'ประยุทธ์' ปัดตก 'ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน' ฉบับก้าวไกลที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

'ประยุทธ์' ปัดตก 'ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน' ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน เช่น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำอัตโนมัติ, ค่าจ้างตามอายุงาน, เพิ่มวันลาประจำปี, ลดชั่วโมงการทำงานตามกฎหมายแรงงาน, กำหนดวันหยุดประจำ 2 วันต่อสัปดาห์

25 พ.ย. 2563 วันนี้เพจพรรคก้าวไกลรายงานว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัดตกร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ฉบับก้าวไกล ปิดประตูการปฏิรูปกองทัพไปแล้ว ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือตอบสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไม่ให้คำรับรอง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ… โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการตีความจากประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าเกี่ยวข้องกับการเงินจึงต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อเซ็นผ่านเข้าสู่การพิจารณาในสภา แต่สุดท้ายก็เป็นร่างกฎหมายนี้ที่ถูกปัดตกไปอีกฉบับหนึ่ง

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ… ฉบับก้าวไกล มีสาระสำคัญคือ การมุ่งแก้ไขกฎหมายในที่มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับยังมีผู้ใช้แรงงานมากกว่า 30 ล้านคนในตลาดแรงงานไทยมีปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างปรากฏชัด จึงมีการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานโดยรวมให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเวลาเรียนรู้สำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาตนเอง ซึ่งสอดรับกับการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีสาระสำคัญ คือ

1. เพิ่มบทนิยาม คำว่า "การจ้างงานรายเดือน” เป็นการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อันรวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หนึ่งเดือนหมายถึงเวลา 30 วัน (ร่างมาตรา 3 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5))

2. แก้ไขเพิ่มเติมให้เวลาทำงานลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง (ร่างมาตรา 4 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23))

3. แก้ไขเพิ่มเติมให้การจ้างงานในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือน ผู้จ้างงานจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่ลักษณะการจ้างงานที่มีความเฉพาะ ได้แก่ งานในภาคเกษตร งานก่อสร้าง งานที่ไม่มีความต่อเนื่อง ใช้แล้วเสร็จไป หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาโดยรับรองรายรับไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและให้ได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานระบบอื่นของผู้จ้างงาน โดยผู้ทำงานเป็นรายวัน หรือ รายชิ้น ต้องมีสัญญาจ้างงาน เมื่อคิดหน่วยทำงานต้องได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าพนักงานรายเดือน อย่างน้อยหนึ่งฉบับ (ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 23/1))

4. แก้ไขเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 2 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน (ร่างมาตรา 6 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28))

5. แก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน และกำหนดให้ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 10 วันก็ได้ และนายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้สำหรับลูกจ้างซึ่งยังทำงานไม่ครบ 120 วัน (ร่างมาตรา 7 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 30))

6. แก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดหรือเลี้ยงดูบุตร รวมกัน ไม่เกิน 180 วันต่อบุตรหนึ่งคน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน และกำหนดให้มารดาของบุตรสามารถมอบสิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรส่วนของตนให้บิดาตามกฎหมายของบุตรหรือคู่สมรสตามกฎหมายของตนได้ไม่เกิน 90 วัน ในกรณีไม่มีบิดาหรือมารดาให้ผู้ปกครองตามกฎหมายได้รับสิทธิ (ร่างมาตรา 8 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41))

7. แก้ไขเพิ่มเติมให้ คณะกรรมการค่าจ้างต้องปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มทุกปีในอัตรา ไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ตามแต่ว่าอัตราใดสูงกว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเกิดสภาวการณ์อันเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ คณะรัฐมนตรีอาจมีมติเพื่อยกเว้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดในปีนั้นได้ และให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และค่าจ้างตามประสบการณ์ให้คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งต่ออายุการทำงาน 1 ปีของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศในปีนั้นๆ ในกรณีที่ลูกจ้างรับค่าจ้างในอัตราสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ให้กำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ต่ออายุการทำงาน 1 ปี โดยใช้วิธีการคำนวณอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือและค่าจ้างตามประสบการณ์ (ร่างมาตรา 9 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 87))

ร่างกฎหมายนี้ ร่างและผลักดันโดยผู้แทนราษฎรปีกแรงงาน ได้แก่ สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน, วรรณวิภา ไม้สน, จรัส คุ้มไข่น้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชลบุรี เขต 6, ทวีศักดิ์ ทักษิณ กรรมาธิการแรงงาน มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ จนมาเป็นพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน เป็นตัวแทนตัวจริงเสียงจริงจากแรงงานตัวจริงในสภาผู้แทนราษฎร จึงรับรู้ปัญหาของพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างรู้ลึกและรู้จริง แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ชิงตัดตอนร่างกฎหมายอันเป็นผลประโยชน์ของประชาชนครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งข้อยืนยันว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้เห็นหัวพี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศเลย

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า 

ปัดตก พรบ.แรงงานฉบับอนาคตใหม่ 9 เดือนการพิจารณาบนโต๊ะนายกรัฐมนตรี

"ประเทศนี้มองว่าผู้ใช้แรงงานที่สร้างชาติ คือภาระและไม่จำเป็น"

เป็นวันที่น่าเศร้าอีกวัน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับอดีตพรรคอนาคตใหม่ ถูกปัดตกโดยนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำหรับปีกแรงงาน อดีตพรรคอนาคตใหม่ ผมคงต้องบอกว่าเราผูกพันกับร่างพระราชบัญญัติ ฉบับนี้เป็นพิเศษ มันก่อตัวตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ปี 2562 เป็นนโยบายหาเสียง และปฏิเสธไม่ได้ว่าคะแนนเสียงในพื้นที่อุตสาหกรรมของพรรคอนาคตใหม่ก็มาจาก ข้อเสนอในพระราชบัญญัตินี้

สำหรับขบวนการแรงงาน เราไม่มีเงิน ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอำนาจ สิ่งที่พวกเรามีคือ "ศักดิ์ศรี" และ "สัจจะ" ถ้าเราบอกกับพี่น้องแรงงานว่าสิ่งนี้เราทำได้ และจะทำ หัวเด็ด ตีนขาด ยังไงเราก็ไม่ยอมให้มีการปรับเปลี่ยน ลดทอน นอกจากโซ่ตรวนที่คล้องคอชนชั้นแรงงาน ชีวิตเราก็มีเพียงแค่สัจจะและศักดิ์ศรี

พระราชบัญญัตินี้ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมนักในพรรคที่ไม่มมีอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย พระราชบัญญัติฉบับนี้ ต้องนำเสนอไม่ต่ำกว่าสี่ครั้งเพื่อ ให้ผู้เกี่ยวข้องในพรรคยอมรับ (พรบ.อื่นไม่มีธรรมเนียมนี้) ข้อเสนอของส.ส.แรงงานถูกปฏิบัติด้วยการมองเป็นอีกชนชั้น ไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจที่ซับซ้อน เสนอเอาแต่ได้ ไม่เกรงใจนายจ้าง ฯลฯ

เราอดทนอย่างมากต่อสถานการณ์นี้ และใช้เวลาหลังเลือกตั้งถึง 8 เดือน กฎหมายฉบับที่พร้อมที่สุดตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง มีคนสนับสนุนมากที่สุด ถึงถูกส่ง เข้าโดยการลงชื่อ ของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ นำโดย สุเทพ อู่อ้น อดีตสหภาพแรงงานยานยนต์ และใช้เวลาอีกหลายเดือนบนโต๊ะนายกรัฐมนตรี

เป็นที่เข้าใจว่า พระราชบัญญัตินี้มักถูกมองว่าจะทำให้เสียคะแนนชนชั้นกลาง เลยไม่มีการโปรโมตแบบเป็นทางการ เหมือนรู้อยู่แล้วว่าปล่อยผ่านๆไป ยังไงเดี๋ยวรัฐบาลก็ตีตกไป คิดแล้วก็ชวนเศร้านัก แม้จนพรรคโดนยุบ ผมก็สัมผัสได้ว่าพรรคก้าวไกลก็มองพระราชบัญญัตินี้ไม่ต่างกัน

เป็นความเศร้าที่ยากจะอธิบายเมื่อเราสบตาทีมงาน สบตาพี่น้องแรงงานที่ถามว่าเหตุใดถึงไม่มีการพูดถึง พระราชบัญญัตินี้ในทางสาธารณะเลย เพราะเราตระหนักว่าหนทางเดียวที่จะกดดันให้นายกรัฐมนตรีรับร่างนี้คือกระแสการสนับสนุนของประชาชน ไม่มีการโปรโมต ไม่มีการพูดถึง มีเหตุผลอะไรที่ชนชั้นนำจะรับร่างนี้

ไม่ว่าอย่างไรก็เปลี่ยนข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า กฎหมายนี้นี้คือกฎหมายที่ปฏิรูปการคุ้มครองครั้งใหญ่ของชีวิตผู้ใช้แรงงาน การปรับค่าจ้างขั้นต่ำอัตโนมัติ ค่าจ้างตามอายุงาน เพิ่มวันลาประจำปี ปรับเปลี่ยนพนักงานรายวันเป็นพนักงานรายเดือน ลดชั่วโมงการทำงานตามกฎหมายแรงงาน กำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ 2 วันต่อสัปดาห์ให้เป็นกฎหมายแรงงาน ฯลฯ

แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดที่เป็นช่องให้นายกรัฐมนตรี ตีตก คือ "การเพิ่มวันลาคลอดและเลี้ยงดูบุตร" ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณรัฐบาลผ่านสำนักงานประกันสังคม

เป็นส่วนที่ผมเศร้าที่สุด ผู้หญิงจำนวนมากในประเทศเสียงาน เสียโอกาสในชีวิตเพียงแค่เพราะเธอต้องเป็นแม่ เพราะประเทศนี้มีวันลาคลอดน้อยเกินไป มันเกิดขึ้นมาเป็นสิบเป็นร้อยปี แต่กฎหมายนี้กลับถูกปัดตก โดยผู้ชายใส่สูท ที่มีเงินและอำนาจ ไม่เข้าใจความเจ็บแค้นของผู้หญิงที่มีมดลูก และตั้งครรภ์

เราอยากให้มันจบที่รุ่นเรา กฎหมายฉบับนี้น่าจะเปลี่ยนประเทศไม่ให้เลวร้ายเกินไปสำหรับคนรุ่นต่อไป

ปรารถนาให้ทุกคนมีชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี

แต่เสียดาย พระราชบัญญัตินี้กลายเป็นอดีต เป็นแค่เชิงอรรถของการต่อสู้

มันผ่านการหล่อหลอมความฝัน บาดแผล การต่อสู้ จินตนาการมาไม่ใช่แค่ 2-3 ปี แต่คือหลายสิบปีของความหวังและการต่อสู้

เป็นการตบหน้าชนชั้นแรงงานครั้งใหญ่

เราเสียไปก็แค่เมื่อวาน พรุ่งนี้เราจะสู้ใหม่ ก้าวหน้ากว่าเดิม ท้าทายกว่าเดิมและสถาปนารัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย #รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท