Skip to main content
sharethis

เมื่อพระสงฆ์ออกมาร่วมชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง มักถูกตำหนิว่าพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ขณะเดียวกัน คณะสงฆ์ไทยกลับเป็นเครื่องมือรับใช้อุดมการณ์รัฐและยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาโดยตลอด มหาเถรสมาคมที่ยังคงอยู่ในระบอบแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับประกาศให้พระสงฆ์อย่ายุ่งกับการเมือง

  • มหาเถรสมาคมมีมติตั้งแต่ปี 2538 เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่มีมติที่ 579/2563 ให้พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาให้ประชาชนเกิดความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
  • มหาเถรสมาคมกับกษัตริย์มีความสัมพันธ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และรับใช้อุดมการณ์รัฐแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งยังมีความเชื่อว่าตนเองทำเพื่อ ‘บ้านเมือง’ ไม่ใช่ ‘การเมือง’ ที่เป็นเรื่องของนักการเมือง การชุมนุม การอภิปราย เป็นต้น
  • พุทธศาสนาเกิดขึ้นในบริบทที่มีความเป็นการเมือง พระพุทธเจ้ามีการพูดถึงการเมืองโดยอ้อมคือมิได้กล่าวกับผู้ปกครองโดยตรง แต่คำสอนก็มีลักษณะแนะนำว่าควรปกครองอย่างไร ซึ่งจุดนี้เป็นปัญหาการนิยามคำว่า การเมือง ว่ามีความกว้างแค่ไหน

ภาพกลุ่มพระที่ร่วมชุมนุมกับเยาวชนเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา

การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่พัฒนาก่อตัวขึ้นเป็น ‘ราษฎร’ ที่รวมเอากลุ่มต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างหลากหลาย ท่ามกลางความหลากหลายดังกล่าว พระสงฆ์จำนวนหนึ่งออกมาร่วมชุมนุมกับราษฎรพร้อมกับข้อเรียกร้อง เช่น การแยกรัฐออกจากศาสนา การหยุดใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ การแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เป็นต้น

สุ้มเสียงของฟากอนุรักษ์นิยมที่ตามมา ซึ่งพอจะคาดเดาได้ ก็คือเหมาะสมหรือไม่ที่พระสงฆ์จะเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าพระสงฆ์ถือเป็นพลเมืองคนหนึ่งที่ควรมีสิทธิ์ มีเสียง และสามารถแสดงความคิดเห็นได้

ปี 2538 มหาเถรสมาคม (มส.) ได้ออกคำสั่งเรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเนื้อหาตั้งแต่ข้อ 4-10 ระบุว่า

ข้อ 4 ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุมหรือในบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมืองไม่ว่ากรณีใดๆ

ข้อ 5 ห้ามพระภิกษุสามเณรทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่การหาเสียง เพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใดแก่บุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ

ข้อ 6 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ

ข้อ 7 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยงกับการเมืองซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด

ข้อ 8 ให้พระสังฆาธิการตั้งแต่ชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป ผู้มีอำนาจหน้ามี่ในทางการปกครอง ชี้แจงแนะนำผู้อยู่ในปกครองเขตของตนให้ทราบคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ และกวดขันอย่าให้มีการฝ่าฝืนละเมิด

ข้อ 9 พระภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืนละเมิดคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้พระสังฆาธิการปกครองใกล้ชิดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตน ถ้าความผิดเกิดขึ้นนอกเขตสังกัด ให้เจ้าคณะเจ้าของเขตที่ความผิดเกิดขึ้น ว่ากล่าวตักเตือนแล้วแจ้งพระสังฆาธิการผู้ปกครองใกล้ชิดดำเนินการ

ข้อ 10 ให้พระสังฆาธิการผู้มีอำนาจหน้าที่ในทางปกครองทุกชั้น ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้โดยเคร่งครัด

มติมหาเถรสมาคม ห้ามพระยุ่งเกี่ยวการเมือง

แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงขึ้นและยังคงมีพระสงฆ์-สามเณรเข้าร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง มีพระสงฆ์เขียน ‘บทกวีที่อาจเกี่ยวข้องกับการเมือง’ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 มหาเถรสมาคมจึงมีมติครั้งที่  24/2563 มติที่ 599/2563 เรื่อง พระภิกษุแต่งบทกลอนหรือบทกวีที่อาจเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า

‘สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ และแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการปกครอง ควบคุม สอดส่อง ดูแลอบรมพระภิกษุสามเณรในปกครองให้ประพฤติปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎมหาเถรสมาคม มติ คำสั่ง ประกาศ ของมหาเถรสมาคมอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีตามตัวอย่างข้างต้น

‘สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ

‘ที่ประชุมรับทราบ และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการปกครอง ควบคุม สอดส่อง ดูแลอบรมพระภิกษุสามเณรในปกครองให้ประพฤติปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎมหาเถรสมาคม มติ คำสั่ง ประกาศ ของมหาเถรสมาคมอย่างเคร่งครัด’

นอกจากนี้ วันที่ 11 พฤศจิกายน มส. ยังมีมติเร่งด่วน 4 ข้อแจ้งไปยังวัดทั่วประเทศ ห้ามพระภิกษุ สามเณร ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง หากฝ่าฝืนคำสั่งก็ให้เจ้าคณะปกครองดำเนินการทันที คือ

1.ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองดำเนินการกับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ที่เข้าข่ายและฝ่าฝืนคำสั่ง เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538

2.มีมติมอบถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งเป็นประธานการรมการฝ่ายการปกครองสงฆ์ ให้วางแนวทางการป้องกันการชุมนุมของพระภิกษุ สามเณร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว

3.มีมติให้นำรายชื่อผู้ฝ่าฝืนของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ส่งให้เจ้าคณะผู้ปกครอง เพื่อพิจารณาทางพระธรรมวินัยต่อไป

4.ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่ทางกฎหมาย ตรวจสอบสถานะพระที่เข้าร่วมชุมนุมทุกรูป เพื่อป้องกันพระปลอมเข้าร่วมชุมนุมเพราะจะทำให้ศาสนาเกิดความเสียหาย

ภาพกลุ่มพระที่ร่วมชุมนุมกับเยาวชนเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ เพจ เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH)

เทศนาให้ประชาชนรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ทว่า การนิยาม ‘การเมือง’ ของ มส. กลับมีความขัดแย้งและสองมาตรฐาน เพราะในมติครั้งเดียวกันคือครั้งที่ 24/2563 มติที่ 579/2563 เรื่อง การแสดงพระธรรมเทศนาให้ประชาชนเกิดความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เนื้อหาบางส่วนกล่าวว่า

‘เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่าในภาวะปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาหลายด้าน เช่น ประชาชนมีความคิดเห็นขัดแย้งทางสังคม ทั้งด้านความเชื่อค่านิยมที่เป็นรากเหง้าของความเป็นชนชาติไทย เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีความละเอียดอ่อน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติเป็นเรื่องสำคัญ จึงสมควรส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชาติยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า คือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้มีความมั่นคง กอปรกับประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา สถาบันศาสนาเป็นสถาบันที่มีความสำคัญทางจิตใจของคนไทยและสำคัญต่อชาติ อันจะช่วยให้สังคมมั่นคง มีความเป็นปึกแผ่นเพราะสถาบันหลักเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยที่ดีที่สุด อันเป็นเสาหลักที่ดำรงไว้ซึ่งความเป็นชนชาติไทยมาแต่อดีตกาล

‘ดังนั้น เพื่อเป็นการสืบทอดและดำรงไว้ซึ่งเสาหลักของชาติ ความรัก ความสามัคคี และความเป็นชนชาติไทย ให้เกิดความตระหนักรักหวงแหนในสถาบันชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ กอปรกับพุทธศาสนิกชนเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ หากพระสงฆ์ได้นำองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เหมาะสม เกี่ยวกับความเป็นชาติไทย และสถาบันหลักของชาติมาบอกกล่าวแก่พุทธศาสนิกชนในโอกาสต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ความเข้มแข็งและความยั่งยืนของสถาบันหลักก็จะดำรงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน คณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม เห็นควรให้พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาเพื่อเตือนสติ และสร้างความตระหนักให้ปวงชนชาวไทยเกิดความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทุกวันธรรมสวนะหรือปาฐกถาธรรมในโอกาสต่างๆ ตามความเหมาะสม และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา’

ทั้งที่สถานการณ์ปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ราษฎร’ หรือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการให้มีการปฏิรูป มติ มส. ดังกล่าวจึงเป็นการยุ่งเกี่ยวกับ ‘การเมือง’ โดยตรง

คณะสงฆ์ไทยยังอยู่ในระบอสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระชิษณุพงศ์ ไพรพารี กล่าวถึงเหตุผลที่ตนออกไปร่วมชุมนุมว่า เป็นเพราะเห็นรัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมและไม่เห็นด้วยกับวิธีข้างต้น พระชิษณุพงศ์ยังกล่าวอีกว่า ในสังคมของพระ การเมืองในแวดวงของพระ มีความไม่เป็นธรรมอันเกิดจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่มีการแก้ไขในปี 2560 และ 2561 ซึ่งมอบอำนาจให้กับกษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชและพระจำนวนหนึ่งขึ้นมามีสิทธิปกครองสงฆ์ทั่วประเทศ

“มหาเถรทำตามฝั่งรัฐอย่างเดียว ซึ่งไม่โดนอะไรเลย แต่อีกด้านหนึ่ง พระที่ออกมาชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรม สั่นคลอนอำนาจรัฐ จะถูกกำจัด พระเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้กับรัฐ แทนที่พระจะยึดโยงกับประชาชน” พระชิษณุพงศ์ กล่าวพร้อมแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า

ระบบมหาเถรสมาคมและ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ต้องถูกยกเลิก และใช้ระบบสังฆสภาให้คณะสงฆ์ปกครองกันเอง โดยมีคณะวินัยธร สังฆสภา และสังฆนายก ล้อไปกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการแยกรัฐออกจากศาสนาด้วย

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาและศาสนา (แฟ้มภาพ)

คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดโครงสร้างการปกครองสงฆ์จึงมีลักษณะเช่นที่เป็นอยู่ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาและศาสนา อธิบายว่า มหาเถรสมาคมมีโครงสร้างความสัมพันธ์เป็นแบบสังคมจารีตหรือยุคกลางของยุโรปซึ่งเป็นรัฐศาสนาที่กษัตริย์ปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร

“มหาเถรสมาคมอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์ เพิ่มความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เหมือนยุคกลาง กษัตริย์ยังเป็นสมมติเทพ แต่อำนาจของกษัตริย์มีทั้งโมเดิร์นคือทุนนิยม เอาทั้งสิ่งสมัยใหม่เป็นของตัวเองและก็เอาอำนาจแบบโบราณ ศาสนจักรรับใช้อำนาจแบบนี้ มันถูกกำหนดโดยกฎหมาย กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งมหาเถรสมาคม สังฆราช เป็นการเมืองแบบยุคกลาง ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

“รัฐไทยไม่เคยตั้งคำถามว่าตรงนี้เป็นการเมือง เลยไม่ตั้งคำถามต่อไปว่าทำไมไม่ให้พระมีสิทธิ์เลือกตั้ง การยุ่งการเมือง การอภิปราย ชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง พระสงฆ์ไม่ควรทำ พระสงฆ์เทศน์ให้รักชาติ เป็นเรื่องบ้านเมือง ไม่ใช่การเมือง”

สุรพศกล่าวว่า คณะสงฆ์เชื่อว่าตนทำเพื่อบ้านเมือง ขณะที่การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง เป็นเรื่องการเลือกตั้ง การชุมนุม มายาคติเช่นนี้ทำให้คณะสงฆ์อยู่เหนือการเมือง ซึ่งก็คือการรับใช้การเมืองที่สนับสนุนอุดมการณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม

หากไม่แยกศาสนาออกจากรัฐก็เท่ากับระบบอำนาจรัฐกำหนดให้พระสงฆ์รับใช้อุดมการณ์รัฐ แต่ถ้าเป็นเอกชนก็ไม่มีอำนาจกำหนดให้คณะสงฆ์ต้องรับใช้รัฐ พระสงฆ์ก็จะต้องยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

ภาพ ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร อธิบายความหมายของ "ธงแครอทธรรมจักร" ซึ่งเป็นธงของกลุ่มพระที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มเยาวชน ครูใหญ่ อรรถพล อธิบายว่า ชู 3 นิ้ว หมายถึง ไตรลักษณ์ ไตรสิกขา และ ไตรสรณคมน์ นิ้วกดลงไว้ 2 นิ้ว หมายถึง หิริ และ โอตตัปปะ แครอท 8 หัว หมายถึง โลกธรรม 8 ประการ หมุดดุม 37 หมุด หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และมรรค 8 ส่วน คมกงจักร 24 คม หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท สายเกิด 12 สายดับ 12 เหล่าบรรดาแครอทเป็นกงล้อค้ำยันและขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนาเกิดในบริบที่มีความเป็นการเมือง

ด้าน ชาญณรงค์ บุญหนุน จากภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า หากดูจากพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎกจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าวางระยะห่างในระดับหนึ่งกับการเมือง แต่ไม่ใช่ไม่พูดเลย เพียงแต่ไม่พูดโดยตรงกับผู้ปกครองและเป็นการพูดในเชิงวิธีการปกครอง เช่น จักรวรรดิวัตร ทศพิศราชธรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าเป็นการพูดเรื่องการเมืองอยู่ในที อีกทั้งในธรรมิกสูตรยังกล่าวว่าถ้าผู้ปกครองไม่สุจริต ไม่ซื่อสัตย์ พลเมืองก็ไม่ซื่อสัตย์ไปด้วย ฟ้าดินจะวิปริตผันแปร ฤดูกาลไม่เป็นไปตามปกติ

“ถ้าพูดแบบมุมจากคนศึกษา จากคนไทย ไม่ใช่เถรวาท พุทธศาสนาเกิดในบริบทที่มีความเป็นการเมือง ตอบสนองระบบสังคมการเมืองแบบหนึ่ง เช่น ยกระดับคนชั้นล่าง พุทธศาสนาเกิดขึ้นและเกี่ยวพันกับสังคมการเมืองอยู่แล้ว ตีความให้มากกว่าการเมืองแบบไทยๆ ปัญหาอยู่ที่การนิยามการเมืองในบ้านเราด้วย ของเราเป็นการเมืองแบบแคบๆ ซึ่งในบริบทไทยคงไม่ค่อยพูดเรื่องผู้ปกครอง”

เมื่อถามว่าหากพระมีสิทธิเลือกตั้ง สามารถสนับสนุนพรรคการเมืองได้ จะถือว่าขัดกับพระธรรมวินัยหรือไม่ ชาญณรงค์ ตอบว่าพระธรรมวินัยไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ แต่ก็มีประเด็นปัญหาที่ต้องถกเถียง เช่น การที่พระสามารถเลือกตั้งได้ หากพรรคที่ตนเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล แล้วมีนโยบายที่สนับสนุนความรุนแรง เช่น การฆ่าตัดตอน การใช้โทษประหารชีวิต แบบนี้จะถือว่าพระสงฆ์ยินยอมด้วยหรือไม่

จุดนี้ขึ้นกับมุมมองว่า เราจะมองพระหรือนักบวชเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยที่ควรมีสิทธิ มีเสียงเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นหรือไม่?

คำถามที่สำคัญยิ่งกว่า มหาเถรสมาคม องค์กรปกครองสงฆ์ที่ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ และเป็นเครื่องมือรับใช้อุดมการณ์รัฐนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สามารถพูดได้เต็มปากหรือว่า พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net