'ชวน' ระบุยังไม่มีการตอบรับจาก 7 ฝ่าย ที่เชิญเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์

'ชวน หลีกภัย' ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุยังไม่มีการตอบรับจาก 7 ฝ่าย ที่เชิญเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ ขณะโครงสร้างรูปแบบมองอนาคต ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ - กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ เผยที่ประชุมเร่งพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มวันประชุม เพื่อให้ภารกิจเสร็จทันตามกรอบที่กำหนด


ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าหลังมีการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ใน 2 รูปแบบ โดยในรูปแบบที่ 1 เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน และมอบหมายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นฝ่ายเลขา และมี นายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เลขานุการคณะทำงาน ขณะนี้ได้ทำหนังสือเชิญ 7 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่ยังไม่มีการตอบกลับมา ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ในรูปแบบที่ 2 เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาไม่ใช้เกิดเหตุซ้ำรอยอีกในอนาคตนั้น สถาบันพระปกเกล้าอยู่ระหว่างพิจารณาหาโครงสร้างและรูปแบบ ส่วนกรณีที่ตนเคยขอความเห็นและเข้าไปพูดคุยกับอดีตนายกฯ ไปแล้วบางส่วนนั้น เป็นเพียงการขอแนวคิดและรับฟังคำแนะนำต่างๆ ยังไม่ใช่การเชิญเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ย้ำว่าในรูปแบบที่ 2 กลุ่มพรรคการเมืองจะไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะต้องเลือกผู้มีประสบการณ์ และต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูเรื่องการป้องกันการปล่อยข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม เพราะหากไม่ให้ความสำคัญในส่วนนี้ จะทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีกได้ในอนาคต
          
ประธานรัฐสภาตอบข้อถามกรณีมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)และมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ควบคู่ไปด้วยจะเป็นการสูญเปล่าหรือไม่ ว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นการดำเนินการตามมติในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและตั้ง ส.ส.ร. 

โฆษก กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ เผยที่ประชุมเร่งพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มวันประชุม เพื่อให้ภารกิจเสร็จทันตามกรอบที่กำหนด

นายดิเรกฤทธิ์ เจนคลองธรรม โฆษกคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) แถลงภาพรวมการประชุมกรรมาธิการ ว่า วันนี้ได้มีการพิจารณาหารือเรื่องกรอบเวลาการทำงานของกรรมาธิการ ซึ่งคณะกรรมาธิการเห็นตรงกันว่าควรทุ่มเทในการทำงานให้เสร็จทันตามกรอบเวลา ที่ประชุมจึงเห็นควรเพิ่มวันประชุม จากเดิมประชุมทุกวันศุกร์ เพิ่มเติมเป็นประชุมวันพฤหัสบดีด้วย เพื่อให้เสร็จภารกิจภายในเวลา

ส่วนเรื่องเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาในส่วนเนื้อหาตามญัตติแก้รัฐธรรมนูญตามร่างของรัฐบาล เนื่องจากต้องรอดูคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก่อน โดยจะเชิญมาแสดงความเห็นก่อนรวบรวมเป็นรายงาน ส่วนตัวมองว่าการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนทุกกลุ่ม จึงเตรียมเปิดช่องทางรับฟังความเห็นทุกช่องทาง ทุกประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรา 256 ทั้งการเขียนเป็นหนังสือยื่นต่อสำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎร การส่งไปรษณีย์ ตลอดจนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้หารือกันเบื้องต้นว่าอาจจะเปิดตู้ ปณ. เพื่อให้ส่งเรื่องแสดงความคิดเห็นมาโดยเฉพาะ จนถึงวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ทั้งนี้ รายละเอียอยู่ระหว่างการหารือเมื่อได้ข้อสรุปจะแจ้งให้ทราบต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นตรงกันว่าการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ต้องทำงานอย่างเปิดเผย โปร่งใส และควรให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปในห้องประชุม รวมถึงควรมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลทาม ซึ่งสามารถทำได้ เพื่อให้การพิจารณาวาระสำคัญนี้ดำเนินการอย่างเปิดเผยมากที่สุดภายใต้การทำหน้าที่พิจารณาของคณะกรรมาธิการอย่างเป็นอิสระ

ที่มาเรียบเรียงจาก: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2] 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท