ธงชัย วินิจจะกูล: บทที่ 11 ทะลุเพดานความเงียบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

(ร่างฉบับเต็ม) สำหรับการเสวนา “6 ตุลา 2519 ถึง 6 ตุลา 2563” คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 พ.ย. 2563

“10 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เพื่อต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ประท้วงฉายคลิปภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 44 ปีก่อนหน้านั้นบนจอขนาดใหญ่ต่อหน้าผู้คนนับหมื่น เป็นบันทึกภาพที่เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อปี 2539 จนเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้สนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาตลอด 20 กว่าปีหลังจากนั้น แต่ภาพยนตร์ที่ฉายบนจอวันนั้นไม่มีเสียงจากคลิป ทว่าเสียงที่ดังควบคู่ไปกับภาพบนจอขนาดใหญ่นั้นกลับเป็นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ไม่มีคำอธิบายใดๆว่าทำไมจึงเป็นภาพนั้น ทำไมจึงเป็นเพลงนั้น ทำไมภาพและเพลงนั้นจึงเปิดพร้อมกันทั้งๆที่ดูผิวเผินช่างเข้ากันไม่ได้และไม่เห็นจะมีความเกี่ยวพันใดๆ กันเลย การปราศรัยหลังจากนั้นคือ คือการประกาศข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ลือลั่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปเรียบร้อยแล้ว
เพื่อนเก่าของผมหลายคนเล่าให้ฟังในเวลาถัดมาว่าการแสดงที่ไม่มีคำอธิบายดังกล่าวทำให้พวกเขาน้ำตาไหล บางคนร้องไห้ให้กับเหตุการณ์เมื่อ 44 ปีก่อนอีกครั้งหนึ่ง”

 

I. แนะนำหนังสือ

Moments of Silence: the Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok (2020) (ต่อจากนี้จะเรียกว่า MoS) เป็นหนังสือเกี่ยวกับความเงียบหรือภาวะ “ลืมไม่ได้จำไม่ลง” (the unforgetting) ของการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลา 2519 หมายถึงภาวะที่ความทรงจำไม่สามารถส่งเสียงออกมาหรือบอกเล่าสู่สาธารณะได้อย่างเปิดเผยอย่างที่ต้องการหรืออย่างที่ควรจะเป็นในสังคมเสรี เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ กับผู้ก่ออาชญากรรม หรือเกิดขึ้นกับสังคมไทยโดยทั่วไป ด้วยเหตุผลทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมสารพัดปัจจัย ความเงียบมิใช่การหลงลืม แต่เป็นอาการของความกระอักกระอ่วนเกรงกลัว เพราะลืมไม่ได้จำไม่ลง

บทที่หนึ่งของหนังสืออธิบายถึง concepts ต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือ เช่น ความทรงจำรวมหมู่หรือความทรงจำทางสังคมว่าถูกสถาปนาอย่างไรและเกี่ยวพันกับความทรงจำของปัจเจกชนอย่างไร ความทรงจำรวมหมู่เปลี่ยนในจังหวะหรือช่วงต่างๆ อย่างไร พลวัตรการเมืองที่มีผลต่อความทรงจำ (the chrono-politics of memory) หมายถึงอะไร เป็นต้น

สาเหตุที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุดของความเงียบแบบลืมไม่ได้จำไม่ลงก็คือการเมือง MoS อธิบายสภาพการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา จากนั้นได้เสนอปริศนาสำคัญในเชิงข้อเท็จจริง 13 ประการที่ยังไม่มีคำตอบจนทุกวันนี้ เช่น บทบาทของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์และคณะสงฆ์ ปริศนาว่าใครกันแน่คือผู้ลงมือฆ่าและฝ่ายขวาคือใครบ้าง นวพลน่าจะเป็นองค์กรหน้าฉากของ กอ.รมน. บทบาทของสหรัฐอเมริกา พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ปริศนาเหล่านี้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเงียบหลัง 6 ตุลาโดยเฉพาะใน 20 ปีแรกหลังเหตุการณ์ ก็เพราะความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาอาจส่งผลสะเทือนต่อสถาบันสำคัญของประเทศและต่อผู้พูดเองอย่างแน่นอน ความจริงเกี่ยวกับการสังหารหมู่จึงทั้งถูกกดทับให้เงียบและสมัครใจเงียบเองเพราะความกลัว ความจริง 6 ตุลาอาจจะเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกเล่าได้ไม่เต็มปากเต็มคำตลอดไปภายใต้ระบอบการเมืองแบบขณะนั้นจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม เหตุปัจจัยทางการเมืองเหล่านี้กลับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ค่อนข้างง่าย

ภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลงยังมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่ซับซ้อนกว่า เป็นนามธรรมและเข้าใจยากกว่าอีกหลายประการ อย่างแรกที่หนังสือเล่มนี้ถือเป็นแกนในการอธิบายอย่างหนึ่งตลอดเล่มคือ พลวัตรการเมืองที่มีผลต่อความทรงจำ (the chrono-politics of memory) หมายถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นเงื่อนไขทำให้ความทรงจำต่อเหตุการณ์ในอดีตเปลี่ยนไป แม้แต่ฝ่ายขวาผู้ก่อความรุนแรงก็ไม่สามารถหลุดออกจากเงื่อนไขเหล่านี้ได้

ปัจจัยด้านอุดมการณ์และวัฒนธรรมมีส่วนอย่างมากในการก่อภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลง ทั้งอุดมการณ์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงแบบโลกวิสัยและแบบพุทธ ความเข้าใจของสังคมไทยต่อสิทธิส่วนบุคคล ต่อการปกครองของกฎหมาย (the rule of law) ความยุติธรรม ความสมานฉันท์ เป็นต้น ค่านิยมที่มาจากพุทธศาสนาก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในแง่ที่เป็นแหล่งภูมิปัญญาที่เป็นมโนทัศน์สำหรับการคิดต่ออาชญากรรมของรัฐไปในแบบหนึ่ง มีผลต่อการจดจำ การลืม ต่อผู้ก่อความรุนแรง ต่อความจริง ต่อประวัติศาสตร์และต่อความยุติธรรมทางกฎหมาย จนถึงเป็นภูมิปัญญาที่คนไทยใช้รับมือจัดการกับประวัติศาสตร์บาดแผล มีส่วนทำให้ประวัติศาสตร์บาดแผลถูกกดลงจนเงียบ 

MoS เล่มนี้แตกต่างจากหนังสือ 6 ตุลาเล่มสีส้มที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันพอสมควร กล่าวคือ 6 ตุลาเล่มส้มเป็นการรวมบทความซึ่งเขียนขึ้นในเวลาต่างๆ กันในระยะกว่าสองทศวรรษ ส่วน MoS เขียนขึ้นใหม่ภายหลังจากพัฒนาความคิดว่าด้วยความทรงจำทั้งรวมหมู่และปัจเจก ว่าด้วยการลืมและความเงียบ และว่าด้วยการเขียนถึงประวัติศาสตร์บาดแผล จนชัดเจนขึ้นมากกว่าขณะที่เขียนบทความต่างๆ ในภาษาไทย ร้อยเรียงประเด็นเหล่านั้นเข้าเป็นงานเขียนชิ้นเดียวกัน (monograph) 

เล่มส้มมีสาระประมาณครึ่งหนึ่งหรือไม่ถึงครึ่งของ MoS บทความยาวที่สุดในเล่มส้มคือบทว่าด้วยฝ่ายขวา แต่ย่อลงเป็นเพียงหนึ่งใน 10 บทของ MoS อีกบทที่ใกล้เคียงกันมากคือบทที่ว่าด้วยงานรำลึก 6 ตุลาเมื่อปี 2539 เนื้อหาส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดเขียนขึ้นใหม่ เช่น ว่าด้วยจุดเริ่มต้นของความทรงจำรวมหมู่ จุดเริ่มต้นของความเงียบเพื่อความสมานฉันท์ พลวัตรของความเงียบและความอิหลักอิเหลื่อระหว่างปี 2521 ถึง 2539 ความเปลี่ยนแปลงของความทรงจำหลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาจนถึงยุคที่คนเดือนตุลารุ่งและร่วงซึ่งให้คำอธิบายต่างจากหนังสือของกนกรัตน์ เลิศชูสกุล

ที่สำคัญที่สุด MoS เป็นทั้งประวัติศาสตร์ของความทรงจำ เป็นการวิเคราะห์สังคมไทยผ่านเลนส์ของความทรงจำที่ผันแปร และเป็นบันทึกความครุ่นคิดของผู้เขียนที่มีต่อประเด็นเหล่านั้นอย่างจริงจัง ผลคืองานเขียนเชิงทดลอง (experimental writing) ที่ไม่ใช่งานวิชาการที่คนเขียนเอาตัวออกห่างจากกรณีศึกษาได้ เพราะผมเป็นทั้งผู้ศึกษาและผู้มีส่วนในกรณีศึกษา จึงไม่ปฏิเสธตัวตนของคนเขียน ไม่ปิดบังมุมมอง อคติ ความคิดของตนในการวิเคราะห์อคติของสังคม ไม่ต้องขจัดหรือซ่อนความคิดคำนึงของคนเขียน แต่พยายามทำอย่างเยือกเย็นและแฟร์แบบงานวิชาการที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งหมดนี้เพื่อเชิญชวนให้ผู้อ่านครุ่นคิดไปด้วยกัน
วิธีวิทยาของ MoS คืออย่างเดียวกันกับวิถีทางปัญญาที่ผมเองใช้จัดการกับ “6 ตุลา” มาจนทุกวันนี้ 

II. ทำไม “บทที่ 11”

จนถึงทุกวันนี้ เกินกว่าสี่ทศวรรษหลังโศกนาฏกรรมครั้งนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่าเหยื่อผู้ถูกแขวนคอในภาพของ Neal Ulevich เป็นใคร เราไม่รู้ว่าชายผู้ใช้เก้าอี้ทำร้ายศพเป็นใคร ปริศนาเกี่ยวกับคนทั้งสองเป็นเรื่องเหลือเชื่อเพราะภาพนี้กระจายจนเป็นที่รู้จักทั่วทั้งสังคมไทยมาอย่างน้อย 20 กว่าปีแล้ว ดังนั้นภาพนี้และปริศนาเกี่ยวกับคนทั้งสองเป็นตัวแทนของ the unforgetting เกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ครั้งนั้น

แต่เป็นความเงียบที่ส่งเสียงฟ้องว่าสังคมไทยไม่ปกติ ร้องประจานอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในมือคนมีอำนาจ บ่อยครั้งคนร่ำรวยก็มีด้วย และสถาบันกษัตริย์มีอภิสิทธิ์นี้ตามกฎหมาย ผู้มีอภิสิทธิ์คาดหวังเสียด้วยซ้ำราวกับเป็นสมบัติที่เขาพึงมีพึงได้ ความเงียบของกรณี 6 ตุลาฟ้องดังลั่นจนเยาวชนปัจจุบันได้ยิน 

ความเงียบเกี่ยวกับ 6 ตุลายังสะท้อนว่าความสมานฉันท์ปรองดองอย่างปราศจากความยุติธรรมหรือเรียกตรงๆ ได้ว่า “ความอยุติธรรมเพื่อการปรองดอง” ยังเป็นสิ่งที่รัฐไทยป่าวร้องและเรียกร้องจากประชาชนเสมอ

MoS จบลงด้วยบทตาม (Epilogue) ที่ชี้ให้เห็นว่าภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลงทำให้ 6 ตุลากลับผลุบโผล่อยู่กับการเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน หลอกหลอนรัฐไทยและสังคมไทยอยู่ในชีวิตปกติทุกวี่วัน ปรากฏตัวในหลายรูปแบบ หลายโอกาส ปรากฏตัวในมิวสิควิดีโอ “ประเทศกูมี” ในการ์ตูน ในงานศิลปะ ปรากฏตัวเป็นรูปเก้าอี้ตัวเดียวบนปกหนังสือ เป็นต้น 6 ตุลาจะหลอกหลอนสังคมไทยไปอีกนานตราบที่ยังไม่มีความยุติธรรม

ขณะที่ทำต้นฉบับเสร็จเมื่อปี 2561 คงแทบไม่มีใครคาดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมปีนี้ ถ้าหากสามารถย้อนเวลาได้หรือคาดการณ์ปรากฏการณ์ 10 สิงหาได้ผมอาจจะหยุดรอสักพักหนึ่งเพื่อเขียนบทที่ 11 ว่าด้วย 6 ตุลา ณ ปี 2563 อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ตามที่เขียนไป ได้อธิบายพลวัตรของความทรงจำ 6 ตุลาพอที่จะช่วยเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อมาหลังจากนั้นได้

ดังนั้น ในที่นี้ผมขอเสนอว่า “บทที่ 11 ทะลุเพดาน Smashing the Ceiling” จะเป็นอย่างไร

หลังจากบรรยายถึงการแสดงคลิปภาพยนตร์ประกอบเพลงยูงทองเมื่อวันที่ 10 สิงหาตามที่ปรากฏในย่อหน้าแรกของข้อเขียนนี้แล้ว บทที่ 11 จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเยาวชนที่ประท้วงรัฐบาลเมื่อปี 2563 ประเด็นสำคัญที่จะพยายามอธิบายคือ 6 ตุลาได้กลายเป็นกรณีตัวอย่างชั้นยอดประการหนึ่ง (ขอย้ำว่าไม่ใช่ประการเดียว) ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาเละเทะของความสัมพันธ์ทางอำนาจและของระบอบการเมืองอำนาจนิยมอย่างไร ของไทยอย่างไร เป็นหลักฐานชัดถึงอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชนของตนเองโดยไม่มีการรับผิด (accountable) เป็นแบบฉบับการสร้างความกลัวหรือทำให้ความทรงจำเหล่านั้นถูกกดไว้ในนามของความสมานฉันท์ จนลืมไม่ได้จำไม่ลงดังที่เสนอมาใน 10 บทของ MoS ความเงียบที่ปกคลุมความทรงจำ 6 ตุลาสะท้อนปัญหาหมักหมมขั้นสูงสุด หมายถึงปัญหาสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่พ้นไปจากการเมืองจริง แต่ดำรงอยู่เพื่อรักษาหรือเพิ่มพูนอำนาจทางการเมืองอีกด้วย การเกี่ยวข้องนี่เองที่ทำให้ความทรงจำ 6 ตุลาเป็นกรณี “ละเอียดอ่อน” เกินกว่าที่จะกล่าวถึงได้ในที่สาธารณะ 

ด้วยเหตุนี้ 6 ตุลาจึงถูกใช้เพื่อเปิดฉากการเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์อยู่พ้นเลยออกไปจากการเมืองหรืออยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด คลิปภาพยนตร์ควบเพลงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 10 สิงหา สะท้อนความเข้าใจของพวกเขา ส่งสาร (message) เดียวกับความหมายของปกหนังสือ MoS 

สำหรับเยาวชนรุ่นนี้ 6 ตุลายังเป็นอุทาหรณ์ถึงสิ่งที่ขบวนการเยาวชนรุ่นก่อนหน้าพวกเขาต้องเผชิญเนื่องมาจากการเมืองที่เลวร้าย พวกเขาจึงต้องการให้การเมืองเลวยุติลงในรุ่นของเขา พวกเขาเห็นว่าการเมืองเลวร้ายนี้ได้รับการค้ำจุนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะใน 3 ทศวรรษหลัง โดยพันธมิตรระหว่างวังกับทหารของพระราชานั่นเอง

พวกเขาไม่ต้องการถูกจำกัดอยู่ภายใต้เพดานของความเงียบแบบ 6 ตุลาอีกต่อไป เพราะจะจำยอมอยู่ภายใต้เพดานอันต่ำเตี้ย หรือจะทะลุทะลวงให้พ้นเพดานนั้นออกไป ย่อมหมายถึงอนาคตของพวกเขาอีกแทบทั้งชีวิต 
ณ ปี 2563 นักเรียนนักศึกษารุ่นนี้เติบโตพอรู้ความเกี่ยวกับสังคมการเมืองในช่วงรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลที่สวมเสื้อคลุมประชาธิปไตยที่ทำลายความหวังของเขาครั้งแล้วครั้งเล่า ในอีกด้านหนึ่ง เขาเติบโตขึ้นมาในภาวะที่ลัทธิคลั่งไคล้เจ้า (Hyper-royalism) อ่อนตัวลง พวกเขาไม่ได้ถูกชักนำโดยลัทธิทางการเมืองที่ต่อต้านเจ้าชุดใด แต่ลัทธิคลั่งไคล้เจ้าฝังสมองของเขาน้อยกว่าคนรุ่นก่อนหน้า จึงไม่ต้อง unlearn มากอย่างคนที่เติบโตมาภายใต้ลัทธิคลั่งไคล้เจ้าทั้งชีวิต เขารับรู้ได้ด้วยตัวเองว่าสถาบันกษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์น่าบูชาอย่างที่ลัทธิคลั่งไคล้เจ้าป่าวร้องหรือตรงข้ามกันแน่ 

พวกเขาเติบโตมาพบการรัฐประหารและการเมืองเลวที่รัฐใช้อำนาจและกฎหมายขจัดรังแกคนที่คิดต่าง แต่วังกลับสนับสนุนรัฐและการเมืองเช่นนั้น ดูช่างต่างลิบลับกับการเชิดชูที่ทำกันทุกวี่วัน ความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมคลายโดยไม่ต้องมีใครทำร้ายล้มล้าง ระเหิดหายเพราะพฤติกรรมของเจ้า คนคลั่งเจ้า และบรรดาทหารและรัฐบาลของพระราชาเอง นี่เป็นภาวะที่หล่อหลอมเยาวชนรุ่นนี้ ซึ่งต่างลิบลับจากภาวะแวดล้อมที่หล่อหลอมคนรุ่นก่อนหน้าเขาที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่นับจากทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา

III. สะสางอาชญากรรมของรัฐทุกกรณี

แต่ “ทะลุเพดาน” หมายถึงทะลุอะไร อะไรยังต้องทะลวงต่อ

ถ้านับจากปี 2539 ที่ทลายความเงียบ (เพื่อสมานฉันท์) ทำให้พูดได้มากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น โหดร้ายขนาดไหน ต่างความคิดต้องไม่ใช่ความผิดถึงตาย แต่ยังไม่สามารถพูดถึงว่าทำไมและใครอยู่เบื้องหลังอาชญากรรม 6 ตุลา  20 กว่าปีหลังจากนั้นมามีการพูดถึงสาเหตุ “ทำไม” กันมากขึ้น ส่วน “ใคร” นั้น พูดไม่ได้ อย่างมากก็ต้องใส่รหัส 

ดูเหมือนว่าปี 2563 เพดานที่ถูกทะลวงออกไปคือ ความเข้าใจอย่างกว้างขวางว่า “ใคร” มีส่วนก่อ 6 ตุลา แต่จะสามารถทะลุเพดานความอยุติธรรมและเรียกคืนความยุติธรรมให้กับ 6 ตุลาได้หรือไม่ 

มีประเด็นอะไรอีกที่ควรถูกทะลุทะลวง? ผมขอเสนอบางประการดังต่อไปนี้

การต่อสู้กรณีความทรงจำ 6 ตุลาที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าขยายความเข้าใจเรื่องอาชญากรรมของรัฐ ให้เราหันไปมองเหตุการณ์อื่นมากขึ้น มิใช่หนทางคับแคบเพื่อปิดกั้นอาชญากรรมของรัฐกรณีอื่นๆ  แต่เพื่อบุกเบิกทางให้ผู้คนหันไปมองและตระหนักถึงความเงียบที่ปกคลุมอาชญากรรมของรัฐในกรณีอื่นด้วย

มีคำวิจารณ์ว่าทำไมมัวแต่สนใจ 6 ตุลา แต่ไม่สนใจเหตุการณ์ที่ไม่ใช่นักศึกษาบ้างหรือ เช่นอาชญากรรมของรัฐเมื่อปี 53 ไม่สนใจเหตุการณ์ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯบ้างเหรอ เช่นการปราบปรามในกรณีปาตานีตลอดหลายสิบปี รวมทั้งกรณีตากใบ ผมหวังว่าเราท่านคงเข้าใจได้ดีว่าการรื้อฟื้น 6 ตุลามิใช่เพื่อทำให้มองข้ามอาชญากรรมของรัฐในกรณีอื่นๆ  สำหรับผม การต่อสู้เกี่ยวกับความทรงจำ 6 ตุลา ทั้งเพื่อใช้หนี้ผู้เสียชีวิตในวันนั้น และเพื่อบุกเบิกให้สังคมไทยเข้าใจถึงอาชญากรรมของรัฐที่จำเป็นจะต้องได้รับการจดจำ เพื่อเรียกหาความยุติธรรมแก่ทุกกรณีอย่างไม่มีข้อยกเว้น 

ตราบเท่าที่รัฐยังพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดต่ออาชญากรรมเหล่านั้น พยายามทำให้เกิดความกลัวและอิหลักอิเหลื่อ จนกรณีเหล่านั้นอยู่ในภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลง เราย่อมต้องการคนที่ลงมือทำงานต่อเนื่องจนกว่าความทรงจำเหล่านั้นจะสามารถพูดออกมาได้เต็มเสียงเต็มปากเต็มคำ เรื่องราวสามารถเล่าได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะโดยมิต้องกังวลถึงผลร้ายที่จะตามมา นี่เป็นหนทางที่จะรื้อฟื้นความยุติธรรมให้กับกรณีเหล่านั้น 

ผมอยากให้เกิดโครงการเกี่ยวกับความทรงจำของทุกกรณี เช่นสร้างแหล่งข้อมูลอย่าง “บันทึก 6 ตุลา” ขึ้นมาสำหรับอาชญากรรมของรัฐทุกกรณี

การเรียกหาความยุติธรรมในกรณีอาชญากรรมของรัฐสำคัญอย่างไร ด้านหนึ่ง เพื่อสถาปนาบรรทัดฐานทางการเมืองและกฎหมายในสังคมไทยว่าห้ามทำอีกต่อไป ผู้กระทำต้องรับผิด อีกด้านหนึ่ง เพื่อรื้อฟื้นความเป็นคนให้แก่ปัจเจกชนทั้งหลายที่เป็นเหยื่อ ป้องกันมิให้เหยื่อเหล่านั้นกลายเป็นแค่ตัวเลขที่ไร้หน้าตา เช่น 92 คนของการสลายเสื้อแดง หรือ 87 คนของกรณีตากใบ เป็นต้น เราจะต้องทำให้เหยื่อเหล่านั้นเป็นที่รู้จัก ได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีอย่างที่ปัจเจกชนคนหนึ่งสมควรจะได้รับ เราจะต้องไม่ยอมให้อาชญากรรมของรัฐเป็นแค่เหตุการณ์ที่รู้จักตามวันที่ปฏิทินโดยไม่สามารถระบุการกระทำที่ผิดมหันต์คืออะไรและคนกระทำผิดเป็นใคร 

ดังนั้น ความพยายามรื้อ 6 ตุลาไม่ใช่ความแค้นส่วนตัวของผม แต่ต่อให้เป็นเช่นนั้น การผันความแค้นของเราท่านที่ผจญอาชญากรรมของรัฐมาไม่ว่ากรณีก็ตาม ออกมาเป็นการผลักดันมิให้รัฐไทยทำเช่นนั้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดีมิใช่หรือ

IV. ความอยุติธรรมของกฎหมายที่เข้าข้างรัฐ

เราจะต้องตระหนักว่าความยุติธรรมต่อกรณี 6 ตุลาแยกไม่ออกจากปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประชาธิปไตยและนิติรัฐพิกลพิการ เราต้องจึงควรตั้งคำถามให้กว้างไปกว่า “ใคร” คำถามชุดสำคัญคือ ทำไมความอยุติธรรมชนิดนี้ อาชญากรรมของรัฐชนิดนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย

ปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมของรัฐคือนิติศาสตร์และระบบกฎหมายของไทย อีกปัจจัยคือรัฐของไทยที่เป็นรัฐราชาชาติ ไม่ใช่รัฐประชาชาติ 

เมื่อต้นปีนี้ผมได้นำเสนอในการแสดงปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ครั้งที่ 17 ว่า นิติศาสตร์ของไทยเป็นการปกครองด้วยกฎหมาย (rule by law) ไม่ใช่การปกครองของกฎหมาย (the rule of law) เป็นการปกครองด้วยกฎหมายเพื่อปกป้องค้ำจุนรัฐที่ทำทุกอย่างเพื่อปกป้องความมั่นคงของตนเองในนามของชาติ เป็นระบบกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐ นี่คือนิติศาสตร์ของความอยุติธรรม ไม่ใช่นิติศาสตร์ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนจากการใช้อำนาจของรัฐหรือที่ทั้งโลกเรียกว่า “นิติรัฐ”

(ตรงนี้ต้องย้ำว่า รัฐ ไม่เท่ากับรัฐบาล เพราะรัฐไทยหมายรวมถึงอำนาจเหนือรัฐบาล และอำนาจของกองทัพด้วย คราใดที่รัฐบาลขัดแย้งกับอำนาจทั้งสอง รัฐยังอาจหมายถึงอำนาจทั้งสองและไม่รวมรัฐบาลก็ได้) 

นิติศาสตร์แบบนี้ถือว่ารัฐมีอภิสิทธิ์ทางกฎหมายเหนือประชาชน เป็นระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เข้าข้างรัฐ ค้ำจุนความมั่นคงของรัฐและอภิสิทธิ์ชนรวมถึงกษัตริย์ ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือถึงกับให้พ้นความผิดจากความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน อภิสิทธิ์ทางกฎหมายชนิดสูงสุดคืออภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด (impunity) ซึ่งกลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้อย่างหนึ่งของระบบกฎหมายชนิดนี้ ส่งผลให้รัฐเลือกใช้ความรุนแรงในสารพัดระดับเมื่อถูกประชาชนต่อต้าน เพราะมีระบบกฎหมายเข้าข้างรัฐ

(ระบบกฎหมายแบบนี้ให้อภิสิทธิ์แก่คนรวยที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐด้วย แต่น้อยกว่าข้าราชการที่กระทำการเพื่อความมั่นคงของรัฐเสียอีก เพราะอย่างหลังเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งของนิติศาสตร์แบบนี้)

เราจึงพบกรณีทำนองนี้มากมาย ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ อาทิเช่นกรณีชัยภูมิ ป่าแส กรณีฟ้องอาญาอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ กรณีไม่ยอมให้ประกันตัวผู้นำการชุมนุมแม้จะวางเงินประกันสูงกว่าผู้ที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาฆาตกรรมก็ตาม หรือเหตุผลข้างๆ คูๆ ที่ตำรวจแก้ตัวให้กับกรณีที่รามคำแหง ที่ชวนให้นึกไปถึงกรณีทำร้ายจ่านิวเพราะกล้องเสีย ที่ชวนให้นึกไปถึงกรณีแขวนคอที่ประตูแดง ฯลฯ รัฐบาลและผู้ก่อความรุนแรงเพื่อรัฐได้รับความคุ้มครองเป็นประจำ ฝ่ายตรงข้ามรัฐถูกลงโทษรังแกเป็นประจำ ดูเป็นการใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐาน ขัดหูขัดตาอย่างยิ่ง จนหลายคนกล่าวว่าหามาตรฐานไม่ได้ หาหลักเกณฑ์ไม่ได้ 

แท้ที่จริงเราพบความคงเส้นคงวาและหลักเกณฑ์ของนิติศาสตร์แบบไทยพอสมควร คือ มักบังคับใช้กฎหมายเข้าข้างรัฐในกรณีขัดแย้งกับประชาชนและกรณีความมั่นคง ความไม่เท่าเทียมทางกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์แก่ฝ่ายที่เข้าข้างรัฐเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างคงเส้นคงวา “สองมาตรฐาน” เป็นมาตรฐานที่คงเส้นคงวา นี่เป็นตรรกะพื้นฐานข้อหนึ่งของระบบกฎหมายไทย (หากไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่มีฝ่ายใดกระทำการเพื่อรัฐหรือเข้าข้างรัฐหรือมีเส้นสายโยงถึงรัฐ ระบบกฎหมายของไทยใช้ได้ทีเดียว) 

ทั้งนี้มิได้หมายความว่าศาลเข้าข้างรัฐทุกกรณี เพราะบ่อยครั้งรัฐไม่เป็นเอกภาพและเพราะความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในระบบศาลยังมีได้ (เหมือนกับคนเก่งยังมีได้ในระบบการศึกษาที่แสนห่วย) แถมมักเป็นสิ่งผิดคาดที่ออกมาจากระบบที่ผิดเพี้ยน ซึ่งตรงข้ามกับระบบที่ดีแต่ย่อมมีคนเลวได้

ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทย จึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายผิดๆ หรือความบกพร่องของศาลหรือตัวบุคคลผู้ใช้กฎหมายบางครั้งบางคน แต่เป็นปัญหาในระดับรากฐานของระบบกฎหมายและนิติศาสตร์ของรัฐไทย ไม่ใช่ปัญหาคนเลวในระบบที่ดี แต่เป็นระบบเลวที่กลืนกินคนดีให้อยู่เป็นไปวันๆ  มีแหกคอกให้เห็นแค่บางครั้งบางคราว 

ถ้าเป็นนิติรัฐที่ดี คนจะไม่ถูกจำคุกฟรีแล้วมาปล่อยตัวทีหลังเพราะไม่มีความผิดจะมีน้อยมากเพราะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ทุกคน

ถ้านิติรัฐดีกระบวนการปล่อยตัวหลังได้รับประกันจะรวดเร็วไม่ใช่ใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อทำตามเอกสารงุ่มง่ามของทางราชการเพราะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน

ถ้านิติรัฐดีการแสดงความเห็นโดยไม่ใช้อาวุธ ไม่มีการข่มขู่ใช้กำลังจะไม่ถูกถือเป็นคดีอาญาและไม่เป็นเรื่องความมั่นคง มาตรา 112 จะไม่มีหรือจะไม่อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ

6 ตุลาเป็นกรณีสำคัญครั้งหนึ่งที่เผยให้เห็นนิติศาสตร์ของความอยุติธรรมต่อประชาชน ทั้งในระหว่างความขัดแย้งจนถึงการปราบปรามรุนแรง ทั้งในทุกขั้นตอนของกฎหมายนิรโทษกรรมให้ฝ่ายปราบปรามทั้ง 3 ฉบับ จนถึงการจัดการให้ความทรงจำกลายเป็นความเงียบเพราะลืมไม่ได้ จำไม่ลง

6 ตุลาไม่ใช่เพียงกรณีเดียวที่รัฐกระทำแบบนี้ด้วยระบบกฎหมายที่ให้รัฐได้เปรียบแทบทุกประตู

V. ความอยุติธรรมของ “รัฐราชาชาติ”

รากฐานของนิติศาสตร์แบบที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐอย่างมากถึงขนาดก่ออาชญากรรมต่อประขาชนเพื่อความมั่นคงของรัฐแล้วยังไม่ต้องรับผิดก็คือ รัฐไทยไม่เคยบรรลุความเป็น “รัฐประชาชาติ” ซึ่งหมายถึงชุมชนจินตกรรม (imagined community) ของเพื่อนร่วมชาติที่ล้วนแต่เป็นปัจเจกชนที่มีสิทธิเท่าๆ กันและร่วมกันเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แม้จะมีความพยายามสร้างรัฐประชาชาติหลัง 2475 แต่ความพยายามยังดังกล่าวยังไม่บรรลุผล 

รัฐไทยสมัยใหม่นับแต่แรกเริ่มเป็น “รัฐราชาชาติ” หมายถึงชุมชนจินตกรรมของพลเมืองในพระราชอาณาจักรของกษัตริย์องค์เดียวกัน เป็นรัฐสมัยใหม่ภายใต้กษัตริย์แบบสมัยใหม่ เป็นรัฐที่อธิปไตยแห่งรัฐแยกออกจากองค์พระมหากษัตริย์ไปอยู่ที่ดินแดนแล้ว แต่ยังถือกันว่ากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดินผืนนั้น ราษฎรอาศัยอย่างอยู่เย็นเป็นสุขเพราะความกรุณาของกษัตริย์

รัฐชนิดนี้สืบทอดมาจากรัฐศักดินา มิได้ตัดขาดจากรัฐศักดินาอย่างถึงราก เป็นการปรับตัวจากรัฐศักดินาสู่รัฐสมัยใหม่โดยชนชั้นเจ้าเอง จึงมีความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนในแบบที่รัฐยังถือว่าตนเป็นนายของประชาชน มีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน 

รัฐไทยแต่โบราณอ้างเสมอว่าให้ความคุ้มครองปกป้องประชาชน ตามที่เราเรียนมา หมายถึงรัฐให้ความคุ้มครองปกป้องราษฏรจากศัตรูนอกประเทศ วาทกรรม “คุ้มครอง” นี้เป็นอย่างเดียวกับที่มาเฟียใช้กับคนใต้บังคับของเขา เช่น มาเฟียเรียก “ค่าคุ้มครอง” จากผู้คนเพื่อตอบแทนอำนาจของพวกเขาเหนือประชาชนใต้ความคุ้มครอง อ้างว่าเป็นความกรุณาที่ราษฎรต้องสำนึกบุญคุณและต้องตอบแทนเพราะราษฎรขาดความคุ้มครองไม่ได้  

อำนาจมาเฟียคุ้มครองราษฎรจากการถูกลงโทษโดยอำนาจของมาเฟียนั่นเอง

อำนาจรัฐแบบศักดินาทุกแห่งในโลกก็เป็นอำนาจแบบมาเฟียทั้งนั้น รัฐศักดินาจึงข่มเหงลงโทษราษฎรใต้ความคุ้มครองเสมอถ้าหากปฏิเสธความคุ้มครองนั้น ไม่ว่าจะมีศัตรูนอกประเทศหรือไม่ก็ตาม 

รัฐศักดินาสยามเปลี่ยนแปลงสู่สมัยใหม่เมื่อประมาณครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 แต่ซากเดนศักดินาหรืออำนาจแบบมาเฟียยังตกทอดในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนต่อมาในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความคิดที่ถือว่ารัฐอยู่เหนือหัวแต่กรุณาดูแลทุกข์สุขของราษฎรยังสืบทอดต่อมา ความพยายามผลักดันให้เปลี่ยนเป็นรัฐประชาชาติและเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เป็นของประชาชนยังไม่สำเร็จ กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เป็นศักดินาใหม่ นี่คือ “รัฐราชาชาติ” 

รัฐไทยสมัยใหม่จึงอยู่บนพื้นฐานนิติศาสตร์ที่ผิดตลอดมา มิใช่นิติรัฐนิติศาสตร์ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ปลอดผลจากการรังแกโดยอำนาจรัฐ ความยุติธรรมและอยุติธรรมในสายตาของรัฐจึงต่างกับนิติรัฐตามมาตรฐานการปกครองของกฎหมาย 

ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมกึ่งสมัยใหม่กึ่งโบราณนี้ปรากฏให้เห็นไม่ใช่เพียงในสถาบันศาล แต่เห็นได้ชัดตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ตำรวจจนถึงคุก ตำรวจไทยควบคุมโดยรัฐที่กรุงเทพฯและรับใช้รัฐที่กรุงเทพฯ (ตำรวจในประเทศพัฒนาควบคุมโดยชุมชนท้องถิ่น) คุกไทยทุกวันนี้ยังคงเป็นกึ่ง “จารีตนครบาล” ทั้งในระดับ concept จนถึงการปฏิบัติ ตั้งแต่แบบแปลนเรือนจำ การปฏิบัติต่อคนคุก จนถึงความเป็นอยู่เช่นอาหารคุก เพราะในความคิดแบบโบราณนั้นนักโทษเหลือความเป็นคนน้อยมาก 

จนทุกวันนี้รัฐศักดินาสมัยใหม่มีภาระหน้าที่ในการทำนุบำรุงความสุขแก่ประชาชนด้วยความกรุณา แต่ภาระหลักคือความมั่นคงของรัฐเอง การเรียกร้องให้เป็นรัฐสวัสดิการจึงแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐคงไม่มีทางเข้าใจ concept ที่ถือว่าสวัสดิการเป็นสิทธิ การศึกษาเป็นสิทธิ สาธารณสุขเป็นสิทธิ เสรีภาพเป็นของทุกคนโดยรัฐจะจำกัดหรือละเมิดมิได้ ทั้งรัฐจะต้องอำนวยสิทธิทั้งหลายนี้ให้แก่ประชาชน มิใช่ด้วยความกรุณาหรือสงสารจึงสงเคราะห์ แต่เพราะเป็นสิทธิของประชาชน เราจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐรับใช้เรา มิใช่ค่าคุ้มครองแก่รัฐที่เป็นเจ้านายของเรา แต่ซากเดนความคิดรัฐศักดินาแบบเก่าๆ ยังคงอยู่ จึงต้องการให้ประชาชนตอบแทนความกรุณาของรัฐ 

การเรียกร้องประชาธิปไตยเรียกร้องให้คนเท่ากัน ให้ยกเลิกอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด เรียกร้องระบบกฎหมายที่ยุติธรรมนั้น ความยากเย็นอยู่ตรงที่เพราะมันขัดแย้งกับซากเดนรัฐแบบศักดินาที่ยังดำรงอยู่อย่างมากในรัฐไทยยุคสมัยใหม่ในปัจจุบัน

ความขัดแย้งในขณะนี้สะท้อนการปะทะกันระหว่างอนาคต 2 ทางเลือกว่าจะรักษารัฐราชาชาติหรือศักดินาสมัยใหม่หรือจะเดินหน้าสร้างรัฐประชาชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงความบกพร่องของบางคนหรือการบังคับใช้กฎหมายบางกรณี แต่เป็นปัญหารากฐานกว่านั้นมาก 

VI. บทนี้จะจบอย่างไร

การต่อสู้ในกรณีความทรงจำและความยุติธรรมต่อ 6 ตุลา จึงไม่สามารถแยกขาดออกจากการต่อสู้เพื่อสถาปนารัฐของประชาชาติและประชาธิปไตยของประชาชน และเพื่อสร้างนิติรัฐที่มีการปกครองของกฎหมาย (the rule of law) ให้จงได้

เค้าโครงบทที่ 11 ดังที่กล่าวมานั้น ผมทำได้อย่างเก่งก็แค่เขียนเป็นตัวหนังสือบนกระดาษ แต่ผู้ที่จะเขียนบทที่ 11 ของความทรงจำ 6 ตุลาลงในสังคมไทยคือเราท่านทั้งหลายทุกคน เริ่มเดินนำหน้าไปแล้วโดยนักเรียนนักศึกษาขบวนการปลดแอก ณ ปี 2563 

บทนี้จะจบอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับการต่อสู้กับรัฐในยกนี้เช่นกัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท