติร่วมกันว่าจะดำเนินคดีย้อนหลัง "ผู้ร่วมก่อการ" รายชื่อของผู้ที่จะถูกดำเนินคดีอาจครอบคลุมไม่เฉพาะแต่นายทหารและนายตำรวจ อาจรวมถึงผู้พิพากษาด้วย

สรุป

บทความนี้ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ต่อให้เรายอมรับทฤษฎีคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ คณะรัฐประหารก็ไม่ได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยอัตโนมัติหลังจากยึดอำนาจได้สำเร็จ  ในทางตรงกันข้ามการที่คณะรัฐประหารยังต้องอาศัยศาลมาช่วยรับรองและบังคับใช้คำสั่งให้นั้นแสดงให้เห็นว่าคณะรัฐประหารไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์  ทั้งนี้ทั้งนั้นศาลสามารถช่วยคณะรัฐประหารก่อตั้งรัฏฐาธิปัตย์ใหม่ขึ้นได้ด้วยการช่วยรับรองและบังคับใช้คำสั่งของคณะรัฐประหาร  แต่ในการทำเช่นนั้นศาลก็กำลังเป็น “ผู้ร่วมก่อการ” ในการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ใหม่อันมีศาลเองเป็นองค์ประกอบหนึ่ง
 

 

ที่มาภาพ: นิตยสารฟ้าเดียวกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท