สกต. ร้องศาลไต่สวนให้ได้อยู่ในพื้นที่ ร้องหน่วยงานรัฐเร่งจัดสรรที่ดินให้ ปชช.

สกต. ร้องศาลสุราษฎร์ธานีไต่สวนให้สมาชิก 36 คน ไม่ต้องออกจากพื้นที่พิพาท

ทีมสื่อโพรเทคชัน อินเตอร์เนชันแนล รายงานว่า 27 พ.ย. 2563 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี นัดพร้อมคดีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในที่ดิน และสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จำนวน 36 ราย ยื่นคำร้องขอไต่สวนให้ผู้ร้อง 36 ราย ไม่ต้องออกจากพื้นที่พิพาท เนื่องจากไม่ใช่กลุ่มเดียวกับจำเลยกลุ่มที่บริษัทเอกชนฟ้องร้องและศาลตัดสินว่าบุกรุกในพื้นที่พิพาทก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามในพื้นที่พิพาทดังกล่าว หน่วยงานตรวจสอบของรัฐ รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นที่บริษัทได้เอกสารกรรมสิทธิ์มาโดยมิชอบ

ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี นัดไต่สวนคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ ทั้งหมด 6 นัด ได้แก่ วันที่ 8, 15 ก.พ. 22, 23 มี.ค. และ 5,19 เม.ย. 2564  

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อปี 2546 บริษัทเอกชนในพื้นที่ ระบุว่าบริษัทของตนเอง มีเอกสารสิทธิ์ นส.3 ครอบคลุมพื้นที่ที่ประชาชนทำกินอยู่ และได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่เพื่อทำการขับไล่ประชาชนออกนอกพื้นที่ทำกิน

ต่อมาในปี  2549 ประชาชนยื่นคำร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ที่บริษัทครอบครองทั้งหมด ผลการตรวจสอบปรากฏว่า บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่นั้นครอบครองที่ดินทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าว ประชาชนได้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่หน่วยงานเหล่านั้นไม่ดำเนินการ

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2550 ประชาชนจึงยกระดับการเรียกร้องโดยการเข้าครอบครองพื้นที่โดยตั้งเป็นชุมชนชื่อว่า ชุมชนสันติพัฒนา ต่อมาปี 2552 บริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด ยื่นฟ้องชาวชุมชนสันติพัฒนาในข้อหาทำให้เสียทรัพย์และบุกรุก ในพื้นที่ 1,486 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวนกว่า 200 ไร่ พื้นที่ นส.3 จำนวน 330 ไร่ และอีกกว่า 800 ไร่ เป็นเขตป่าไม้ถาวร แต่เมื่อตรวจสอบสิทธิ์ พบว่าบริษัทนี้ได้ครอบครองพื้นที่โดยมิชอบ และ ส.ป.ก. ได้แจ้งความบริษัท ภายหลังบริษัททำหนังสือยินยอมส่งมอบคืนพื้นที่ให้ ส.ป.ก.  อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการนำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้กับเกษตรกรจนถึงบัดนี้ 

ต่อมาปี 2552-2554 ผู้ตรวจการแผ่นดิน  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ตอบรับคำร้องของชุมชนสันติพัฒนา เข้าไปตรวจสอบการถือครองในที่ดินดังกล่าว ทุกหน่วยงานสรุปเหมือนกันว่า บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ครอบครองที่ดินมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีการสวมสิทธิ์ประชาชนในพื้นที่

ปี 2555  ศาลแพ่งชั้นต้น พิพากษาขับไล่จำเลย 12 คนและบริวาร ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท บนเนื้อที่ 110 ไร่ อย่างไรก็ตาม สมาชิกชุมชนชี้ว่าตนเองอยู่ในพื้นที่ของส.ป.ก. และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ นส.3 ของบริษัท จึงไม่สามารถนำมาบังคับคดีและขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ได้ สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาในปี 2559 ที่ตัดสินให้ประชาชนชนะในคดีอาญา เนื่องจากมีหลักฐานว่าสมาชิกชุมชนสันติพัฒนามิได้อยู่ในพื้นที่พิพาทของเอกชน แต่ทำกินอยู่บนพื้นที่ของ ส.ป.ก. ศาลจึงยกฟ้องในคดีนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนพิพาทอ้างว่า พื้นที่ 110 ไร่ดังกล่าว มีพื้นที่ นส.3 ของบริษัทอยู่ด้วย ล่าสุด เมื่อเดือน ก.ค. 2563 บริษัทเอกชนดังกล่าว พยายามนำคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าว มาทำรังวัดที่ดินแปลงเพื่อบังคับคดี และพยายามขับไล่ให้ประชาชนชุมชนสันติพัฒนาออกจากพื้นที่ แต่ชุมชนสันติพัฒนายืนยันว่า ยังคงจะต่อสู้เพื่อในสิทธิที่ดินของตนเอง ผ่านทางกระบวนการยุติธรรมและรูปแบบการจัดการที่ดิน

ปัจจุบัน ชุมชนสันติพัฒนาจัดสรรที่ดินตามแบบโฉนดชุมชน และได้รับรองเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนนำร่อง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553

ก่อนหน้านี้ นักปกป้องสิทธิฯ ในที่ดิน ยังได้ยื่นฟ้องศาลปกครองในปี 2556 ขอให้ศาลเพิกถอนเอกสารกรรมสิทธิ์ที่บริษัทเอกชนดังกล่าวได้มาโดยมิชอบ และฟ้องอธิบดีกรมที่ดินในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และอธิบดีกรมป่าไม้ในข้อหาการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลปกครองในคดีนี้

รัษฎา มนูรัษฎา กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ และทนายความในคดีนี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ทำงานล่าช้าในการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรตามหน้าที่และนโยบายที่รัฐวางไว้ สิ่งที่ชาวบ้านร้องเรียนให้ ส.ป.ก. จัดสรรที่ดินให้เกษตรกร ผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว ก็ยังมีปัญหาว่า ส.ป.ก. ไม่ได้ดำเนินการ และกลายเป็นชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี

รัษฎากล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนได้ว่าความในคดีอาญาของชุมชนสันติพัฒนา ศาลยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่า ชาวบ้านอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก. แต่ในที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กลุ่มทุนยังใช้ประโยชน์นั้น ควรจะถูกกระจายและจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ปัญหาจึงยังคาราคาซังอยู่จนถึงทุกวันนี้

“ตามหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน คนเราควรจะมีสิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในที่ดินทำกิน รัฐควรจะมีหน้าที่จัดให้ประชาชน ดังนั้น ถ้าหากว่าเราไปปล่อยให้ที่ดินของรัฐไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าในระยะยาวในอัตราค่าเช่าที่ถูกๆ เรื่องอย่างนี้ต้องมาพิจารณา และมาปรับเปลี่ยน เราจะไปปล่อยให้เป็นแบบนั้นมันไม่ได้ เพราะว่าประชากรมีจำนวนมากขึ้น มันต้องปรับ การเรียกร้องของประชาชนของสิทธิในที่ทำกิน รัฐต้องมองต้องฟัง และให้ความสนใจ” รัษฎากล่าว

ด้าน ปรานม สมวงศ์ จากโพรเทคชัน อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า อีกคดีสำคัญที่ต้องติดตามคือ เหตุการณ์วันที่ 20 ต.ค. 2563 เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินจากชุมชนสันติพัฒนา โดยคนร้ายได้บุกเข้ามาและนำปืนจ่อยิงเข้าไปที่ศีรษะของดำ อ่อนเมือง สมาชิกชุมชน แต่นายดำหลบคมกระสุนทันทำให้รอดชีวิต

ปรานมเล่าต่อว่า วันที่ 9 พ.ย. 2563 สุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดการประชุมหารือแนวทางการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ถูกข่มขู่คุกคามชีวิต พร้อมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"เราหวังว่าหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนในการให้การคุ้มครองความปลอดภัยสมาชิกของ สกต. โดยเฉพาะการมาติดตู้แดงในชุมชนและหามาตรการในการป้องกันเหตุร้าย รวมถึงหน้าที่ของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องหาตัวบุคคลผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทั้งนี้ คดีสังหารสมาชิกของ สกต. 4 รายไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดและผู้สั่งการมาลงโทษได้เลย ส่งผลให้มีการพยายามลอบสังหารสมาชิกอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เราหวังว่ากรณี นายดำ จะสามารถหาตัวผู้สั่งการมาลงโทษได้" ปรานมกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท