Skip to main content
sharethis

งานวิจัยเผยโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งการปรับเปลี่ยนหลายด้าน แรงงานไทยกว่า 18 ล้านคนเสี่ยงตกงาน

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายได้แก่  สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป้วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และสำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica จัดงานสัมนาและเผยแพร่งานวิจัยในโครงการ “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการเกิดขึ้นของโควิด-19 เป็นตัวเร่งปัญหาที่สั่งสมและกระทบกับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เดิมถูกกระทบจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง (mega trend) หลายๆเรื่องได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบกับอาชีพเกษตรกรในประเทศไทยให้มีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมาก

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยพบว่ากลุ่มที่แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องของ megatrend การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของรูปแบบการค้าโลกที่เกิดขึ้นควบคู่กับปัญหาโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมาทำให้มีกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงในการสูญเสียงาน หรือตกงานในอนาคตรวมกว่า 18.25 ล้านคน ใน 258 อาชีพ แบ่ง เป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.ได้รับ

ผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีอย่างจำกัด คือมีความเสี่ยงน้อยที่จะสูญเสียงานจากการทดแทนด้วยหุ่นยนต์และผลทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า โดยอาชีพที่จัดในกลุ่มนี้ 166 อาชีพ เช่น พ่อครัว แม่ครัว อาชีพช่างเครื่องยนต์ ครูสอนระดับประถมศึกษา และผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้ครอบคลุมแรงงาน 12.20 ล้านคน หรือ 32.26% ของกำลังแรงงานไทย

2.มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียงานจากการถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า คือกลุ่มอาชีพที่จัดอยู่ในกลุ่มจำนวน 81 อาชีพ เช่นผู้ประกอบอาชีพเทคนิค หรือเสมียน ช่างฝีมือด้านการเกษตร เป็นต้น   ซึ่งครอบคลุมแรงงานจำนวน 4.78 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.63% ของกำลังแรงงานไทย

3.ได้รับผลกระทบทั้งจาก โควิด-19 และจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คือ กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์จากผลในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า โดยมี 11 อาชีพ เช่น  พนักงานต้อนรับ พนักงานนับสินค้า เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้มีข้อด้อยคือมีระดับการศึกษาต่ำกว่าสองกลุ่มแรกทำให้ปรับตัวรองรับอาชีพในอนาคตได้ยากกว่า โดยคาดว่าผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มนี้จะครอบคลุม 1.27 ล้านคน หรือคิดเป็น 3.35% ของกำลังแรงงานไทย

สำหรับข้อเสนอแนะมี 2 ส่วนหลักคือ 1.นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น ส่งเสริมให้มีการซื้อ ขายสินค้าออนไลน์ การเรียนและอบรมให้ความรู้ทางออนไลน์ และทำงานออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้มากขึ้น แต่ก่อนที่จะส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลแบบนี้มาใช้ได้รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้งการเพิ่มการสนับสนุนทั้งเงินทุนและระยะเวลาในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับแรงงานทุกกลุ่มอย่างจริงจัง

2.การเพิ่มความช่วยเหลือจากภาครัฐที่จำเป็นต่อการพัฒนาชนบท เพื่อให้แรงงานที่กลับสู่ชนบทสามารถพัฒนาและสร้างอาชีพในท้องถิ่นได้ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่นชุมชน รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องเงินทุนโดยเฉพาะผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ต้องการสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานทั้งในและนอกระบบ และทั้งกลุ่มที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำซึ่งมีรายได้ที่ลดลงตั้งแต่ระดับ 54 - 90% โดยเมื่อพิจารณาเรื่องของการทำมาหากิน ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ โดยกลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบที่หนักสุดเป็นกลุ่มแม่ค้าในตลาด คนขับรถสองแถว วินมอเตอร์ไซต์ ผู้รับเหมา ส่วนเบาที่สุด เป็นอาชีพข้าราชการ

ในด้านความรุนแรงที่เกิดขึ้น ยังส่งผลต่อชีวิตของประชาชนหลากหลายแง่มุม เช่น อาชีพเสริมบางคนต้องการทำอาชีพเสริม บางคนได้ค้นพบอาชีพเสริม แต่บางคนสูญเสียรายได้ที่เป็นอาชีพเสริมไปแล้ว ขณะที่เงินช่วยเหลือมีทั้งด้านดีและไม่ดี

โดยแรงงานที่สูญเสียรายได้มากจากการถูกเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงานในเมืองได้กลับไปยังชนบทเป็นการกลับไปหาทุนทางสังคม หรือทุนชุมชนที่ละทิ้งมาก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นการปรับตัวแบบหนึ่งของแรงงานเรียกว่าภาวะที่เรียกว่า revesre drian brain ที่จะทำให้ชนบทสามารถพัฒนาได้หากภาครัฐสนับสนุนเพียงพอ

ทั้งนี้รูปแบบการปรับตัวแบบนี้มีผลดีต่อการกระจายรายได้ กระจายความเจริญ รวมถึงกระจายอำนาจทางการเมืองเนื่องจากบุคลากรและแรงงานที่เดินทางจากชุมชนเมืองกลับไปยังชนบทมีจำนวนมากที่กลับไปพร้อมกับองค์ความรู้ที่สามารถนำกลับไปสร้างอาชีพ และสร้างเครือข่ายความรู้และอาชีพในชนบทได้ซึ่งหากภาครัฐมีนโยบายการส่งเสริมที่เหมาะสม ช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเช่นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หรือช่วยให้เกิดการรับซื้อผลผลิตจากชนบทไปสู่ตลาดผ่านช่องทางต่าง ๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศได้อย่างมากในอนาคต

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/11/2563

รมว.แรงงาน ระบุไทยจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องถูกเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์โควิด 19 สูงสุดในอาเซียน

27 พ.ย. 2563 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพฯ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานการจัดงานประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2563 ครั้งที่ 15 ภายใต้หัวข้อ “Moving toward a New Normal : สปส.ขับเคลื่อน สู่ชีวิต วิถีใหม่”

พร้อมมอบโล่เกียรติคุณการให้บริการยอดเยี่ยมโครงการสำรวจความพึงพอใจผู้รับบริการ ที่มีต่อสำนักงานประกันสังคม ปี 2563 โดยมี นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คณะกรรมการและอนุกรรมการของสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้า ผู้ประกันตน นักวิชาการ สื่อมวลชน ให้การต้อนรับ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกับสื่อมวลชนในโอกาสเป็นประธาน การประชุมวิชาการประกันสังคมในประจำปี 2563 ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยเร็ว หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลให้สังคมและวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากเดิม และมีความเสี่ยงว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

จากสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองทางสังคม ผ่านระบบประกันสังคมที่ให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ทั้งที่เกิดจาก การทำงานและนอกงาน

โดยไทยเป็นหนึ่งใน 2 ประเทศ ในอาเซียนเท่านั้น ที่ให้สิทธิคุ้มครองประกันสังคม ครบ 9 กรณี ตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และเป็นประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องถูกเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์โควิด 19 สูงสุดในอาเซียน โดยจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ถึงร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นระยะเวลา 200 วัน

อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงาน มีนโยบายเร่งด่วนในการผลักดันการให้หลักประกันทางสังคมเพิ่มและปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่นายจ้างลูกจ้างและผู้ประกันตน ผ่านมาตรการ ที่สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้

1) การลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง พร้อมขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลา 3 เดือน

2) ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง ลาออก และสิ้นสุดสัญญาจ้าง และให้ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

3) ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยให้สิทธิผู้ประกันตนตรวจสุขภาพฟรี และให้สิทธิผู้ประกันตน ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรี ซึ่งมีสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของสำนักงานประกันสังคมให้บริการฉีดวัคซีน รพ.ของรัฐ 164 แห่ง รพ. เอกชน 81 แห่ง และมีผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว จำนวน 131,797 ราย

4) สนับสนุนเงินฝากให้ธนาคารเพื่อให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่สถานประกอบการ ที่ขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์โควิด 19 เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและชะลอการเลิกจ้าง

5) MOU กับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ตกงานแล้วกลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้มีที่ดินทำกิน

ทั้งนี้ ยังมีการพิจารณาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรเพื่อมอบให้ เป็นของขวัญปีใหม่ในปี 2564 ให้แก่ผู้ประกันตนอีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ การจัดประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2563 ในหัวข้อเรื่อง “Moving toward a New Normal : สปส.ขับเคลื่อนสู่ชีวิต วิถีใหม่" จึงเป็นเวทีในการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกันตน นายจ้าง รวมถึงผู้บริหารกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะเป็นผู้แทนของสำนักงานประกันสังคมในการให้ความรู้ เกี่ยวกับระบบการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสถานะทางการเงิน

รวมถึงเป็นโอกาสอันดีที่ได้มารับทราบประสบการณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เผชิญกับภาวะวิกฤต และการเผชิญกับวิถีการทำธุรกิจ การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญคือ ผู้ใช้แรงงาน นายจ้าง และภาครัฐ

รวมทั้ง จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบ กระบวนการทำงานของธุรกิจ และความรู้ ความสามารถ ทักษะการทำงานของแรงงาน ในชีวิตวิถีใหม่ ตลอดจน สาระดีๆ จากการอภิปรายเรื่อง “ชวนกันคิดเรื่อง...ประกันสังคม” เพื่อนำไปใช้ในการ “ก้าวสู่ชีวิต วิถีใหม่” ได้อย่างมั่นคง

"ผมมีความเชื่อมั่นว่าในการประชุมวิชาการประกันสังคมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมโดยรวมจะได้รับประโยชน์ในหลายๆ ด้าน จากความรู้ แนวคิด นิทรรศการทางวิชาการ และประสบการณ์ของวิทยากรผู้บรรยาย ในโอกาสนี้ ผมขอเชิญชวนให้ท่านได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การขับเคลื่อนของ สปส.” ที่ทำให้การ “ก้าวสู่ชีวิตวิถีใหม่” มีแนวทางในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตน รวมทั้งได้นำความรู้ ประสบการณ์ไปใช้ในการทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป "นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 27/11/2563

ศาลปกครองไม่รับฟ้อง อดีต พนง.สกสค.ขอเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง ชี้อำนาจศาลแรงงาน

26 พ.ย. 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา กรณีนางอาจินต์ ไตรสุวรรณ และพวกรวม 136 คนซึ่งเป็นอดีตพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยื่นฟ้อง สกสค., ผอ.สกสค., คณะกรรมการ สกสค. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างพนักงาน สกสค.จำนวน 961 คนที่มีผลเมื่อ 1 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา

โดยศาลฯ ให้เหตุผลว่า คณะกรรมการ สกสค.ได้ออกข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค.ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้าของ สกสค.2549 และข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค.ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้าของ สกสค.ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 ใช้กับ สกสค.โดยเฉพาะ สกสค.จึงมีการจัดระบบบริหารจัดการรูปแบบพิเศษ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับ สกสค. นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน เงินเดือน หรือค่าจ้างของ นางอาจินต์และพวก ที่เป็นผู้ฟ้องคดีแต่ละราย ได้มาจากเงินรายได้ของ สกสค.ไม่ใช่จากงบประมาณแผ่นดิน นางอาจินต์และพวกจึงไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ สกสค.โดยตรง การออกคำสั่งเลิกจ้างนางอาจินต์และพวกแต่ละรายนี้ได้โต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าว โดยอ้างว่า สกสค., ผอ.สกสค.กระทำการโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 คำสั่งเลิกจ้างจึงเป็นเรื่องสภาพการจ้างตามมาตรา 5 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน 2522 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/11/2563

ช่อง GMM 25 หยุดดำเนินกิจการสิ้นปี ยุบฝ่ายข่าว

รายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ็ม 25 ระบุว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด เตรียมที่จะหยุดดำเนินกิจการในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน ส่งผลทำให้พนักงานประมาณ 190 คน โดยเฉพาะฝ่ายข่าว GMM 25 ต้องพ้นสภาพ โดยมีพนักงานประมาณ 50 คน ที่จะย้ายไปทำงานต่อกับบริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ส่วนพนักงานประจำที่เหลือ จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานทุกประการ

สำหรับสถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ็ม 25 นับจากนี้จะมีไว้สำหรับให้บริษัทในเครือเช่าเวลาของสถานี เพื่อผลิตรายการต่างๆ ส่วนรายการข่าวจะมีทีมข่าวช่องวันมาผลิตแทน โดยรายการข่าวของจีเอ็มเอ็ม 25 จะออกอากาศวันสุดท้ายถึง 31 ธ.ค. 2563

ที่มา: Positioning, 26/11/2563

ใช้สิทธิจ้างงานคนพิการ ม.35 ลงทะเบียน 'กรมจัดหางาน' ก่อนสิ้นปี

24 พ.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตลอดปีงบประมาณที่ผ่านมา (ตุลาคม 2562 กันยายน 2563) กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ สามารถบรรจุงานให้คนพิการ ตามมาตรา 33 ทั้งสิ้น 1,806 ราย ก่อให้เกิดรายได้ต่อปี 18,199,000 บาท

รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายขจัดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ดูแลผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส กำหนดให้มีมาตรการดูแลคนทุกช่วงวัย กลุ่มเปราะบาง คนพิการอย่างเหมาะสม ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามนโยบายมาโดยตลอด ด้วยกรมการจัดหางานมีภารกิจส่งเสริมการมีงานทำให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการที่ประสงค์จะทำงาน เพื่อสร้างโอกาสแก่คนพิการ มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

โดยในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา สามารถบรรจุงานคนพิการทำงานในสถานประกอบการ จำแนกตามระดับการศึกษา ดังนี้

1.ระดับประถมศึกษา (พนักงานรักษาความปลอดภัย ทำความสะอาด ดูแลสวน) จำนวน 615 คน รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 9,000 บาท2. ระดับมัธยมศึกษา (เจ้าหน้าที่คลังสินค้า พนักงานบริการ) จำนวน 809 คน รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 9,000 บาท3. ระดับปวช. (พ่อครัว พนักงานต้อนรับ) จำนวน 82 คน รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 12,500 บาท4. ระดับปวส./อนุปริญญา (เสมียน พนักงานบริการ) จำนวน 148 คน รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 12,500 บาท 5.ปริญญาตรี (ผู้จัดการเฉพาะด้าน เจ้าหน้าที่สำนักงาน ช่างเทคนิค) จำนวน 152 คน รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 16,500 บาท รวมทั้งสิ้น 1,806 คน จากผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนหางาน 2,161 คน สร้างรายได้ต่อปีรวม 18,199,000 บาท

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สำหรับคนพิการที่ยังไม่ได้รับการบรรจุตามมาตรา 33 เนื่องจากไม่พร้อมทำงานในสถานประกอบการ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ สามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิตามมาตรา 35 เพื่อรับสิทธิในสัมปทานพื้นที่ทำกิน พื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้าหรือบริการ รับงานจ้างเหมาบริการ ฝึกงาน เข้ารับการอบรมในหลักสูตรประกอบอาชีพและรับความช่วยเหลืออื่นใด โดยมีกรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานรับเรื่องการขอใช้สิทธิของคนพิการ และรับเรื่องยื่นให้สิทธิตามมาตรา 35 จากนายจ้าง/สถานประกอบการ ซึ่งเปิดรับแจ้งตั้งแต่บัดนี้ 31 ธ.ค. 2563

"มีหลักเกณฑ์ว่า การจัดทำสัญญาขอใช้สิทธิของทั้งสองฝ่ายเป็นไปโดยสมัครใจ มูลค่าของสัญญาไม่น้อยว่า 112,420 บาทต่อปี และรายชื่อคนพิการที่ขอใช้สิทธิจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน จากการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมาใช้บริการขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิตามมาตรา 35 จำนวน 14,400 ราย ได้รับสิทธิตามมาตรา 35 จำนวน 14,390 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.9" อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สำหรับคนพิการที่ต้องการหางาน และสถานประกอบการที่มีความประสงค์จะจ้างคนพิการเข้าทำงานสามารถติดต่อขอรับบริการ ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: Nation TV, 24/11/2563

MCOT กู้เงิน KBANK 695.92 ล้านบาท รองรับเลิกจ้าง พนง. โครงการร่วมใจจากองค์กร

บมจ.อสมท (MCOT) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) อนุมัติให้บริษัทกู้ยืมเงินที่มีนัยสำคัญ โดยเป็นการกู้จากธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพื่อใช้สำหรับปรับแผนบริหารต้นทุนโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) ประจำปี 2563 มีวงเงินกู้ยืม 695.92 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR-2.57% ต่อปี ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ มีระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี 9 เดือน หรือ 81 งวด โดยกำหนดให้ชำระเงินกู้ทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2570

สำหรับการชำระคืนเงินต้น แบ่งเป็น 3 งวด ประกอบด้วย ชำระเงินต้นงวด เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2568 จำนวน 254,884,308.90 บาท , ชำระเงินต้นงวด เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2569 จำนวน 254,884,308.90 บาท และ ชำระเงินต้นงวด เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2570 จำนวน 186,149,152.47 บาท

ทั้งนี้ บริษัทมีหลักประกัน ประกอบด้วย จดจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 22647-8 ถนนนครลุง แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร กรรมสิทธิ์บริษัท , จดจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 34650 ถนนเพชรเกษม (ทล.4) แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร กรรมสิทธิ์บริษัท และ โอนสิทธิรับเงินจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องการจ่ายเงินตามมูลค่าของการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2,500-2,690 เมกะเฮิรตซ์ งวดที่ 2 ปี 2568 และงวดที่ 3 ปี 2569 งวดละ 254,884,308.90 บาท และงวดที่ 4 ปี 2570 จำนวน 186,149,152.47 บาท

สำหรับเงื่อนไขการกู้ยืมนั้น บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ration) ไม่เกิน 3.00 เท่าตลอดระยะเวลาเงินกู้

ขณะที่การกู้เงินครั้งนี้ จะทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นตามวงเงินกู้ 695.92 ล้านบาท โดยแยกเป็นผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ จำนวน 431.67 ล้านบาท (แสดงเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน) และเงินชดเชยในการทำงานตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จำนวน 264.25 ล้านบาท (เป็นส่วนที่หักจากประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนสำหรับผลประโยชน์พนักงานในงบแสดงฐานะการเงิน) โดยจะบันทึกรายการดังกล่าวในไตรมาส 4 /63 (ณ 30 กันยายน 63 อัตราส่วน D/E = 0.86 เท่า)

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 25/11/2563

ไออาร์พีซี เผยพนักงานกว่า 1,200 คนสนใจเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทฯลง โดยจัดตั้งโครงการโนอาห์ (แผนเกษียณอายุก่อนกำหนด) เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนับจากปี 2563-2568 ปัจจุบัน มีพนักงานเข้าร่วมโครงการฯประมาณ 1,200-1,300 คน จากพนักงานกว่า 5,000 คน ทำให้จะเหลือพนักงานอยู่ที่ประมาณ 4,000 คน คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 700-1,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2566

ส่วนในการ ประชุมคณะกรรมการ( บอร์ด ) ของไออาร์พีซี วันที่ 24 พ.ย.2563 นี้ จะมีการเสนอให้พิจารณาอนุมัติงบลงทุนโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ที่เป็นการยกระดับคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐาน ยุโรป ระดับ 5 หรือ ยูโร 5

รวมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าซื้อกิจการ(M&A) โรงงานผลิตสินค้าเม็ดพลาสติกขึ้นรูป จากเดิมที่เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกขายให้เท่านั้น โดยขณะนี้ กำลังเจรจากับผู้ประกอบการในประเทศ 2-3 ราย คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2564

ทั้งนี้จะเน้นการเจาะตลาดการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty grade) โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2567 จากปี 2562 อยู่ที่ 13% และปี 2563 อยู่ที่ 17% เพื่อสร้างสมดุลรายได้ รับมือกับความผันผวนทางธุรกิจในระยะยาว

ที่มา: Energy News Center, 23/11/2563

ครม.ไฟเขียวแก้กฎหมายกีดกันผู้ติดเชื้อ HIV เข้าทำงาน

23 พ.ย. 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน กรณีการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม ต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในการรับเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ทั้งนี้จากกรณีที่ทาง กสม.ได้รับการร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ส่งตัวพนักงานที่อยู่ระหว่างการทดลองงาน เข้ารับการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาล โดยไม่แจ้งล่วงหน้า เรื่องการตรวจหาเชื้อเอชไอวี และเมื่อได้รับผลตรวจสุขภาพทางโรงพยาบาลส่งให้กับบริษัท

แต่ผลการตรวจเกิดรั่วไหล ทำให้พนักงานผู้ติดเชื้อเอชไอวี เกิดความอับอาย และถูกเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใดๆ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า เป็นการเลือกปฎิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี

กสม.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้รัฐบาล พร้อมเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำเนินการเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

โดยกระทรวงยุติธรรม ทางกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและยกร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ เพื่อสอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญและราชอาณาจักรไทย

ขณะที่กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำหนังสือถึงสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัดและในกทม.ทุกพื้นที่ เพื่อคุ้มครองสิทธิ และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างผุ้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์

พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมจัดหางานพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบหรือแนวปฏิบัติเพื่อคุ้มครองคนหางานโดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีในช่วงสมัครงาน

และในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกหนังสือเวียนเพื่อแจ้งแนวปฏิบัติเรื่องการการปกปิดข้อมูลความลับด้านสุขภาพของผู้ป่วยตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์

ที่มา: Thai PBS, 23/11/2563

ยกเครื่องของใบอนุญาตทำงานต่างด้าวในไทย เล็งเปิดให้เอกชนดำเนินการ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้มีการยกระดับการขอใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวในไทย (Work Permit-WP) โดยการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทนในส่วนของขั้นตอนต่างๆ ที่เคยล่าช้า ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องทำในวันเวลาราชการเท่านั้นและต้องใช้เวลานานถึง 3 วัน และต้องเดินทางไปยืนยันตัวตนด้วยตนเอง ซึ่งระบบที่ภาครัฐจะเปิดให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบจะใช้ระบบดิจิตอลในรูปแบบของ One Stop Service กระทรวงแรงงานจะทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนผู้ให้ใบอนุญาตตามเดิม และกำหนดนโยบาย ตรวจสอบการทำงานของเอกชนที่จะเข้ามารับผิดชอบควบคุมการรั่วไหลของข้อมูล ปกป้องความเป็นส่วนตัวของแรงงานต่างด้าว ซึ่งต่อไปนี้ครม. กำหนดคุณสมบัติของเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ เอกชนจะต้องทำหน้าที่จัดหาสถานที่ วัสดุอุปรณ์ บุคลากรระบบสาระสนเทศทั้งหมดในการออกใบอนุญาตให้กับแรงงานอายุสัญญา 10 ปี หรือ 15 ล้านใบอนุญาตการทำงาน โดยงบประมาณที่ใช้ก็ได้จากค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐบาลในการเป็นรัฐบาลดิจิตอล สร้างความสะดวกสบายให้กับแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ

ที่มา: ข่าวสด, 23/11/2563

สภาองค์การนายจ้างเผยแรงงานอายุ 45-50 ปี เสี่ยงถูกเออร์ลี่รีไทร์

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มปี 2564 ตลาดแรงงานของประเทศไทย จะยังอยู่ในภาวะเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจที่จะค่อยๆฟื้นตัวและยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูงจากโควิด-19 คาดว่าอัตราการว่างงานสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างต้องเร่งปรับลดรายจ่าย เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด

ทั้งนี้ ในปัจจุบันแรงงานไทยมีทั้งหมด 37 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม 50% โดยแรงงานที่มีแนวโน้มจะถูกปรับเปลี่ยนได้แก่ แรงงานอายุ 45-50 ปี จะถูกให้เข้าโครงการสมัครใจลาออก (เออร์ลี่รีไทร์) นอกจากนี้แรงงานที่มีอายุการทำงานเพียง 1 ปี ก็เป็นเป้าหมายในการลดจำนวนคนของนายจ้างเช่นกัน เนื่องจากมองว่ามีประสบการณ์น้อย และจ่ายชดเชยต่ำ ขณะที่แรงงานใหม่ที่เป็นเด็กจบการศึกษาใหม่ จะมียอดสะสมอยู่ที่ 900,000 คน แบ่งเป็นเด็กจบใหม่ในเดือน ก.พ. 2564 จำนวน 500,000 คน และเด็กที่จบปี 2563 แต่ยังไม่มีงานทำอีกประมาณ 400,000 คน

“แรงงานของประเทศไทย ในภาพรวมต้องเร่งแสวงหา ความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไปต้องเร่งเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ๆ หรือไม่ก็ต้องมองหาอาชีพเสริมสำรองไว้ในอนาคต ขณะที่การศึกษาต้องเร่งปรับให้สอดรับกับโลกที่จะเปลี่ยนไปเพื่อให้แรงงานตรงกับความต้องการตลาดในอนาคต”

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 23/11/2563

เดินหน้าพัฒนา “หลักสูตรอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว” หลังพบเกินครึ่งไม่มีความรู้ดูแลสุขภาพ

22 พ.ย. 2563 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “การคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานในภาคเกษตร” โดยนายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติปัจจุบันยังดูแลไม่ทั่วถึงทุกอาชีพ ยังพบความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมเรื่องการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน และสิทธิการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาทางสุขภาวะชัดเจน ทำให้ขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนอกระบบ มาดูแลแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ประมาณ 22 ล้านคนให้เหมือนลูกจ้างในระบบ

นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีกลไกขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองมาตลอด โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มคนทำงานบ้านและภาคเกษตรกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ มีแนวโน้มว่าอาจจะตั้งสำนักงานดูแลเฉพาะ เช่น สภาแรงงานนอกระบบ กองทุนแรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นตัวช่วยทำให้พวกเขาได้เข้าถึงระบบบริการของรัฐทั่วถึง ซึ่งจะเกิดผลสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรภาคประชาสังคมด้านแรงงาน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จับต้องได้

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่ประกอบอาชีพในเมืองไทยมีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพน้อย ยกตัวอย่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแรงงานชาวเมียนมาร์ 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง สมุทรสาคร ชลบุรี และหนองคาย จำนวน 850 คน ของ สสส.กับมหาวิทยาลัยมหิดล พบแรงงานร้อยละ 61.88 ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพ มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ส่งผลกระทบกับร่างกาย ไม่เข้าใจสิทธิสวัสดิการที่ควรจะได้รับ และบางคนยังเข้าไม่ถึงการรักษาในโรงพยาบาล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ใช้ชื่อว่า “หลักสูตรอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว” หรือ อสต. ในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มศักยภาพในการส่งผ่านข้อมูลถึงแรงงานข้ามชาติในพื้นที่นำร่อง 13 จังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติกลุ่มจ้างงานชั่วคราวและตามฤดูกาล

“กฎหมายด้านแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังคุ้มครองแรงงานข้ามชาติไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพและไม่เพียงพอ เพราะยังมีการกำหนดนิยามที่เกี่ยวข้องในลักษณะแคบ จนทำให้แรงงานที่ควรต้องได้รับการคุ้มครองตกหล่นไปจากระบบ เช่น แรงงานภาคเกษตร ทำงานบ้าน และเมื่อแรงงานถูกทำให้มองไม่เห็นในระบบการจ้างงาน จึงส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำและส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ด้านสุขภาพที่แรงงานต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นด้วยตนเอง” นางภรณี กล่าว

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานปัจจุบันยังมีช่องโหว่เรื่องการดูแลลูกจ้างชาวไทยและแรงงานข้ามชาติบางอาชีพ ที่เห็นชัดที่สุดคือแรงงานกลุ่มเกษตรกรรมและทำงานบ้าน จึงเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ปี 2555 เพิ่มสิทธิ สวัสดิการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ให้เท่าเทียมกับคนที่ทำอาชีพอื่น เพราะหากรอกฎหมายฉบับใหม่อาจจะใช้ระยะเวลานานเกินไป อาจกระทบต่อสุขภาวะของคนที่หาเช้ากินค่ำ และการปรับปรุงกฎกระทรวงช่วยเหลือแรงงานจะต้องมองลึกไปถึงอาชีพอื่น ๆ และแรงงานทุกชาติ ไม่ใช่แค่ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา โดยที่ไม่เลือกปฏิบัติ

ที่มา: Hfocus, 22/11/2563

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net