The Social Question (3) อ่านอุดมการณ์ของโซเชียลมีเดียผ่านหนัง The Social Dilemma

The Social Dilemma สารคดีที่บอกเล่าผลร้ายของโซเชียลมีเดีย แทนที่เราจะมองมันเป็นพลังอำนาจที่กระทำต่อมนุษย์ แต่หากมองสารคดีเรื่องนี้ผ่านแว่นวรรณคดีและมองมันเป็นอุดมการณ์รูปแบบหนึ่ง เราอาจเห็นภาพที่แตกต่างออกไป

เมื่อโซเชียลมีเดียสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์มากขึ้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดเป็นผลกระทบในมิติต่างๆ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ The Social Question: จริยศาสตร์กับโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยพินิจโซเชียลมีเดียผ่านมุมมองทางปรัชญา กฎหมาย และวรรณคดี

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Social Dilemma ถูกพูดถึงในฐานะสารคดีที่สะท้อนภาพความร้ายกาจของโซเชียลมีเดีย แต่เมธาวี โหละสุต ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมุมมองที่ต่างออกไป ซึ่งเขากล่าวไว้ในการบรรยาย ‘อ่านอุดมการณ์ของโซเชียลมีเดียผ่านภาพยนตร์ The Social Dilemma’

สโคปของการบรรยายเป็นความพยายามของนักวรรณคดีที่จะอ่านโซเชียลมีเดียผ่านมุมมองทางวรรณกรรม ประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือเราจะมองโซเชียลมีเดียในฐานะที่เราเป็นนักวรรณกรรมได้อย่างไร หรือสร้างสภาวะความเป็นตัวตนให้กับมันได้อย่างไร

สิ่งที่จะเริ่มทำคือการแนะนำภาพยนตร์เรื่อง The Social Dilemma คำวิจารณ์ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับ จริงๆ มันเป็นสารคดี แต่มันมีความเป็นภาพยนตร์ในแง่ที่ว่ามันมีเรื่องแต่งอยู่ในนั้นด้วย แล้วอยากจะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำเสนอภาพของโซเชียลมีเดียในสารคดีเรื่องนี้ในแง่ที่ว่าก่อนที่เราจะสนใจว่าภาพยนตร์มันสื่อสารอะไร สิ่งที่นักวรรณคดีทำก็คือควรจะต้องดูว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีวิธีการเล่าเรื่องอย่างไรและอยากจะนำเสนอวิธีการมองโซเชียลมีเดียในมุมมองอื่นได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอก็คือเรามองโซเชียลมีเดียเป็นอุดมการณ์แบบหนึ่ง เป็นความพยายามที่จะวิจารณ์และอ่านโซเชียลมีเดียในฐานะตัวบทประเภทหนึ่ง

เมื่อดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบมีการบอกว่าให้ไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเขาว่ามีเป้าหมายในการเล่าเรื่องคืออะไร ในเว็บไซต์นี้ก็เขียนว่า dilemma หรือทางเลือกที่สังคมควรจะเลือก เขาตั้งเป้าไว้ อย่างเราอ่านคำโปรยของภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะรู้สึกว่ามันเป็นไอเดียที่พยายามให้ความสำคัญกับบทบาทของนักออกแบบมากๆ ในแง่ที่ว่าการที่เขาออกแบบแบบฟอร์มต่างๆ หรือ interface เขาเป็นเหมือนกับผู้เขียนที่สามารถสร้างบทบาทหรือตัวบทบางอย่างขึ้นมาที่สามารถควบคุมชีวิตของคนเป็นพันล้านคนได้ ฟังแล้วก็แอบตั้งข้อสงสัยว่ามันจริงหรือว่าเทคดีไซเนอร์พวกนี้มีบทบาทกับเราจริงหรือเปล่า หรือทำไมคนที่เขาเลือกมาเป็นคนสัมภาษณ์จึงต้องเลือกคนนี้ด้วย เราจะลองมาอธิบายให้ฟัง

มีเสียงวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้จาก 3 ฝ่ายคือฝ่ายที่ชม The Independent ของอังกฤษ คนเขียนบทความบอกว่าสารคดีเรื่องนี้ทรงพลังมากและควรต้องดูเพราะมันให้ความหวัง สารคดีชี้ให้เราเห็นถึงปัญหาต่างๆ ว่าการออกแบบโซเชียลมีเดียและการที่แพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะที่ exploit หรือแสวงหาผลประโยชน์ทางการตลาดกับผู้ใช้ สิ่งที่สารคดีเรื่องนี้ทำคือเปิดเผยให้เราเห็นกระบวนการเหล่านี้ ผู้เขียนบทความจึงเสนอว่าเมื่อดูสารคดีเรื่องนี้จบแล้ว สิ่งที่เราควรจะได้ ไม่ใช่ความหดหู่ แต่เป็นความหวังในแง่ที่ว่าคนจากเทคเฟิร์มบอกว่าการออกแบบของเขามีข้อผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้น หน้าที่ของผู้ชมก็ควรที่จะต้องเข้ามากำกับดูแลมัน ใช้มันอย่างมีสติมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะผลักดันให้เกิดนโยบายในการปรับเปลี่ยนมัน เปิดโปงการออกแบบต่างๆ ที่เข้ามาควบคุมผู้ใช้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเราด้วย

อีกฝั่งหนึ่งเป็นวารสารของฝ่ายซ้ายในอเมริกา ซึ่งมองคล้ายๆ กับผมคือหนังเรื่องนี้เป็นการมองปัญหาโซเชียลมีเดียที่ปลายเหตุ ในแง่ที่ว่าท้ายสุดแล้วโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นผลผลิตของระบบทุนนิยม ข้อเสนอของบทความชิ้นนี้วิจารณ์สารคดีว่ามันลืมที่จะวิพากษ์ระบบทุนนิยมที่เป็นเครื่องจักรสร้างโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นข้อถกเถียงที่ตั้งคำถามว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุหรือเปล่า ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนระบบทุนนิยมได้ เราจะไปปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ออกแบบมันใหม่ได้อย่างไร ท้ายที่สุดก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอเพราะทุนนิยมคือรากเหง้าของปัญหาทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจก็คือคนที่วิจารณ์หนังเรื่องนี้ ไม่ได้มาจากอังกฤษหรือฝ่ายซ้ายแค่นั้น ยังมีบริษัทเฟซบุ๊กที่ดูหนังเรื่องนี้ด้วยแล้วบอกว่าหนังเรื่องนี้กำลังใส่ร้ายตนเองอยู่ จึงออกมาแก้ต่างว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ที่หนังเรื่องนี้พูดขึ้นมาเป็นเรื่องไร้สาระทั้งหมด เราไม่ได้ทำแบบนั้น อย่างปัญหาการเสพติดเฟซบุ๊กบอกว่าเขาออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อไม่ให้คุณเสพติด อัลกอริธึมของเราก็ไม่ได้มีความบ้าคลั่งที่จะควบคุมให้คนเสพข้อมูลเพิ่มหรือไถฟีดทั้งวันทั้งคืน แล้วยังบอกด้วยว่าผู้ใช้ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เพราะเฟซบุ๊กได้เงินจากบริษัทโฆษณาต่างๆ เฟซบุ๊กในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มนี้พยายามบอกว่าฉันพยายามที่จะแสดงความรับผิดชอบแล้วในประเด็นต่างๆ ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งคำถาม

สิ่งที่น่าสนใจก็คือหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในแง่ที่ว่าสามารถสร้างดีเบตขึ้นมาได้

หนังเรื่องนี้พยายามเสนอความน่ากลัวของโซเชียลมีเดียอย่างไรบ้าง ถ้าดูแล้วรู้สึกหวาดกลัวก็ไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นสารคดีที่ต้องการปลูกฝังสำนึกทางสังคมบางอย่างโดยสื่อผ่านความกลัว ปัญหาต่างๆ ที่หนังเรื่องนี้ยกมามีอยู่ 4 ข้อคือโซเชียลมีเดียออกแบบ interface ให้ผู้ใช้เสพติด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา อีกอันหนึ่งคือมันละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ สิ่งที่แพลตฟอร์มทำคือเอาความสนใจในการรับชมหน้าจอของเราไปเปลี่ยนเป็นสินค้า อีกอันหนึ่งคือโซเชียลมีเดียทรงอิทธิพลอย่างมากในการเข้ามาแทรกแซงกลไกเชิงประชาธิปไตยบางอย่างและชักนำให้ไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเช่นในกรณีของพม่า สุดท้ายคือโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูลปลอม มันสามารถสร้าง filter bubble ให้กับผู้ใช้ได้ ผู้ใช้จะรับรู้ในสิ่งที่ตนเองชอบฟัง

วิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ ถ้าเราประเมินจากมุมมองของนักวรรณคดีวิจารณ์ เราจะเจอปัญหาที่มีความน่าสนใจอยู่คือเรื่องนี้จะเรียกว่าเป็นสารคดีก็ไม่เชิง เรียกว่าเป็นละครดีกว่า มันเป็นละครที่เล่าถึงการเสพติดโทรศัพท์และโซเชียลมีเดีย ที่แปลกมากคือมันเล่าเรื่อง 3 เรื่องพร้อมกัน เรื่องแรกคือนักออกแบบโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่สำนึกผิด แล้วก็อยากสำนึกบาปโดยการมาบอกว่าเราได้ทำบาปกรรมกับพวกคุณไว้มาก

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของคนขาวที่เป็นชนชั้นกลางค่อนข้างสูง เป็นเรื่องของเด็กที่เสพติดโทรศัพท์ มีอาการที่อยากจะเสพติดโทรศัพท์ตลอด จนถึงขั้นว่ามีปัญหาสุขภาพทางจิต วิธีการที่เขานำเสนอภาวะการเสพติดโทรศัพท์ของเด็กคือเขาทำให้อัลกอริธึมหรือกระบวนการทำงานในเชิงซอฟต์แวร์ของโซเชียลมีเดียกลายเป็นห้องสั่งการ ไอ้นี่ไม่ยอมดูโทรศัพท์ต้องส่งสิ่งที่มันชอบให้ดูมากขึ้น

สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำก็คือพยายามสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ชม วาทศิลป์เรื่องการสร้างความหวาดกลัว ถ้าเรามองแค่ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในยุค 80 และ 90 ก็มีการสร้างความหวาดกลัวในโทรทัศน์ ในภาพยนตร์ ใน Metal Music การตีโพยตีพายที่ว่าสื่อมีพลังมากพอที่จะควบคุมมนุษย์หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ในเชิงวรรณคดีพล็อตเรื่องแบบนี้ไม่ใช่พล็อตเรื่องใหม่

สรุปแล้วหนังเรื่องนี้มันจะไปคล้ายกับความกลัวของคุณวิรัช รัตนเศรษฐ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ) ที่พูดว่า

“คนที่ไปเดินขบวน คอยดูแต่มือถือ คอยฟังคำสั่งจากมือถือ ก้มหน้าดูมือถือ ก็แสดงว่าจะต้องมีคนที่อยู่ในบอลรูมคนอยู่ประมาณ 10-20 คน หรืออาจจะเป็น 2 แห่ง แล้วก็สั่งการมา”

เป็นการสร้างความกลัวต่อเครื่องจักร เราดูคำพูดของคุณวิรัช โลกของแกจะเป็น perception (การรับรู้) แบบโลกอนาล็อก อยู่ในโลกแบบสงครามเย็น สิ่งที่น่าสนใจคือความกลัวของคุณวิรัชมันดันไปปะติดแบบแนบสนิทกับสารคดีเรื่องนี้ได้เลยในแง่ที่ว่า ถ้าเรามองในเชิง narrative (การเล่าเรื่อง) หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่สร้างความหวาดกลัวต่อเครื่องจักรแบบว่าถ้าเราให้อำนาจกับเครื่องจักรมากขนาดนี้ สักวันหนึ่งมันจะเข้ามาควบคุมชีวิตเรา

ที่มาภาพ : Obert Madondo

ทีนี้ เราอยากจะลองวิจารณ์การนำเสนอภาพลักษณ์ของโซเชียลมีเดียในภาพยนตร์เรื่องนี้ ปัญหาที่เจอก็คือว่าผมมองว่ามันนำเสนอปัญหาของโซเชียลมีเดียในลักษณะที่ตรงตัวมากเกินไป ในแง่ที่ว่าเขามองปฏิสัมพันธ์ของเราที่มีกับเครื่องจักรเหล่านี้จะนำพาไปสู่ความฉิบหายจริงๆ ถ้าเล่นโทรศัพท์มากๆ สักวันหนึ่งจะกลายเป็นคนโรคจิต มันไม่ได้มองว่าซอฟต์แวร์ทำงานอย่างไรหรือมีความสัมพันธ์อย่างไรกับตัวมนุษย์ แต่มันเป็นการนำเสนอแบบเดียวกับที่คุณวิรัชกลัวว่าถ้าเล่นมือถือมากๆ เราจะเสพติดมากขึ้น

ข้อเสนอของคนที่มาให้สัมภาษณ์ในภาพยนตร์บอกว่า เราเป็นคนออกแบบก็จริง แต่เราก็ไม่อยากให้ลูกหลานของเราเล่นสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ฟังแล้วไม่ค่อยสบายใจในแง่ที่ว่าผมเป็นคนที่เครียด สิ่งเดียวที่จะสร้างเสียงหัวเราะให้ผมได้คือการดูโซเชียลมีเดีย แล้วผมก็หัวเราะกับพฤติกรรมของคนที่เป็นเพื่อนผมในโลกออนไลน์ ถ้าบอกว่าเราต้องหยุดสิ่งเหล่านี้ แล้วผมจะไปหาเสียงหัวเราะได้จากที่ไหน เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้กลัวมากเกินไปหรือเปล่า

อีกจุดหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือคนหนึ่งที่ผู้กำกับเลือกมาเป็นคนสัมภาษณ์ก็คือ Shoshana Zuboff เป็นนักวิชาการสายธุรกิจอยู่ฮาเวิร์ด เขียนหนังสือที่ชื่อว่า The Age Of Surveillance Capitalism นิยามของ Surveillance Capitalism ที่ Zuboff เขียนไว้ในหนังสือของเขา มันแทบจะเป็นสมมติฐานหรือธีสิสให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งเสนอว่า Surveillance Capitalism เป็นรูปแบบทุนนิยมแบบใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนความสนใจของผู้ใช้ที่มีต่อโซเชียลมีเดียให้มีมูลค่าเพิ่มบางอย่าง เพื่อให้บริษัทเหล่านี้นำไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ต่อ

เวลาที่ Zuboff และคนทำสารคดีเรื่องนี้มองโซเชียลมีเดีย เขามองปัญหาโซเชียลมีเดียว่าเป็นปัญหาในเชิงการจัดการว่าถ้าเราสามารถควบคุมโซเชียลมีเดียเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ ปัญหาต่างๆ มันจะหายไปเอง ในแง่ที่ว่ามันจำเป็นต้องมีมาตรการบางอย่างมาควบคุมไม่ให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีอาการเสพติดหรือทำให้โซเชียลมีเดียส่งผลร้ายต่อผู้ใช้ อ่านแล้วก็น่าคิดตามว่าสมมติฐานนี้ถูกต้องหรือเปล่า

แต่ว่าสารของ Zuboff มีความน่าสนใจที่ว่าข้อเสนอ Surveillance Capitalism (ทุนนิยมสอดแนม) และภาพยนตร์เรื่องนี้มีการมองโซเชียลมีเดียในฐานความคิดที่เป็นแบบ techno determinism (เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด) ในแง่ที่ว่าทั้งหนังและตัวนักวิชาการเองมองว่าเทคโนโลยีมีสถานะเหมือนเป็นสัตว์ประหลาดบางอย่างที่วันหนึ่งเมื่อมันหลุดพ้นจากการควบคุมของมนุษย์ เราจะต้องตกเป็นเหยื่อเสมอในแง่ที่ว่า techno determinism แบบนี้ เราไม่สามารถหลีกหนีออกไปได้ และเราต้องแพ้ให้กับมันเสมอ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือน่าจะสร้างมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้มันทำร้ายเรามากกว่านี้

ประเด็นที่ผมอยากนำเสนอก็คือเรามีวิธีการที่จะมองเทคโนโลยีแบบนี้ให้ไม่หดหู่และไม่ deterministic (กำหนด)ได้หรือเปล่า โซเชียลมีเดียไม่ใช่เครื่องมือแล้ว แต่เป็น cosmic force หรืออำนาจทางจักรวาลบางอย่างที่สามารถเข้ามาควบคุมชีวิตของเรา แล้วเราจะไม่มีความสามารถเข้าไปทำอะไรกับมันได้เลย

สิ่งที่เราหวาดกลัวเป็นพิเศษคือเราหวาดกลัวว่าถ้าเราจะดูโซเชียลมีเดียแบบที่อาจารย์ฐิติรัตน์เสนอ มันจะต้องเป็นการใช้ที่ทรมานมากๆ คือเราจะต้องคอยตรวจสอบข้อมูลของตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเรามองตามสมมติฐานของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าสื่อสามารถควบคุมเราได้ตลอด ดังนั้น สิ่งที่เราพอทำได้ก็คือเราต้องคอยตรวจสอบมัน ซึ่งมันแลกมากับงานที่เราต้องใส่ไป ในกระบวนการเหล่านี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่ามันทำให้ตัวผู้ใช้อย่างผมถูกปฏิเสธจากการเข้าถึงความเป็นสมัยใหม่บางอย่าง ไม่สามารถเข้าถึงความสะดวกตรงนี้ได้ ไม่สามารถเข้าถึงสังคมออนไลน์ของเราได้ เพราะว่าเราต้องคอยหวาดระแวงว่าถ้าเราไม่ควบคุมตัวเอง เรามักจะต้องตกเป็นเหยื่อของมันตามสมมติฐานของหนังเรื่องนี้

ข้อเสนอว่าเราจะมองโซเชียลมีเดียในฐานะอุดมการณ์ได้หรือไม่ ลองหาอุดมการณ์ของโซเชียลมีเดียดูซึ่งคำว่าอุดมการณ์ถามว่าเอามาจากไหน มีนักทฤษฎีที่ศึกษาสื่อ Geert Lovink ข้อมูลที่ผมใช้บรรยายหลังจากนี้จะนำมาจากบทความที่ชื่อ On The Social Media Ideology เขียนขึ้นมาในช่วงปี 2014 เวลาที่ Lovink มองโซเชียลมีเดีย เขาเสนอว่าเราควรมองมันเป็นอุดมการณ์ คำว่าอุดมการณ์ที่พูดถึงเป็นอุดมการณ์ในความหมายของอัลธูแซร์ ซึ่งมองว่าเวลามนุษย์จะมีความสัมพันธ์กับรัฐหรืออยู่ภายใต้อุดมการณ์ของรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐจะทึกทักหรือดึงเราเข้าไปสู่อุดมการณ์บางอย่างด้วยวิธีการต่างๆ

Lovink พยายามเสนอว่า ถ้าเราไม่มองว่าโซเชียลมีเดียเป็น cosmic force บางอย่างที่จะเข้ามาควบคุมชีวิตของเราได้ มันอาจจะมีรูปแบบที่เหมือนกับ ideology ในความหมายของอัลธูแซร์ ซึ่งข้อเสนอของ Lovink เป็นข้อเสนอที่พัฒนามาจาก Wendy Hui Kyong Chun ในหนังสือที่ชื่อว่า Programmed Visions ซึ่งข้อเสนอของ Chu คืออุดมการณ์ในความหมายของอัลธูแซร์ มันจะเหมือนกับซอฟต์แวร์ มีระบบการทำงานเหมือนกันในแง่ที่ว่าถ้าเราบอกว่าเราจะเป็น subject (คนในบังคับ) ของรัฐผ่านการที่เราเคารพธงชาติ ในทำนองเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรมันก็ทำงานผ่านอุดมการณ์ แต่เป็นการทำงานในเชิงเมตาฟอร์ ในแง่ที่ว่าเวลาที่เราคลิก Interface (ตัวประสาน) ต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ของเราอย่าง เช่น save icon ซึ่งไม่มีอยู่จริง แต่มันทำให้เราเซฟงานได้

ในทำนองเดียวกันสิ่งที่ Lovink ต้องการเสนอ เราตัดเรื่อง techno determinism ออกไปแล้ว มองความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโซเชียลมีเดียว่าเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอุดมการณ์มากกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับ cosmic force ที่เราไม่สามารถเข้าไปควบคุมอะไรมันได้เลย ซึ่งนี่เป็นพื้นที่หนึ่งที่นักวรรณคดีสามารถเข้าไปได้ เมื่อเรามองการทำงานของอุดมการณ์ มันทำให้นักวัฒนธรรมศึกษาหรือนักวรรณคดีสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของโซเชียลมีเดียได้ เพราะเราควรสร้างสถานะบางอย่างขึ้นมาให้กับตัวบทที่เราจะศึกษา ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้จะศึกษาโซเชียลมีเดียอย่างไร ถ้ามันไม่มีตัวบทอะไรเลย

Lovink เสนอว่าถ้าเราจะอ่านโซเชียลมีเดียเป็นอุดมการณ์ แทนการมองเป็น cosmic force ที่จะเข้ามาควบคุมเรา มันเป็นสิ่งที่อาจจะเข้ามาทำให้เราสามารถตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเทคโนโลยีได้ดีขึ้น Lovink เสนอว่าเราไม่ควรมองโซเชียลตัดขาดออกจากมิติอื่นๆ ซึ่งเป็นการอ่านที่ตรงกันข้ามกับสารคดี ปัญหาหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้คือมันพูดราวกับว่าปัญหาต่างๆ ในโลกเกิดขึ้นมาเมื่อคนพวกนี้ผลิตโซเชียลมีเดียแล้วเกิดผลร้ายตามมาทีหลัง ปัญหาต่างๆ มีต้นตอมาจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ใช่โซเชียลมีเดียเป็นปลายทางแล้ว ถ้าเราปรับมุมมองตรงนี้ เป็นไปได้ไหมว่าเรามองโซเชียลมีเดียก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นอุดมการณ์บางอย่าง ที่เข้ามาแวดล้อมเรา มีสถานะที่เป็นนามธรรมมากกว่าเครื่องมือที่เราจะต้องคอยตรวจสอบหรือคอยเข้าไปมีส่วนร่วมกับมันตลอดเวลา

อีกอันหนึ่งที่อยากจะแชร์ก็คือ Lovink มองโซเชียลมีเดียว่า ถ้าเราศึกษาความเป็นวัตถุของมัน สิ่งที่เราเจอก็คือว่ามันไม่ใช่วัตถุที่มีความน่าตื่นเต้น อย่างในภาพยนตร์มันจะมองว่า interface ต่างๆ ที่เราใช้มีความวูบวาบเสมอ กดปุ่มไลค์ก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก แต่สิ่งที่ Lovink เสนอคือ interface เหล่านี้จริงๆ มันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อมากถึงขั้นที่ว่าเวลาที่เราโพสต์อะไรสักอย่างหรือคอมเม้นต์ สิ่งที่เราทำก็คือพอคอมเม้นต์เสร็จเราก็ลืมว่าเราคอมเม้นต์อะไร เพราะมันไม่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราแล้ว มันไม่ได้มีผลกระทบกับเรามากขนาดนั้นหรอก คนที่เป็นนักออกแบบอุดมการณ์อันหนึ่งเขามองว่า interface ที่เขาออกแบบเหล่านี้มันช่างทรงพลังเหลือเกิน ซึ่ง Lovink มองว่าเวลาที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับ interface มันเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ค่อนข้างน่าเบื่อมากๆ

น่าเบื่อถึงขั้นที่ว่าเวลาเราจะใช้เฟซบุ๊ก สิ่งที่เราทำก็คือเข้าไปกรอกข้อมูลของเรา มันน่าเบื่อไปหมด ถ้าเราอยากจะลดมิติว่าโซเชียลมีเดียเป็น cosmic force เป็นไปได้ไหมว่าเราแค่มองมันว่าเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งเฉยๆ ที่น่าเบื่อในแง่ที่ว่ามันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเรา ของสังคม เราไม่ควรให้คุณค่าที่เป็นนามธรรมหรือมองว่ามันมีอำนาจที่จะเข้ามาควบคุมชีวิตของเราได้ทุกมิติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท